อาคารบ้านช่องที่เต็มไปด้วยตึกสถาปัตยกรรมแบบชิโน – โปรตุกีส หรือที่เรียกกันว่า โคโลเนียล ถือเป็นเสน่ห์และเอกลักษณ์น่าจดจำของบ้านไทยในภาคใต้เสมอมา วันนี้เราจึงพามาชม Bangchak SINO อาคารรีเทลคอมเมอเชียลในปั๊มบางจาก อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ผลงานการออกแบบใหม่ของ ILIKEDESIGNSTUDIO ที่นำความเป็นชิโน-โปรตุกีส (โคโลเนียล) มาตีความ ดัดแปลง ให้มีทั้งความโมเดิร์นเป็นยุคสมัยใหม่ ผสมกับองค์ประกอบบางอย่างที่ดึงความเป็นไอคอนิกของพื้นที่ออกมาได้อย่างลงตัว
อาคารหลังใหม่ที่อินสไปร์มาจากรูปตัดของตึกแถวชิโน-โปรตุกีส
จุดตั้งต้นของการดึงความเป็นชิโน-โปรตุกีสมาเล่นนั้น คุณเบนซ์ – ณฤชา คูวัฒนาภาศิริ สถาปนิกเล่าว่า “เจ้าของมาพร้อมโจทย์ที่อยากทำคอมเมอเชียลในปั๊ม ซึ่งเขารู้สึกว่าในหาดใหญ่ยังไม่มีสถาปัตยกรรมโมเดิร์นเป็นไอคอนิกเลย เราเลยกลับมาทำการบ้าน มองหาแหล่งท่องเที่ยวทั้งหมดของหาดใหญ่จนได้มีโอกาสไปเดินตลาดในเมืองเก่า เราเจอบ้านสไตล์ชิโน-โปรตุกีส เลยอยากนำแนวคิดนี้มาเล่น เพราะเป็นประวัติศาสตร์ของที่นี่เหมือนกัน”
แต่การจะนำแนวคิดชิโน-โปรตุกีสมาใช้ออกแบบตรง ๆ เชื่อว่าหลายคนก็คงเคยเห็นผ่านตากันมาแล้ว คุณแบนซ์และทีมจึงทำการบ้านใหม่ โดยเริ่มจากโจทย์ที่ว่า ถ้าไม่ใช้คาแร็กเตอร์ของชิโน-โปรตุกีส จะทำอย่างไรให้คนรู้สึกถึงอาคารในลักษณะนี้ได้อีกบ้าง?
จากโจทย์สู่การค้นหาข้อมูล จนไปเจอเข้ากับรูปตัด (Section) ของอาคารตึกแถวแบบชิโน ซึ่งความน่าสนใจอยู่ตรงที่ด้านหน้าจะถูกแบ่งออกเป็นพื้นที่คอมเมอเชียลในขณะที่ด้านหลังเป็นพื้นที่อยู่อาศัยโดยกั้นพื้นที่ด้วยคอร์ดกลางบ้านที่ซ่อนอยู่ภายใน
“เรารู้สึกว่าอันนี้มันเป็นเสน่ห์ เพราะปกติคนทั่วไปจะหยิบฟาซาดจำลองมาใช้ออกแบบ คนสัมผัสชิโนจะได้เห็นแต่ฟาซาด เจอแต่ชอปเฮาส์ที่อยู่ข้างหน้า เราเลยอยากดึง Section ที่เคยถูกซ่อนอยู่ ไม่ค่อยมีใครเคยเห็นออกมาเล่าเรื่องแทน”
ถ้าดูจากไดอะแกรมแสดงแนวคิด Section จะถูกคลี่ออกมาเป็นฟังก์ชันอาคารคอมเมอเชียลสองหลัง มีส่วนอาคารตรงกลางเป็นมินิมาร์ทที่ออกแบบให้เป็นอาคารหนึ่งชั้นในลักษณะที่เรียบที่สุด เปรียบเสมือนเป็นอาคารรองที่เปิดโอกาสให้อาคารเมนหลักหัวท้ายเด่นขึ้นมาแทนที่ นอกจากนั้นระหว่างอาคารด้านหน้าสุดที่มีฟังก์ชันเป็นร้านกาแฟอินทนิลและอาคารมินิมาร์ทจะมีคอร์ดพื้นที่สีเขียวแทรกอยู่ ซึ่งเป็นวิวให้กับร้านกาแฟไปด้วยในตัว
ส่วนอาคารหลักด้านหลัง บริเวณด้านบนเป็นสำนักงาน ส่วนด้านล่างเป็นพื้นที่เผื่อเช่าในอนาคตที่ทางเจ้าของวางแพลนไว้ โดยระหว่างอาคารหลังนี้กับมินิมาร์ทที่อยู่ตรงกลางก็มีคอร์ดเปิดโล่งเชื่อมเช่นเดียวกัน
ส่วนที่เหลือเป็นการเติมรูปลักษณ์หรือองค์ประกอบบางอย่าง โดยหยิบยกความชิโน-โปรตุกีสมาผสมผสานกับความโมเดิร์น เช่น ฟาซาดชิโนที่เกิดจากการถอดแบบรูปบ้านมาเลย มีบัวเล็ก ๆ ย่อมุมนิด ๆ ตามคาแร็กเตอร์ดั้งเดิม เพียงแต่นำมาลดทอนให้มีความทันสมัยตามแบบที่เจ้าของชื่นชอบ หรือแม้แต่บริเวณคอร์ริดอร์ทางเดินที่ออกแบบให้มีฐานเสาจำนวนมาก คล้ายกับอาเคดที่เป็นซุ้มทางเดินยาวตลอดแนว
ประวัติศาสตร์ที่หยิบมาผสานความโมเดิร์น
นอกเหนือจากนั้น อาคารยังถูกนำมาผสมผสานกับความเป็นโมเดิร์นได้อย่างกลมกลืน โดยชั้นบนจะถูกออกแบบในโทนสีเข้ม และใช้วัสดุเหล็กเข้ามาเป็นตัวแทนของยุคสมัยใหม่และยังตัดกับอาคารส่วนฐานที่ใช้สีสว่าง ทำให้อาคารดูเบา ลดความทึบทัน เสมือนอาคารเหล่านั้นลอยอยู่
“ถ้าสังเกตด้านที่เป็นกระจก ตอนแรกเราตั้งใจอยากให้เป็นกระจกไม่มีเฟรมเลย เพราะอยากให้เห็นจันทันกับแปรที่เสียบเข้าไปในอาคาร แต่พอพัฒนาไป ก็พบว่าเป็นทิศที่แดดมันส่องค่อนข้างเยอะเหมือนกัน กลัวร้อนแล้วใช้งานจริงไม่ได้ เราเลยใช้เฟรมเหล็กเข้ามาผสม พัฒนากันไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นว่าอาคารมีความเป็นชิโน-โปรตุกีส ที่มีบรรยากาศแบบโมเดิร์นผสมอยู่ด้วย”
Something More: ในวัสดุส่วนมากที่เลือกใช้ คุณเบนซ์พยายามเลือกที่มีตามท้องตลาดอย่าง อิฐเทียม เหล็ก และเล่าเสริมว่า ส่วนการก่อสร้างที่ว่าสนุก เกิดจากฝีมือของผู้รับเหมา ซึ่งใช้วิธีการทำฐานล่างคอนกรีตเสริมเหล็กของอาคารให้เสร็จทั้งหมด แล้วจึงเชื่อมโครงสร้างเหล็กของอาคารชั้นสองทั้งชั้นรวมถึงหลังคาจากไซต์งานที่พื้นดิน ก่อนจะใช้เครนเพื่อยกทั้งก้อนอาคารไปสวมและติดตั้งอีกทีหนึ่ง
“วันที่เขาติดตั้ง เราตื่นเต้นมาก เพราะโปรเจกต์นี้ได้มาดูงานน้อยมากเพราะติดช่วงโควิด เราคุยผ่านไลน์กันเป็นส่วนใหญ่ แต่ดีที่ทางเจ้าของเขาก็เข้าใจแบบ ผู้รับเหมาก็เก่ง งานเลยออกมาสำเร็จด้วยดี”
อ่านมาถึงตรงนี้ บางคนอาจเกิดคำถามว่า ทำไมอาคารคอมเมอเชียลที่อยู่ในแบรนด์ปั๊มบางจากถึงไม่มีคาแร็กเตอร์หรือ CI ของแบรนด์เลยแม้แต่น้อย นั่นเป็นเพราะช่วงหลัง แบรนด์บางจากเองมีแนวคิดให้แต่ละสาขา มีเอกลักษณ์เด่นเฉพาะตัวของแต่ละพื้นที่นั้น ๆ แล้วแต่ที่ตั้งโครงการ แล้วแต่บริบท ทำให้ผลงานค่อนข้างมีความหลากหลาย และบ่งบอกความเป็นตัวตนของสถานที่นั้น ๆ ได้อย่างเต็มที่
“ในฐานะดีไซน์เนอร์ เรารู้สึกดีนะ เพราะหลัง ๆ ลูกค้าอายุน้อยกันหมดเลย คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับงานออกแบบ เขาอยากได้ความยูนีค อยากได้ความเป็นตัวเอง และอยากให้โปรเจกต์มันดูพิเศษสำหรับเขา ซึ่งไม่ใช่แค่ปั๊มน้ำมันนะ แต่ของในชีวิตประจำวันมันก็สามารถออกแบบได้ ทุกอย่างเลย เราเลยได้เห็นงานออกแบบที่มันเปิดกว้างมากขึ้น ไม่ใช่ของเดิม ๆ ซ้ำๆ ที่ขาดชีวิตชีวา”
Location : Tha Chang, Bang Klam, Songkhla, Thailand.
Client : Tanaphiwat Supplies Co.,Ltd.
Area : 850 sq. m.
Architects : Narucha Kuwattanapasiri , Warakorn Chareonrat , Thammanoon Phansaard
Interior Architect : Narucha Kuwattanapasiri , Petchusa Kuwattanapasiri
Structural & System Engineer : Kor-It Structural Design and Construction Co.,Ltd
Photographs : Soopakorn Srisakul
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!