เหตุผลที่ทำให้ผลงานของ Gio Ponti
ถูกยกย่องให้เป็นสุดยอดแห่งสุนทรียะการดีไซน์ในแบบฉบับอิตาลี

พูดถึงประเทศแห่งการดีไซน์ทั้งศิลปะ สถาปัตยกรรม และต้นกำเนิดแบรนด์แฟชั่นชั้นนำ คุณนึกถึงที่ไหน?
อันดับแรกที่เรานึกถึงคือ มิลาน อิตาลี หนึ่งหมุดหมายที่ติดอยู่ในลิสต์อย่างแน่นอน เพราะไม่ว่าจะมองไปทางไหน สถาปัตยกรรมหรืองานดีไซน์ในเมืองนี้ก็ละลานตา ตั้งแต่สเกลเล็กไปจนถึงสเกลใหญ่ในระดับเมือง

Great Architects วันนี้ ชวนไปรู้จักกับสถาปนิกชาวอิตาลีอย่าง Gio Ponti ผู้ได้รับยกย่องให้เป็นสถาปนิกที่ทรงอิทธิพลด้านการออกแบบคนหนึ่งในศตวรรษที่ 20 โดยงานสถาปัตยกรรมของเขามีมากกว่า 100 แห่งทั้งในอิตาลีและทั่วโลก นอกจากนั้น ยังรวมไปถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ เฟอร์นิเจอร์ ตลอดจนงานเขียน 

ผู้ส่งเสริมและเปลี่ยนแปลง ‘รสนิยมของคนชั้นกลาง’

ปอนติเกิด เติบโตรวมถึงเรียนหนังสือในมิลาน ฉายแววทะเยอทะยานที่จะเป็นศิลปินตั้งแต่เด็ก เขาลงทะเบียนเรียนสาขาสถาปัตยกรรมที่ Milan Polytechnic ในปีค.ศ. 1913 ซึ่งช่วงเวลานั้นเปรียบได้กับการกักตุนความรู้ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพรสวรรค์และฝีมือที่โดดเด่นทั้งด้านการเขียนแบบ หรือแม้แต่สมุดสเก็ตช์ของเขาที่เต็มไปด้วยการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมอย่างลึกซึ้งของ Andrea Palladio สถาปนิกอิตาลีในยุคเรเนซองส์ ผู้เป็นมาสเตอร์ที่เขาชื่นชม เกิดเป็นอิทธิพลต่อทฤษฎีการออกแบบสถาปัตยกรรมของเขาในยุคต่อ ๆ มา

นับตั้งแต่เริ่มต้นอาชีพด้านการออกแบบ ผลงานของปอนติก็ได้รับการสร้างสรรค์อย่างลึกซึ้ง และยังหวนคืนคุณลักษณะบางอย่างในแบบยุคสมัยนีโอคลาสสิกของสถาปัตยกรรมต้นศตวรรษที่ 20 ทำให้เขากลายสถาปนิกเป็นผู้ส่งเสริมวัฒนธรรมและเปลี่ยน “รสนิยมของผู้คนชนชั้นกลาง” ขึ้นใหม่

Denver Art Museum / DENVER – USA Photo By Leonid Furmansky

Denver Art Museum / DENVER – USA
Photo By James Florio

Pirelli Tower – 1956
Pirelli เป็นหนึ่งในผู้ผลิตยางรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเติบโตขึ้นในช่วงยุคฟาสซิสต์ ด้วยความคิดนี้ Alberto Pirelli จึงมอบหมายให้ Gio Ponti ออกแบบตึกระฟ้าสไตล์อเมริกันเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จขององค์กรและเป็นตัวกระตุ้นในแง่ของความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ อาคารนี้ดูผิวเผินเหมือนจะธรรมดา แต่หากย้อนกลับไปในยุคสมัยนั้น การออกแบบโครงสร้างรูปทรงเพรียวบาง 33 ชิ้นของปอนติดูจะเป็นไปได้ยากทางการก่อสร้าง หากไม่มีผู้เชี่ยวชาญทางวิศวกรรมมาร่วมมือด้วย

Photo Credits : https://architectuul.com/architecture/pirelli-tower Photo @lovelymilano

แต่โชคดีที่โปรเจกต์นี้ได้ Nervi ผู้เชี่ยวชาญด้านคอนกรีตเสริมเหล็ก ผู้มีความรู้ด้านเทคนิคในการออกแบบโครงสร้างด้วยฐานที่แคบ ทำให้อาคารหอคอยนี้เป็นครั้งแรกในโลกที่ก่อสร้างโดยใช้เสาคอนกรีตยาว 25 เมตรที่ค่อย ๆ เรียวบางลู่ขึ้นสู่ด้านบน (จาก 80 นิ้วถึง 20 นิ้ว) อาคารที่เรียบง่าย น้ำหนักเบา และหวือหวาในแง่ของการออกแบบและการจัดการกับโครงสร้างจึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของเมืองมิลาน ความทันสมัยแห่งความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจในอิตาลีที่ไม่เหมือนใคร และยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับตึกระฟ้าหลายแห่งในปีต่อ ๆ มาโดยเฉพาะ Tower Metropoleที่ตั้งอยู่ในนิวยอร์กซิตี้นั่นเอง

