Britannica Brasserie, MIZUMORI, Liberation Bangkok และ First Aid Kiss Cafe & Bar ทั้งหมดนี้ต่างก็เป็นชื่อผลงานของ AIM Imaginarist สตูดิโอออกแบบอินทีเรียน้องใหม่ที่นำโดย พลอย-วรัมพร ศิริเจริญ, แคลร์-วฤณต์ ตรีโสภา และ บอส-ภัทรกฤต ปทุมาสูตร ที่นำเอา ‘Imaginarist หรือความเป็นนักจินตนาการ’ มาเป็นหัวใจหลักในการดีไซน์ผลงานประเภท Commercial Project ให้ออกมาถูกใจลูกค้า และตอบรับกับการใช้งานของผู้มาเยือนให้มากที่สุด
ก่อนจะมาเป็น AIM Imaginarist
เริ่มต้นรู้จักกันได้ยังไง
แคลร์ : แคลร์เป็นเพื่อนกับบอสตั้งแต่สมัยประกวดงานวิทยานิพนธ์ TIDAA Awards ส่วนพี่พลอย เป็นพี่ที่เราสนิทที่สุดที่เคยทำงานที่เดียวกัน ซึ่งจริง ๆ เราสามคนมาจากคนละมหาลัยกันหมดเลยแต่สาขาเดียวกัน ก็คือออกแบบอินทีเรีย เราจบลาดกระบัง บอสจบจุฬาฯ ส่วนพี่พลอยมาจากศิลปากร แล้วประจวบเหมาะ มีงานนึงเข้ามาก็เลยมีโอกาสได้มารวมตัวกันสามคน
ชีวิตมหาวิทยาลัยของแต่ละคนเป็นแบบไหนกัน
บอส : เราเป็นเด็กที่เล่นมากกว่าเรียน แต่เราก็ยังสามารถทำได้ดีในวิชาออกแบบ เลยเอาตัวรอดมาได้ในช่วงมหาวิทยาลัย ส่วนวิชาเล็คเชอร์เราก็เหนื่อยอยู่ (หัวเราะ) ตอนนั้นเราเป็นคน ‘บอกขวาไปซ้าย บอกซ้ายไปขวา’ ในขณะที่ช่วงธีสิสเพื่อน ๆ เครียดกับการเรียน เราออกไปใช้ชีวิต เที่ยวเล่น จนได้คอนเนคชั่นและได้งานนอกเป็นงานแรกในชีวิต ก็ทำควบคู่กับการเรียนไปด้วยมาตั้งแต่ตอนนั้น กลายเป็นว่ามันก็คือการเรียนรู้ในอีกรูปแบบหนึ่งนั่นแหละ
แคลร์ : ขนาดบอสทำงานควบคู่ไปด้วย ก็ยังได้รางวัลประกวดเลย
บอส : ไม่หรอก คือเรารู้วิธีเอาตัวรอดไง (หัวเราะ) เด็กสมัยนี้ทุกคนมีอะไรที่อยากทำ แต่มันก็ต้องบริหารวิธีการใช้ชีวิตให้ได้ด้วยเหมือนกัน
แคลร์ : ส่วนของแคลร์เป็นเด็กกิจกรรมค่ะ จริงๆสมัยนั้น มีอะไรให้ทำก็ลงมือทำหมดเลยนะ ทำละครเวทีสถาปัตย์ เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ญี่ปุ่น อาสาสอนศิลปะเด็กในชุมชน ทำงานประกวดต่างๆ แพ้บ้าง เข้ารอบบ้าง ทำมาตลอด เพราะเราชอบใช้ความคิด อย่างพวกงานประกวด ตอนนั้นเราคิดแค่ว่ารางวัลมันเป็นแค่ผลพลอยได้ เราเต็มที่กับโจทย์ ตีโจทย์ให้แตก ก็สนุกมากแล้ว เราแค่อยากไปเจอเพื่อนต่างมหาลัย เจอผู้เชี่ยวชาญในวงการ อยากรู้ว่าสิ่งที่เขาคิด มันเป็นยังไง เพราะเราก็มีความสุขกับการได้เห็นมุมมองของคนอื่นด้วย มัน Shape Vision ของเรา ตั้งแต่นั้นมา
