Sanitas Studio ผู้นำแนวคิดทางศิลปะมาเพิ่มมิติให้กับภูมิสถาปัตยกรรมได้อย่างลงตัว

หลายๆ คนคงคุ้นหูและคุ้นเคยกับคำว่า ภูมิสถาปัตยกรรมมากขึ้นเพราะกระแสของสวนสาธารณะในทุกวันนี้ได้รับความนิยมขึ้นเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นสวนสาธารณะแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ อย่างสวนเบญจกิติ หรือการจัดกิจกรรมดนตรีในสวนทั่วกรุงเทพฯ หรือที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ อย่างการฉายหนังกลางแปลงในสวน ทำให้ไลฟ์สไตล์ของคนเมืองกรุงเริ่มมีพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ

แต่มิติของภูมิสถาปัตยกรรมไม่ได้มีเพียงแค่ศาสตร์เพียงอย่างเดียว ยังมีมิติทางด้านศิลปะเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย วันนี้เราจึงอยากพาไปทำความรู้จักกับคุณ บีน-สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ ผู้ก่อตั้ง Sanitas Studio ซึ่งสตูดิโอแห่งนี้พยายามจะสร้างผลงานภูมิสถาปัตยกรรมที่ใช้แนวคิดทางศิลปะมาเพิ่มมิติให้กับงานดีไซน์ ทำให้ผลงานของเขาออกมามีอัตลักษณ์ และลงตัวทุกงานออกแบบ 

ภูมิสถาปัตยกรรม ต่อ จิตรกรรม

หลังจากเรียนจบคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณบีนเริ่มทำงานเป็นภูมิสถาปนิกในประเทศไทยประมาณ 1 ปี จากนั้นจึงย้ายไปทำงานต่อที่สิงคโปร์อีก 4 ปี เพื่อสั่งสมประสบการณ์ ทั้งงานด้านภูมิสถาปัตยกรรม และงานประติมากรรม ต่อมาจึงได้ตัดสินใจไปศึกษาต่อทางด้านMaster of Fine Art ที่ Chelsea College of Art & Design ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

“เราไม่อยากให้ตัวงานหยุดอยู่แค่ฟังก์ชัน และความสวยงามเท่าของภูมิสถาปัตยกรรมเท่านั้น เราจึงตัดสินใจไปเรียนต่อทางด้าน Fine Art เพราะศิลปินมักมีมุมมองที่ไม่เหมือนกับดีไซน์เนอร์ เช่น ดีไซน์เนอร์จะมองแก้วน้ำที่สามารถดื่มน้ำได้ แต่ศิลปินจะมองไปในเชิงความหมายมากกว่า เช่น แก้วน้ำที่นึกถึงโรงพยาบาล หรือ แก้วน้ำที่ทำให้คิดถึงคุณยาย”

กะเทาะเปลือกทางความคิด

ในการศึกษาช่วงแรกเหมือนจะเป็นการกะเทาะเปลือกทางความคิดให้หลุดจากทักษะทางด้านภูมิสถาปัตยกรรม เพื่อให้เกิดมิติทางศิลปะในเชิงนามธรรมที่มากขึ้น และการที่จะหลุดจากกรอบของวิชาชีพที่ร่ำเรียนมา ทำให้คุณบีนตัดสินใจทำชิ้นงานในรูปแบบ Performance Art ที่ใช้ร่างกายเป็นการสื่อสารความหมายทางศิลปะ

“ Chelsea College of Art & Design เขาสนใจเราในประสบการณ์การทำงานประติมากรรมสเกลขนาดใหญ่ และมีสเปซให้ผู้คนเข้าไปได้สัมผัส แต่ต้องยอมรับว่าช่วงที่เราไปเรียน คือ ปี 2007 งานศิลปะร่วมสมัยที่เราเห็นในประเทศไทยยังไม่เหมือนเช่นทุกวันนี้ การที่เราไปโผล่ที่กรุงลอนดอนที่มีงานศิลปะเกิดขึ้นทุกวันกลายเป็นสิ่งที่แปลกใหม่ ไม่ว่าจะเป็น งาน เพ้นท์ติ้งแบบวิดีโอ หรือ งานประติมากรรมออกมาเป็นเสียง ซึ่งช่วงแรกเราก็ยังติดกับงานภูมิสถาปัตยกรรมที่ต้องมีโจทย์ มีฟังก์ชัน และความงาม แต่ศิลปะมันไม่ได้มีกรอบมันอาจจะไม่สวยก็ได้ แต่มันจะกระตุ้นให้คนคิดหาความหมาย การเป็นศิลปินจึงต้องเข้าใจบริบท สังคม สภาพแวดล้อม การเมือง ที่พยายามสะท้อนยุคสมัยนั้นๆ ซึ่งก็ใช้เวลาในการตกผลึก แล้วจึงค่อยนำภูมิสถาปัตยกรรมมาปรับใช้กับศิลปะ ซึ่งมันช่วยให้มีมิติทางสเปซในงานศิลปะในการสื่อสารความหมายได้ดียิ่งขึ้น”

