มีผู้คนมากมายเคยกล่าวถึงความรัก ความงาม แต่มีคนจำนวนไม่มากที่ได้นิยามมันด้วยตัวเอง หนึ่งในนั้นคือ Anna Heringer สถาปนิกและนักสิทธิสตรีชาวเยอรมัน ผู้หญิงที่เชื่อมั่นในนิยามความงามของสถาปัตยกรรมที่โอบรับกับสิ่งแวดล้อม และเชื่อมั่นในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อาศัยทั่วโลก
“Form follows love” วลีที่เธอกล่าวไว้ในเว็บไซต์ของเธอทำให้เห็นว่า ความรักในงานสถาปัตยกรรมจะถูกแสดงออกผ่านหน้าตาอาคารที่ซึ่ง “Form follows functions.” วาทะกรรมจาก Louis H. Sullivan ที่ใครก็เชื่อกันนั้นมันไม่เพียงพอต่องานของเธอ
กว่าจะเป็น Anna Heringer
แอนนา เฮอริงเงอร์ เติบโตในประเทศเยอรมนี เมื่ออายุได้ 19-20 ปี เธออาศัยอยู่ในบังคลาเทศ โดยเธอมีโอกาสเรียนรู้จาก NGO Dipshikha เกี่ยวกับงานพัฒนาสิ่งแวดล้อม บทเรียนหลัก คือการไว้วางใจในวัสดุที่มีอยู่รอบตัว และนำไปใช้ให้ดีและเกิดผลที่สุดแทนที่จะพึ่งพาทรัพยากรภายนอก ก่อนที่ 8 ปีให้หลัง เธอจะพยายามถ่ายทอดปรัชญานี้ไปสู่งานสถาปัตยกรรม
เธอมองว่า สถาปัตยกรรมเป็นหนึ่งในเครื่องมือพัฒนาชีวิตที่มุ่งเน้นการใช้วัสดุก่อสร้างจากธรรมชาติ จนถึงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แอนนาได้ตระหนักเพิ่มเติมถึง โครงการในเอเชีย แอฟริกา และยุโรป ร่วมกับ Martin Rauch เธอได้พัฒนาวิธีการ Clay Storming ซึ่งคล้ายกับการ Brain strom แต่กลับเป็นในรูปแบบของการสื่อสารผ่านดินเหนียว วิธีการออกแบบของเธอเปิดกว้างสำหรับทุกคนรวมถึงเด็ก ๆ โดยไม่จำเป็นต้องใช้กระดาษ ดินสอ Autocad, SketchUp หรือ Rhino เพียงแค่ใช้มือและดินเหนียวเท่านั้น
“I haven’t been a feminist until I became an architect.” “ฉันไม่ได้เป็นสตรีนิยมจนกระทั่งฉันกลายเป็นสถาปนิก ไม่ใช่ว่าตอนที่ฉันทำงานในบังคลาเทศ ฉันรู้สึกถูกปฏิบัติแตกต่างหรือไม่ยุติธรรม ไม่ใช่เลย ความรู้สึกไม่เท่าเทียมกันเริ่มต้นขึ้นเมื่อฉันได้มีส่วนร่วมในงานสถาปัตยกรรมนานาชาติ” เธอกล่าวถึงจุดเริ่มต้นการเป็นสตรีนิยมหรือเฟมินิสต์
“ความคาดหวังของการเป็นสถาปนิกหญิงไม่ใช่แค่มีตำแหน่งที่สูงขึ้นเท่านั้น แต่ยังคาดหวังเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้หญิงที่ควรมีในด้านสถาปัตยกรรมเพิ่มขึ้นด้วย ฉันมีสัญชาตญาณมากขึ้น ความเห็นอกเห็นใจและความเป็นมนุษย์มากขึ้น มีการแบ่งปันมากขึ้น ” การเป็นเฟมินิสต์หมายถึงการเห็นคุณค่าของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เธอจึงคำนึงถึงผู้ใช้งานเหมือนกับที่เห็นอกเห็นใจตัวเอง
ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ถึง 8 พฤษภาคม ปีพ.ศ.2565 ได้มีนิทรรศการ Essential Beauty จัดแสดงอยู่ที่ Museo ICO ของกรุงมาดริด โดยภัณฑารักษ์ Luis Fernández-Galiano เขาได้เลือกห้างานไฮไลท์ของเธอจากนิทรรศการ ให้ถือเป็นงานที่โดดเด่นเหมาะสมกับชื่อ Essential Beauty ดังต่อไปนี้
