Student Design Competition
โครงการที่เตรียมความพร้อมจากรั้วโรงเรียน สู่การเป็นนักศึกษาสถาปัตย์

เคยเจอไหม นักเรียนสถาปัตย์ เรียนไปสักพักก็ซิ่วเพราะไม่ชอบเนื้อหา หรือไม่ได้คาดหวังว่าจะเจอสิ่งนี้ในชีวิตการเรียนและการทำงานในสายอาชีพ ขอบเขตของการเรียนรู้แต่ละสาขาเช่น การออกแบบผังเมือง หรือการออกแบบภูมิทัศน์ยังคงเป็นเรื่องคลุมเครือสำหรับน้อง ๆ วัยมัธยมที่ต้องเลือกสาขาวิชาศึกษาต่อ

ทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นตัวอย่างผลพวงของการศึกษาที่ทำให้บางครั้งนักเรียนมัธยมเกิดความรู้ ความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับสาขาวิชาการออกแบบนั้น ๆ ซึ่งกว่าจะรู้ตัว ก็กลับตัวไม่ทัน เสียทั้งเวลา และยังเสียทั้งกำลังใจ

จะทำอย่างไรให้ปัญหาเหล่านี้ถูกแก้ไขได้ (ไม่มากก็น้อย) เราได้โอกาสมาสนทนากับ อาจารย์ ดร.ชูศักดิ์ จันทร์ปฐมพงศ์ ผู้ช่วยคณบดี และรองผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการวิเคราะห์ภูมิภาค เมือง และสิ่งแวดล้อมสร้างสรรค์ (Regional, Urban, & Built Environmental Analytics: RUBEA) ในฐานะประธานโครงการประกวดออกแบบในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย “Student Design Competition” ทำไมต้องเป็นเด็กมัธยมปลาย ? การประกวดแบบครั้งนี้จะส่งผลอย่างไรในวงกว้าง? เนื้อหาของงานประกวดคืออะไร? ชวนมาหาคำตอบไปพร้อมกัน

สร้างความเข้าใจพื้นฐานผ่านกระบวนการคิดและเรียนรู้จริง

เป้าหมายหลักของการโครงการประกวดแบบนี้เพื่อส่งเสริมและเปิดโอกาสให้เยาวชนที่สนใจในด้านการออกแบบได้แสดงผลงานสู่สาธารณชน ตลอดจนเป็นเวทีสำหรับเยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายใช้ประกวดผลงานเพื่อนำไปใช้สมัครเข้ำศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ของระบบ TCAS66 รอบ 1 แฟ้มสะสมผลงาน

ผมมองว่ามันเป็นการสนับสนุนและเสริมสร้างกำลังใจให้เด็ก ๆ มัธยมที่เขาสนใจเรียนต่อด้านนี้ โครงการประกวดแบบนี้จึงจัดขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่หรือเวทีให้เขาได้แสดงออก ได้เรียนรู้ และเข้าใจผ่านกระบวนการคิด ค้นคว้าที่คล้ายคลึงกับการเรียนรู้จริง ซึ่งพอพูดถึงความรู้ความเข้าใจ กลายเป็นว่าในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มันมีหลายสาขาอยู่ในนั้น เช่น แลนด์สเคป อินทีเรีย ออกแบบผังเมือง ออกแบบผลิตภัณฑ์ และอีกมากมาย บางคนก็ยังไม่แน่ใจเลยว่ามันแตกต่างกันอย่างไร ทำให้เกิดปัญหาต่อมา คือ เด็กบางคนเข้ามาเรียน เรียนไปครึ่งทาง เพิ่งมารู้ว่า…อ้อ…นี่ คือสิ่งที่เราต้องเรียน  แต่พอเราจัดประกวดแบบ เขาต้องไปค้นคว้าลึกขึ้นในการทำผลงานออกมา เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาเข้าใจกระบวนการตรงนี้มากขึ้น”  อาจารย์เริ่มต้นเล่า