Photo Credits : https://www.archaic-studio.com/journal/classics-pirelli-tower-gio-ponti-pier-luigi-nervi

การออกแบบอาคารแห่งนี้ทำให้ปอนติได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติทันที นำมาซึ่งงานออกแบบในหลายประเทศทั่วโลกอย่างฮ่องกง เวเนซุเอลา ซานฟรานซิสโก และพิพิธภัณฑ์ศิลปะเดนเวอร์อันโด่งดังในปีค.ศ. 1971

“บ้าน … ไม่ควรอยู่ในแฟชั่น เพราะมันไม่ควรตกยุค”

นอกจากการออกแบบสถาปัตยกรรม ปอนติยังมีส่วนสนับสนุนและขับเคลื่อนวงการออกแบบในยุคนั้นผ่านนิตยสาร Domus ที่เขาก่อตั้งร่วมกับ Gianni Mazzocchi โดย Domus มาจากภาษาละติน แปลตรงตัวว่า ‘บ้าน’ สะท้อนถึงความพยายามของเขาในการนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมและศิลปะการตกแต่งให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่ายขึ้น รวมถึงเพื่อส่งเสริมให้ผู้คนตระหนักรู้ถึงความมั่งคั่งของทัศนศิลป์ร่วมสมัย ตั้งแต่งานประติมากรรมการวาดภาพ กราฟิก ไปจนถึงงานฝีมือ

บ้านที่เขาออกแบบ มักจะมีองค์ประกอบของธรรมชาติ อย่างช่องเปิดที่มองเห็นสวน โถงสูง หรือแม้แต่การใส่ใจเฟอร์นิเจอร์ชิ้นเล็ก ชิ้นน้อยที่ประกอบรวมกันเป็นบ้านที่สมบูรณ์ โดยจุดเด่นในการออกแบบของเขาอยู่ที่การผสมผสานฟังก์ชันและสุนทรียศาสตร์ ให้ความเคารพต่อบรรยากาศ แต่ยังมีสไตล์ผ่านการออกแบบรายละเอียดตั้งแต่งานศิลปะ จนถึงเฟอร์นิเจอร์ที่จะมาส่งเสริมในสเปซนั้น ๆ  สิ่งเหล่านี้ทำให้งานออกแบบของเขาเป็น Timeless และดูมีสไตล์อยู่เสมอไม่ว่าจะอยู่ในยุคสมัยใด

ผสานองค์ประกอบแบบคลาสสิคที่เหนือกาลเวลา

มีบทความหนึ่งกล่าวว่า เทคนิคและแนวคิดการออกแบบแมสอาคารของเขา ทั้งปริมาตร ฟาซาดด้านหน้าอาคาร รวมถึงการตกแต่งยังแสดงความอ่อนช้อย หรือมีองค์ประกอบจากสถาปัตยกรรมคลาสสิกบางอย่าง ที่สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการออกแบบสถาปัตยกรรมทางศาสนาอย่าง อารามคาร์เมโลในซานเรโม โบสถ์ซานคาร์โลในมิลาน และมหาวิหารทารันโต

Co-cathedral of Taranto -1970
โบสถ์แห่งนี้ตั้งอยู่ในเมืองทารันโต ในอิตาลีตอนใต้ที่ตั้งอยู่ระหว่างอ่าวอันกว้างใหญ่และทะเล ทำให้การออกแบบได้รับแรงบันดาลใจจากสภาพแวดล้อมทางทะเล โดยปอนติเริ่มต้นแนวคิดจาก ‘ใบเรือ’ เขาตัดสินใจแยกโครงสร้างออกเป็นสองส่วน นั่นคือบริเวณโบสถ์ที่มีระยะไม่สูงมากนัก และหอระฆังสูงที่เปรียบเสมือนใบเรือ ซึ่งหอระฆังนี้ออกแบบด้วยกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กสีขาวสองชิ้นสูง 41 กว้าง 22 เมตร เจาะด้วยหน้าต่างหกเหลี่ยมและสี่เหลี่ยมจำนวนมากระหว่างสองระนาบ

ผนังอาคารภายในมีลักษณะเป็นปูนฉาบหยาบและมีพื้นผิวบางส่วนที่ถูกเน้นด้วยโทนสีฟ้าน้ำทะเล Co-Cathedral of Taranto เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ปอนติเลือกทุกรายละเอียดของการออกแบบตั้งแต่เครื่องเรือน สีของวัสดุ การออกแบบม้านั่ง โต๊ะ หรืออ่าง

Photo Credits : https://www.wallpaper.com/architecture/gio-ponti-cathedral-taranto-italy

