เมื่อของใช้รอบตัวถูกนำไปสู่การก่อรูปที่ว่าง สิ่งใหม่ในงานสถาปัตย์จึงเกิดขึ้น!
มาดูว่า เด็กสถาปัตย์ มช. ปี 2 เขาเล่นของอะไรกัน ?

เขาเล่นของกัน! แต่ไม่ใช่อย่างที่ทุกคนคิด เล่นของในที่นี้หมายถึง การทดลองและศึกษาของใช้รอบตัวที่ตนเองสนใจ เพื่อนำไปสู่การก่อรูปที่ว่าง รูปทรงผ่านฟอร์มวัสดุ และความสัมพันธ์กับสัดส่วนมนุษย์ นี่แหละคือโจทย์ที่นิสิตปี 2 ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต้องขบคิดและแก้ปัญหา

วันนี้เราเลยอยากชวนเพื่อน ๆ มาคุยกับเหล่าคณาจารย์ผู้สร้างสรรค์โจทย์สุดหรรษานี้ถึงแนวคิดและแรงบันดาลใจในการสอนกัน!

Dsign Something : ขอถามถึงได้แรงบันดาลใจในการตั้งโจทย์ ‘การนำวัสดุรอบตัวมาสร้างพื้นที่ว่างโดยกำหนด Human Scale’
อาจารย์ :
ที่มาจากการเป็นรายวิชาที่อยู่ในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาสถาปัตยกรรม (หลักสูตร 4 ปี) ที่มีปรัชญาของหลักสูตรคือ C R A F T Architecture หรือสถาปัตยกรรมคราฟท์ ที่เน้นการออกแบบสถาปัตยกรรมที่มีองค์ประกอบ 5 อย่างก็คือ

C = Creation (การสร้างสรรค์) R = Raw (วัสดุธรรมชาติ) A = Art (ศิลปะ) F = Folk (ท้องถิ่น) T= Tectonic (ช่างฝีมือหรือศิลปะแห่งการประกอบสร้าง) โดยวิชาสตูดิโอชั้นปีที่ 2 ของหลักสูตรจะเป็น Craft Studio ที่เน้นให้นักศึกษาออกแบบที่ว่างสื่อถึงความหมาย อารมณ์ความรู้สึก ผ่านความดิบของวัสดุ หรือวัสดุธรรมชาติ

โปรเจ็กต์ “เล่นของ” เป็นการนำเอาวัสดุหรือเครื่องใช้รอบ ๆ ตัวมาสร้างที่ว่าง จึงเป็นโจทย์ที่เอื้อให้นักศึกษาได้มีโอกาสจับต้องวัสดุที่ตัวเองสนใจจริง ๆ และค่อย ๆ เรียนรู้ศักยภาพของวัสดุ รูปทรงของของใช้ตั้งต้นที่เลือก ก่อนจะคลี่คลายมาสู่การสร้างที่ว่างแบบใหม่ ซึ่งโจทย์นี้ ทางทีมผู้สอนเชื่อว่าจะเป็นก้าวแรกสู่การเรียนรู้ถึงความเป็น CRAFT Architecture โดยส่วนหนึ่งของโจทย์ได้แรงบันดาลใจมาจากงานเชิงทดลองของสถาปนิกชาวญี่ปุ่นชื่อ Sou Fujimoto ที่มีการนำของรอบตัวในชีวิตประจำวันมาจัดองค์ประกอบเพื่อสร้างที่ว่างเทียบกับสัดส่วนมนุษย์

Dsign Something : ทำไมโปรเจ็กต์นี้ถึงเหมาะกับนักศึกษาชั้นปีที่ 2 ต้องการให้นักศึกษาเรียนรู้เรื่องใด?
อาจารย์ :
งานนี้เป็นโปรเจ็กต์แรกของสตูดิโอชั้นปีที่ 2 ที่อยากให้นักศึกษาเริ่มจากความสนุกในการทดลองสร้างที่ว่างโดยไม่จำเป็นต้องถูกตีกรอบด้วยกฏหมาย โครงสร้าง และที่ตั้ง ซึ่งนักศึกษามีอิสระที่จะเรียนรู้ถึงการก่อรูปที่ว่าง รูปทรง ผ่านวัสดุ รูปทรง นักศึกษาจะได้ทดลองประกอบ (Tectonic) สร้างสรรค์ (Creation) ที่ว่างจากความดิบของของใช้ (Raw Material) ที่อยู่นอกกรอบของสถาปัตยกรรม ผ่านการทำโมเดล ซึ่งทำให้นักศึกษามีโอกาสค้นพบพลังของที่ว่างที่คาดไม่ถึง ส่งผลรับรู้ถึงความงาม อารมณ์ ความรู้สึก (Art) จากงานที่ตนเองสร้าง และนำไปพัฒนาสู่การสร้างสถาปัตยกรรมในโปรเจ็กต์ที่ 2 ต่อไปนั่นเอง

