ปัญหาการจราจรนับเป็นอีกหนึ่งปัญหาหลักที่เมืองหลวงในแทบทุกประเทศกำลังเผชิญอย่างเลี่ยงไม่ได้ การเพิ่มขึ้นของรถยนต์นั้นเหมือนกับจะผลักไสผู้คนให้ไกลออกไปจากเมือง การตัดถนนให้กว้างขึ้นรังแต่จะยืดเยื้อปัญหาที่มีอยู่ให้ขยายตัวมากขึ้นไปอีก แต่ทว่าหนึ่งในวิธีการแก้ปัญหารถยนต์นั้นกลับกลายเป็นการเพิ่มพื้นที่เดินเท้าให้กับคนเมือง ภายในเวลาเพียง 8 ปี ไทม์สแควร์ถูกเปลี่ยนจากจุดตัดถนนสายหลักที่มีปัญหาทางการจราจรมากที่สุด สู่พื้นที่สาธารณะที่เป็นมิตรต่อพลเมืองนิวยอร์คได้อย่างน่าสนใจ
ถนนสายที่ 47 (47th Street) และถนนสายที่ 42 (42nd Steet) ที่เป็นถนนสายหลักเชื่อมระหว่างตะวันออก-ตะวันตกของเกาะแมนฮัตตันและมีอาคารสำคัญตั้งอยู่มากมาย อาทิเช่น สถานีรถไฟแกรนด์เซ็นทรัล (Grand Central Terminal), ตึกไครสเลอร์ (Chrysler Building), และ ห้องสมุดสาธารณะนิวยอร์ก อาคารสตีเฟน เอ ชวาร์ซแมน (New York Public Library – Stephen A. Schwarzman Building)
ด้วยตำแหน่งที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ ทำให้ไทม์สแควร์กลายเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในโลก ไทม์สแควร์ยังตั้งอยู่ในย่านโรงละครที่มีโรงละครบรอดเวย์อันโด่งดังจนเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ทางแยกของโลก (The Crossroad of the World) โดยเฉลี่ยแล้วมีนักท่องเที่ยวมาที่ไทม์สแควร์กว่าห้าสิบล้านคนต่อปี โดยมีผู้คนสัญจรผ่านไทม์สแควร์กว่าสี่แสนคนต่อวัน อาคารต่างๆเต็มไปด้วยป้ายโฆษณาสว่างไสวตลอดเวลา การไปปรากฎอยู่บนหนึ่งในบิลบอร์ดของไทม์สแคร์นั้นต้องแลกกับค่าเช่าที่สูงลิ่ว กล่าวได้ว่าพื้นที่แห่งนี้มีความสำคัญสำหรับพลเมืองนิวยอร์คทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างประเมินค่าไม่ได้ แต่ด้วยความสำคัญนี้เอง ทำให้ไทม์สแควร์กลายเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีปัญหาการจราจรมากที่สุดเช่นกัน
ปัญหาการจราจรในไทม์สแควร์ดูเหมือนจะแก้ได้ยาก ด้วยความที่เป็นจุดตัดของถนนเส้นหลักหลายสาย จนกระทั่งปี ค.ศ. 2009 ด้วยความร่วมมือระหว่างนายกเทศมนตรีไมเคิล บลูมเบิร์ก (Michael Bloomberg) และเจเน็ต ซาดิค คาห์น (Janette Sadik-Kahn) กรรมาธิการกระทรวงคมนาคมแห่งเมืองนิวยอร์ค (New York Department of Transportation, NYC DOT) ในขณะนั้น ออกนโยบายการเปลี่ยนไทม์สแควร์เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับคนเดินถนน โดยเริ่มต้นโครงการที่มีชื่อว่า ‘Green Light for Midtown’ จุดประสงค์เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับคนสัญจรทางเท้าและลดความแออัดของจราจรด้วยการเปลี่ยนแปลงพื้นที่เฉพาะส่วนแบบชั่วคราว จากนั้นจึงทำการวัดผลลัพธ์ก่อนที่จะมีการปรับปรุงอย่างถาวรต่อไป โครงการ Green light for Midtown ทำการปิดถนนบรอดเวย์ระหว่างถนนสายที่ 42 และ 47 เพื่อทำเป็นพื้นที่สาธารณะ และจัดวางชุดโต๊ะเก้าอี้พลาสติกหลากสีกระจัดกระจายอยู่บนพื้นถนนทาสีสันสดใส โครงการได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม
การจราจรโดยรอบคล่องตัวขึ้น 17% อุบัติเหตุต่อคนเดินเท้าลดลง 35% จำนวนคนเดินเท้าสัญจรผ่านไทม์สแควร์เพิ่มขึ้น 11% และชาวเมืองนิวยอร์คกว่า 74% เห็นว่าไทม์สแควร์มีการเปลี่ยนแปลไปในทางที่ดีอย่างเห็นได้ชัด จึงเป็นจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง 8 ปีที่เผยถึงชัยชนะของคนต่อรถยนต์ในที่สุด
งานประกวดแบบนานาชาติสำหรับพัฒนาไทม์สแควร์ถูกจัดขึ้นในปี ค.ศ. 2010 และได้บริษัทสถาปนิกระดับโลกอย่าง Snøhetta มาเป็นแม่ทัพในการพลิกโฉมพื้นที่ ในระหว่างที่ไทม์สแควร์โฉมใหม่กำลังผ่านกระบวนการออกแบบอยู่นั้นทางรัฐบาลก็ไม่ได้เอาแต่รอเพียงอย่างเดียว แต่ใช้วิธี Interim Design หรือทดลองพัฒนาพื้นที่บางส่วนแบบชั่วคราว เพื่อตรวจสอบดูผลตอบรับและข้อดีข้อเสียในแง่มุมต่างๆ จากนั้นจึงปรับแก้และนำมาใช้ต่อไป
ยกตัวอย่างเช่น Cool Water, Hot Island (สิงหาคม 2010 – กรกฎาคม 2011) ผลงานศิลปะของมอลลี ดิลวอธ (Molly Dilworth) ศิลปินจากเมืองบรูคลิน แนวคิดหลักคือการนำเสนอเกาะความร้อนเมือง (Urban Heat Island) ผ่านผลงานศิลปะบนพื้นถนน สีฟ้าหลากเฉดช่วยสะท้อนความร้อนที่ตกกระทบลงบนพื้นช่วยทำให้บริเวณโดยรอบน่านั่งมากขึ้น และยังเป็นการประกาศถึงยุคใหม่ของไทม์สแควร์อันเต็มไปด้วยสีสัน การใช้ Interim Design นั้นยังมีข้อดีอีกหลายอย่าง กล่าวคือการทดลองนำไอเดียมาทดลองใช้ก่อนนั้นช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ลดการใช้วัสดุ และประหยัดเวลาไปได้มาก นอกจากนี้ยังเป็นการยืนยันผลในระยะยาวว่าจะไม่ต้องปรับเปลี่ยนแบบอีกบ่อยๆ หลังเอามาใช้จริง โครงการชั่วคราวเหล่านี้ยังสามารถใช้วัสดุรียูส รีไซเคิล อัพไซเคิล และเฟอร์นิเจอร์จากโครงการชั่วคราวอื่นๆ ได้อีกด้วย
การพัฒนาไทม์สแควร์ตามแบบฉบับของ Snøhetta นั้นถูกแบ่งเป็นหลายเฟส ซึ่งใช้เวลาทั้งหมด 8 ปี ตั้งแต่ 2010 ถึง 2017 เป็นการพัฒนาพื้นที่สาธารณะสำหรับคนสัญจรทางเท้าทั้งหมดห้าแห่งตามถนนบรอดเวย์ระหว่างถนนสายที่ 42 ไปจนถึงถนนสาย 47 กินพื้นที่กว่า 25,000 ตร.ม. ถือเป็นโครงการประเภทเรียกคืนพื้นที่สาธารณะ (Public Space Reclamation) ขนาดใหญ่ ไทม์สแควร์โฉมใหม่มีพื้นที่สาธารณะเพิ่มขึ้นกว่า 13,000 ตร.ม. หรือคิดเป็น 53% จากพื้นที่ทั้งหมด หลังจากการพัฒนาเสร็จสิ้นแล้วอุบัติเหตุต่อคนเดินเท้าลดลง 40% อุบัติเหตุบนท้องถนนลดลง 15% และอัตราการเกิดอาชญากรรมในพื้นที่ลดลงกว่า 20% นอกจากนี้ยังเป็นการพิสูจน์ทฤษฎี ‘การสัญจรทางเท้าที่เพิ่มขึ้นจะเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจ’ (More foot traffic, more business) ด้วยจำนวนร้านรวงโดยรอบที่เพิ่มขึ้นกว่า 180% และสร้างรายได้ให้กับธุรกิจโดยรอบกว่า 71% และนับว่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์!