ย้อนกลับไปสมัยที่เรายังเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย การทำความเข้าใจข้อมูลของคณะและสาขาก็ทำได้เพียงหาข้อมูลจากสื่อสิ่งพิมพ์สาธารณะ ถึงแม้ว่าปัจจุบันข้อมูลพื้นฐานสามารถพบได้ง่ายขึ้นและมากขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์ แต่อาจารย์เล่าว่าอย่างไรก็ตามการจัดประกวดแบบนี้ขึ้นมา จะเป็นการฝึกให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้จริงผ่านการทดลองทำและได้ค้นคว้าหาข้อมูลที่ลึกลงไปกว่าข้อมูลแนะแนวการศึกษาต่อ ซึ่งโครงการนี้เริ่มต้นขึ้นโดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับสมาคมวิชาชีพจาก 4 สมาคม ประกอบด้วย สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ASA) สมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย (TIDA) สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย (TUDA)  และสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย (TALA)

“อย่างสาขาอินทีเรีย หรือ ออกแบบผลิตภัณฑ์ เดี๋ยวนี้ดีขึ้น ยังมีความเข้าใจชัดเจนได้ในตัวเอง แต่การออกแบบผังเมือง งานภูมิทัศน์ ยังเบลออยู่มาก เพราะฉะนั้นถ้าเราต้องการสร้างความรู้ความเข้าใจในเชิงสาธารณะ ผมมองว่านักเรียนมัธยมปลาย คือต้นน้ำในการแก้ปัญหาเลย ถ้าต้นน้ำเข้าใจ ในระยะยาวสาธารณะก็จะเข้าใจได้มากขึ้น เขาจะสามารถคิดอย่างลึกซึ้ง เรียนรู้ที่จะค้นคว้าได้อย่างถูกทางและตรงจุดมากขึ้น เช่น บริเวณนี้เกิดปัญหาทางเท้า เขาจะพอรู้ว่า ถ้าเป็นเรื่องการออกแบบทางเท้า จริง ๆ ควรจะต้องคุยกับใคร? นี่คือส่วนหนึ่งของความตั้งใจ อีกประการหนึ่งคืองานที่เด็ก ๆ ส่งเข้ามา เขาสามารถนำไปใช้เป็นพอร์ตฟอลิโอในการสมัครเรียน TCAS66 รอบ 1 ที่คณะสถาปัตย์ มหาวิทยาลัยไหนก็ได้ เพราะผลงานเหล่านี้ถูกการันตีมาแล้วด้วยสมาคมวิชาชีพระดับชาติ”

“WORLD FOR ALL… Living without Boundary”
โจทย์กว้าง ๆ ที่ไม่จำกัดไอเดียและสาขาวิชา

ถึงแม้โครงการ Student Design Competition นี้จะเพิ่งริเริ่มได้ไม่นานแต่ก็มีน้อง ๆ นักเรียนส่งผลงานกว่าหลายร้อยชิ้นเข้าร่วมโครงการ โดยในปีนี้ ธีมหลักของการประกวดคือ “WORLD FOR ALL… Living without Boundary” ซึ่งเป็นโจทย์ที่ทางคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ คิดขึ้นเพื่อแสดงถึงความหลากหลาย ไม่ปิดกั้น ไม่เฉพาะเจาะจงไปที่สาขาใดสาขาหนึ่ง

โดย ‘WORLD FOR ALL’ แสดงถึงความเท่าเทียม จะดีไซน์สำหรับคน สัตว์ หรือคนพิการก็สามารถทำได้แล้วแต่น้อง ๆ จะนำไปตีความ และยังเป็นประเด็นความเท่าเทียมที่ถูกพูดถึงในปัจจุบัน “วัตถุประสงค์ของเรา คืออ่านโจทย์แล้ว ต้องไม่รู้ว่าจะเป็นงานประเภทไหนดี แปลว่า งานทุกประเภทส่งได้ จะเป็นสถาปัตยกรรม อินทีเรีย ออกแบบอุตสาหกรรม ผังเมืองหรือแลนด์สเคปได้ทั้งหมด”

ในขณะที่ ‘Living without Boundary’ เป็นคำที่ตีความหมายทางกายภาพได้เช่นกัน เพื่อส่งเสริมให้เด็ก ๆ เข้าใจถึงแกนหลักของวิชาชีพสถาปัตยกรรม นั่นคือการออกแบบเชิงกายภาพนั่นเอง

