‘ไม้เนื้อแข็ง AHEC’
ที่ปลูกด้วยวิธียั่งยืน และสนับสนุนงานดีไซน์ของนักออกแบบไทยไปเวทีโลก

เทียบกับวัสดุอื่น ๆ ที่วงการออกแบบก่อสร้างบ้านเรานิยมใช้งานอย่างคอนกรีต เหล็ก หรืออิฐบล็อกช่องลมแล้ว ‘ไม้’ นับเป็นวัสดุยั่งยืน เป็นมิตรต่อธรรมชาติที่คลาสสิกตลอดกาลสำหรับการออกแบบ ซึ่งในช่วงสี่เดือนแรกของปี 2022 นี้ การนำเข้าไม้เนื้อแข็งจากอเมริกาของไทยเติบโตขึ้นมากถึง 45% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จึงไม่น่าแปลกใจที่ประเทศไทยจะกลายเป็นตลาดไม้เนื้อแข็งที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสามในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

American Hardwood Export Council (AHEC) หรือสมาคมการค้าระหว่างประเทศ ผู้เป็นตัวแทนส่งออกไม้เนื้อแข็งท้องถิ่นในประเทศสหรัฐอเมริกามากว่า 25 ปี องค์กรที่ให้คำแนะนำและสนับสนุนนักออกแบบในการตัดสินใจเลือกใช้วัสดุไม้ที่ตรงกับความต้องการของนักออกแบบอย่างแท้จริง จึงถือโอกาสนี้ในการจัดบรรยายการประชุม AHEC ครั้งที่ 25 ณ กรุงเทพฯ เพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมไม้ในไทยมีความแข็งแกร่ง ตอบโจทย์การใช้งานได้อย่างยั่งยืนจริง ๆ

ภายในงานครั้งนี้ ไฮท์ไลท์อยู่ที่หัวข้อสัมมนาที่น่าสนใจตลอดวัน โดยจะมีการบรรยายจากผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสหรัฐฯ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญในไทย ซึ่งครอบคลุมถึงเรื่องสภาวะตลาดไม้ล่าสุดอย่างเช่น สถานะของอุตสาหกรรมไม้เนื้อแข็งในสหรัฐฯ แนวโน้มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ในไทยและโอกาสของอุตสาหกรรมไม้เนื้อแข็ง รวมถึงความรู้ด้านการรับรองสิ่งแวดล้อมที่มีมาตรฐานสำหรับไม้เนื้อแข็งจากอเมริกา พร้อมมีชั่วโมงสำหรับการเล่าประสบการณ์ออกแบบเฟอร์นิเจอร์ด้วยไม้เนื้อแข็งของสหรัฐฯ ครั้งแรกจากฝีมือของคนไทย

ทำไมไม้เนื้อแข็งของ AHEC ถึงยั่งยืนมากกว่า?

ในขณะที่โลกเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม อีกทั้งความยั่งยืนของป่าไม้ การเลือกนำวัสดุไม้มาใช้จึงเกิดคำถามตามมาที่ว่า ‘ยั่งยืนจริงหรือไม่?’ แต่สำหรับการส่งออกไม้ของ AHEC ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเองมีการปลูกไม้เนื้อแข็งในแต่ละปีที่มีจำนวนมากกว่าการเก็บเกี่ยว ทำให้มั่นใจได้ว่าจะมีสินค้าไม้ไปอีกระยะยาว และยังมีการจัดการดูแลป่าไม้อย่างละเอียดใกล้ชิด ทำให้ป่าไม้เนื้อแข็งของอเมริกาเติบโตได้ดี ลำต้นตั้งตรงสุขภาพดี มีการฟื้นฟูและต่ออายุให้ทรัพยากรป่าไม้ได้อย่างยั่งยืน

ความพร้อมในการใช้งานและลักษณะต่าง ๆ ของพรรณพืชจะแตกต่างกันไปตามภูมิภาค ซึ่งความหลากหลายนี้ก็ได้มาจากข้อดีของการปล่อยให้ต้นไม้เติบโตอย่างเป็นธรรมชาติไปตามระบบนิเวศ และปล่อยให้ธรรมชาติเป็นคนคัดเลือกสายพันธุ์ ต่างจากประเทศไทยที่จะมีการปลูกไม้ทดแทนเพียงชนิดใดชนิดหนึ่งเท่านั้น นอกจากนั้นป่าไม้เนื้อแข็งของสหรัฐฯ จะถูกปล่อยให้เจริญเติบโตไปยังขนาดที่ได้มาตรฐานก่อนจะถูกตัดเก็บเกี่ยว ทำให้สัดส่วนของต้นไม้เนื้อแข็งที่โตเต็มวัยเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี ซึ่งทั้งหมดสามารถติดตามได้จากแผนที่ป่าอินเทอร์แอกทีฟของ AHEC ซึ่งจะมีการให้ข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับปริมาณไม้เนื้อแข็ง การเจริญเติบโต การตัดเก็บเกี่ยวทั้งในระดับรัฐและระดับมณฑลทั่วทั้งประเทศ