เอาออกสำคัญกว่าการเติมเข้าไป
แนวคิดหลักของบริษัท Snøhetta คือการปรับแต่งที่ละเมียดละไม เน้นการศึกษาที่ลงลึกถึงเส้นทางการเดินเท้าของคนภายในพื้นที่ใจกลางแมนฮัตตัน และออกแบบให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของคน นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับความปลอดภัย คุณภาพอากาศ และผลผลิตทางเศรษฐกิจที่จะตามมา ‘สิ่งแรกๆ ที่เราตระหนักเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่ไทม์สแควร์คือ การเอาออกสำคัญกว่าการเติมเข้าไป’ เครก เอ็ดเวิร์ด ไดเกอร์ (Craig Edward Dykers) หนึ่งในสถาปนิกผู้ก่อตั้ง Snøhetta กล่าวถึงแนวคิดการออกแบบ ‘ที่นั่นมีโครงสร้างพื้นฐานที่ฟุ่มเฟือยและล้าสมัยอยู่เต็มไปหมด’
ไทม์สแควร์ใหม่นี้จะเป็นพื้นที่แห่งความเท่าเทียมที่เปิดกว้างและส่งเสริมผลลัพธ์ในระยะยาวในทางร่างกาย จิดใจ และฐานะของชาวเมืองและชาวโลก Snøhetta ทำการปรับระดับพื้นทางเดินและถนน ทุบขอบทางเดิน ย้ายป้ายสัญญาณจราจรที่ก่อให้เกิดมลภาวะทางทัศนียภาพ และติดตั้งที่นั่งหลายระดับในพื้นที่ต่างๆ บริษัทยังคำนึงถึงการหลักการออกแบบที่เท่าเทียม โดยวางเส้นทางสัญจรของผู้พิการทางสายตาไว้ด้วย แผ่นปูพื้นที่ใช้เป็น Precast Concrete สองสีต่างพื้นผิวและฝังแผ่นเหล็กนิเกิลซึ่งจะสะท้อนกับป้ายบิลบอร์ดโดยรอบเกิดเป็นสีสันที่หลากหลาย และวางในทิศทางเลียนแบบการทอดตัวถนนบรอดเวย์เดิมที่เคยมี
พื้นที่ที่มีปัญหาการจราจรยืดเยื้อมายาวนานกว่าสองศตวรรษได้ถูกเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่สาธารณะให้กับคนเดินเท้าภายในระยะเวลาไม่ถึงสิบปี การพัฒนาที่ตรงจุดของนักออกแบบนั้นได้ผลลัพธ์ในทางบวกที่น่าทึ่ง ด้วยการทดลองและพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่งหลายต่อหลายครั้งของทางการ บวกกับความคิดเปิดกว้างต่อการเปลี่ยนแปลงของชาวเมืองนิวยอร์ค นับเป็นการเปิดศักราชของไทม์สแควร์ที่เป็นมิตรต่อคนเมืองได้อย่างสวยงาม
แหล่งที่มาของข้อมูล
1. Testing Times Interim projects secures long term rewards by Auckland Design Manual
2. January 2010 Green Light for Midtown Evaluation Report by DOT NY
3. https://snohetta.com/projects/327-times-square
4. https://www.mollydilworth.com/times-square-1
5. https://agile-city.com/agile-city-research/green-light-for-midtown-project-piloting-city-development/
6. https://en.wikipedia.org/wiki/Times_Square
7. http://arts.timessquarenyc.org/times-square-arts/projects/at-the-crossroads/cool-water-hot-island-/index.aspx
8. https://www.dezeen.com/2017/04/19/snohetta-times-square-new-york-transformation-pedestrian-plazas-officially-opens-architecture-news/#/
9. https://ny.curbed.com/2017/4/19/15358234/times-square-snohetta-before-after-photos
10. https://www.architonic.com/en/project/snohetta-times-square/5104577
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!