Ise Jingū ศาลเจ้าที่อนุรักษ์เพียงจิตวิญญาณด้วยการรื้อแล้วสร้างใหม่ทุก 20 ปี

ถ้าอาคารหลังหนึ่ง ถูกรื้อถอนแล้วสร้างใหม่ให้หน้าตาเหมือนเดิม จะสามารถเรียกได้ว่าอาคารหลังนั้นเป็นอาคารเดิมได้อยู่หรือไม่? และอะไรคือจุดประสงค์ที่ทำให้อาคารกว่าร้อยหลังท่ามกลางป่าสนโบราณในประเทศญี่ปุ่น มีการรื้อแล้วสร้างใหม่อย่างต่อเนื่องมาแล้วถึงสองพันปี? คำว่า อนุรักษ์ มีความหมายว่า การรักษาให้คงเดิม การอนุรักษ์โบราณสถานตามหลักสากลมีใจความเน้นหนักในการคงรักษาโบราณสถานให้อยู่ในสภาพเดิมมากที่สุด แต่ไม่ใช่กับสถาปัตยกรรมอายุกว่าสองพันปี อย่างศาลเจ้าอิเสะที่จังหวัดมิเอะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งอนุรักษ์เพียงจิตวิญญาณของสถานที่ เนื่องจากมีการรื้อถอนแล้วสร้างใหม่ทุกๆ 20 ปี ศาลเจ้าที่ครั้งหนึ่งถูกมองว่าไม่เห็นมีอะไรในสายตาสถาปนิกชาวตะวันตก แต่แท้จริงแล้วมีคุณค่าและความงามที่ลึกซึ้งมากกว่าเพียงแค่ตาเห็น ศาลเจ้าอิเสะได้ก่อให้เกิดคำถามมากมายเกี่ยวกับการอนุรักษ์โบราณสถาน ความไม่ยึดติดกับรูปธรรม แต่เป็นการส่งต่อความรู้ วัฒนธรรม และจิตวิญญาณ จนสามารถตั้งอยู่ได้นับพันปี วันนี้เราจะมาเล่าให้ฟัง

ศาลใน (Naikū) ถ่ายโดย N yotarou ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Ise_Grand_Shrine#/media/File:Naiku_04.jpg

ศาลเจ้าเก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่น ครอบคลุมบริเวณเท่ากับกรุงปารีส

ศาลเจ้าอิเสะ (Ise Jingū, Ise Grand Shrine) เป็นหนึ่งในศาลเจ้าชินโตที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดสำหรับชาวญี่ปุ่น เรียกได้ว่าเทียบเท่ากับนครศักดิ์สิทธิ์เมกกะของชาวมุสลิมเลยทีเดียว ตามหลักศาสนาชินโต ธรรมชาติรอบตัวล้วนมีเทพสถิตอยู่ และ ณ ศาลเจ้าอิเสะแห่งนี้เป็นที่ประทับของเทพเจ้าสูงสุด อะมะเตะระสุ โอะมิคะมิ (Amaterasu Ōmikami) หรือเทพีแห่งแสงอาทิตย์ ต้นกำเนิดของศาลเจ้าอิเสะนั้นไม่ทราบแน่ชัด มีตำนานเล่าว่ากว่าสองพันปีที่แล้ว เจ้าหญิงองค์หนึ่งได้ออกเดินทางแสวงหาสถานที่เพื่อเป็นที่ประทับของเทพีอะมะเตะระสุ จนได้ยินเสียงบอกความประสงค์ถึงสถานที่ตั้งศาลเจ้าในปัจจุบันนั่นเอง

ศาลใน (Naikū) ใหม่ (ซ้าย) และ เก่า (ขวา)