การทำงานควบคู่ระหว่าง ภูมิสถาปัตยกรรม และศิลปะ

หลังจากเรียนจบจากประเทศ อังกฤษได้มี Working Visa ให้คนต่างชาติทำงานได้เป็นเวลา 2 ปี คุณบีนได้ทำงานเป็นภูมิสถาปนิกอาทิตย์ละ 4 วัน และใช้ช่วงเวลาที่เหลือ เป็นการเข้าสตูดิโอสร้างผลงานศิลปะเพื่อต่อยอด และมีการนำไปจัดแสดงนิทรรศการร่วมกับศิลปินที่นั้นบ้าง ซึ่งเป็นช่วงค้นหาประสบการณ์กับงานศิลปะ แต่ก็ยังไม่ละทิ้งภูมิสถาปัตยกรรมที่ยังคงทำเป็นอาชีพหลักอยู่

“หลังจากได้ทำงานอยู่ที่อังกฤษอยู่ 2 ปี ก็มีเป้าหมายที่จะกลับมาเปิดออฟฟิศที่กรุงเทพฯ เพราะเราสนใจเรื่องรากเหง้าของความเป็นไทย จนในปี 2010 ก็ได้ก่อตั้งสตูดิโอ Sanitas Studio ที่ทำงานภูมิสถาปัตยกรรมบนแนวความคิดทางศิลปะ นอกจากนี้ยังได้เป็นอาจารย์พิเศษให้กับสถาบันอุดมศึกษาอีกด้วย

IN THE MOUNTAIN
IN THE MOUNTAIN

สร้างผลงานศิลปะให้ตีความ

IN THE MOUNTAIN เป็นงาน Installation Art ในงานสีสันดอยตุง ปี 2016 เป็นงานเทศกาลรับลมหนาว ที่จะเล่าเรื่องราวของพื้นที่ และการได้มาทำงานที่ดอยตุง ทำให้ได้เข้าใจถึงเป้าหมายของดอยตุงซึ่งเป็นโครงการปลูกป่า ซึ่งทำให้ในปัจจุบันป่ากลับมาเขียวชอุ่มจากภูเขาหัวโล้นเมื่อ30กว่าปีที่แล้ว “ปลูกคน ปลูกป่า” เมื่อคนอยู่ได้ ป่าก็อยู่ได้ โครงการช่วยให้ชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มดำรงชีพด้วยการการปลูกไร่กาแฟ และชาน้ำมัน มีโรงเรียนให้ลูกหลาน และมีอากาศบริสุทธิ์ IN THE MOUNTAIN จึงเหมือนเป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างคนกับธรรมชาติ เหมือนพาคนเข้ามาสู่ใจกลางของภูเขาโดยใช้ลักษณะภูมิประเทศแบบสันเขาของดอยตุงนำมาจัดวาง Installation Art ที่ทำจากผ้าฝ้าย (ผ้าอ้อม)และย้อมด้วยกากกาแฟ และชาน้ำมันพืชเศรษฐกิจที่ทำให้ชาวเผ่าบนดอยตุงอยู่ได้อย่างยั่งยืน และทำให้ป่าคงอยู่