“ในการดำเนินการของโครงการ เราได้จัดตั้งคณะทำงานประกอบด้วยฝ่ายวิชาการคณะและคณาจารย์จากภาควิชาต่าง ๆรวมทั้งสิ้น 13 ท่าน ร่วมทำงานตั้งแต่กำหนดเวลา ประชาสัมพันธ์ ตัดสิน เป็นต้น สำหรับการคิดธีม หัวข้อส่วนมากที่เราเลือกมามักจะเป็นเรื่องราวหรือกระแสหลักในสังคมที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบกายภาพ เป็น Trend หรือ Megatrend อย่างเช่นปีก่อนหน้านี้ จะเป็นเรื่อง How do We Live in the Next 10 Years?….”

ส่วนการตัดสิน ด้วยความที่เป็นนักเรียนมัธยมปลายซึ่งยังไม่ได้มีประสบการณ์การออกแบบ เกณฑ์การตัดสินจึงถูกแบ่งออกเป็น Feasibility หรือความเป็นไปได้จริง 40% คอนเซ็ปต์ การจับประเด็น และความสร้างสรรค์อีก 40% ส่วน 20% ที่เหลือเป็นคะแนนการนำเสนอ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของการเป็นนักออกแบบที่ต้องนำเสนอผลงานให้สาธารณะ คนทั่วไปเข้าใจได้ง่าย ซึ่งทางคณะทำงานโครงการฯ ได้ทำการคัดเลือกผู้เข้ารอบจำนวน 10 ผลงาน ก่อนจะส่งไปให้สมาคมวิชาชีพทั้ง 4 เป็นผู้ตัดสินผู้ชนะทั้ง 3 รางวัล ซึ่งผลงานในปีนี้ตัดสินยากมากเนื่องจากมีผลงานในระดับยอดเยี่ยมเป็นจำนวนมาก ดังจะเห็นได้ว่าปีนี้คะแนนที่ 1-3 เท่ากัน จึงถือว่าเป็นรางวัลที่ 1 ทั้ง 3 ผลงาน

และนี่คือผลงานของผู้เข้ารอบทั้ง 10 !

รางวัล 1st PRIZE
ชื่อผลงาน: ZITY
นางสาวปทิตตา อภิศักดิ์ศิริกุล จาก โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

รางวัล 1st PRIZE
ชื่อผลงาน: GRID HALL
นายธรรมดา ช่างประดับ จาก โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒปทุมวัน

รางวัล 1st PRIZE
ชื่อผลงาน: ขนส่ง-ศึกษา
นายธนวิชญ์ พิชิต จากโรงเรียนดอนเมืองทหารอากาศบำรุง

ผลงาน Finalist
ชื่อผลงาน: CITY WITHOUT BOUNDARY
นายกฤติน หนูนุรัตน์ จาก โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)

ผลงาน Finalist
ชื่อผลงาน: CROSSOVER
นางสาวศุภธิดา ยิ่งแก้ว จาก โรงเรียนชลกันยานุกูล

ผลงาน Finalist
ชื่อผลงาน: DUO PLEX
นายสุวพัชร หวังธีรพงศ์ จาก โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

ผลงาน Finalist
ชื่อผลงาน: LIVING OF THE DEAD
นายธนรักษ์ จุลภักดิ์ จาก โรงเรียนเซนต์คาเบรียล

ผลงาน Finalist
ชื่อผลงาน: THE CLOUD FLOOR
นางสาวพิชาภา กิจเจริญ จาก โรงเรียนระยองวิทยาคม

ผลงาน Finalist
ชื่อผลงาน: THE RESILIENCE
นายณธเดช ดลเฉลิมพรรค จาก โรงเรียนเทพศิรินทร์

ผลงาน Finalist
ชื่อผลงาน: ตึก-ล้าง-เมือง
นางสาวนูรฟิตตรี สมภักดี
โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)

ขอขอบคุณ :  อาจารย์ดร.ชูศักดิ์ จันทร์ปฐมพงศ์ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้