METI Handmade School, Bangladesh (2006)
จุดมุ่งหมายของโครงการนี้ คือการปรับปรุงคุณภาพชีวิตผู้คนในพื้นที่ชนบท เพื่อต่อต้านการอพยพย้ายถิ่นของประชากร การพัฒนาอาคารในชนบทสิ่งที่สำคัญลำดับแรก คือต้องการแรงงานที่ต้นทุนค่าแรงต่ำและทรัพยากรก่อสร้างที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น ดินและไม้ไผ่ แนวคิดของการออกแบบจะออกแบบตามความสามารถและความสนใจของแต่ละปัจเจกบุคคล โดยเน้นถึงความเข้าใจการเรียนรู้ที่แตกต่างกันของเด็กนักเรียนและผู้เข้ารับการฝึกอบรมในรูปแบบการเรียนรู้ที่เปิดกว้างและเสรี
ที่ชั้นล่างมีห้องเรียนสามห้องตั้งอยู่ แต่ละห้องมีทางเข้าออกสู่ระบบ ‘ถ้ำ’ ในรูปทรงออร์แกนิกที่ด้านหลังห้องเรียน การตกแต่งภายในออกแบบให้มีลักษณะของพื้นผิวที่นุ่มนวลชวนสัมผัส ซุกตัว หรือเพ่งสมาธิ โดยเด็ก ๆ สามารถเล่นด้วยตัวเอง หรือเล่นเป็นกลุ่มกับเพื่อนก็ได้
รากฐานที่มั่นคงทำให้อาคารสามารถป้องกันตัวเองจากความชื้นยามฝนตกได้ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเบื้องต้นสำหรับการสร้างอาคารด้วยดิน เพื่อให้อาคารมีอายุการใช้งานยาวนาน และลดการบำรุงรักษา ส่วนห้องที่มีขนาดเล็กลง จะใช้โครงสร้างเพดานไม้ไผ่แทน ทั้งหมดนี้ใช้วัสดุในท้องถิ่น โดยใช้เชือกปอกระเจาที่ทำด้วยมือและเดือยไม้ไผ่เป็นวัสดุสำคัญในการก่อสร้างชั้นที่ 2
งานแฮนด์เมดของโรงเรียนนี้แสดงถึงการวางแผนก่อนก่อสร้างจริงที่ต้องมีความรอบคอบสูง ทั้งในเรื่องของการจัดวางโซนนิ่งอาคารลงบนไซต์งาน การหาวัสดุที่ทนทานและใช้ได้สะดวก ไปจนถึงการตระหนักถึงแง่มุมต่าง ๆ ในรายละเอียดของแบบ นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงสร้างอาคารด้วยดินและไม้ไผ่โดยใช้วิธีการง่าย ๆ นับว่าเป็นการสืบสานการสร้างอาคารในท้องถิ่นได้ดี และเป็นตัวอย่างสำหรับการพัฒนาอาคารในพื้นที่บริเวณนี้ในอนาคต
Bamboo Hostels, China (2016)
ในช่วงที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่ที่เคยอาศัยอยู่ในตึกปูนปรับเปลี่ยนมาอาศัยอยู่ในบ้านที่ทำจากวัสดุธรรมชาติแทน ซึ่งแนวโน้มนี้เกิดขึ้นทั่วโลกเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ Hostel ทั้ง 3 แห่งจึงแสดงให้เห็นว่าวัสดุธรรมชาติแบบดั้งเดิมนั้นก็สามารถนำมาปรับใช้ในรูปแบบร่วมสมัยได้เช่นเดียวกันกับคอนกรีต
โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของงาน Longquan International Biennale ที่สร้างด้วยไม้ไผ่ ใจความสำคัญของโครงการ คือ การยกย่องความงามของวัสดุที่มาจากธรรมชาติ การใช้วัสดุในท้องถิ่นจะนำไปสู่ความหลากหลายมากขึ้นในเขตเมืองและชนบท เพราะไม่ต้องการความสมบูรณ์แบบเหมือนวัสดุที่มาจากโรงงาน
