ภาพจำของ Boy London คือเสื้อผ้าสุดสตรีทที่มีตรานกอินทรีโดดเด่นเป็นสัญลักษณ์ ซึ่งน้อยคนนักจะรู้ว่าแบรนด์จากเกาะอังกฤษนี้ถือกำเนิดในวงการแฟชันยุคพังก์ ที่มีกลิ่นอายความเป็นหัวขบถสมัยใหม่ เนื่องจากการแต่งตัวสตรีท หรือการสวมใส่เสื้อยืดแบบ Casual ในยุคนั้นยังถือว่าไม่เป็นที่นิยม ในเชิงนามธรรม Boy London จึงเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของการต่อต้านความเป็นอนุรักษ์นิยมอะไรบางอย่างในทางอ้อม เรื่องราวในอดีตเหล่านี้ กลายเป็นแรงบันดาลใจนำมาสู่การออกแบบรีเทลแห่งใหม่ของแบรนด์ Boy London ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ชั้น M ของห้าง Siam Center ก่อนที่ Nana Johnny co studio จะนำไปตีความต่อว่าจะออกแบบสเปซภายในพื้นที่การขายอย่างไรได้บ้าง ? ที่สามารถสร้างแนวคิดใหม่ ๆ เพื่อปฏิวัติภาพจำเดิม ๆ และทำให้พื้นที่ร้านยืดหยุ่นพร้อมปรับตัวได้ในทุกสถานการณ์
แก้ปัญหาเรื่องข้อจำกัดของขนาด
“ด้วยยุคโควิดที่มันเปลี่ยนวิถีชีวิตคนเราไป รีเทลก็เปลี่ยนด้วย คือทางร้านเขาจะหันไปเน้นขายออนไลน์มากกว่า มีพื้นที่ให้ไลฟ์สด พื้นที่สต็อกสินค้าจะต้องเยอะเพียงพอ ซึ่งพื้นที่รีเทลที่วางสินค้าขายหน้าร้านเองก็ยังต้องมีอยู่ แต่มันจะไม่เน้นการฮาร์ดเซลล์อย่างเดียวแล้ว จะเป็นการทำให้ลูกค้าเข้าถึงประสบการณ์หรือเรื่องราวของแบรนด์มากกว่า” คุณแก๊ก-สิรภพ พูลศรี หนึ่งในผู้ออกแบบจาก Nana Johnny co studio เริ่มเล่า
ไม่ใช่แค่นั้น คุณแก๊กยังเล่าเสริมต่อว่า ด้วยการออกแบบรีเทลในห้างนั้น แน่นอนว่าต้องเริ่มจากกฏเกณฑ์ข้อกำหนดจากทั้งห้างเอง หรือแม้แต่ทางแบรนด์ ซึ่งพื้นที่โครงการที่มีขนาดเพียง 41 ตารางเมตร ต้องแบ่งทั้งพื้นที่สต็อกสินค้าและพื้นที่ขาย ทำให้ข้อจำกัดแรกคือ ตัวร้านที่มีขนาดค่อนข้างเล็กมาก อีกทั้งยังมีระยะของ Ceiling ที่ไม่ได้สูงมาก ทุกจังหวะของการดิสเพลย์สินค้าจึงต้องมีความหมายสำหรับแบรนด์
ทวิสเตอร์ ‘การเปลี่ยน หรือการทำให้ผิดรูปร่าง’
ทีมสถาปนิกเสนอการปรับเปลี่ยนพื้นที่โดยใช้แกนหมุนและจุดตัดที่เรียกว่าทวิสเตอร์ เพื่อความยืดหยุ่นและสามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่ดิสเพลย์ได้ตามคอลเล็กชันที่แตกต่างกันออกไป “ทวิสเตอร์ มันแปลว่า การเปลี่ยน หรือการทำให้ผิดรูปร่าง ซึ่งเราว่ามันสะท้อนความต่อต้านหรือแตกต่างบางอย่างเช่นเดียวกับแบรนด์ และยังทำให้รูปร่างของรีเทลปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา เพื่อให้เกิดความยูนีคกว่าแบรนด์อื่น ๆ ที่อยู่รอบด้าน”
“เราเริ่มตั้งเสา โดยทรีทให้แกนหมุนเป็นได้ทั้งวอลและดิสเพลย์ เพื่อกั้นขอบเขตทางเดินเข้า และยังสามารถแขวนสินค้าไปด้วยได้ โดยสามารถหมุนและปรับเปลี่ยนทางเข้าได้ตามเหมาะสม ซึ่งที่ Siam Center เขาจะมีอีเวนท์บ่อย บางครั้งมีศิลปินไทยที่เขามาคอลแล็ปกับแบรนด์ต่าง ๆ หรือบางครั้งก็จัดการเดินแบบแฟชัน การออกแบบร้านให้สามารถปรับเปลี่ยนหมุนเวียนได้ มันก็ไปในทิศทางเดียวกับพื้นที่โดยรอบด้วย” คุณต้า- ธเนศวร ฉัฐมะวงศ์ เล่าเสริม
Something More : ด้วยความที่โปรดักต์มีทั้งหมวก เสื้อ เสื้อแขนยาว หรือกางเกง ซึ่งเมื่อเป็นเสื้อทรงสตรีท จะยาวกว่าปกติ พวกแกนหมุนต่าง ๆ จึงมีข้อดีตรงที่สามารถรองรับระยะของการดิสเพลย์สินค้าได้หลายระดับมากขึ้น
