โบโกตา (Bogotá) เป็นเมืองหลวงในประเทศโคลัมเบียซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 1,800 ตร.กม.มีประชากรกว่า 7 ล้านคน (กรุงเทพฯ มีพื้นที่ 1,600 ตร.กม. มีประชากรมากกว่า 10 ล้านคน) ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ประเทศโคลัมเบียเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างกลุ่มความเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายฝ่าย โบโกตาที่เป็นเมืองหลวงต้องประสบปัญหาผู้ลี้ภัยเข้าเมืองจำนวนมาก ความเหลื่อมล้ำ อาชญากรรม ยาเสพติดและมลภาวะ ในปีค.ศ. 1995 เพียงปีเดียวมีผู้ถูกฆาตรกรรมกว่า 3,360 ราย หรือวันละ 10 คน ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนกว่า 1,380 คน สภาพแวดล้อมเต็มไปด้วยความโหดร้ายรุนแรง ชาวเมืองโบโกตากว่าสามในสี่สิ้นหวังกับอนาคตของประเทศ
แสงแห่งความหวังสู่เมืองโบโกตา
ในปีคศ. 1995 นี้เองเป็นจุดเริ่มต้นสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ด้วยชัยชนะจากคะแนนเสียงอันถล่มทลาย ทำให้ อันตานัส มอคคุส (Antanas Mockus) นักการเมืองอิสระได้ขึ้นแท่นเป็นนายกเทศมนตรีเมืองโบโกตา อันตานัส (เกิด 25 มีนาคม คศ. 1952) เป็นชาวโคลอมเบีย นักคณิตศาสตร์ อดีตศาสตราจารย์และอธิการบดีมหาวิทยาลัยโคลอมเบีย แม้กับผู้ที่สนับสนุนก็บอกว่าเขาเป็นคนที่ดูออกจะแปลกอยู่บ้าง เช่นการเปิดก้นใส่นักศึกษาที่มาประท้วงจนทำให้เขาต้องลาออกจากการเป็นอธิการบดี หรือการลงพื้นที่ในชุด “Super Citizen” ที่ละม้ายคล้ายคลึงกับซุปเปอร์แมน อันตานัสมีความเชื่อแตกต่างกับนักการเมืองกับคู่แข่ง เอนริเก เปนญาโลซา (Enrique Peñalosa) โดยสิ้นเชิง ในขณะที่เอนริเกเน้นการแก้ไขพัฒนาสาธารณูปโภค อันตานัสเปรียบเมืองโบโกตาเป็นห้องเรียนขนาดใหญ่ โดยมีตัวเขาและคณะเป็นผู้คอยแนะนำปรับเปลี่ยนทัศนคติของชาวเมือง สำหรับอันตานัสนั้นการเป็นพลเมืองที่ดีนอกจากสิทธิทางสังคมแล้ว ประชาชนต้องเคารพสิทธิผู้อื่นและเคารพต่อหน้าที่พลเมืองด้วย การกระทำที่ดูจริงใจและตรงไปตรงมานี้เองทำให้ผู้คนมากมายให้การสนับสนุนเขาจนสุดท้ายได้ตำแหน่งนายกเทศมนตรีไปในที่สุด
หลักจากที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกเทศมนตรีแล้ว อันตานัสได้ออกนโยบายอีกหลายอย่าง เช่นการว่าจ้างนักแสดงละครใบ้กว่า 400 คนออกไปล้อเลียนคนขับและคนเดินเท้าที่ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร หรือการแจกจ่ายใบแดงให้กับประชาชน เพื่อที่จะชูใส่คนขับยานพาหนะที่ทำผิดกฎแทนที่จะทะเลาะกัน และยังรณรงค์ให้บริจาคปืนในวันปลดอาวุธ เพื่อที่จะหลอมไปทำเป็นช้อนส้อมให้เด็ก ถึงแม้ว่ามีคนบริจาคแค่เพียง 1% ของจำนวนปืนที่มีอยู่ในเมือง แต่ก็ทำให้ชาวเมืองรู้สึกปลอดภัยในการไปไหนมาไหนมากขึ้น
นอกจากนี้เขายังว่าจ้าง กิลเญโม เปนญาโลซา (Guillermo Peñalosa) นักธุรกิจและนักวางผังเมือง น้องชายของเอนริเกคู่แข่งตนเอง เพื่อมาดูแลสวนในเมืองและโครงการ La Ciclovia อีกด้วย อันตานัสเข้มงวดเรื่องความโปร่งใสมาก เขาไล่ตำรวจจราจรที่ทุจริตรับสินบนออกทั้งหมด และสามารถทำให้กว่า 60,000 ครัวเรือนเต็มใจที่จะจ่ายภาษีมากกว่าเดิมถึง 10% เพื่อนำมาพัฒนาบ้านเมือง สุดท้ายอันตานัสสามารถเปลี่ยนทัศนคติของผู้คนต่อเมืองของตัวเองจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพื่อพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึงโดยนายกเทศมนตรีคนต่อไป
