Search
Close this search box.

ทรงวาด: ย่านตึกเก่าที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ของยุคใหม่

ทรงวาดที่คุ้นเคย

แม้ในปัจจุบันทรงวาดสำหรับหลายคนจะเป็นย่านที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายของศิลปะและตึกเก่าที่คงรูปแบบเดิมไว้ แต่ภาพที่เราเห็นในยุคนี้นั้นสำหรับคนที่อยู่ย่านนี้มาแต่เดิมกลับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างจากยุคก่อนอย่างมาก เนื่องจากทรงวาดในความทรงจำของผู้คนแถบนี้คือการเป็นแหล่งค้าขายที่สำคัญที่รวบรวมสินค้าจากต่างประเทศ รวมถึงเป็นที่ตั้งของกิจการมากมายของชาวจีนที่เหลือไม่มากในปัจจุบัน ตามจุดประสงค์ของการเกิดย่านนี้นั้นเป็นไปเพื่อระบายความแออัดของชุมชนชาวจีนจากสำเพ็งนั่นเอง

ในย่านทรงวาดนั้นมีการปรับเปลี่ยนตามพัฒนาเมืองที่เรายังสามารถสังเกตเห็นได้ในปัจจุบันอย่างการขยายถนนหลังไฟไหม้ครั้งใหญ่ เช่น ในบริเวณซอยวาณิชย์ 1 หากมองหลังคาตึกแถวในบริเวณนี้แล้วเราจะได้เห็นแนวผนังกันไฟอย่างชัดเจน ซึ่งผนังกันไฟนี้นับเป็นจุดสังเกตสำหรับตึกแถวสมัยรัชกาลที่ 5 นอกจากนี้เรายังสามารถสังเกตถนนบางเส้นที่เป็นลักษณะเส้นโค้งเนื่องจากเคยเป็นคลองมาก่อนนั่นเอง

เผยอิงถิ่นเจ้าสัว

สถานที่แรกที่เราจะไปดูกันอันดับแรกคือโรงเรียนเผยอิง ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นโรงเรียนของเจ้าสัวสำหรับคนจีนในย่านนี้ โดยโรงเรียนแห่งนี้นอกจากสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นแล้วควาเป็นมาก็น่าสนใจไม่แพ้กัน หากย้อนกลับไปจะพบว่าเดิมทีพื้นที่ตรงนี้เคยเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าแฝด ต่อมาชาวจีนในชุมชนจึงตัดสินใจรื้อศาลเจ้าและอัญเชินเทพไปฝากไว้ที่ศาลอื่นชั่วคราว ก่อนจะเปลี่ยนพื้นที่นี้เป็นโรงเรียนแทนเพื่อให้บุตรหลานชาวจีนได้เรียนในภาษาของตนและยังเรียนภาษาไทยควบคู่ไปด้วยได้ ต่อมาหลังจากนั้นหลายปี จึงได้รวบรวมเงินสร้างศาลเจ้าขึ้นอีกครั้งที่บริเวณหน้าทางเข้าโรงเรียน เป็นศาลเจ้าปุนเถ้ากงตามที่เราได้เห็นในปัจจุบัน

ตึกของโรงเรียนเผยอิงมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล ประดับนาฬิกาและลวดลายปูนปั้น หน้าตาอาคารมีการใช้เทคนิค Rustication หรือการแต่งผิวอาคารด้วการเซาะร่องให้ดูมีลักษณะคล้ายหิน ซึ่งเป็นเทคนิคของสถาปัตยกรรมยุคเรเนซองส์(Reniassance) รวมถึงมีการประดับลวดลายปูนปั้นและหัวเสา นอกจากนี้เนื่องจากการก่อสร้างโรงเรียนนี้ถือเป็นการร่วมมือของกลุ่มชาวจีนที่มีฐานะจึงได้มีการใช้วัสดุและวิธีการสร้างที่มีคุณภาพมากที่สุดในช่วงนั้น ซึ่งตรงกับสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1

