ชวนไปเดินเล่น เสพศิลป์ในงาน “Co-create Chiang Rai 2022”
ที่เปลี่ยนให้เมืองเชียงรายเป็นมิตรสำหรับทุกคน

จะเริ่มต้นเป็นเมืองที่น่าอยู่ต้องมีอะไรบ้าง? ทางเท้าที่สามารถเดินได้สะดวกสบาย พร้อมต้นไม้ร่มรื่น มีขนส่งสาธารณะที่เอื้ออำนวยโดยไม่ต้องขับรถเอง มีพื้นที่สาธารณะให้ได้พักผ่อนหย่อนใจ หรือการมีพื้นที่ทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญา ศิลปะทุกมุมของเมืองจนเกิดการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ จากข้อความข้างต้นนี้ใครๆ ก็ต้องคิดว่าการพัฒนาเมืองในรูปแบบนี้จำเป็นจะต้องเป็นเมืองใหญ่เท่านั้น

แต่เมืองเล็กๆ อย่างเชียงรายเอง ก็เป็นอีกเมืองหนึ่งที่มีศักยภาพทั้ง ทรัพยากรด้านอาหาร วัฒนธรรม จนไปถึงถูกขนานนามให้เป็นเมืองแห่งศิลปะที่ให้กำเนิดศิลปินแห่งชาติมานักต่อนัก ด้วยเหตุนี้จึงเกิดเป็นโปรเจกต์ “Co-create Chiang Rai 2022” จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 11-17 สิงหาคม โดย CEA สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ร่วมกับสำนักงานจังหวัดเชียงราย เทศบาลนครเชียงราย และนักสร้างสรรค์ท้องถิ่น  เพื่อพัฒนา และออกแบบให้เมืองเชียงรายกลายเป็นเมืองสร้างสรรค์เพื่อปูทางไปยังยูเนสโกในอนาคต

ขนส่งสาธารณะเพิ่มเส้นทาง และเวลาการวิ่ง สู่โหนดสำคัญทั่วเมือง

ย่านในเวียงคือจุดศูนย์กลางของเมืองเชียงราย ไม่ว่าจะเป็นศิลปะ วัฒนธรรม การค้าขาย ขนส่ง จนไปถึงสถาปัตยกรรมเก่าแก่และมีความสำคัญตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ย่านในเวียงจึงมีศักยภาพในการพัฒนาให้กลายเป็นย่านศิลปะ ที่ออกแบบให้เมือง กับคนได้มีปฏิสัมพันธ์ในหลากหลายมิติ รวมไปถึงการแก้ปัญหาเมือง พร้อมกับการอนุรักษ์สถาปัตยกรรม และศิลปะตามวิถีล้านนา

“Co-create Chiang Rai 2022 จึงเริ่มต้นด้วยการพัฒนาจากสิ่งที่มีอยู่เดิมนำมาต่อยอดให้ดีขึ้น และเริ่มทำการทดลองใช้งานจริง อย่าง การพัฒนารถราง  ซึ่งแต่เดิมจะออกวิ่งแค่ไม่เพียงไม่กี่รอบ และมีระยะจอดที่น้อย หลังจากได้รับการออกแบบเส้นทางแล้ว จึงได้ระยะการจอดลงสู่โหนดสำคัญต่างๆ ได้แก่ สถานีขนส่งไนท์บาร์ซ่า วัดเจ็ดยอด วัดมิ่งเมือง ประตูเมืองเชียงใหม่ เทศบาลนครเชียงราย วัดพระแก้ว วัดพระสิงห์ บ้านสิงหไคล สวนตุงและโคม และตลาดดอกไม้ศิริกรณ์ ซึ่งแต่ละสถานีสามารถเดินถึงย่านอาหาร โรงเรียน วัด และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพียงแค่สิบนาที ซึ่งรถรางมีรอบวิ่ง ถึง 8 รอบ ได้แก่ ช่วง 11.00, 13.00,15.00,16.00, 17.00, 18.00,19.00 และ 20.00 ซึ่งช่วยให้คนในท้องถิ่น และนักท่องเที่ยวเดินทางได้สะดวกสบายแล้ว ยังทำให้ประหยัดทั้งทุนทรัพย์ และช่วยโลกได้อีกทางหนึ่งด้วย

ปรับเปลี่ยนอาคารเก่านับ 100 ปี ให้มีฟังก์ชันใหม่

บ้านสิงหไคล
จากประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงรายเมื่อกว่า 100 ปีที่ผ่านมา ได้มีมิชชันนารีเขามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ให้กับคนเชียงราย จึงทำให้อาคารเก่าส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมยุโรปผสมผสานกับสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ซึ่งหนึ่งในอาคารที่มีความสำคัญก็คือ บ้านสิงหไคล อายุกว่า 104 ปี ออกแบบโดยนายแพทย์วิลเลียม เอ.บริกส์ ปัจจุบันได้รับการบูรณะ ปรับเปลี่ยนเป็นที่ทำการมูลนิธิมดชนะภัยหรือแหล่งเรียนรู้ด้านภัยพิบัติ โดยบริเวณชั้น 2 เปิดเป็นแกลอรี่แสดงผลงานศิลปะ และบริเวณชั้นล่างเป็นร้านกาแฟ และดาษดาสตูดิโอ 2 