Dsign Something : สำหรับอาจารย์ผู้ตรวจแบบ ความยากและท้าทายของโปรเจ็กต์นี้อยู่ที่จุดไหน?
อาจารย์ : ความยากและท้าทายของโปรเจ็กต์นี้คือ การนำวัสดุหรือของใช้ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมเลย มาค่อย ๆ ค้นหาเสน่ห์ ความโดดเด่น คุณสมบัติของของที่เราเลือก ทดลอง ประกอบ เพื่อก่อรูปที่ว่างที่สะท้อนความเจ๋งของของนั้น ๆ ซึ่งผลของมันทำให้ทีมผู้สอน และนักศึกษา เห็นถึงเสน่ห์ ความงาม ของที่ว่างรูปแบบใหม่ที่คาดไม่ถึงปรากฏออกมาผ่านการทำโมเดล

Dsign Something : อยากให้อาจารย์อธิบายคีย์เวิร์ด ‘Raw object to Raw space’ แบบเข้าใจง่ายๆ ?
อาจารย์ :
เรียกง่าย ๆ มันคือการออกแบบโดยนำ ความดิบ ความดั่งเดิม หรือความเป็นธรรมชาติของวัสดุตั้งต้นโดยไม่ต้องแปรรูป เพียงแต่นำมาประกอบให้เกิดที่ว่างดิบ ๆ ที่ว่างที่มีความสดใหม่ที่ยังไม่ได้ถูกเงื่อนไขของโครงสร้าง กฎหมาย ที่ตั้งและการเขียนแบบเข้ามาตีกรอบ

Dsign Something : ผลตอบรับจากนักศึกษาที่ได้ทำโปรเจ็กต์นี้เป็นอย่างไรบ้าง?
อาจารย์ :
นักศึกษามีความสนุกที่ได้ทดลอง ประกอบ ก่อรูปโมเดลของที่ว่างหลาย ๆ รูปแบบ จนทำให้เห็นผลงานของนักศึกษาหลาย ๆ งานที่มีการประกอบสร้างที่ว่างที่น่าสนใจมาก

ทั้งหมดนี้ คือส่วนหนึ่งในการเรียนสถาปัตยกรรมในภาคเรียนชั้นปีแรก ๆ เพื่อที่จะเตรียมตัวไปออกแบบในโครงการที่มีขนาดใหญ่และซับซ้อนมากขึ้น โดยการฝึกในลักษณะนี้จะทำให้ผู้เรียนได้ฝึกการมองหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ เพิ่มไอเดียที่สร้างสรรค์ ซึ่งถือเป็นกระบวนการสำคัญในการออกแบบ ที่จะได้รับการเกลาความคิด จินตนาการ ให้ออกมาเป็นรูปเป็นร่าง ภายใต้การเทียบสัดส่วนกับร่างกายมนุษย์นั่นเอง

ผลงานของนักศึกษาชั้นปีที่ 2 หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
สาขาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ในกระบวนวิชา Alternative Architectural Design Studio 1

“เล่นของ”
การทดลองและศึกษาของใช้รอบตัวที่ตนเองสนใจ เพื่อนำไปสู่การก่อรูปที่ว่าง รูปทรงผ่านฟอร์มวัสดุ และความสัมพันธ์กับสัดส่วนมนุษย์ บนพื้นที่ขนาด 200 ตร.ม

ขอขอบคุณทีมอาจารย์ผู้สอน :
อาจารย์กวิน ว่องวิทยาการอาจารย์อรรถสิทธิ์ กองมงคลอาจารย์อาภาภรณ์ วงศ์ลักษณ์พันธ์

ขอบคุณภาพจาก Faculty of Architecture Chiang Mai University

641710107 ปิ่นมนัส ยอดสังข์ (หนูนา)
641710098 ณัฐดนัย สวนขวัญ (พีท)
641710116 ศศิชา ปรีชารักษ์ (ไอซ์)
641710088 กนกรัตน์ สังขสัญญา (โอปอล์)
641710093 ชมพูนิกข์ เวชกุล (แก้ม)
641710108 ปุณยวีร์ ลักษณะกุล (บิว)
641710109 พันภัสสา สู่เสน (บรีม)
641710095 ชลสิทธิ์ หะยีมะลี (ฟี)
641710101 ณิชา กันไว (หญิง)
641710094 ชลพินทุ์ อุตสาหพรมมินทร์ (โอ)
641710105 ปลายฟ้า อยู่เจริญสุข (ฟ้า)
641710090 คนึง ผารินทร์ (โรตี)
641710113 ภูมิภริช กิจภิญโญ (บีจี)
641710096 ชัยณรงค์ คำเพ็ง (อาร์ม)
641710106 ปวีณา จันทรบุตร (เนย)
641710114 ลภัสรดา ต่อชีพ (แตงโม)
641710099 ณัฐนนท์ ปิ่นชุม (เซนเซ)
641710102 ธนัชพร ขัดเป็ง (วุ้นเส้น)
641710112 ภูมิพัฒน์ จิตรัตนภิรมย์ (ฟิวเจอร์)
641710110 พิชยา มั่นการ (พั้นช์)
641710104 ปนัดดา ผลาผล (ปาล์มมี่)
641710097 ณัฐณิชา ประวัง (กระเต็น)
641710092 ชนะศักดิ์ อินทร์โก (วินเทจ)
Writer
Prawpisut Tiangphonkrang

Prawpisut Tiangphonkrang

นักศึกษาสถาปัตยกรรม ที่เชื่อว่าการออกแบบเกี่ยวข้องกับทุกเรื่องบนโลกใบนี้