นอกจากลักษณะภายนอกแล้วพื้นที่ภายในของโรงเรียนยังมีความน่าสนใจไม่แพ้กัน คือทำเป็นลักษณะล้อมคอร์ตที่กล่าวกันว่าเป็นการนำลักษณะของบ้านจีนเข้ามาใช้ประยุกต์อีกด้วย ทำให้พื้นที่ในโรงเรียนมีความโปร่งและดูกว้างขึ้น และมีลักษณะบางส่วนดูคล้ายคลึงกับระเบียงแบบ loggia ที่มักจะได้เห็นในสถาปัตยกรรมยุโรป

สำหรับความสำคัญของโรงเรียนในบริบทของสังคมของย่านนี้ เผยอิงอาจเรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางของความเป็นแต้จิ๋วและสำเพ็งเลยทีเดียว เนื่องจากอาคารนี้ทำหน้าที่เป็นทั้งศูนย์กลางการศึกษาของลูกหลายและยังเป็นที่ตั้งของสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย และหากมองจากแผนที่เดิม สถานที่แห่งนี้แห่งนี้ก็ยังขนาบด้วยสองคลอง สองซอย สองถนน นับว่าเป็นพื้นที่กึ่งกลางอย่างพอดิบพอดี

มัสยิดท่ามกลางศาลเจ้า

ไม่ไกลจากโรงเรียนเผยอิงเราจะเห็นมัสยิดหลวงโกชาอิศหากที่ซ่อนตัวอยู่ในซอยเล็กๆ โดยความเป็นมาของการก่อตั้งมัสยิดในบริเวณนี้เกิดจากการที่พ่อค้าชาวมุสลิมที่เข้ามาค้าขายในย่านนี้ในสมัยนั้นไม่มีศาสนสถานให้ประกอบพิธี โดยมัสยิดที่มีตอนนั้นตั้งอยู่คนละฝั่งของแม่น้ำจึงไม่สะดวกในการเดินทาง หลวงโอชาอิศหากจึงได้ทำการซื้อที่ดินและก่อตั้งเป็นมัสยิดขึ้น ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักในนาม ‘มัสยิดวัดเกาะ’ เนื่องจากอยู่ใกล้กับวันสัมพันธวงศ์(วัดเกาะ) และเป็นหนึ่งในมัสยิดแบบถาวรที่เก่าแก่ที่สุดในเกาะรัตนโกสินทร์

ตึกแถว

เนื่องจากตึกในทรงวาดนั้นมีรายละเอียดของการตกแต่งที่ค่อนข้างแตกต่างกันไปในแต่ละหลัง รวมถึงความสมบูรณ์ของงานสถาปัตยกรรมนั้นจะไม่เท่ากัน จึงยากจะบอกได้ว่าอาคารไหนของย่านนี้เป็นอาคารที่โดดเด่นที่สุด การเดินสำรวจตึกในย่านนี้จึงเป็นการค่อยๆ ดูไปทีละซอยทีละตึกเพื่อให้เห็นองค์ประกอบแต่ละส่วนของแต่ละอาคาร โดยนอกจากตึกที่เราเห็นกันจนชินตาแล้วยังมีองค์ประกอบที่ซ่อนตัวอยู่นในตรอกซอย เช่น กระจกสี ลวดลายไม้ฉลุ ภาพวาด หรือปูนปั้นเก่า

ตึกแรกที่เราจะพาไปดูคือตึกผลไม้ ที่ได้ชื่อจากลวดลายปูนปั้นอันโดดเด่น โดยที่มาของลวดลายนี้นั้นกล่าวกันว่าเป็นเพราะเมื่อก่อนที่ทรงวาดมีนำเข้าพืชผลทางการเกษตรเยอะนั่นเอง นอกจากตัวผลไม้แล้วเรายังจะได้เห็นรูปแบบเสาโครินเทียน(Corinthian) หนึ่งในรูปแบบเรากรีกโบราณที่มีลวดลายประดับเป็นใบอะแคนทัส (Acanthus) แต่เสาที่ตึกแห่งนี้ดูจะมีความพิเศษกว่ารูปแบบปกติคือมีรูปแบบหัวเสาที่ซ้อนขึ้นไปอีกชั้นที่บริเวณชายคา บริเวณหน้าต่างแต่งเป็นซุ้มโค้งประดับกระจกสี ซึ่งการตกแต่งลักษณะนี้เราจะได้เห็นในอีกหลายตึกในทรงวาดเช่นกัน