โครงสร้างหอพักสร้างจากแกนหินและดิน แกนกลางเป็นโถงที่เชื่อมห้องพักทุกห้องและเป็นบันได ด้านหลังได้รับการออกแบบเหมือนโป๊ะจีนที่มืดมิดในตอนกลางคืน ส่วนภายนอกจะเป็นโครงสร้างที่แสดงออกถึง movement จากไม้ไผ่สาน โดยได้แรงบันดาลใจจาก การทอตะกร้า ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความแข็งแรงในการดัดของไม้ไผ่กับประเพณีงานฝีมือของจีน
โดยทั่วไป เรามักจะคิดว่าความยั่งยืนเป็นเรื่องของความขาดแคลน แต่ไม่ใช่เลย วัสดุธรรมชาตินั้นไม่มีข้อจำกัดใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรูปทรง หรือแม้แต่ความทนทาน วัสดุธรรมชาติเหล่านี้เหมาะสมระบบนิเวศและยังเหมาะกับเศรษฐกิจปัจจุบัน ซึ่งอาคารเหล่านี้ก็แสดงตัวอย่างตรงไปตรงมาว่า ความยั่งยืนเป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้อาคารทั้งโดยตรงและโดยอ้อม
Anadaloy, Bangladesh (2017)
ส่วนใหญ่อาคารนี้สร้างขึ้นโดยใช้วัสดุ โคลนและไม้ไผ่จากเกษตรกรท้องถิ่น งบประมาณส่วนใหญ่จึงจำเป็นต้องลงทุนไปกับงานฝีมือของเหล่าช่างพื้นบ้าน นอกจากโครงสร้างอาคารที่จะโดดเด่นแล้ว อาคารหลังนี้ยังกลายเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาสำหรับการเมืองท้องถิ่นของบังคลาเทศด้วย โดยจะเน้นในเรื่องการพัฒนาที่อยู่หรือศูนย์ราชการให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว สมบูรณ์ และสวยงามมากยิ่งขึ้น
บ่อยครั้งที่ผู้พิการในบังคลาเทศมักถูกมองว่าเป็นการลงโทษจาการที่เคยการท้าทายพระเจ้า ด้วยเหตุนี้ผู้พิการจึงถูกซ่อนเร้นจากสังคมมากกว่าที่จะโอบรับ อีกทั้งความยากจนยังบังคับให้สมาชิกที่โตแล้วทุกคนในครอบครัวต้องทำงานเพื่อเลี้ยงชีพ ทำให้คนพิการส่วนใหญ่ต้องอยู่คนเดียวโดยไม่มีใครดูแลในช่วงระหว่างวัน สถานที่สำหรับบำบัดผู้พิการนั้นจึงถือว่าหายากในประเทศและไม่มีสถานที่แบบนี้ในพื้นที่ชนบทอย่าง Rudrapur
อาคารถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ผู้หญิงสามารถหางานทำในหมู่บ้านของตนได้ เป็นการตอบโต้กลับเรื่องการโยกย้ายถิ่นฐานของผู้คนในชนบทที่เข้ามาหางานในเมือง แนวความคิดนี้ไม่เพียงแต่จะให้การบำบัดรักษาให้คนพิการเท่านั้น แต่ยังให้โอกาสผู้หญิงในชุมชนได้เรียนรู้และทำงาน ได้มีส่วนร่วมในชุมชน เพราะทุกคนในสังคมต้องการที่จะมีงานทำ
ถ้ามองในเชิงการก่อสร้างแล้ว โคลนถือเป็นวัสดุที่ล้าสมัยและด้อยกว่าอิฐ แต่สำหรับ สตูดิโอ Anna Heringer ไม่สำคัญว่าวัสดุจะเก่าหรือโบราณแค่ไหน แต่จะเน้นความสามารถเชิงสร้างสรรค์ที่จะนำไปใช้ในแนวทางใหม่ที่ร่วมสมัยมากขึ้น เพื่อแสดงถึงความงามและความสามารถของโคลน ดึงเอาสิ่งที่ดีที่สุดออกมา ไม่ใช่แค่ทำโคลนมาเป็นอิฐราคาถูกเท่านั้น
ด้วยเทคนิคโคลนที่เรียกว่า cob จึงทำให้ไม่จำเป็นต้องมีแบบหล่อโคลน และส่วนโค้งก็ทำได้ง่ายพอ ๆ กับผนังแบบตรง อาคารนี้จึงแตกต่างจากอาคารอื่น ๆ ในบริเวณนั้น ที่มักถูกสร้างเป็นรูปแบบฟอร์มสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้วยเส้นโค้งที่สนุกสนานของอาคาร จึงทำให้เกิดความเปล่งประกายและความหลากหลายขึ้นในพื้นที่ตรงนี้