การต่อสู้เพื่ออนาคต
ก่อนที่ เอนริเก เปนญาโลซา (Enrique Peñalosa) จะชนะการเลือกตั้งในปี 1998 เมืองโบโกตามีองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA, Japan International Cooperation Agency) เป็นที่ปรึกษาในการวางผังเมืองอยู่เดิม ซึ่ง JICA ได้วางผังทางด่วนมากมายเพื่อลดปริมาณจราจรติดขัดในเมือง แต่ในความเป็นจริงแล้วมีเพียงแค่ร้อยละยี่สิบของครัวเรือนโบโกตาเท่านั้นที่มีรถส่วนตัว และส่วนใหญ่กระจุกอยู่บริเวณทางตอนเหนือของเมืองโบโกตาซึ่งเป็นที่อยู่ของคนมีฐานะ เอนริเกรู้ดีว่างบโครงการจำนวน 5 พันล้านดอลลาห์นั้นไม่ส่งผลดีให้กับชาวเมืองส่วนใหญ่อย่างแน่นอน เขาจึงระงับการพัฒนาทางด่วนเมืองโบโกตาทันที เอนริเกให้สัมภาษณ์ว่า คนคงมองว่าเป็นเรื่องปกติที่เมืองกำลังพัฒนาจะนำงบเป็นพันล้านไปใช้กับการก่อสร้างทางด่วน แต่จะไปมีประโยชน์อะไรถ้ายังมีโรงเรียนไม่เพียงพอ ท่อระบายน้ำไม่ทั่วถึง และไม่มีพื้นที่สีเขียวในเมือง
นโยบายต่อกรกับรถยนต์ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เอนริเกขึ้นภาษีน้ำมันกว่า 40% และนำงบประมาณทั้งหมดไปใช้พัฒนาพื้นที่สาธารณะ การคมนาคม และสถาปัตยกรรมทำให้ชาวเมืองได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เอนริเกไม่ได้พัฒนาเมืองเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น เขาทวงคืนพื้นที่สาธารณะจากคนยากจนที่มาจับจองโดยพลการ และขับไล่คนขายแผงลอยข้างถนนกว่าพันคนให้ออกไปจากจตุรัสเมืองเพื่อที่จะปรับปรุงพื้นที่ ถึงแม้นโยบายที่รุนแรงจะทำให้ช่วงแรกมีคนต่อต้านจำนวนมาก แต่ด้วยการทำงานที่รวดเร็ว และความพยายามที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนมาเป็นส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองนั้นทำให้เห็นผลลัพธ์ของการพัฒนาที่ชัดเจน เอนริเกเชื่อว่าพื้นที่สาธารณะนั้นมีเพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริง
โบโกตา เมืองแห่งจักรยาน
โบโกตามีนโยบายหลายอย่างที่สนับสนุนการใช้จักรยาน เนื่องจากชาวเมืองโบโกตาเพียง 1 ใน 5 เท่านั้นที่มีรถยนต์ส่วนตัว เช่น ลา ซิโคลเวีย (La Ciclovia) ภาษาสเปนแปลว่าทางจักรยาน เป็นการปิดถนนเส้นหลักตั้งแต่ตอนเหนือไปจนถึงตอนใต้ของเมือง ซึ่งมีความยาวร่วม 120 กิโลเมตรในทุกวันอาทิตย์ ตั้งแต่ 7 โมงเช้าถึงบ่าย 2 โมง ซิโคลเวียถือได้ว่าเป็นนโยบายที่ใช้งบประมาณน้อยมาก เนื่องจากเป็นการใช้กับโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เดิม แม้แต่เจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยก็เปลี่ยนจากการว่าจ้างเป็นรับอาสาสมัครแทน ซิโคลเวียได้มอบความเท่าเทียมให้กับโบโกตาด้วยการเชื่อมส่วนเหนือและใต้เข้าด้วยกัน ทางเหนือของเมืองส่วนใหญ่เป็นที่อยู่ของประชาชนที่มีเงินทอง ส่วนทางตอนใต้จะเป็นบ้านของคนที่ฐานะไม่ค่อยดีนัก ในทุกวันสุดสัปดาห์นี้เองจะเป็นช่วงเวลาที่เส้นแบ่งฐานะจางลง ผู้คนกว่าล้านคนทั่วเมืองออกมาปั่นจักรยานจากฝั่งหนึ่งไปสู่อีกฝั่งหนึ่ง ไม่มีรถยนต์หรูบ่งบอกฐานะ ไม่มีการจราจรติดขัด ทุกคนออกมาอยู่บนพื้นที่สาธารณะที่เท่าเทียมกัน