พลอย : ของเราผิดกันเลย เราเป็นเด็กเนิร์ดประมาณนึง เป็นคนที่ตั้งใจจะทำอะไรต้องทำให้ได้ ตอนเรียนคือตั้งใจเรียนมาก ตอนแรกเราเรียนไป แล้วรู้สึกกดดันกับตัวเอง เพราะเป็นการทำโปรเจคคนเดียวตั้งแต่ตั้นจนจบ จนกระทั่งเราได้ไปฝึกงาน แล้วพบว่ามันสนุกมาก ได้เรียนรู้เกือบทุกขั้นตอนของการทำงานจริงๆ และก็มีอะไรใหม่ๆให้ได้ลองทำ อีกอย่างตอนเราฝึกงานได้ลองทำงานเป็นทีม ได้แลกเปลี่ยนความคิด ได้เจอเพื่อน เรารู้สึกว่ามันสนุกสำหรับเรา
โปรเจกต์แรกที่ทำด้วยกันคืออะไร พอจะจำได้ไหม
แคลร์ : ร้านอาหารญี่ปุ่นชื่อ MIZUMORI ที่กัลปพฤกษ์ โปรเจกต์น่าสนใจมาก เพราะมันเป็นการเริ่มทำจากพื้นที่ภายนอกเข้ามาสู่ภายในเลย เราก็มองว่าน่าทำแต่พื้นที่มันใหญ่ เราต้องใช้ทีมที่เวิร์คเลยได้โอกาสมารวมตัวกัน โปรเจกต์นั้นก็เลยนำมาสู่ BRITANNICA Brasserie ซึ่งเป็นเจ้าของเดียวกัน
ต่อยอดมาจนถึงการที่เราตัดสินใจมารวมตัวกันก่อตั้งสตูดิโอได้ยังไง
พลอย : พอเราทำงานแรกด้วยงานแล้วมันค่อนข้างโอเค โฟลวงานได้ดี งานมันก็เข้ามาเรื่อย ๆ เยอะขึ้น ๆ จนทำให้เราต้องมารวมตัวกัน
แคลร์ : เราจะมีความชอบเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง คือ เราชอบงานทางด้าน Commercial Project เหมือนกัน เราเลยเริ่มจากงานแบบนั้นเป็นต้นมา
นักทดลอง นักจินตนาการและผู้คว้าโอกาส
เพราะอะไรถึงชอบ Commercial Project
พลอย : เราว่าโจทย์มันไม่เหมือนกันเลย แต่ละร้าน ลูกค้าเขาจะมีความชอบของตัวเขา ซึ่งเป็นเหมือนความท้าทายของเราด้วย ทำยังไงให้ร้านหรือสเปซตอบสนองเขาให้ได้มากที่สุด ในขณะที่ตอบสนองลูกค้าของเขาด้วยเช่นกัน เราสนุกกับโจทย์นี้มากกว่า แล้วมันก็ท้าทายในเรื่องของไทม์ไลน์ด้วย ซึ่งต้องแข่งกับเวลาอยู่ตลอดเวลา
บอส : ส่วนของผมเริ่มตั้งแต่เรียนจบ เราเป็นคนที่ชอบการปาร์ตี้อยู่แล้ว ชอบสังเกตไลฟ์สไตล์ของผู้คน เราไปเจอรุ่นพี่ เจอคนนู้นคนนี้ ซึ่งกลายมาเป็นคอนเนคชันของเราด้วย จากจุดนั้นก็พาเรามาสู่การออกแบบบาร์ต่าง ๆ เพราะจริง ๆ ผมเริ่มออกแบบบาร์ร้านนึงกับแคลร์ก่อน แล้วเราก็เริ่มเข้ามาในวงการ Commercial Project มันก็เลยมีโปรเจกต์อื่น ๆ ตามมาเรื่อย ๆ