Dipdii Textiles, India (2020)
ผู้คนมากกว่าสี่ล้านคนโดยเฉพาะเพศหญิง ล้วนมีอาชีพจากการใช้แรงงานของโรงงานสิ่งทอในบังกลาเทศทั้งนั้น แต่สิ่งที่ไม่ได้รับการให้ความสนใจก็คือวัฒนธรรมสิ่งทอที่ยอดเยี่ยมและเป็นเอกลักษณ์ของประเทศแต่ขาดการอนุรักษ์ ซึ่งการพัฒนาทางเทคโนโลยีของสิ่งทอนั้นมีความเป็นไปได้สูงที่จะเข้ามาแทนที่แรงงานคนในไม่ช้า
โครงการนี้จึงเกิดขึ้นโดยเป็นความร่วมมือของชาวบังคลาเทศ-เยอรมัน ระหว่างช่างฝีมือและนักออกแบบ ร่วมกับองค์กรพัฒนาหมู่บ้านของบังกลาเทศ เป็นการพิสูจน์ผลงานผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าที่ “Made in Bangladesh” แบบมีความยั่งยืน โดยทุกชิ้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและมีจุดประสงค์เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตผู้คนให้ดีขึ้นได้
Heringer อธิบายว่า “เราทุกคนต่างกำหนดรูปแบบพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่ผ่านการวางผังเมืองและสถาปัตยกรรมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงวิถีชีวิตที่เราใช้อยู่ด้วย”
“ไม่มีสิ่งใดกำหนดรูปแบบการตั้งถิ่นฐานในบังคลาเทศได้มากไปกว่าภาคสิ่งทอและเสื้อผ้าที่เราซื้อ เราเริ่มโครงการนี้เพื่อให้ผู้หญิงใน Rudrapur เขาสามารถอยู่ในหมู่บ้านของพวกเขาเองและหางานทำในสภาพสังคมที่มีมนุษยธรรมและเสริมอำนาจได้” เธอกล่าวย้ำถึงเจตจำนงของโครงการการออกแบบ
Birth Room, Austria (2020)
Studio Anna Heringer สร้างต้นแบบ ‘ห้องคลอด’ ในเมืองวอร์เบิร์ก ประเทศออสเตรีย ซึ่งทำการวิจัยเจาะลึกจิตวิทยาเชิงพื้นที่ของกระบวนการคลอดผ่าน Room for Birth and Senses ในการหันหลังให้กับการคลอดโดยแพทย์ในโรงพยาบาลโดยสมบูรณ์
การทำงานร่วมกันแบบสหวิทยาการของออสเตรียได้จินตนาการถึงกระบวนการเกิดใหม่โดยกลับไปสู่รากเหง้าดั้งเดิมที่มากขึ้น ร่วมมือโดยผู้เชี่ยวชาญจากสาขาการแพทย์ การผดุงครรภ์ จิตวิทยา การบำบัดด้วยบาดแผล สถาปัตยกรรม และวัฒนธรรม โดยเริ่มจากการวาดภาพกระบวนการคลอดจากเวลาที่แตกต่างกัน และนำกลับมาออกแบบเพื่อให้แม่และลูกที่พึ่งคลอดผ่อนคลายทางจิตใจมากขึ้น
แน่นอนว่าสิ่งเร้าสำหรับเด็กแรกเกิดจะมากมายเหลือเฟือไม่ว่าจะเป็นแสง กลิ่น สี อุณหภูมิ พื้นผิว และเสียง ประกอบกับกระบวนการคลอดบุตรอาจเป็นประสบการณ์ที่ระทึกใจสำหรับตัวมารดาเอง
สิ่งที่ ‘Birth Room‘ พยายามที่จะปลุกความรู้สึกของการปกป้องและโอบกอดผู้ใช้งาน คือการใช้คุณสมบัติจากประสบการณ์ของพื้นที่ รูปแบบ และวัสดุ เพื่อบรรเทาการเปลี่ยนผ่านของลูกน้อยจากครรภ์ธรรมชาติไปเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นและเพื่อให้มารดามีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่พึ่งทางใจในการดำเนินการคลอดอย่างธรรมชาติ รูปทรงของห้องนั้นพยายามจะหลอมรวมศิลปะและสถาปัตยกรรมเข้ากับ “ท้อง” ที่แกะสลักออกมาราวกับถ้ำ