ศาลเจ้าอิเสะตั้งอยู่ในป่าสนโบราณ อุทยานแห่งชาติ อิเสะ-ชิมะ โดยศาลเจ้าอิเสะประกอบไปด้วย 125 ศาล แบ่งออกเป็นสองส่วน ได้แก่ ศาลใน (Naikū) เป็นที่ประทับของ เทพีอะมะเตะระสุ โอะมิคะมิ (Amaterasu Ōmikami) ห่างออกไปจากศาลในกว่าหกกิโลเมตร เป็นสถานที่ตั้งของ ศาลนอก (Gekū) ซึ่งเป็นที่ประทับของ เทพีโตะโยะอุเคะ โอะมิคะมิ (Toyouke Ōmikami) เทพีแห่งการเกษตรและอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังมีศาลเจ้าประกอบอื่นๆกระจายอยู่ทั่วป่าอีก 123 ศาลทั่วภูเขา โดยอาณาเขตศาลเจ้าอิเสะทั้งหมดนั้นเทียบเท่ากับกรุงปารีสเลยทีเดียว บริเวณของศาลในถูกคั่นด้วยแม่น้ำอิสุซุ (Isuzu) โดยมีสะพานอุจิบะชิ (Ujibashi) ทำหน้าที่เชื่อมระหว่างดินแดนสามัญชนและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เข้าด้วยกัน หินกรวดสีขาวถูกโปรยเป็นช่วงๆตามริมฝั่งแม่น้ำ เรียกว่า มิตะระชิ (Mitarashi) เป็นบริเวณที่ผู้มาเยือนจะได้ชำระล้างร่างกายและจิตใจตามประเพณีที่สืบเนื่องกันมาตั้งแต่โบราณ

โชกุ (Shogu) สถานที่ประทับของเทพีอะมะเตะระสุ โอะมิคะมิ ภายในศาลใน (Naikū) ภาพจาก https://japan-forward.com/soul-of-japan-the-enshrinement-of-amaterasu-omikami-at-jingu/
สะพานอุจิบะชิ (Ujibashi Bridge) ภาพจาก https://pixy.org/6145268/

ศาลเจ้าอิเสะถูกสร้างในรูปแบบที่เรียบง่าย ใช้ไม้สนเป็นวัสดุหลัก โครงสร้างเสาคานทำจากท่อนซุงขนาดใหญ่ เสาไม้ปักลงใต้ดินโดยตรงไม่มีหิน (Foundation Stone) เป็นฐานราก ตัวศาลเจ้ายกใต้ถุนสูงล้อมรอบด้วยเฉลียง อาคารคลุมด้วยหลังคาแฝก (Thatch) คาดว่าลักษณะอาคารมีอิทธิพลมาจากยุ้งข้าวในสมัยก่อน นักทฤษฎีสถาปัตยกรรม หนึ่งในผู้ขับเคลื่อน Metabolism Movement ในประเทศญี่ปุ่น คาวาโซเอะ โนโบรุ (Kawazoe Noboru) ถึงกับยกย่องให้ศาลเจ้าอิเสะเป็นตัวแทนของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของญี่ปุ่น (Japanese Folk Architecture) เลยทีเดียว

มกุฎราชกุมารนารูฮิโตะ และ มกุฎราชกุมารีมาซาโกะ เสด็จประพาสที่ศาลเจ้าอิเสะ เมื่อปี 2014 นอกจากความสำคัญทางศาสนาแล้ว ศาลเจ้าอิเสะยังเป็นสัญลักษณ์ของราชวงศ์ญี่ปุ่นด้วย ราชสำนักจะส่งเจ้าหญิงหรือเชื้อพระวงศ์ฝ่ายหญิงที่เป็นหัวหน้านักบวชหญิง ผู้ทำหน้าที่ในปัจจุบันคือ ซายาโกะ คูโรดะ (Kuroda Sayako) พระนามเดิม เจ้าหญิงซายาโกะ โนริโนะมิยะ ภาพจาก https://japan-forward.com/soul-of-japan-ise-jingu-a-place-to-pray-for-the-imperial-family-and-the-nation/