ACROSS THE UNIVERSE AND BEYOND – BANGKOK ART BIENNALE 2018

ACROSS THE UNIVERSE AND BEYOND เป็นงาน Site Specific Installation ณ สวน เขามอในวัดอรุณราชวราราม อายุกว่า 200 ปี เดิมเคยเป็นสนามเด็กเล่นของคนโบราณที่ถูกทิ้งร้างมานาน ศาสตราจารย์ ดร. อภินันท์ โปษยานนท์ ได้ทาบทามให้ Sanitas Studio เข้ามาสร้างงานศิลปะ ณ บริเวณเขามอนี้ ซึ่งในระหว่างการสร้างสรรค์งานได้มีการปรึกษาดร.พรธรรม ธรรมวิมล ผู้เชี่ยวชาญจากกรมศิลปากร เรื่องการปรับปรุงภูมิทัศน์ของเขามอ ว่าควรมีการเผยให้เห็นความสง่าของภูเขาหิน

จากการศึกษาคติไตรภูมิ แนวคิดของพระปรางค์วัดอรุณที่เปรียบเป็นศูนย์กลางของจักรวาล และไล่ระดับลงมาเป็นเขามอที่เปรียบเป็นป่าหิมพานต์ ปรัชญาศาสนาพุทธสอนให้คนได้อยู่กับตนเองสำรวจการเปลี่ยนแปลงของตัวเอง

“Sanitas Studio เลยมองว่าการที่เราสามารถนำห้วงเวลา ของการเปลี่ยนแปลงนี้ ให้คนได้สัมผัส สอดคล้องกับแนวคิดทางพุทธศาสนาที่ต้องการให้คนอยู่กับตัวเอง และค่อยๆหยุดและมองเข้าไปสำรวจพื้นที่ภายในตัวเองตัวเขามอ ได้ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือเราแบ่ง พื้นที่ภายนอกเปรียบเสมือนโลกข้างนอก พื้นที่ภายในเปรียบเสมือนโลกข้างใน โดยใช้วัสดุชนิดเดียว คือ แผ่นผนังอคลิลิคโปร่งแสงสีแดง เมื่อคนได้ก้าวข้ามจากโลกข้างนอก เข้าไปสู่โลกข้างใน คนจะสามารถมีเวลาที่จะหยุดพักและค่อยๆสังเกตุเห็นการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติรอบด้าน จากสีของแสงที่เปลี่ยนในแต่ในช่วงเวลา หรือบางเวลา ขณะเมฆผ่านก็เห็นการเปลี่ยนแปลง”

HOLDING EMPTINESS
INTANGIBLE THEORY
Impermanence
Impermanence

FORM OF BELIEF และ A JOURNEY WITHIN

FORM OF BELIEF เป็นการตั้งคำถามต่อความเชื่อที่เรากราบไหว้ การพยายามจับต้องสิ่งที่จับต้องไม่ได้ซึ่งก็คือความเชื่อ โดยการสำรวจผ่านรูปทรงของเจดีย์ในหลายรูปแบบ ด้วยการสร้างที่ว่างของเจดีย์ขึ้นจากเลซิ่น เป็นการพยายามจับต้องความเชื่อภายใน ที่มีความโปร่งใสที่จะสื่อถึงความว่าง หรือ เป็นการตั้งคำถามว่าถ้าเข้าใจทฤษฎี และไม่ปฏิบัติตามจะสามารถเข้าถึงศาสนาพุทธได้หรือไม่ ผ่านหนังสือศาสนา กับหนังสือ วิทยาศาสตร์ หรือ เจดีย์ที่ทำขึ้นจากเยลลี่ ที่กำลังจะสื่อความหมายถึงข้างนอกที่ดูสดใส แต่ข้างในกลับอ่อนไหว พร้อมจะล้มได้ตลอด หรือ เจดีย์ที่สร้างจากฝุ่นกับน้ำแข็ง สื่อความหมายถึงวัฏจักรชีวิตที่สุดท้าย ชีวิตก็เหลือแค่ฝุ่นกับน้ำ และชิ้นสุดท้าย คือ A JOURNEY WITHIN ที่มีขนาด 5 x 5 เมตร เป็นการเปิดพื้นที่ให้คนได้เดินเข้าไปสำรวจพื้นที่ภายในความเชื่อของตัวเอง มีเวลาหยุดคิดอยู่กับตัวเอง

งานภูมิสถาปัตยกรรมที่พยายามใช้ศิลปะมาเป็นแนวคิด

ส่วนใหญ่แล้วเจ้าของโครงการมักจะมองเห็นคุณค่าทางศิลปะที่จะนำมาพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อดึงดูดผู้คน ซึ่ง Sanitas Studio มักจะสร้างงาน Installation Art เข้าไปผนวกอยู่เสมอ แต่ความแตกต่างของภูมิสถาปัตยกรรมต้องถูกพูดถึงการใช้งาน และความปลอดภัยด้วย