ถึงแม้รายได้ของชาวเมืองทุกคนจะเป็นสิ่งที่ทำให้เท่ากันได้ยาก แต่เอนริเกเน้นในความเท่าเทียมในคุณภาพชีวิตชาวเมือง และสร้างสิ่งแวดล้อมที่ไม่ทำให้ใครรู้สึกต่ำต้อยและแปลกแยก เอนริเกกล่าวว่า “สมัยก่อนคนปั่นจักรยานคือคนจน เมื่ออยู่บนท้องถนนจะถูกมองว่าเป็นสิ่งน่ารำคาญ ดังนั้นคุณค่าที่สำคัญที่สุดของทางจักรยานนั้นคือการแสดงว่าจักรยานราคาไม่ถึงสามสิบดอลลาห์ก็มีค่าไม่ต่างจากรถ BMW ราคาสามหมื่น” โครงการซิโคลเวียนี้ได้เป็นต้นแบบให้กับหลายประเทศเช่น Summer Street ในนิวยอร์ค หรือ Sky Rides ในสหราชอาณาจักร นอกจากนี้เมืองโบโกตายังมีวันปลอดรถยนต์ (el día sin carro) ในทุกปีอีกด้วย
รถสีแดงลิปสติกแห่งเมืองโบโกตา
Transmilenio เป็นระบบขนส่งด่วนรถประจำทาง ต้นแบบ BRT (Bus Rapid Transit) ที่กรุงเทพฯนำมาประยุกต์ใช้นี่เอง จริงๆแล้วจุดกำเนิดของ BRT อยู่ที่ประเทศอังกฤษ แต่เมืองโบโกตานำมาใช้เมื่อช่วงปี 2000 แล้วประสบความสำเร็จมาก จึงเป็นจุดเริ่มต้นความนิยมการใช้ BRT ในประเทศอื่นๆ รถบัสของเมืองโบโกตานั้นมีสีแดงสดเหมือนลิปสิก และชานชาลาก็สร้างด้วยวัสดุคุณภาพดี ทำให้การไปไหนมาไหนด้วยรถบัสสำหรับชาวเมืองโบโกตานั้นเป็นอะไรที่ดู “เซ็กซี่” ขึ้นมาทันที เป็นการยกระดับสถานะการขนส่งมวลชนตามจุดประสงค์ของเอนริเก ถึงแม้ว่าคนใช้บริการส่วนใหญ่จะเป็นคนที่รายได้ไม่มาก แต่ก็ดูดีไม่แพ้คนนั่งรถหรูท่ามกลางการจราจรที่ติดขัด ปัจจุบันมีคนสัญจรด้วยรสบัสทรานส์มิเลนนิโอกว่า 1.4 ล้านคนต่อวัน โดยเฉลี่ยแล้วจะช่วยประหยัดเวลาบนท้องถนนได้มากกว่า 40 นาทีต่อวัน ซึ่งคิดเป็นเวลากว่า 300 ชั่วโมงต่อปี!
อาคารสาธารณะและการพัฒนาพื้นที่แบบกลับหัว
หอสมุดสาธารณะ El Tintal Library ตั้งตระหง่านอยู่กลางย่าน El Paraiso (ภาษาสเปน แปลว่าสวงสวรรค์ Paradise) ที่อยู่ของคนมีรายได้น้อยทางตอนใต้ของเมืองโบโกตา เดิมหอสมุดแห่งนี้เป็นโรงงานกำจัดขยะที่ภายหลังถูกปรับเปลี่ยนเป็นหอสมุด โดยสถาปนิกชาวโคลอมเบียดาเนล เบอมูเดส (Daniel Bermúdez) เอล ทินเทามีพื้นที่ 6,650 ตร.ม. ประกอบไปด้วยห้องอ่านหนังสือ ห้องประชุมย่อย ห้องอ่านหนังสือพิมพ์ ห้องมิลติมีเดีย ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องประชุมใหญ่ 160 ที่นั่ง และห้องสำหรับเด็กจุได้ 200 คนซึ่งประกอบไปด้วยห้องอ่านหนังสือ เวิร์คชอป ห้องสันทนาการ เป็นต้น อาคารแห่งนี้เป็นเพียงหนึ่งในอาคารสาธารณะอีกหลายแห่งที่ถูกสร้างภายใต้นโยบายความเท่าเทียมของเอนริเก ถึงแม้ว่าจะอยู่ในพื้นที่ที่รายได้ไม่มาก แต่สามารถเข้าถึงความรู้ได้เหมือนกัน
