เชื่อว่าหลายคนคงเคยมาเดินที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์กันบ้าง เพราะที่นี่เป็นเหมือนแหล่งรวบรวมงานสำคัญประจำปี อย่างงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ งานคอมมาร์ท งานแสดงสินค้าแม่และเด็ก และอีเวนต์ต่าง ๆ อีกมากมาย หลังจากห่างหายไปสามปีครึ่ง ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์กลับมาพร้อมโฉมใหม่ ที่ไม่ได้เป็นเพียงสถานที่จัดงานอีเวนต์เท่านั้น แต่เป็นพื้นที่สำหรับทุกคน
ด้วยขนาดพื้นที่ใช้สอยเพิ่มมากขึ้น 5 เท่า เป็น 300,000 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้เข้าใช้บริการได้มากถึง 100,000 คนต่อวัน และพื้นที่จอดรถยนต์ใต้ดินรองรับได้ 3,000 คัน มาพร้อมกับคอนเซ็ปต์การดีไซน์ที่ถ่ายทอดความเป็นไทยให้เข้ากับวิถีคนยุคใหม่มากขึ้น ซึ่งจะมีอะไรบ้างนั้น วันนี้ Dsign Something จึงขอนำเรื่องราวของศูนย์ฯ สิริกิติ์โฉมใหม่ผ่านมุมมองของสถาปนิกมาเล่าให้ทุกคนได้อ่านกัน
‘สืบสาน รักษา ต่อยอด’
ศูนย์ฯ สิริกิติ์ผ่านการจัดงานระดับนานาชาติมาตลอดระยะเวลา 30 ปี จึงถือเป็นอีกหนึ่งตัวแทนสื่อสารความเป็นไทยไปยังบรรดาชาวต่างชาติผู้มาเยือน และคอนเซ็ปต์ที่เลือกนำมาใช้ในการออกแบบครั้งนี้ คือ ‘สืบสาน รักษา ต่อยอด’ มาจากการสืบสานเจตนารมณ์ของการเป็นตัวแทนประเทศไทยตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน ในการรักษาศิลปะวัฒนธรรม และต่อยอดไปสู่คนรุ่นใหม่ในอนาคต
โดยแบ่งงานออกแบบเป็น 3 ส่วน ได้แก่ งานออกแบบสถาปัตยกรรมและงานระบบ , งานออกแบบสถาปัตยกรรมภายใน และงานออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม ซึ่งงานนี้ได้ทีมสถาปนิกผู้เชี่ยวชาญมารับหน้าที่ออกแบบทั้งหมด 3 ทีม จาก Design 103 International , ONION และ Shma
สถาปัตยกรรมสำหรับทุกคน
คุณพี้-นพดล ตันพิวัฒน์ จาก บริษัท Design 103 International จำกัด สถาปนิกผู้ที่คุ้นเคยกับศูนย์ฯ สิริกิติ์ เป็นอย่างดี ในครั้งนี้คุณพี้ได้กลับมาเป็นหัวเรือใหญ่ในการออกแบบสถาปัตยกรรมของศูนย์ฯ สิริกิติ์โฉมใหม่อีกครั้ง จากคอนเซ็ปต์ ‘สืบสาน รักษา ต่อยอด’ ทางทีมได้นำโจทย์มาตีความใหม่เป็นแกนหลักในการออกแบบ 3 อย่าง ได้แก่ แรงบันดาลใจ (Inspiration) , บูรณาการ (Integration) และนวัตกรรม (Innovation)
เริ่มจากการได้แรงบันดาลใจที่มาเส้นสายโค้งอ่อนช้อยของอาคาร จากพระจริยวัตรของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยมีตัว façade กระจกล้อมรอบอาคาร บิดรับแสงทั้งในมุมและห้วงเวลาที่ต่างกัน สื่อถึงความงามที่เป็น Timeless ในขณะเดียวกันก็สะท้อนบริบทของสวน ป่า ผู้คน และเมืองโดยรอบ กลับมายังตัวอาคารอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีการปรับขยายพื้นที่ใช้สอยภายในอาคารให้มีขนาดใหญ่ขึ้น และที่สำคัญยังออกแบบสเปซให้มีความยืดหยุ่นสูง ด้วยการใช้สแปนเสาที่กว้างเป็นพิเศษ เพื่อรองรับการใช้งานหลากหลายรูปแบบให้มากที่สุด และที่น่าสนใจกว่านั้น สำหรับอาคารหอประชุมขนาดใหญ่นี้ ยังมีการนำนวัตกรรมมาช่วยในการออกแบบเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำ อย่างการคำนวณแสงและเงาของตัวอาคาร และนำเทคโนโลยีต่าง ๆ ใช้ในอาคารเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้งานในยุคใหม่ ไปจนถึงการใช้เทคโนโลยีในกระบวนการก่อสร้าง เพื่อช่วยลดระยะเวลาในการก่อสร้างและความผิดพลาดจากหน้างานได้นั่นเอง