“งานภูมิสถาปัตยกรรมหัวใจสำคัญคือเรื่องฟังก์ชัน การวิเคราะห์โจทย์ โปรแกรม ความงาม ความปลอดภัย จนไปถึงงานระบบต่างๆ ซึ่งทุกอย่างต้องอาศัยเทคนิคและประสบการณ์ที่เชี่ยวชาญ รวมไปถึงการปรึกษาทีมสถาปนิก วิศวกร ฝ่ายขาย อย่างการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมที่พังงา ต้องเข้าไปศึกษาพื้นที่อ่าวพังงาว่ามีลักษณะพิเศษอย่างไร เพื่อนำมาใช้ในการออกแบบ แต่งานเพียวอาร์ตมันค่อนข้างอิสระมากว่าเราจะเล่าเรื่องสื่อสารซึ่งมันสามารถจบงานได้ด้วยตัวเอง หรือ ถ้ามีขนาดใหญ่ก็ต้องมีทีมงาน ซึ่งแตกต่างกับภูมิสถาปัตยกรรมที่ต้องทำงานเป็นทีมตลอด อย่างไรก็ตามเมื่อทั้งสองอย่างเข้ามาผสมผสานกันมันทำให้ภูมิสถาปัตยกรรมมีมิติมากยิ่งขึ้น”

การพัฒนามรดกภูมิทัศน์วัฒนธรรมในอนาคต

“ภูมิทัศน์วัฒนธรรมบ้านเราเป็นสิ่งที่น่าสนใจ อย่างมิติของเขามอที่เคยเป็นสนามเด็กเล่นโบราณ และมีการผสมระหว่าง พุทธศาสนา และฮินดู ไม่ใช่แค่จำลองธรรมชาติแต่มันมีเรื่องความเชื่ออยู่ในนั้น เราสามารถเอามาพัฒนาแนวความคิดต่อยอดให้เข้ากับยุคสมัยได้ หรือนิทรรศการ Urban in Progress ที่เราได้เป็นคิวเรเตอร์ จะเห็นเลยว่าภูมิปัญญาของคนในอดีตเป็นความคิดที่ดีมาก เรามีบ้านยกใต้ถุนสูงติดริมแม่น้ำ พอถึงช่วงน้ำหลากก็ไม่มีผลอะไร แต่ปัจจุบันนี้เราไม่ได้อยู่อาศัยเหมือนในอดีต เรากลัวน้ำท่วมมากขึ้นและป้องกันน้ำด้วยการสร้างเขื่อน ซึ่งสุดท้ายมันก็ท่วมอยู่ดีคือเราไม่เข้าใจธรรมชาติของน้ำ การพัฒนาต้องมาเข้าใจพลวัติของธรรมชาติพื้นที่ลุ่มต่ำและระดับน้ำใต้ดิน เราต้องเข้าใจความสัมพันธ์ระบบนิเวศของเมือง ในปัจจุบันเราอาจจะยังไม่ได้ตื่นตัวกันมาก แต่อีกอนาคตจะจัดการอย่างไร”

ภูมิสถาปัตยกรรมกับเมือง

“การเพิ่มพื้นที่ธรรมชาติให้เมืองไม่ใช่แค่ฟื้นฟูระบบนิเวศ แต่มันเป็นการฟื้นฟูจิตใจของคนเราได้ บางทีเราก็ยึดติดกับความงามแบบตะวันตกมากเกินไป คือจะเอามาใช้ตรงๆ ไม่ได้ เพราะสภาพแวดล้อมกับอากาศไม่เหมือนกัน เราต้องศึกษาว่าแบบไหนถึงเหมาะสมกับประเทศไทย หากย้อนไปดูภาพถ่ายของ จอห์น ทอมสัน สภาพแวดล้อม และความงามของสถาปัตยกรรมแบบพื้นที่เขตร้อนชื้นที่สอดคล้องกัน เพราะคนในอดีตเข้าใจว่าแบบใดถึงเหมาะสมกับวิถีชีวิต และสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่”

Writer
Watsapon Vijitsarn

Watsapon Vijitsarn