รื้อแล้วสร้างใหม่ วงจรการเกิดและดับไปของศาลเจ้าอันศักดิ์สิทธ์

ทุกๆ 20 ปี ศาลเจ้าอิเสะ ทั้งศาลใน ศาลนอก และศาลเจ้าประกอบอื่นๆ จะถูกบูรณะด้วยการรื้อถอนแล้วสร้างใหม่ เรียกว่าประเพณี ชิคิเน็น เส็นกู (Shikinen Sengu) ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การเตรียมวัสดุก่อสร้างอันได้แก่ ไม้ซุงขนาดใหญ่ การก่อสร้างศาลเจ้าใหม่ และ รื้อถอนศาลเจ้าเดิม นอกจากนี้ เครื่องมือพิธีกรรมนับพันชิ้นจะถูกทำขึ้นใหม่ทั้งหมด ตลอดกระบวนการก่อสร้างศาลเจ้าอิเสะจะมีงานเทศกาลสำคัญมากมายร่วม 1,500 งาน ชาวบ้านในชุมชนจะได้มีส่วนร่วมในการชักลากไม้สู่พื้นที่ศาลเจ้าเพื่อให้ช่างทำการก่อสร้าง พิธีกรรมต่างๆถูกจัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองความรุ่งเรืองของราชวงศ์ และความสงบสุขของชาวโลก เวลาขอพรก็จะขอให้สำหรับคนญี่ปุ่นทุกคนมากกว่าจะขอพรให้ตัวเองอย่างเดียว

การขนย้ายไม้ในประเพณีชิคิเน็น เส็นกู ภาพจาก https://www.japanfs.org/en/news/archives/news_id034293.html และ https://japan-forward.com/soul-of-japan-shikinen-sengu-the-ritual-of-rebuilding-and-renewal/
การขนย้ายไม้ในประเพณีชิคิเน็น เส็นกู ภาพจาก https://www.japanfs.org/en/news/archives/news_id034293.html และ https://japan-forward.com/soul-of-japan-shikinen-sengu-the-ritual-of-rebuilding-and-renewal/

ชาวญี่ปุ่นมีความเชื่อเรื่องของรอบเวลา โดยเวลาในชีวิตจริงตั้งแต่เกิดจนตายจะเดินขนานไปกับเส้นเวลาเชิงสัญลักษณ์ที่ยิ่งใหญ่กว่า เห็นได้จากการเรียกสมัยตามชื่อสมเด็จพระจักรพรรดิ วงจรของศาลเจ้าอิเสะถูกรื้อถอนแล้วสร้างใหม่จึงเป็นการสะท้อนการเกิดและดับไปตามธรรมชาติ และเป็นการตั้งรอบเวลาใหม่ทุกๆ 20 ปี เรื่องที่ว่าทำไมต้องเป็น 20 ปีนั้น บางตำรากล่าวว่าเนื่องจากองค์หญิงเดินทางเป็นเวลา 20 ปี บางแห่งกล่าวว่าเนื่องจากอาคารทำจากไม้ดิบที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการป้องกันรักษา อีกทั้งโครงสร้างยังปักลงดินโดยตรงทำให้ผุพังง่าย จึงต้องมีการบูรณะบ่อยๆ หรือ การที่เว้นระยะ 20 ปีนั้น อาจจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม สำหรับถ่ายทอดความรู้ให้กับช่างไม้รุ่นต่อไปได้อย่างไม่ขาดตอน

การก่อสร้างศาลเจ้าในประเพณีชิคิเน็น เส็นกู

การสร้างศาลเจ้าอิเสะใหม่ทั้งหมด 125 ศาลนั้นต้องใช้ไม้ซุงถึง 14,000 ท่อน โดยไม้ซุงทุกท่อนต้องมีอายุ 200 ปี ช่างฝีมือที่ถูกคัดเลือกล้วนเป็นช่างที่สืบทอดความรู้มาอย่างยาวนาน และวิธีการก่อสร้างอาคารต้องดำเนินตามเทคนิคโบราณอย่างเคร่งครัด วงจรการรื้อและสร้างเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการเรียนรู้ให้กับช่างรุ่นใหม่ ระหว่างการก่อสร้างศาลเจ้าอิเสะ ช่างรุ่นพี่จะชี้นำรุ่นน้อง โดยมีช่างรุ่นเก๋าที่ผ่านประเพณีมาหลายครั้งแล้วคอยกำกับกระบวนการทั้งหมดอีกทีหนึ่ง ช่างที่ผ่านพิธีชิคิเน็น เส็นกุ จะต้องกลับมาเข้าร่วมประเพณีในครั้งต่อๆไปด้วย