จาก 3 แนวคิดหลัก นำมาสู่งานสถาปัตยกรรมชิ้นโบแดงที่ถ่ายทอดกระบวนคิดอย่างลึกซึ้งของสถาปนิกผ่านฟังก์ชันและดีไซน์ของอาคาร เราลองมาดู 5 การออกแบบที่คุณพี้ยกให้เป็นไฮไลต์ในศูนย์ฯ สิริกิติ์โฉมใหม่แห่งนี้กัน
1. The First Vertical Exhibition สเปซที่ปลดปล่อยอิสระให้กับงานศิลปะ
โดยทั่วไปแล้ว เรามักเห็นงานศิลปะหรืองานนิทรรศการจัดแสดงภายในพื้นที่แต่ละชั้นเท่านั้น แต่สำหรับศูนย์ฯ สิริกิติ์แล้ว อาจจะเป็นที่แรกของเมืองไทย ที่สามารถจัด Vertical Exhibition ซ้อนกัน 2 ชั้นได้ ในพื้นที่ Double Space ที่เปิดโล่งเชื่อมหากัน เปิดโอกาสให้ศิลปินกล้าที่จะสร้างสรรค์ผลงานอย่างอิสระมากขึ้น
2. Atrium Stair บันไดที่เชื่อมระหว่างสถาปัตยกรรมและการออกแบบภูมิทัศน์
ด้วยข้อจำกัดของการสร้างอาคารในพื้นที่สีเขียว ทำให้ไม่สามารถสร้างอาคารได้สูงมากนัก สถาปนิกจึงเพิ่มชั้นใต้ดินขึ้นมาเพื่อขยายพื้นที่รองรับการจัดแสดงนิทรรศการและงานศิลปะ เป็นศูนย์รวมร้านค้า บริการต่าง ๆ อีกทั้งยังเป็นจุดเชื่อมต่อกับทางเข้าจากรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT อีกด้วย
สถาปนิกจึงออกแบบพื้นที่ Atrium Stair ตรงทางเข้าชั้น G ด้านหน้า เป็น Double Space เปิดโล่ง พร้อมกรุกระจกใสแทนผนังทึบ ต้อนรับแสงธรรมชาติเข้ามาสร้างบรรยากาศภาวะน่าสบาย ให้ความรู้สึกโปร่ง โล่งแก่ผู้ใช้งาน ต่างจากชั้นใต้ดินทั่วไป และตัวบันไดนี้ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญ ที่ช่วยถ่ายสเปซจากแลนด์สเคปภายนอกเข้าสู่อาคารอย่างลื่นไหล ราวกับเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน
3. Inside Out – Outside In การนำธรรมชาติมาเป็นส่วนหนึ่งของอาคาร
เมื่อเราก้าวเข้ามาในอาคาร แวบแรกเราอาจจะสัมผัสบรรยากาศความเป็นไทยผ่านงานออกแบบภายในที่เป็นเอกลักษณ์ แต่ในขณะเดียวกันก็รู้สึกไม่ถูกตัดขาดจากธรรมชาติภายนอกซะทีเดียว ด้วย façade กระจกที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง เชื่อมกันระหว่างบริบทโดยรอบและด้านในอาคาร ทำให้ผู้ใช้งานยังคงสามารถมองเห็นความเป็นไปของธรรมชาติและวิถีชีวิตข้างนอก
4. Sustainable Design ความยั่งยืนจากการผสานดีไซน์เข้ากับเทคโนโลยี
เมื่อมีแสงแดดก็ต้องมีความร้อน การที่สถาปนิกใช้ façade กระจกโอบรับแสงธรรมชาติเข้ามา เพื่อลดการใช้ไฟฟ้าภายในอาคารไปส่วนหนึ่งแล้ว ในขณะเดียวกันก็มีการดีไซน์หลังคายื่นออกไปเพื่อสร้างร่มเงาให้แก่อาคาร อีกทั้งยังใช้เทคโนโลยี Solar Roof เพื่อสร้างพลังงานไฟฟ้าทดแทนราว 2 เมกะวัตต์ ด้วยดีไซน์ที่คำนึงถึงความยั่งยืนอย่างพิถีพิถันทุกตารางเมตร ทำให้ศูนย์ฯ สิริกิติ์เป็นอาคารประเภทศูนย์ประชุมแห่งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ผ่านมาตรฐานอาคารสีเขียวอย่าง LEED ถึงระดับ Silver เลยทีเดียว