ด้านในของพื้นที่สต็อกสินค้า ผู้ออกแบบครีเอทระนาบของผนังขึ้นมา เสริมบรรยากาศด้วยไฟส่องสว่างเพื่อให้พื้นที่กว้างด้านในกลายเป็นมุมไลฟ์สดได้ในบางครา ส่วนบริเวณเคาน์เตอร์ก็แตกต่างจากรีเทลที่คุ้นตาเช่นกัน เพราะสำหรับที่นี่ เคาน์เตอร์จะถูกแอบไว้ด้านหลัง เพื่อช่วยลดบรรยากาศของการยืนรอชำระสินค้า ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้ร้านขนาดเล็ก ยิ่งดูวุ่นวายมากขึ้นไปอีก
ส่วนผนังของโซนดิสเพลย์สินค้าฝั่งที่เหลือ ออกแบบด้วยการใช้กระจกเพื่อให้ร้านดูมีขนาดกว้างขึ้น ซึ่งบริเวณมุมหนึ่งของร้านจะมีเสาเดิม ซึ่งทางผู้ออกแบบก็ปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นมุมดิสเพลย์อีกหนึ่งมุม ที่มีการจัดวางหน้าจอดิจิทัลเพื่อนำเสนอภาพให้ผู้ที่ผ่านไปมาให้เห็นก่อนเป็นอันดับแรก เนื่องจากที่ตั้งของร้านอยู่ใกล้กับบันไดเลื่อนที่มีผู้คนเดินขึ้นลงเกือบทั้งวัน
กระจกเงาไม่ได้ถูกออกแบบให้เรียบง่ายแบบเพลน ๆ แต่ยังมีคลิปซึ่งนำมาติดตั้งบริเวณกระจกเป็นกิมมิคที่บางครั้งสามารถดิสเพลย์หมวก หรือสินค้าบางส่วนได้เพิ่มเติม และยังเป็นลูกเล่นที่ผู้ออกแบบตั้งใจใส่เข้าไปเพิ่มเติมเพื่อสามารถแสดงแบบของลายเสื้อบางอย่าง เป็นการบอกใบ้ให้ลูกค้ารู้ว่าในคอลเล็กชันที่กำลังจะมาถึง สินค้าจะไปในทิศทางไหน เป็นแนวคิดกึ่ง Exhibition ที่ทำให้ร้านรีเทลไม่ใช่เพียงร้านขายของเพียงอย่างเดียว ตามความตั้งใจแรกของทีมออกแบบ
อีกหนึ่งดีเทลเล็ก ๆ ที่แสดงถึงความแตกต่างสะท้อนไปกับตัวแบรนด์ คือป้ายสโลแกน ‘Leave The Boy Alone’ ที่ผู้ออกแบบเลือกวางตำแหน่งที่หลบซ่อนไว้ด้านบน และด้านข้าง ลูกค้าจะมองเห็นบ้างหรือไม่เห็นบ้างก็ไม่เป็นไร “ป้ายร้านอื่นอยู่ด้านล่าง ป้ายร้านนี้อยู่ด้านบน ป้ายร้านอื่นจะตะโกนชื่อร้านออกมาให้มากที่สุด แต่ป้ายร้านนี้จะหลบซ่อนอยู่ เงยหน้าขึ้นไปจึงจะเห็น” คุณแก๊กเล่าติดตลก
ทันสมัย ไฮเอนด์ และความเป็นวัยรุ่นที่สะท้อนผ่านภาพลักษณ์และงานวัสดุ
เพื่อให้สอดคล้องไปกับภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่มีความสตรีท ทันสมัย เป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่น อีกทั้งยังมีความหรูหราประมาณหนึ่ง ทำให้วัสดุต้องพรีเซนท์เรื่องราวเหล่านี้ออกมา โดยทางผู้ออกแบเลือกใช้ สแตนเลส ซึ่งมีความ Timeless ในแบบของตัวเอง จะนำไปใช้เติมความหรูหราก็ได้ หรือจะดิบเท่ก็ดี
ส่วนบริเวณ Ceiling ที่มีระยะไม่สูงนัก ทีมเลือกใช้แผ่นตะแกรงเจาะรู (Perforated Sheet) เพื่อให้ความซีทรูของวัสดุช่วยลดความตันของระยะฝ้าเพดานได้ส่วนหนึ่ง นอกจากนั้น ตัวแกนทวิสเตอร์ที่หมุนได้ยังมีกลอนที่สามารถล็อคกับ Perforated ได้ทุกส่วนอย่างแน่นหนา ส่วนตัวพื้นใช้วัสดุเรียบง่ายแต่ทนทานแข็งแรงอย่างเทอราซโซ เสริมกิมมิคบางส่วนด้วยตราสัญลักษณ์ KLAND ซึ่งเป็นแบรนด์ที่นำ Boy London เข้ามาสู่ประเทศไทยนั่นเอง
Location : Siam Center , Bangkok , Thailand
Area : 41 Sq.m.
Design Team : Siraphop Pulsri, Thanasuan Chutmawong, Kitti Vichai
Contractor : Fine26
Photography By : Jinnawat Borihankijanan
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!