ไม้เนื้อแข็งที่ทนทาน นำมาใช้งานภายนอกได้

ไม้เนื้อแข็งธรรมชาติบางชนิดอย่างเช่น ไม้แอชและไม้ทิวลิปวูดมีความทนทานต่ำ AHEC จึงมีการพัฒนาคุณภาพให้มากขึ้นด้วยกระบวนการแปรรูปไม้ด้วยความร้อน (TMT) อุณหภูมิตั้งแต่ 180-215 องศา ผ่านเตาเผาความเข้มข้นสูง โดยใช้เวลาตั้งแต่ 3-4 วัน (ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และสัดส่วนของไม้) ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะทำให้คุณสมบัติทางเคมีของไม้เปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวร ส่งผลให้ไม้สายพันธุ์ต่าง ๆ มีเสถียรภาพและความทนทานมากขึ้น

และการนำเฮมิเซลลูโลส, คาร์โบไฮเดรตซึ่งเป็นแหล่งอาหารหลักของเชื้อราออกจากไม้ยังช่วยทำให้ไม้มีความทนทานมากยิ่งขึ้น ในปัจจุบันไม้สายพันธุ์เหล่านี้จึงสามารถนำไปใช้สำหรับงานภายนอกได้แล้ว อย่างการนำไปใช้ทำวัสดุหุ้ม ทำพื้นระเบียง หรือแม้แต่เครื่องเรือนในสวนหลังบ้าน

ลักษณะเฉพาะอีกอย่างหนึ่งที่เป็นผลมาจากกระบวนการ TMT คือเฉดสีของไม้ที่เข้มขึ้น และสามารถนำไปแปรรูปได้เป็นไม้เคลือบที่มีความเรียบเนียนคุณภาพสูงโดยแทบจะไม่ต้องนำไปขัดเพิ่มเติม ซึ่งไม้เนื้อแข็งที่ผ่านกระบวนการแปรรูปโดยใช้ความร้อนนี้สามารถหาซื้อได้จากผู้ผลิตเฉพาะด้านและผู้ส่งออกในสหรัฐอเมริกา

เฟอร์นิเจอร์ที่ดีไซน์จากไม้เนื้อแข็ง ฝีมือนักออกแบบไทยในเวทีโลก

ภายในงานเรายังได้ฟังแนวคิดการออกแบบเฟอร์นิเจอร์จากไม้เนื้อแข็งเป็นครั้งแรกของ หน่อง-กรเพชร โชติภูมิวรรณ หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการ Discovered’ ที่ AHEC ร่วมมือกับ Wallpaper* เพื่อรวบรวมผลงานของนักออกแบบรุ่นใหม่ผู้มีความสามารถจำนวน 20 คน จาก 16 ประเทศทั่วทุกมุมโลก โดยมีโจทย์คือการรังสรรค์ผลงานเฟอร์นิเจอร์และผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่ด้วยการเลือกใช้ไม้เนื้อแข็งที่ปลูกด้วยวิธีที่ยั่งยืน 4 ชนิดจาก AHEC ได้แก่ ไม้โอ๊คแดงอเมริกัน ไม้เชอร์รี่ ไม้เมเปิ้ลเนื้อแข็ง และไม้เมเปิ้ลเนื้ออ่อน

ผลงานของหน่องมีชื่อว่า ‘ห้วงความคิด’ ซึ่งมีฟังก์ชันเป็น ‘เก้าอี้โยก’ ที่เริ่มต้นไอเดียมาจากการตอบสนองต่อวิถีชีวิตที่เกิดขึ้นในช่วงโรคระบาด Covid-19 ซึ่งชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงานปะปนกันจนกลายเป็นปัญหา แนวคิดหลักที่อยู่เบื้องหลังการออกแบบของหน่อง จึงเป็นการตั้งคำถามกับตัวเองว่าวัสดุทั่วไปที่สัมผัสได้จะสามารถสะท้อนถึงตัวตนและสร้างรากฐานให้ตัวเรามีความแข็งแกร่งได้อย่างไร ? โดยสิ่งที่เราจะได้รับเมื่อเคลื่อนไหวบนม้าโยก คือการกระตุ้นอารมณ์ สะท้อนถึงการรับรู้ภายในเพื่อปลอบประโลมและช่วยให้เราจัดระเบียบความคิดที่ต้องแบกรับภายใต้ชีวิตการทำงานที่วุ่นวายได้

ในช่วงเริ่มต้นการออกแบบหน่องเล่าว่า ทุกคนจะได้รับตัวอย่างไม้ประเภทต่าง ๆ มา และนักออกแบบแต่ละคนจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับลักษณะของไม้แต่ละประเภท รวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม้ที่หน่องเลือกใช้ คือไม้โอ๊คแดงอเมริกันเนื่องจากมีลวดลายไม้ที่สวยงามโดดเด่น เหมาะสำหรับการดัดด้วยไอน้ำ ซึ่งจะให้ความทนทานเมื่อแห้ง ผลงานเน้นฟอร์มโค้งมนที่หน่องออกแบบจึงมีความแข็งแรงคงทน นอกจากนี้ธรรมชาติของต้นโอ๊คแดงที่มีรูพรุนยังสามารถดึงลายไม้ออกมาและสร้างลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวได้อีกด้วย

สนใจติดตามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับไม้เนื้อแข็งอเมริกาได้ที่ www.americanhardwood.org ,IG: @ahec_sea หรือ FB: @americanhardwoodSEA

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้