5. City Node จุดเชื่อมกันระหว่างเมือง – คน – ป่า
นอกจากศูนย์ฯ สิริกิติ์จะเป็นเป้าหมายการเดินทางด้วยตัวเองแล้ว ยังเป็นจุดเชื่อมผู้คนจากฝั่งเมืองไปยังพื้นที่สวนเบญจกิติและสวนป่าเบญจกิติ แลนด์มาร์กใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวครั้งแรกไปเมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา หากใครที่เดินเล่นในสวนมาเหนื่อย ๆ ก็มาแวะพักในโซนร้านค้ารีเทลชั้น LG ที่มีร้านอาหาร ร้านกาแฟชื่อดัง และร้านค้าอื่น ๆ อีกมากมาย ในศูนย์ฯ สิริกิติ์ได้
นอกจาก 5 ไฮไลท์ของดีไซน์ที่เรายกมาเล่าแล้ว ยังมีฟังก์ชันภายในอาคารอีกมากมาย ที่ตอบโจทย์กับทุกการใช้งาน รองรับได้ทั้งการจัดงานนิทรรศการ คอนเสิร์ต การประชุม งานสัมมนา อีเวนท์ ร้านค้ารีเทลต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งห้องอาบน้ำสาธารณะ สมกับเป็นพื้นที่ของทุกคน
จากความงามของผ้าไทย มาสู่ความหมายใหม่ในงานสถาปัตยกรรม
จากคอนเซ็ปต์ผ้าไทยที่กลายเป็นภาพจำใหม่ของศูนย์ฯ สิริกิติ์นี้ ถูกคิดค้นโดยทีมคุณออ-อริศรา จักรธรานนท์ จากบริษัท ONION จำกัด ได้รับแรงบันดาลใจจากฉลองพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่มักสวมผ้าไทยอย่างเป็นธรรมชาติ และพระองค์ท่านยังเป็นผู้นำในการผลักดันผ้าไทยสู่สายตาสากลโลก ทางทีมสถาปนิกจึงได้นำรูปแบบชุดไทยมาเป็นคอนเซ็ปต์ออกแบบในแต่ละชั้น เพื่อให้สอดคล้องกับฟังก์ชันการใช้งานที่แตกต่างกัน ได้แก่
ชุดไทยลำลอง (Casual Thai) ถูกใช้ในชั้น LG ซึ่งเป็นโซนร้านค้ารีเทล , จุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT , โถงจัดแกลอรี่ และพื้นที่ฮอลล์รองรับการจัดนิทรรศการหรืองานออกบูธที่ค่อนข้างคึกคัก เพื่อสร้างบรรยากาศเป็นกันเองแล้ว สถาปนิกจึงเลือกใช้เสน่ห์ผ้าขาวม้าและผ้าถุงมาใช้เป็นแพทเทิร์นในการออกแบบ ผสานกับดีเทลการจับจีบผ้า รวมทั้งการซ้อนเกล็ดของผนังบ้านทรงไทยที่ให้ความรู้สึกบ้าน ๆ
ชุดไทยทางการแบบประยุกต์ (Formal Thai) ในส่วนชั้น G ที่เป็นเสมือนประตูหลักคอยต้อนรับแขกที่มาเยือน สถาปนิกจึงเลือกใช้การออกแบบที่ดูสุภาพและเป็นทางการ ถอดรหัสจากโจงกระเบนสมัยรัชกาลที่ 5 มาเป็นฝ้าและผนัง ผ่านดีเทลการโค้งเว้าคล้ายจีบผ้าโจงกระเบน เมื่อผสานกับโทนสีและวัสดุที่เลือกใช้แล้ว ยิ่งทำให้เป็นพื้นที่ต้อนรับที่ทั้งสง่างามและทรงพลังยิ่งขึ้น
ชุดไทยสมัยใหม่ (Modern Thai) ด้วยฟังก์ชันในชั้น L1 และ L2 เป็นพื้นที่สำหรับ Ballroom , Plenary Hall และห้องประชุม เป็นหลัก ดังนั้นจึงออกแบบให้มีความโมเดิร์น เพื่อสามารถตอบโจทย์กับรูปแบบการจัดงานที่หลากหลาย และแม้จะเป็นไทยโมเดิร์น แต่ทว่าสถาปนิกยังคงถ่ายทอดความเป็นไทยผ่านการถอดรหัสลายผ้าไทยให้กลายเป็นความงามแบบใหม่
อย่างห้องบอลรูม ที่ได้แรงบันดาลใจจาก ‘ชุดชาวเขา’ เดิมทีชาวเขาได้นำธรรมชาติมาแปลงเป็นลายเรขาคณิตลงบนผ้าและเครื่องประดับเงินอย่างที่เราคุ้นตากัน หลังจากนั้นสถาปนิกได้นำลายแพทเทิร์นบนชุดปักลูกเดือยของชาวเขาเหล่านี้ มาลดทอนให้มีความโมเดิร์นมากยิ่งขึ้น ปรากฎให้เห็นทั้งพื้น ผนังและฝ้า โดยเฉพาะผนังที่มีการซ่อนดีเทลความวิบวับจากแผ่นเงินที่แปะติดกับผนังผ่านงานฝีมือช่างอย่างพิถีพิถัน
ภายใน Plenary Hall ที่ใช้รองรับการจัดงานค่อนข้างหรูหรา สถาปนิกได้นำ ‘ชุดไทยจักรี’ หนึ่งในชุดไทยประจำชาติพระราชนิยม 8 ประเภท มาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบห้องนี้ โดยนำเส้นสายบางส่วนในชุดไทยจักรีมาเลือกใช้ และนำแม่ลายไทย อย่าง ‘ลายประจำยาม’ มาลดทอนให้เกิดเป็นดีไซน์ใหม่ที่ดูเรียบแต่สง่างาม และโมเดิร์นในขณะเดียวกัน
ไม่เพียงแต่ภายในห้อง Plenary Hall เท่านั้น แต่ดีไซน์ ‘ลายประจำยามแบบใหม่’ ยังถูกนำมาใช้เป็นแพทเทิร์นหลักในการออกแบบครั้งนี้ หากเราสังเกต จะพบลายประจำยามเหล่านี้แทรกในพื้นที่ต่าง ๆ ของศูนย์ฯ สิริกิติ์ เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งดีไซน์ที่สถาปนิกใช้เชื่อมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของพื้นที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์ที่มีขนาดใหญ่และหลากหลายฟังก์ชันเข้าไว้ด้วยกัน
วัสดุที่ซ่อนความหมายของภาษาออกแบบเอาไว้
นอกเหนือจากความงามและการสื่อถึงคอนเซ็ปต์หลักแล้ว วัสดุที่ใช้ในศูนย์ฯ สิริกิติ์ ยังซ่อนความหมายที่เราอาจไม่ได้สังเกตเอาไว้อีกด้วย เริ่มจาก ‘การใช้สีวัสดุเพื่อบอกทิศทาง’ เนื่องจากศูนย์ฯ สิริกิติ์มีขนาดใหญ่มาก เพื่อช่วยให้คนไม่หลงทาง สถาปนิกจึงเลือกใช้ชุดลิฟท์สีทองในด้านฝั่งสวน ชุดลิฟท์สีเงินในฝั่งรถไฟฟ้า MRT และพื้นที่ทางเข้าฮอลล์ตรงกลางใช้เป็นสีทองแดง
‘ผนังหิน’ ตัวแทนของความหนักแน่นและสง่างาม ถูกนำมาใช้ในชั้น G ที่มีคอนเซ็ปต์ Formal Thai เป็นหลัก นอกจากจะสื่อถึงความเป็นทางการแล้ว ยังให้ความรู้สึกเหมือนสถาปัตยกรรมของวัด วัง หรือโบราณสถาน และด้วยความเรียบหรูของตัววัสดุจึงถูกนำมาใช้ในพื้นที่บางส่วนของโซน Modern Thai เช่นกัน ที่สำคัญ ดีเทลผนังหินในแต่ละจุดยิ่งมีความโค้งเว้า ยิ่งบ่งบอกถึงความชำนาญ ความพิถีพิถันของช่างและผู้ออกแบบอีกด้วย
‘ฝ้าลายประจำยาม’ ที่ถูกบิดไปรับแสงในองศาที่ต่างกัน นอกจากเรื่องความงามและการสร้างมิติให้กับสเปซแล้ว สถาปนิกยังออกแบบเพื่อให้ทำหน้าที่ซ่อนงานระบบที่อยู่ข้างบนอย่างแนบเนียนอีกด้วย
นอกเหนือจากการออกแบบสถาปัตยกรรมแล้ว งานศิลปะก็เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่มาเติมเต็มให้ศูนย์ฯ สิริกิติ์สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ดังนั้นเราจึงเห็นบางผลงานศิลปะจากศูนย์ฯ สิริกิติ์เดิม กลับมาจัดวางในศูนย์ฯ สิริกิติ์โฉมใหม่เช่นกัน อย่างประตูลายรดน้ำ , เสาช้าง-ลูกโลก , โลกุตระ , งานแกะสลักไม้พระราชพิธีอินทราภิเษก รวมถึงงานศิลปะใหม่ ๆ ที่จะมาแต่งแต้มสีสันให้หลากหลายยิ่งขึ้น
การออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม ที่เป็นมากกว่าพื้นที่สีเขียว
แน่นอนการมีพื้นที่สีเขียวเป็นเรื่องที่ดี แต่สำหรับพื้นที่แพลตฟอร์มจัดอีเวนต์อย่างศูนย์ฯ สิริกิติ์ การออกแบบให้ผู้คนสามารถใช้งานได้อย่างหลากหลาย และสะดวกสบาย ก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน และผู้นำทีมออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมครั้งนี้ คือ คุณโย-ยุทธพล สมานสุข จากบริษัท Shma จำกัด
เมื่อศูนย์ฯ สิริกิติ์ทำหน้าที่เป็น City Node และ City Landmark แล้ว ดังนั้นสถาปนิกจึงเลือกที่จะลดบทบาทของต้นไม้ใหญ่ลง และเปิดพื้นที่ด้านหน้าตัวอาคารมากขึ้น เพื่อให้ผู้คนมองเห็นได้ง่ายจากฝั่งถนน และสามารถรู้สึกเชื่อมโยงกับศูนย์ฯ สิริกิติ์ ต่อเนื่องไปยังสวนป่าเบญจกิติ โดยใช้พื้นที่ Hardscape อย่าง ‘ลาน’ เป็นตัวเปิดมุมมองและรองรับการใช้งานกลางแจ้งได้หลากหลาย
และเพื่อเสริมความโดดเด่นของงานประติมากรรมโลกุตระที่เป็นภาพจำของศูนย์ฯ สิริกิติ์แล้ว สถาปนิกได้นำ Feature น้ำพุเข้ามาเป็นตัวช่วยให้ทั้งงานประติมากรรมและพื้นที่ลานดูมีมิติมากขึ้น และนอกจากพื้นที่ลาน ยังมี Hardscape Feature อื่น ๆ ที่สถาปนิกได้นำมาออกแบบในงาน เช่น Feature Stair ที่เป็นตัวถ่ายสเปซจากลานไปยังทางเข้าบันได Atrium Stair ตรงทางเข้าชั้น G และทางลาดที่สถาปนิกได้ใช้ Universal Design มาทำให้ศูนย์ฯ สิริกิติ์เป็นพื้นที่ของทุกคนอย่างแท้จริง
การวางทางสัญจรก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญของศูนย์ฯ สิริกิติ์ เนื่องจากมีผู้ใช้งานจำนวนมาก ไม่ว่าจะเดินทางมาด้วยยานพาหนะส่วนตัว ระบบขนส่งสาธารณะ หรือเดินเท้า ล้วนต้องมีการจัดผังใหม่เพื่อให้สามารถสัญจรกันอย่างสะดวกสบาย และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งนั่นถือเป็นหัวใจสำคัญในการออกแบบพื้นที่ภายนอกอาคารขนาดใหญ่
แม้ต้นไม้ใหญ่บางส่วนจะถูกลดทอนไป แต่ทางทีมสถาปนิกก็พยายามเก็บต้นไม้เดิมไว้ให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะต้นไม้ที่สำคัญและสามารถสร้างประโยชน์มหาศาลแก่เราในอนาคต ไม้ยืนต้นและไม้พุ่มที่เพิ่มมาใหม่ สถาปนิกก็ได้เลือกใช้พืชพันธุ์ที่ใช้น้ำน้อย เพื่อลดการใช้น้ำและพลังงานอย่างสิ้นเปลือง และไฮไลท์ของการออกแบบครั้งนี้ คือ สถาปนิกได้ใช้ ‘ต้นพยอม’ ปลูกตรงด้านหน้า เพื่อที่ว่าเมื่อถึงยามเวลาออกดอกแล้ว ศูนย์ฯ สิริกิติ์จะถูกแต่งแต้มด้วยสีเหลืองนวลตาจากต้นพยอม สร้างบรรยากาศความประทับใจให้แก่ผู้มาเยือนอย่างไม่รู้ลืม
จะเห็นได้ว่าทุกพื้นที่ของศูนย์ฯ สิริกิติ์ ไม่ว่าจะเป็นด้านนอกหรือด้านในอาคาร ล้วนถูกคิดมาอย่างดี ผ่านภาษาการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ และถ่ายทอดความเป็นไทยออกมาเป็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!