นอกจากนี้การพัฒนาถนนในพื้นที่สลัมหลายแห่งยังมีการพัฒนาแบบกลับหัว (Upside-down development) นั่นคือการปูพื้นตรงกลางสำหรับคนเดินเท้า ปั่นจักรยาน และใช้เป็นพื้นที่สาธารณะ โดยให้รถยนต์วิ่งขนาบสองข้างแทน ในบางพื้นที่ถึงกับปล่อยให้ถนนสำหรับรถยนต์เป็นทางลูกรังและพัฒนาทางเท้าก่อน เนื่องจากคนในย่านมีเพียง 1% เท่านั้นที่มีรถส่วนตัว ซึ่งต่างจากทัศนคติของประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่งซึ่งเน้นการตัดถนนลาดยางโดยถือว่าเป็นตัวบ่งชี้ความเจริญ
ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว…แบบไม่ได้ตั้งใจ
การพัฒนาเมืองตามแนวคิดของเอนริเกนั้นไม่ได้คำนึงถึงเรื่องการการลดโลกร้อนเป็นสำคัญสักเท่าไหร่ แต่หลังจากที่เอนริเกสามารถทำให้ชาวเมืองโบโกตามีความสุขมากขึ้นแล้ว ช่วงท้ายปีคศ. 2000 เขากลับได้รับรางวัล The Stockholm Challenge Award for the Environment เนื่องจากเมืองโบโกตาสามารถลดการใช้รถยนต์ไปได้กว่า 850,000 คันในวันปลอดรถยนต์ (Car-Free Day) นอกจากนี้ระบบ Transmilenio ยังได้ถูกรับรองภายใต้กลไกการพัฒนาที่สะอาดขององค์การสหประชาชาติ (UN’s Clean Development Mechanism) ซึ่งหมายความว่าเมืองโบโกตาสามารถขายคาร์บอนเครดิตให้กับคู่กรณีที่ปล่อยมลภาวะในประเทศอื่น นอกจากนี้โครงการพัฒนาทางจักรยาน สวนสาธารณะ ซิโคลเวีย และการพัฒนาถนนแบบกลับหัว ยังได้รับรางวัล Golden Lion Prize ในงานสถาปัตยกรรมเบียนนาเล่ที่กรุงเวนิส ประเทศอิตาลีอีกด้วย รางวัลสิ่งแวดล้อมมากมายนี้เองเป็นตัวบ่งชี้ว่าทางออกของเมืองสีเขียวกับเมืองแห่งความสุข อาจจะสามารถพัฒนาควบคู่ไปด้วยกันได้
ด้วยทัศนคติที่ดีของผู้นำและความร่วมมือของประชาชนส่งผลให้เมืองโบโกตาเกิดความเปลี่ยนแปลงมหาศาลในระยะเวลาไม่กี่สิบปี มีโรงเรียนใหม่เกิดขึ้นมากมาย สถานรับเลี้ยงเด็กกว่า 100 แห่ง สวนสาธารณะกว่า 900 แห่งทั่วเมือง มีต้นไม้เพิ่มขึ้นกว่า 100,000 ต้น อาคารห้องสมุดสาธารณะ 3 อาคารในพื้นที่ยากจน ในปัจจุบันเมืองโบโกตามีเส้นทางจักรยานกว่า 330 กม. รถบัส Transmilenio ซึ่งเป็นต้นแบบ BRT ที่ใช้ในกรุงเทพฯ La Ciclovia กิจกรรมปิดถนนยาวกกว่า 120 กม. ในวันอาทิตย์เพื่อใช้เป็นทางจักรยานและพื้นที่สาธารณะ และอื่นๆอีกมากมาย ชาวเมืองโบโกตาส่วนใหญ่กลับมามีความหวังกับอนาคตของบ้านเมือง สามารถกล่าวได้ว่าเมืองโบโกตากำลังเดินทางเข้าสู่เมืองแห่งความสุขที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง
Gehl, J. (2010). Cities for People. Island Press.
Initiative, G. D. (n.d.). Community Led Processes Create Better Streets in Bogotá. Retrieved from https://globaldesigningcities.org/2016/11/29/storing-cars-celebrating-people-community-lead-processes-help-creating-better-streets-bogota/
Montgomery, C. (2013). Happy City. Penguin Books.
Peñalosa, E. (2013). TED Talk: Why buses represent democracy in action. Retrieved from https://www.youtube.com/watch?v=j3YjeARuilI&t=682s
วีระภาสพงษ์, ภ. (2012). กว่าจะเป็นโบโกตาเมืองจักรยาน (๑). Retrieved from https://www.sarakadee.com/2012/10/17/bogota-antanas-mockus/
หงษ์ทอง, ก. (2019). โบโกตา เมืองหลวงแห่งความเบิกบาน. Retrieved from https://thestandard.co/colombia-bogota/
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!