แคลร์ : เรารู้สึกว่างาน Commercial Project มาพร้อม Strategy ที่เราต้องวางแผนทุกอย่างตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ว่าจะเป็น Strategy ของสตูดิโอพวกเราเองด้วย วางไทม์ไลน์ วางแพลนคน หรือแม้แต่ Strategy ในการทำให้ร้านเขาน่าสนใจด้วย ซึ่งพวกเราก็มีลูกค้าหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ลูกค้าใหญ่ Entrepreneur ที่มีธุรกิจแข็งแรงอยู่แล้ว หรือลูกค้าที่เพิ่งเริ่มต้นทำสตาร์ทอัพ ตั้งแต่เขายังไม่เห็นภาพว่าจะมีอะไรบ้าง เราลงไปค้นหาร่วมกันกับเขา ทำให้รู้สึกว่าโปรเจกต์ลักษณะนี้ได้คุยกับลูกค้าค่อนข้างเยอะ เป็นการคุยในมุมกว้างที่มองทั้งอินทีเรียดีไซน์ ธุรกิจ และผู้ที่จะมาใช้งาน
พลอย : แต่ส่วนตัวเราก็ลองกันมาเยอะนะ กว่าจะแน่ใจว่าชอบทางนี้ งาน Residential เราก็เคยทำ แต่ก็ยังรู้สึกว่า Commercial Project สนุกกว่า แคลร์ : จริงค่ะ ลองยิ่งมาก เราก็จะยิ่งรู้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น โอกาสที่เข้ามาก็สำคัญ เราว่ามันคือคำคล้องกันเลยแหละ ‘ลอง’ กับ ‘โอกาส’ มันต้องไปด้วยกัน เพราะฉะนั้น เมื่อไรที่มีโอกาสเข้ามาก็ควรจะทำไปเลย ตอนนั้นแหละที่เราจะได้เห็นตัวเอง เราสามคนขอบคุณตลอดที่ตัดสินใจคว้าโอกาสไว้ตั้งแต่แรก ทำให้มันต่อยอดมาได้จนถึงวันนี้ ทุกวันนี้ก็ยังลองอยู่ มีอีกสารพัดโปรเจกต์อีกมากมายที่เรายังไม่เคยได้ทำ
โปรเจ็กต์เฉพาะทางที่สุดที่เคยทำ
แคลร์ : ร้านจิวเวลรี่ Chavana ที่ Central Embassy สนุกมาก เพราะลูกค้าก็สนุกไปพร้อมกับเรา โจทย์มาด้วยความที่ลูกค้าอยากได้ร้านจิวเวลรี่ที่ไม่เหมือนร้านจิวเวลรี่ทั่วไป เขาจะเล่าประวัติศาสตร์ความเป็นมาของจิวเวลรี่ตั้งแต่อดีตเลย มันเลยสนุกกับโจทย์ที่จะทำยังไงให้มันแตกต่าง คือ เราต้องเอาตัวเองลงไปมองถึงสเกลที่มันเล็กเป็นหน่วยมิลลิเมตรอย่างจิวเวลรี่ ให้สอดคล้องกับพื้นที่ในบริบทของ Luxury แต่ยังมีกลิ่นอายประวัติศาสตร์ ความเป็น Legacy ของแบรนด์คนไทยซ่อนอยู่ด้วย
ทำงานออกแบบมาก ๆ เคยมีวันที่รู้สึกว่าไม่อยากเป็นดีไซน์เนอร์แล้วไหม
พลอย : บ่อยเลย (หัวเราะ) มันจะเป็นในเวลาที่เรารู้สึกว่าเราทำไม่ได้ตามที่เขาอยากได้ ก็มีรู้สึกท้อบ้าง ทุกคนก็ต้องมีช่วงเวลาแบบนั้นเป็นธรรมดา แต่ถ้าถามว่าดึงตัวเองกลับมาได้ยังไง ก็เป็นเพราะได้คำชมจากลูกค้า แค่นี้ก็ใจฟู หรือลูกค้าของลูกค้าอีกทีชอบร้าน ชอบสเปซ เท่านี้เราก็พอใจแล้วในฐานะดีไซน์เนอร์
แคลร์ : สิ่งที่เราเอนจอยมันคือเรื่องระหว่างทางด้วย แต่แน่นอน พองานเสร็จแล้ว คนใช้งานแฮปปี้ มันก็เป็นความสุขของคนออกแบบ
AIM Imaginarist ในการทำงานของสามคนนี้เป็นยังไง