Anna Heringer หนึ่งในสถาปนิกของห้องคลอด เล่าถึงประสบการณ์ของตัวเองว่า “เมื่อฉันให้กำเนิดลูกสาว ฉันวางโปสเตอร์ของถ้ำ METI ตรงข้ามกับเตียงของฉันในโรงพยาบาลเพื่อให้สามารถซูมภาพในใจได้ เหมือนฉันเข้าไปในพื้นที่แบบนั้น แต่ตอนนี้มันกลับกลายเป็นความจริง” เธอกล่าวถึงถ้ำ METI ที่เธออกแบบเองกับมือและยังเป็นส่วนหนึ่งของ METI School Complex ในเมือง Rudrapur ประเทศบังคลาเทศ
Architecture is a tool to improve lives. – Anna Heringer
สถาปัตยกรรมเป็นเครื่องมือในการปรับปรุงชีวิต – แอนนา เฮอริงเงอร์
วิสัยทัศน์และแรงจูงใจในการทำงานของเธอหลัก ๆ คือการใช้สถาปัตยกรรมเพื่อเป็นสื่อกลางในการเสริมสร้างความภูมิใจทางวัฒนธรรม ความมั่นใจของเจ้าของบ้าน และเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจในท้องถิ่น เธอเชื่อเสมอว่าสถาปัตยกรรมควรมีทั้งความสวยงามและยั่งยืนควบคู่กันไปอย่างขาดอะไรไปมิได้แม้แต่อย่างเดียว
สำหรับเธอความยั่งยืน คือคำพ้องความหมายของความงาม นั่นคืออาคารที่กลมกลืนไปกับการออกแบบ โครงสร้าง เทคนิค และการใช้วัสดุ ตลอดจนสถานที่ สิ่งแวดล้อม ผู้ใช้ บริบททางสังคมและวัฒนธรรม ทั้งหมดคือสิ่งที่กำหนดคุณค่าความยั่งยืนและสวยงามสำหรับเธอเอง
“ฉันรู้สึกตกใจเมื่อได้ยินสถาปนิกกล่าวว่า ‘ความงามและความยั่งยืนไม่สามารถไปด้วยกันได้’ ฉันไม่เข้าใจสิ่งนี้ สำหรับฉัน ความยั่งยืนคือคำพ้องความหมายสำหรับความงามและความสุข” นี่คือคำนิยามความงามที่ดีที่สุดจาก แอนนา เฮอริงเงอร์ สถาปนิกหญิงที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อโปรเจ็กต์ช่วยเหลือสังคม และอย่างยิ่งที่เธอเน้นย้ำคือผู้หญิงจะต้องมีศักดิ์ศรีที่ทัดเทียมกับผู้ชายสถาปัตยกรรมจึงจะทำให้สังคมนั้น ๆ สมบูรณ์ได้จริง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.archdaily.com/950681/anandaloy-center-studio-anna-heringer?ad_source=search&ad_medium=projects_tab
https://www.dezeen.com/2022/04/15/essential-beauty-anna-heringer-round-up/
https://www.archdaily.com/950733/bamboo-hostels-china-studio-anna-heringer?ad_source=search&ad_medium=projects_tab
https://www.anna-heringer.com/
https://www.stirworld.com/see-features-studio-anna-heringer-builds-a-birthing-room-prototype-in-vorarlberg-austria
https://www.archdaily.com/51664/handmade-school-anna-heringer-eike-roswag?ad_source=search&ad_medium=projects_tab
https://cronicaglobal.elespanol.com/letraglobal/artes/arquitectura/arquitectura-anna-heringer_603630_102.htmlhttps://www.architecturalrecord.com/
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!