ศาลากลางเก่า เชียงราย
ในบริเวณไม่ไกลกันนี้ จะพบกับอาคารศาลากลางเก่า สถาปัตยกรรมที่มีอายุกว่า 116 ปี ก่อสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ดำเนินการออกแบบและก่อสร้างโดยนายแพทย์วิลเลี่ยม เอ.บริกส์ หน้าตาของอาคารแบบโคโลเนียล ก่ออิฐถือปูน 3 ชั้น โครงสร้างทั้งหมดใช้ไม้สักทอง ในปัจจุบันถูกปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ ในการจัดแสดงภาพเก่า วัตถุโบราณต่างๆ แต่ด้วยตัวอาคารมีสภาพทรุดโทรมจึงได้ถูกปิดทำการ เพื่อบูรณะซ่อมแซม

ออกแบบทางเดินเท้าให้ร่มรื่น และถึงโหนดสำคัญเพียง 10 นาที

เมืองที่ดีต้องเอื้อให้ผู้คนเดินเท้ามีความปลอดภัย ร่มรื่น และสามารถเดินได้นาน ทางม้าลายจึงได้ถูกออกแบบขึ้นจากศิลปิน และนักออกแบบให้มีความโดดเด่นเป็นอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ ไม่ว่าจะข้ามถนน หรือรถที่วิ่งผ่านไปมาก็มองเห็นทางม้าลายได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเดินทางด้วยเท้า หรือ ขึ้นรถรางก็สามารถเข้าถึงถึงย่านอาหาร โรงเรียน วัด และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ได้อย่างสะดวกสบาย

เดิมป้ายบอกทางถูกแยกออกจากกัน จึงทำให้สองข้างทางเต็มไปด้วยป้ายบอกทางเป็นจำนวนมาก ทำให้การเดินเท้าเป็นสิ่งที่ไม่ไม่สะดวกสบาย การออกแบบป้ายในครั้งนี้จึงนำป้ายทั้งหมดมารวบรวมไว้เพียงแค่ป้ายเดียว และทำสัญลักษณ์ แผนที่ และตำแหน่งต่างๆ ให้สามารถมองเห็นได้ง่าย เพื่อสนับสนุนการเดินเท้ามากยิ่งขึ้น

สร้างพื้นที่กิจกรรม จัดแสดงผลงาน จำหน่ายสินค้าให้กับคนท้องถิ่น

สถานที่สำคัญที่คนในเมืองเชียงรายมักจะเข้าไปรวมตัวกันคือ ไนท์บาซาร์ ซึ่งบริเวณนี้มีทั้งตลาด ร้านอาหาร ขนส่งสาธารณะ แต่ก็ยังมีพื้นที่ว่างที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ จึงได้ทำการทำลองปรับเปลี่ยนให้พื้นที่ว่างกลายเป็น Chiang Rai Night Bazaar Creative Space’ เพื่อให้เป็นพื้นที่ทำงานหรือจัดกิจกรรมของกลุ่มนักออกแบบ นักสร้างสรรค์ และศิลปิน กลุ่มต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงรายให้มาทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการจัด Exhibition, Music and Performance art, Pop-up Market Workshop และอื่นๆ อีกมากมาย

พัฒนาต่อยอดร่วมกับศิลปิน และนักออกแบบในเมืองเชียงราย

ศิลปิน นักออกแบบ อาจารย์ และผู้พัฒนาในหลายๆ ฝ่าย ได้ช่วยกันนำร่องโครงการต่างๆ มาอย่างยาวนาน  ไม่ว่าจะเป็นนิทรรศการศิลปะ การนำภูมิปัญญาจากชุมชนต่างๆ มาพัฒนาต่อยอดให้เกิดมูลค่ามากขึ้น เพื่อพัฒนาวงการศิลปะ และเศรษฐกิจของเมืองเชียงรายให้ดียิ่งขึ้น เมื่อ CEA เข้ามาริเริ่มโครงการ จึงเป็นการต่อยอดจากสิ่งเดิมโดยการรวบรวมผู้เชี่ยวชาญจากสาขาวิชาต่างๆ เข้ามาร่วมกันทดลองค้นหาไอเดีย เพื่อให้เชียงรายกลายเป็นเมืองแห่งศิลปะที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน จนสามารถตั้งเป้าหมายระดับใหญ่ได้อย่างการเป็นเมืองมรดกโลกยูเนสโก

นอกจากนี้ทาง CEA ยังได้เริ่มเข้าไปพัฒนาเมืองขนาดเล็กของจังหวัดต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมานี้มีสกลจังซั่นจังหวัดสกลนครที่ได้ไอเดียจากการพัฒนา จนเมืองสามารถขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเองแล้ว  สำหรับผู้ที่สนใจ หรือต้องการร่วมพัฒนาขับเคลื่อนก็สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.cea.or.th/

Writer
Watsapon Vijitsarn

Watsapon Vijitsarn