แคลร์ : การที่เราไม่เหมือนกันเลย เรามองว่ามันคือส่วนผสมที่พอดีนะ อีกคนขาด อีกคนเติม อย่างบอสเอง เขาเป็นคนที่มีเซนส์ในด้านดีไซน์ดีมาก มองบริบทของงานทุกแบบเก่ง
พลอย : ส่วนเรื่องความคิด หรือกลยุทธ์ ก็อยู่ที่คนนี้ น้องแคลร์
แคลร์ : เราพยายามหาโอกาส Possibility ให้กับแต่ละโครงการ มุมมองทางการขายในแง่สถาปัตยกรรมภายใน ส่วนพี่พลอยจะเป็นคนละเอียดมาก เก็บรายละเอียดหมด ยิ่งเรื่องของแบบก่อสร้าง หรือดีเทลงานช่าง พี่พลอยเอาอยู่หมด แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ทั้งหมดก็ต้องผ่านความคิดเห็นของทั้งสามคน
AIM Imaginarist
กับการบริหารทั้ง Interior Term และ Business Term ให้ไปด้วยกัน
ก่อนอื่นเลย AIM ย่อมาจากอะไรเป็นพิเศษไหม
แคลร์ : AIM ย่อมาจาก Atelier of Imaginarists เพราะเรารู้สึกว่า เรื่องที่เราต้องการจะสื่อ คือ Imagination หรือจินตนาการ เพราะจินตนาการนำไปสู่สิ่งที่ไม่สิ้นสุด เราอยากจะเก็บตรงนี้ไว้เตือนตัวเองและทีมของเราด้วยว่าคอร์หลักในการออกแบบของเราต้องมีจินตนาการ ซึ่งเราจะเปิดรับทุกอย่าง เราไม่เคยตลกกับจินตนาการหรือแนวคิดของใคร เราเลยนึกถึงนักจินตนาการ (Imaginarists)
เปิดสตูดิโอของตัวเองตั้งแต่ยังเด็ก มันสร้างจุดเปลี่ยนอะไรให้เราบ้าง
แคลร์ : มันเป็นอีกเรื่องเลย คือไม่ใช่แค่ interior design แล้ว แต่มันอยู่ใน business term ด้วย
พลอย : ตอนแรกที่เปิดสตูดิโอจริงจัง รู้สึกไม่ต่างเท่าไรนะ เหมือนฟรีแลนซ์สามคนมารวมตัวกัน (หัวเราะ) แต่หลังจากที่จดบริษัท ทุกอย่างมันจริงมาก ภาษียังไง พนักงานต้องกี่คน พนักงานต้องเข้าประกันสังคม ต้องวางแพลนบริษัท มี Direction ที่ชัดเจน ซึ่งตอนนั้นพวกเราอายุประมาณ 25-26 จนถึงตอนนี้ก็ยังรู้สึกว่าไม่ได้ก้าวสเต็ปไปเป็นบริษัทใหญ่โตจริงจัง ซึ่งความรู้สึกเราเอง เราว่างานมันเข้ามาเยอะ และด้วยความที่ต้องจัดการงานดีไซน์ด้วย งานบริหารบริษัทด้วย เราเลยอาจจะยังจัดการสองอย่างนี้ได้ไม่ดีพอ ซึ่งก็ต้องให้เวลาตัวเองกันอีกนิด
แคลร์ : เราต้องเห็นภาพตัวเองไปเรื่อย ๆ ยาว ๆ เพราะวันที่เราเปิด เราปิดไม่ได้แล้ว เราต้องมองแพลนที่จะทำให้บริษัทเราอยู่ได้นานที่สุด โควิดจะเกิดหรืออะไรก็ตาม เราต้องลุยอย่างเดียว ซึ่งตรงนี้มันทำให้เราต่อสู้ได้ในอีกระดับหนึ่ง สตรองขึ้น รู้ว่าถ้าเกิดอะไรขึ้น เราก็ยังต้องสู้ในสิ่งนี้ สิ่งที่เราสร้าง หรือสิ่งที่เราเชื่อ
การโตไวกว่าเพื่อน ส่งผลอะไรกับชีวิตเราในด้านอื่น ๆ ไหม ?
แคลร์ : เรากลายเป็นคนมั่นใจ และเข้มแข็ง กล้าเผชิญกับทุกปัญหา ต้องซื้อใจและให้ความเชื่อใจกับลูกค้าให้ได้ ทุกอย่างเราต้องคิดเป็น Step หมด และต้องเด็ดขาดในทุกการตัดสินใจ เราต้องเป็นผู้นำที่ดี ในขณะเดียวกัน เราต้องเป็นผู้ฟังที่ดีด้วย
ตั้งแต่งานแรก ๆ ถึงปัจจุบัน วิธีการที่ลูกค้าเข้าหาต่างกันไหม อย่างไร
แคลร์ : ของเรามาจากปากต่อปากส่วนใหญ่เลย เราสะสมพอร์ตของเรามาเรื่อย ๆ แต่สิ่งสำคัญที่เรารู้สึกภูมิใจกับออฟฟิศนี้เลยนะ คือ การที่เราสามารถ Adapt ไปได้ทุกลักษณะของโปรเจกต์ ไม่ว่าเป็นร้านจิวเวลรี่ ที่ต้องใช้ความเข้าใจงานในแบบ Luxury อย่างแท้จริง , Night Club คอนเซ็ปต์ Exotic อวกาศสุด ๆ หรือแม้กระทั้ง Wedding Studio หวานมาเลย เราก็ทำได้ แต่ในทุกๆ โปรเจ็กต์ เราจะสร้างภาษาที่เป็นเอกลักษณ์ และเป็นที่จดจำให้กับทุกผลงาน เราใส่ลายเซ็นของเราไปด้วย นั่นคือสิ่งที่ทำให้เราแตกต่าง
พลอย : เคยมีผู้รับเหมาบอกเราว่า งานเราจะมีเอกลักษณ์ มีภาพจำแต่ไม่ใช่ดีเทลเล็ก ๆ จะเป็นภาพรวมสเกลใหญ่ แต่ละโครงการมันมีเอกลักษณ์ของมัน อย่าง เส้นสายโค้งมน
แคลร์ : เราไม่ได้เอะอะโค้งนะ เรามีเรื่องราวให้โค้งเหล่านั้น อย่าง BRITANNICA เราคิดเรื่องของ Cabiness of Curiosity มาก่อน แล้วจึงค่อย ๆร้อยเรียงเรื่องราวให้พื้นที่ หรือแม้แต่ร้านยาทองหล่อนี้เอง เราก็เริ่มคิดจาก การอยากให้ร้านยาเป็น Everyday Space เราเลยใช้ความเรียบง่ายที่สุด Everyday ที่สุด อย่าง Shape & Form ของแคปซูลยา หรือเครื่องหมาย + มาถอดเป็นส่วนประกอบงานงานออกแบบ ก่อนจะนำไปประกอบร่างให้เป็น Spatial ในแบบของ AIM
เวลาได้รับงานมาหนึ่งโปรเจกต์ แบ่งงานกันยังไง
พลอย : สเต็ปจะเริ่มจากแนวคิดภาพรวมไอเดีย ดีไซน์ ไปคอนสตรัคชัน ถ้าเป็นความคิดมู้ดแอนด์โทนจะเป็นแคลร์ก่อน เสร็จแล้วก็จะมาดูทั้งสามคนว่ามันโอเคไหม ถ้าลงตัวแล้วก็จะนำไปสู่พาร์ทดีไซน์ ทำ Presentation ทั้งหมด ตรงนี้บอสก็จะมาดู หลังจากนั้นก็มาลงความเห็นทั้ง 3 คนอีกที ว่ามันควรจะมีดีเทลอะไรเพิ่มเติมไหม ส่วนคอนสตรัคชันจะเป็นเราเองที่คอยเข้าไปตรวจหน้างาน ว่าสิ่งที่ออกแบบและปั้นขึ้นมา มันทำจริงแล้วโอเคไหม ถูกไหม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทุกขั้นตอน เราปรึกษากันตลอด
ในอีก 5 ปีข้างหน้า มองเห็นตัวเองและ AIM Imaginarist อยู่ในจุดไหน
แคลร์ : ถ้าถามเรา เราอยากเห็น AIM โตขึ้นในความท้าทายที่มากขึ้นด้วย เรามองไปในระดับ International อย่างตอนนี้ เราเองก็ได้มีโอกาสส่งงานออกแบบไปที่ มาเก๊า ประเทศจีน ค่อนข้างหลายโปรเจ็กต์แล้ว รวมถึงงานออกแบบในประเทศฝรั่งเศสด้วย เรารู้สึกว่าการได้สร้างสรรค์ความเป็น AIM ในบริบทประเทศ หรือเมืองที่ต่างออกไป มันสนุกมากเลยนะ อยากอยู่ในจุดที่ได้เห็นงาน AIM กระจายตัวอยู่บนโลกใบนี้เยอะ ๆ
พลอย : ตอนนี้เรามีทีมอยู่ 5 คน (รวมเราสามคนด้วยนะ) ในอนาคตก็อยากให้มีทีมที่ใหญ่ขึ้น อยากสอน อยากปั้นคนในทีมให้เขาอินไปกับเรา เติบโตไปด้วยกัน แต่ก็อาจจะไม่ต้องใหญ่โตมาก เพื่อให้เรายังสามารถเข้าถึงได้ทุกคน
บอส : ของผมก็คล้าย ๆ ของทั้งสองคน บริษัทควรไปได้ไกลถึง International แต่ด้วยความที่เราเป็นอินทีเรีย เรารับงานหลาย ๆ โปรเจกต์มา บางทีมันเยอะจนเราไม่มีเวลาโฟกัสกับสิ่งที่เราอยากจะออกแบบจริง ๆ ถ้าถึงวันนึงที่สตูดิโอนี้ใหญ่ขึ้น เราก็อยากจะมีโปรดักต์อะไรบางอย่างที่ทำให้เราโฟกัสกับการออกแบบ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ตู้ โคมไฟ เพราะเราเชื่อว่าอินทีเรียทุกคนชอบออกแบบอะไรกระจุกกระจิก แต่มันอาจจะไม่มีเวลา ถ้าแบ่งร่างตัวเองออกไปใส่ใจตรงนั้นได้ ก็คงฟูลฟิลความเป็นดีไซน์เนอร์ของเราได้จริง ๆ
ขอบคุณสถานที่
FIRST AID KISS CAFE & BAR
ทองหล่อ คลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ
เปิดวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 10.30-17.30 น. (คาเฟ่), 18.30-22.00 น. (บาร์)
Photo Credit : Jinnawat Borihankijanan
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!