ลงรายละเอียดถึงการออกแบบเฟอร์นิเจอร์

งานออกแบบของปอนติ ไม่ใช่แค่สเปซ สถาปัตยกรรม แต่ครอบคลุมทุกอย่างรวมถึงการออกแบบภายในและเฟอร์นิเจอร์ ผลงานที่โด่งดังของเขายังมีเฟอร์นิเจอร์หลายประเภททั้งเฟอร์นิเจอร์สำนักงาน โคมไฟ เฟอร์นิเจอร์ห้องนอน โคมไฟระย้า เก้าอี้ โต๊ะทำงาน งานเซรามิก หรือแจกัน สิ่งเหล่านี้ทำให้ภาพรวมผลงานของเขาถูกจดจำได้ในทุกรายละเอียด จนเรียกกันติดปากได้ว่า ‘เป็นสไตล์ในแบบปอนติ’ ตัวอย่างผลงานที่มีชื่อเสียงของเขา เช่น Silver Candleholder, 969 Chair และ Dezza Armchair

นอกจากงานเฟอร์นิเจอร์ที่เขาออกแบบคนเดียวแล้ว ยังมีการร่วมมือกับศิลปินชื่อดังมากมายในยุคนั้น บางชิ้นก็ทำขึ้นด้วยมือของเขาเอง ส่วนบางชิ้นก็ถูกพัฒนาขึ้นในพื้นที่เวิร์กช็อปโดยช่างฝีมือผู้ชำนาญ กลายเป็นข้อพิสูจน์ไปในตัวว่าเฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตโดยโรงงานนั้นก็มีสไตล์ได้ไม่ต่างกับของที่ทำด้วยมือ

Photo Credits : https://www.dezeen.com/2019/02/15/gio-ponti-furniture-mariposa-armchair-d5551-side-table/

ในปี ค.ศ. 1923 ปอนติเปิดตัวในฐานะนักออกแบบผลิตภัณฑ์ในงานนิทรรศการมัณฑนศิลป์ที่เมืองมอนซา ประเทศอิตาลีซึ่งจัดขึ้นทุกสองปี ตามมาด้วยการมีส่วนร่วมในการจัดการนิทรรศการ Triennale ที่เมืองเดียวกัน ก่อนที่อีกสิบปีถัดมาปอนติจะชัดชวนให้ Pietro Chiesa และ Luigi Fontana หนึ่งในผู้ผลิตกระจกรายใหญ่ที่สุดในอิตาลี สร้าง Fontana Arte บริษัทออกแบบและผลิตเฟอร์นิเจอร์ในอิตาลีที่เชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะ โดยมีทั้งการผลิตเครื่องเรือน อุปกรณ์แสงสว่าง และองค์ประกอบตกแต่งอื่น ๆ

Photo Credits : https://www.casatigallery.com/products/gio-ponti-coffee-table/

ในช่วงปลายทศวรรษ 1940 และ 1950 ปอนติกลายเป็นนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่มีผลงานมากมาย เก้าอี้และโซฟาของเขาได้รับความนิยมอย่างมาก และโดดเด่นด้วยเส้นสายที่หลายคนนิยามว่าคือ ‘ความร่าเริงสนุกสนานและความเย้ายวนที่ทันสมัย’ ​​ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่คงอยู่ในทุกงานสร้างสรรค์ของเขา

รางวัลใหญ่ในช่วงชีวิต

ในปี ค.ศ. 1934 ปอนติได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการเครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งวาซาในเมืองสตอกโฮล์ม นอกจากนี้ผลงานศิลปะของเขายังได้รับรางวัล Accademia d’Italia Art Prize และเหรียญทองจาก Académie d’Architecture ในปารีส และปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จาก London Royal College of Art

Gio Ponti เสียชีวิตลงในปีค.ศ. 1979 ที่มิลาน ประเทศอิตาลี แต่วัตถุ งานศิลปะ การออกแบบสถาปัตยกรรม งานเฟอร์นิเจอร์ ตลอดจนงานเขียนของเขายังคงเป็นที่ต้องการของนักสะสมในปัจจุบัน มากไปกว่านั้น ผลงานหลายชิ้นยังถือเป็น Case Study ที่โดดเด่นด้านการออกแบบในยุคหนึ่งของอิตาลีตลอดกาล

ที่มา
https://www.theguardian.com/artanddesign/2021/may/02/gio-ponti-taschen-review
https://www.floornature.com/gio-ponti-62/
https://www.architectural-review.com/essays/reputations/gio-ponti-1891-1979
https://gestalten.com/blogs/journal/gio-ponti-was-a-master-of-italian-flair
https://www.wallpaper.com/architecture/gio-ponti-cathedral-taranto-italy
https://www.casatigallery.com/designers/gio-ponti-post-war-italian-design/

ภาพปก
https://www.wsj.com/articles/explore-the-genius-of-italian-architect-gio-ponti-1534600800
https://www.yinjispace.com/uploads/public/photo/images/custom_thum//898ec6c618cef9716bcb7b479d3cdbd1.jpg

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้