เมื่อมองย้อนมาที่ฝั่นตรงข้ามของตึกผลไม้เราก็จะได้เห็นตึกแถวอีกชุดที่มีความสวยงามเช่นกัน โดยมีการทำหน้าจั่วกึ่งกลางตึก มีการใช้หัวเสาซ้อนและแต่งซุ้มหน้าต่างเป็นทรงโค้งเช่นเดียวกับตึกผลไม้ แต่ใช้ลายฉลุที่มีความปราณีตเข้ามาตกแต่งซึ่งยังคงเห็นได้อยู่ในบางช่องหน้าต่าง

จากถนนเส้นหลักเมื่อเดินผ่านโกดังของเจ้าสัวคนหนึ่งที่เคยเป็นที่ทำการของธุรกิจนำเข้า-ส่งออกระหว่างประเทศสิงคโปร์และฮ่องกง จะได้พบบ้านแถวชุดที่ดูแปลกตาไปจากตึกแถวบริเวณอื่น เนื่องจากตึกแถวชุดนี้มีการประดับด้วยไม้ในหลายองค์ประกอบและได้ชื่อว่ามีงานไม้แกะสลักที่สมบูรณ์และงดงามที่สุดในย่านนี้ รวมถึงมีไม้ฉลุเป็นช่องลมด้วยเช่นกัน

ห้องแถวอีกชุดที่ได้ชื่อว่าเป็นห้องแถวแบบดั้งเดิมที่สมบูรณ์ที่สุดที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบันตั้งอยู่ในซอยวาณิชย์ 1 โดยผู้คนในย่านเรียกว่า ‘ตึกคิวปิด’ ซึ่งแม้พื้นที่ในซอยจะค่อนข้างแคบและมีกันสาดรวมถึงเสาไฟมากมาย เราก็ยังได้เห็นลวดลายการตกแต่งเฉพาะตัวอยู่บริเวณบานหน้าต่างและตัวอาคาร

ไม่ไกลจากตึกคิวปิดเราจะได้เห็นห้องแถวที่มีการประดับลวดลายพันธ์ุไม้ฤดูหนาวของจีน ซึ่งปัจจุบันแม้จะถูกฉาบทับไปแล้วแต่ก็ยังสามารถเห็นลวดลายรางๆ ได้ นอกจากนี้ในบริเวณใกล้กันยังมีบ้านจีนดั้งเดิมที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์แต่ไม่ได้มีการเปิดให้คนภายนอกเข้าชม

แม้ทุกวันนี้ทรงวาดจะยังมีความวุ่นวายที่หลงเหลืออยู่แต่เราจะเห็นได้ว่าสถาปัตยกรรมในย่านนี้ยังมีความน่าสนใจที่ซ่อนอยู่ตามตรอกซอยและกระจายตัวอยู่ในแต่ละอาคาร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ทรงวาดมีกลิ่นอายของความเก่าแบบดั้งเดิมที่กลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ความงดงามและมิติทางประวัติศาตร์ของย่านนี้นี่เองที่ทำให้ทรงวาดในวันนี้กลายเป็นแหล่งของร้านค้า ร้านอาหาร รวมถึงคาเฟ่ที่ชวนให้ผู้คนเข้ามาสัมผัสประสบการณ์และเสน่ห์ของย่านนี้ที่สืบเนื่องมาตั้งแต่อดีตจนถึงในปัจจุบัน

แหล่งที่มาของข้อมูล:
https://www.creativethailand.org/view/article-read?article_id=32342
https://urbancreature.co/neighborhood-songwat/
https://readthecloud.co/luang-kocha-itsahak-mosque/
http://www.ChinatownYaowarach.com
https://www.silpa-mag.com/songwad-century/article_77013

โรงเรียนเผยอิง
คุณสมชัย กวางทองพานิชย์ (Awakening Afternoon Walk Tours)

Writer
Pimchanok Na Patalung

Pimchanok Na Patalung

นักออกแบบที่สนใจประวัติศาสตร์ ติ่งวัดญี่ปุ่น ชื่นชอบการอ่านวรรณกรรมและสุนัขขนฟู

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading