เคยลองจินตนาการถึงสถาปัตยกรรมแห่งโลกอนาคตหรือไม่… ถ้าเคย ภาพเหล่านั้นหน้าตาเป็นอย่างไร ?
คำถามนี้ถูกกล่าวถึงอยู่บ่อยครั้งในวงการสถาปนิก ซึ่งแต่ละคนก็มีมุมมองที่แตกต่างกันไป ไม่มีสิ่งใดถูกหรือผิด
วันนี้ Great Architect จะมาเล่าสถาปัตยกรรมแห่งอนาคตผ่านมุมมองของหม่าเหยียนซง Ma Yansong (马岩松) สถาปนิกเลื่องชื่อจากแดนมังกร ผู้วาดอนาคตผ่านลายเส้นอันพริ้วไหวบนผลงานออกแบบที่กล้าฉีกออกจากกฎเดิม ๆ ภายใต้แนวคิดศิลปะแห่งวิถีชีวิตตะวันออก
สถาปัตยกรรมที่ก่อร่างสร้างจากความทรงจำในวัยเยาว์
Ma Yansong เกิดและเติบโตที่เมืองปักกิ่ง ประเทศจีน ในยุคที่ตึกรามบ้านช่องยังคงผสานไปกับธรรมชาติอย่างกลมกลืน ไม่แก่งแย่งกันตั้งสูงตระหง่านอย่างทุกวันนี้ เขาเล่าว่าเมืองปักกิ่งให้สิ่งที่เป็นมากกว่าสนามเด็กเล่นสำหรับเขา ในเมืองที่มีทั้งสวนสาธารณะ พื้นที่ธรรมชาติ สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และวิถีชีวิตอันเรียบง่ายของผู้คนตามบ้านเรือน ทำให้เขาได้เรียนรู้การว่ายน้ำในทะเลสาบโฮ่วไห่ ได้ไปปีนเขาหลังเลิกเรียน ได้ลองปีนป่ายเดินเล่นบนหลังคาบ้านเรือนที่อยู่ติดกัน และด้วยประสบการณ์ในวัยเยาว์เหล่านั้น กลายเป็นคลังจินตนาการที่เขามักนำมาต่อยอดและถ่ายทอดผ่านงานออกแบบอย่าง Hutong Bubble 218 และ YueCheng Courtyard Kindergarten
Hutong Bubble 218 Urban Renovation
ครั้งหนึ่ง Ma Yansong ได้มีโอกาสเข้ามาปรับปรุงพื้นที่ชุมชนโบราณเรียงรายกันในตรอกซอย หรือเรียกกันว่า ‘หูท่ง (胡同)’ ณ บริเวณถนนเฉียนเหมินตะวันออก ที่ถูกกาลเวลาพัดพาให้เหล่าตัวอาคารเสื่อมสภาพลง ผู้คนรุ่นใหม่ต่างก็มองหาบ้านที่สะดวกสบาย ทันสมัยกว่า จนถูกทิ้งร้างในที่สุด
เขาจึงนำหยิบยกหนึ่งในแนวคิดจาก “Beijing 2050” มาใช้ ซึ่งเป็นแนวทางพัฒนาเมืองปักกิ่งในอนาคต ที่นำเสนอผ่านมุมมองของเขาไว้ในงาน Venice Architecture Biennale เมื่อปี 2006 โดยเขาได้กล่าวไว้ว่า “การพัฒนาเมืองไม่จำเป็นจะต้องพึ่งโครงสร้างสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่เสมอไป”
จากแนวคิดดังกล่าว ต่อยอดสู่การออกแบบ Hutong-Bubble ซึ่งเป็นงาน Installation เกาะแทรกไปตามบ้านเรือน นำมาเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาย่านชุมชนโบราณแห่งนี้ แทนที่จะใช้โครงสร้างขนาดใหญ่ครอบบดบังความงาม Sense of Place เดิมเอาไว้
Hutong-Bubble ฟองอากาศสีเงินวาววับจับตา ถูกจับวางไว้บนดาดฟ้าและเกาะพาดลงมากับตัวอาคาร ด้วยความวาววับของพื้นผิววัสดุนี้ จะสะท้อนท้องฟ้า ธรรมชาติและบ้านเรือนกลับมายังตัวของมันเอง ทำให้ดูคล้ายจะเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนโบราณแห่งนี้
ภายใน Bubble ยังทำหน้าที่เป็นทั้งห้องนั่งเล่นและ Co-working space ที่ผู้คนสามารถมาพบปะสังสรรค์ นั่งดื่มชา สนทนากันได้ และบันไดวนใน Bubble จะเป็นตัวนำพาผู้ใช้งานจาก Courtyard ชั้นล่างขึ้นไปสู่ดาดฟ้าโดยไม่ต้องเข้าไปในตัวบ้าน คล้ายประสบการณ์กระโดดปีนป่ายขึ้นไปบนหลังคาของเขาในวัยเยาว์ นอกจากนี้เขายังให้ความสำคัญกับอนุรักษ์สถาปัตยกรรมจีนโบราณ โดยการฟื้นฟูตัวเรือนประสานสี่ให้กลับมาอยู่ในสภาพดั้งเดิมมากที่สุด
“ด้วยรูปร่างและวัสดุที่ทันสมัย ถึงแม้จะดูเป็นสิ่งแปลกปลอมสำหรับอาคารโบราณเหล่านี้ แต่ทว่ากลับสามารถผสานเข้ากับบริบทดั้งเดิมได้อย่างกลมกลืน” – หม่า เหยียนซง (Ma Yansong)
Yue Cheng Courtyard Kindergarten
นอกจาก Hutong-Bubble แล้ว ยังมีอีกหนึ่งผลงานที่ได้ถ่ายทอดประสบการณ์วัยเยาว์ของเขา นั่นคือ YueCheng Courtyard Kindergarten โครงการปรับปรุงพื้นที่ Courtyard เพื่อเป็นศูนย์ดูแลเด็กเล็ก ในการออกแบบโครงการนี้ Ma Yansong ได้เริ่มจากการค้นหาคำตอบ ว่าแท้จริงแล้วสิ่งใดที่เด็กต้องการมากที่สุด และเขาก็ค้นพบคำตอบ คือ “ความรักและอิสระ”
จึงกลายมาเป็น Roof Garden ลวดลายสีสันสดใสผสานกันอย่างลื่นไหลบนสเปซเนินสูงต่ำสลับกัน โอบล้อมเหล่าบ้านเรือนประสานสี่เอาไว้ นอกจากนี้บน Roof Garden ยังสร้างความสนุกด้วยการซ่อนสเปซเล็กๆ คล้ายถ้ำเอาไว้ให้เข้าไปนั่งเล่นกัน รวมทั้งเชื่อมต่อกับ Outdoor Courtyard ด้านล่างด้วยบันไดและสไลเดอร์ ซึ่งเขาเชื่อว่ากลไกการออกแบบเหล่านี้ จะช่วยปลดปล่อยจินตนาการอันไม่รู้จบของเด็กๆ ได้
ทั้งสีแดง ส้ม และเหลืองที่เขาเลือกนำมาใช้ แม้ว่าดูจะขัดแย้งกันกับอิฐและหลังคาสีเทาของบ้านโบราณ แต่ทว่าสีเหล่านี้ล้วนสัมพันธ์กับสีสันบนกรอบซุ้มประตูโบราณของเดิม ทำให้ความ Contrast ที่เกิดขึ้นระหว่างของเก่าและของใหม่กลับส่งเสริมกันได้อย่างลงตัว
นอกจากนี้ Façade กระจกใสในตัวอาคารชั้นล่าง ยังทำหน้าที่เป็นตัวกลางเปิดมุมมองให้เด็ก ๆ ค่อยๆ ซึมซับ เรียนรู้และเข้าใจถึงความงามของอาคารโบราณและบริบทสภาพแวดล้อมโดยรอบ
จะเห็นได้ว่าถึงแม้ลักษณะรูปลักษณ์สถาปัตยกรรมของเขาจะเป็นการเสนอมุมมองที่มีต่อปัจจุบันและอนาคต แต่ขณะเดียวกันเขาก็ออกแบบเพื่อให้คุณค่าของอดีตที่ถูกส่งมารุ่นต่อรุ่นยังคงอยู่ต่อไป
สถาปนิกที่ตั้งคำถามกับอาคารกล่องสี่เหลี่ยม
หลังจากที่เขาจบปริญญาตรีจาก Beijing Institute of Civil Engineering and Architecture แล้ว เขาได้ศึกษาต่อปริญญาโทที่ Yale University และที่นั่นก็ทำให้เขาได้เปิดโอกาสให้เขาได้รู้จักตนเองในบทบาทศิลปินมากขึ้น โดยเฉพาะ Zaha Hadid ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของเขา เพราะหลายครั้งพวกเขามักจะแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับศิลปะ แทนที่จะพูดถึงสถาปัตยกรรม เมื่อเขาเรียนจบในปี 2001 ก็มีโอกาสได้เข้าไปทำงานใน Zaha Hadid Architects
จากประสบการณ์สั่งสมตลอดระยะเวลาหลายปี ทำให้เขาได้ตั้งคำถามต่ออาคารกล่องสี่เหลี่ยมที่เห็นจนชินตา ว่าแท้จริงแล้วรูปทรงเหล่านั้นได้ผสานธรรมชาติอย่างลงตัวแล้วหรือไม่? และนั่นเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เขาค้นพบตัวตนผ่านลายเส้นพริ้วไหวและรูปทรงอาคารที่ดูลื่นไหลเป็นธรรมชาติ จนนำมาสู่การก่อตั้งบริษัท MAD Architects ของตนเองขึ้นมาในปี 2004
และโอกาสครั้งสำคัญก็เข้ามาในปี 2006 ที่ทำให้โลกได้รู้จักเขาในนามสถาปนิกจากประเทศจีนคนแรกที่ได้ออกแบบอาคารในต่างประเทศ ซึ่งก็คือ Absolute Towers
Absolute Towers
อาคารอะพาร์ตเมนต์ High-rise ความสูง 150 และ 170 เมตร ตั้งอยู่บนหัวมุมถนนในเมือง Mississauga ประเทศ Canada ซึ่งผลงานชิ้นนี้เองที่เป็นข้อพิสูจน์แนวคิดเขาที่มีต่ออาคารกล่องสี่เหลี่ยม ซึ่งแทนที่จะให้ความสำคัญต่อจำนวนตัวเลขพื้นที่ใช้สอย แต่เขากลับคำนึงถึงไดนามิกของลมและทิศทางแสงแดดเป็นหลัก ทำให้เกิดการบิดตัวอาคารเพื่อรับลมและแสงแดดอย่างมีคุณภาพที่สุด จนผู้คนในเมืองตั้งฉายาให้กับอาคารนี้ว่า “The Marylyn Monroe Towers” เนื่องจากรูปทรงอาคารที่ทั้งเพรียว พริ้วไหว และสง่างามคล้ายกับเรือนร่างของ Marylyn Monroe
ในแต่ละชั้นจะถูกบิดโดยองศาที่แตกต่างกัน 1-8 องศา เพื่อสร้างมุมมองพาโนราม่าที่แตกต่างกัน ส่วนระเบียงถูกยื่นออกมาจากผนังรับน้ำหนัก แทนคานขนาดหนาที่ถูกซ่อนไว้ข้างใน เมื่อเสริมด้วยกับราวกันตกกระจกแล้ว ยิ่งขับให้รูปด้านอาคารแต่ละชั้นดูบางและพริ้วไหวเมื่อมองจากภายนอก นอกจากนี้ยังช่วยไม่ให้พื้นที่ในห้องถูกแสงตกกระทบโดยตรง และยังสร้างร่มเงาชั้นล่างอีกด้วย
เดิมทีอะพาร์ตเมนต์แห่งนี้ถูกออกแบบให้มีเพียงอาคารเดียวเท่านั้น แต่หลังจากกระแสตอบรับดี เขาจึงถูกวานให้ออกแบบอาคารรูปทรงเหมือนกันเพิ่ม แต่เขากลับปฏิเสธและออกแบบอาคารใหม่ให้มีรูปทรงล้อกับอาคารเดิม ดูคล้ายเหมือนว่าอาคารสองหลังนี้กำลังเต้นรำสอดประสานกันอยู่บนหัวมุมถนน
“เราไม่สามารถมี Marylyn Monroe สองคนยืนอยู่ด้วยกันได้ เฉกเช่นเดียวกับธรรมชาติที่ไม่เคยสร้างความงามซ้ำกัน”
ในการออกแบบครั้งนี้ นอกจากจะทำให้อาคารดูเป็นธรรมชาติและผู้อยู่อาศัยสามารถสัมผัสถึงสายลมและแสงแดดรอบตัวแล้ว เขายังเชื่อว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การพัฒนาสถาปัตยกรรมให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมเมืองในอนาคต
จากภาพวาดโบราณสู่แนวคิดเมืองแห่งอนาคต
เมื่อกล่าวถึงเมืองในอนาคตแล้ว Ma Yansong เองก็ได้นำเสนอมุมมองของเขาเช่นกัน แต่ทว่าสถาปัตยกรรมแห่งอนาคตของเขานั้นกลับสร้างมาจากอดีตนานนับพันปี อย่างแนวคิด “Shanshui City”
Shan-Shui (山水) ซานสุ่ย หากแปลความหมายตรงตัวจะหมายความว่าภูเขาและน้ำ แต่ทางประวัติศาสตร์จีน Shan-Shui เป็นภาพวาดภูมิทัศน์ที่ใช้หมึกในการวาด โดยองค์ประกอบบนภาพหลักๆ จะเป็นภูเขาและน้ำตกหรือแหล่งน้ำ ที่ถูกวางประกอบกันอย่างลงตัว ที่น่าสนใจคือ สิ่งที่อยู่บนภาพวาดกลับไม่ได้สะท้อนสิ่งที่จิตรกรมองเห็นด้วยตา แต่สะท้อนความรู้สึกนึกคิดและจินตนาการที่มีต่อภูมิทัศน์ตรงหน้า
Ma Yansong ได้นำภาพวาด Shan-Shui นี้มาตีความเป็นแนวคิดการพัฒนาเมืองและสถาปัตยกรรม ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญเพียงแค่การออกแบบในสิ่งที่มองเห็นเชิงกายภาพเท่านั้น แต่เขาให้ความสำคัญกับความรู้สึกนึกคิดของผู้คนที่มีต่อสถาปัตยกรรมและสภาพแวดล้อมของเมืองเป็นหลัก
ถึงแม้แนวโน้มความหนาแน่นประชากรในอนาคตจะเพิ่มมากขึ้น และบีบบังคับให้อาคารกล่องสี่เหลี่ยมสูงระฟ้าผุดขึ้นอีกมากมาย แต่ Shanshui City นี้กลับนำเสนอการออกแบบสถาปัตยกรรมที่ไม่ได้รุกล้ำพื้นที่เมือง หรือกีดกันธรรมชาติออกจากเมืองอย่างตึกกล่องสี่เหลี่ยมที่เรียงตัวกันเป็นกำแพงหนาทึบ แต่พยายามที่จะเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติแทน
ดังนั้นความท้าทายของแนวคิดนี้จึงไม่ได้มีเพียงการออกแบบสเปซเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการถ่ายทอดความรู้สึกผ่านรูปลักษณ์อาคาร การจัดวางกลุ่มอาคาร และการออกแบบพื้นที่สีเขียว เพื่อให้ผู้ใช้งานได้สัมผัสกับอารมณ์และบรรยากาศของสถาปัตยกรรมที่ผสานไปกับบริบทของธรรมชาติรอบข้างอย่างลงตัว และเขาได้เริ่มนำแนวคิด Shanshui City นี้มาใช้กับงานออกแบบในจีนหลายงาน อย่าง Chaoyang Park Plaza Development และ Nanjing Zendai Himalayas Center Development
อนาคตที่ธรรมชาติและผู้คนกลับมาอยู่ร่วมกัน
จากแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับการวางงานออกแบบให้อยู่กับธรรมชาติอย่างลงตัว มากกว่าการนำธรรมชาติเข้ามาวางในงานออกแบบ จึงทำให้ผลงานของเขาแต่ละชิ้นถูกออกแบบให้จำเพาะเจาะจงกับบริบทนั้นๆ เช่น Harbin Opera House และ Yabuli Entrepreneurs’ Congress Center ที่ Ma Yansong ได้ออกแบบอาคารสีขาวรูปทรงแปลกตาแห่งนี้ ให้เสมือนเป็นเนินหิมะขนาดใหญ่ซ่อนตัวไปกับบรรยากาศฤดูหนาวอันขาวโพลนของเมืองฮาร์บิน
“สถาปัตยกรรมไม่ได้เป็นเพียงฟังก์ชันสำหรับการอยู่อาศัย แต่ยังเป็นสิ่งที่สะท้อนธรรมชาติและจิตวิญญาณ ดังนั้นสำหรับมุมมองของสถาปนิกแล้ว ผมคิดว่าในอนาคตเราไม่ควรสร้างอาคารกล่องสี่เหลี่ยมไร้ชีวิตชีวาซ้ำๆ อีกต่อไป แต่ควรสร้างสรรค์อนาคตที่ธรรมชาติและผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน” – เขากล่าวย้ำถึงมุมมองที่มีต่อสถาปัตยกรรม
ในปัจจุบันเขาก็ยังคงยึดมั่นแนวคิดนี้ในการสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นงานสถาปัตยกรรม งานศิลปะ งานเขียน หรือแม้กระทั่งออกแบบตู้ปลา โดยเชื่อว่าจะสามารถสร้างอนาคตที่ดีกว่าสำหรับผู้คน เมือง และธรรมชาติได้
ที่มา
1. https://www.archdaily.com/929000/hutong-bubble-218-mad-architects?ad_medium=office_landing&ad_name=article
2. https://www.archdaily.com/951734/yuecheng-courtyard-kindergarten-mad-architects?ad_source=unverified&ad_name=project
3. https://www.archdaily.com/490712/an-interview-with-mad-architects-ma-yansong-constructing-icons-identity-and-china-s-future-cities
4. https://www.archdaily.com/306566/absolute-towers-mad-architects
5. https://www.archdaily.com/544959/interview-ma-yansong-on-silhouette-shanshui-at-the-venice-biennale
6. https://www.archdaily.com/386012/shanshui-city-book-launch-and-exhibition-ma-yansong-of-mad-architects?ad_medium=gallery
7. https://www.dezeen.com/2017/08/01/ma-yansong-video-interview-ribe-international-conference-architects-visionary-future-ideas-movie/
8. https://www.ted.com/talks/ma_yansong_urban_architecture_inspired_by_mountains_clouds_and_volcanoes
ภาพปก
1. https://www.archdaily.com/778933/harbin-opera-house-mad-architects?ad_medium=gallery
2. https://modelo.io/blog/index.php/2016/08/01/design-manifestos-ma-yansong-mad-architects/
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!