การส่งต่อความรู้ผ่านการกระทำ (Process knowledge) มีความละเอียดอ่อนและเสี่ยงต่อการสูญหายไปมาก นั่นเป็นหนึ่งในสาเหตุที่เราทราบชื่อจักรพรรดิโรมันแทบทุกพระองค์ แต่วิธีการผสมคอนกรีตของชาวโรมันนั้นเราไม่อาจทราบได้เลย ภาพจาก https://japan-forward.com/soul-of-japan-ise-jingu-029/

ศาลเจ้าใหม่จะถูกสร้างใหม่บนที่ดินข้างๆเรียกว่า โคะเด็นชิ (Kodenchi) ใจกลางโคะเด็นชิมีอาคารเล็กๆที่สร้างครอบเสาหลักเอาไว้ ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของศาลเจ้า เสาต้นนี้ไม่อนุญาตให้ใครเห็นนอกจากช่างก่อสร้างเท่านั้น เมื่อสร้างศาลเจ้าใหม่เสร็จแล้ว จึงทำการรื้อศาลเจ้าเก่าออก นับเป็นการเริ่มต้นวงจรใหม่ของศาลเจ้าอิเสะอีกครั้ง เป็นการสร้างสลับไปมาบนที่ดิน 2 แปลงที่อยู่ติดกัน การรื้อถอนย้ายศาลเจ้าครั้งล่าสุดทำไปเมื่อปี 2013 ดังนั้นถ้าใครอยากไปเป็นส่วนหนึ่งของพิธี ชิคิเน็น เส็นกู นั้นคงต้องรอถึงปี 2033 เลยทีเดียว

บริเวณโคะเด็นชิจะโรยกรวดล้อมรอบเพื่อแสดงถึงอาณาเขตศักดิ์สิทธิ์ การแสดงขอบเขตในลักษณะนี้คล้ายคลึงกับสวนทิวทัศน์แห้งของญี่ปุ่นในยุคต่อๆมา ถ่ายโดย Bong Grit ภาพจาก https://www.flickr.com/photos/bonguri/51687879521/in/photolist-2necAec-2mKtTNz/

ศาลเจ้าที่ ‘ไม่เห็นมีอะไร’ และ ‘ไม่ถือว่าเป็นสถาปัตยกรรม’ ในสายตาชาวตะวันตก

การปฏิวัติเมจิในปี ค.ศ. 1868 นำความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาสู่ประเทศญี่ปุ่นในหลายๆด้าน หนึ่งในนั้นคือการเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวตะวันตกจำนวนมากที่หลั่งไหลเข้ามา นักท่องเที่ยวชาวตะวันตกส่วนใหญ่ซึ่งกำลังอินกับสถาปัตยกรรมแนววิคตอเรียนในขณะนั้น ที่มีการตกแต่งอย่างหรูหรา ก็ต้องรู้สึกผิดหวังเมื่อได้ไปเยือนศาลเจ้ากลางป่าสนที่มีลักษณะเรียบง่าย ชาวตะวันตกในขณะนั้นขาดความเข้าใจว่าทำไมศาลเจ้าอิเสะถึงมีความสำคัญต่อชาวญี่ปุ่นมากนัก ทั้งๆที่รูปลักษณ์ภายนอกก็ไม่ได้ตระการตาเหมือนวังหรือโบสถ์ที่บ้านเกิด นอกจากนี้นักเขียนชาวตะวันตกหลายคนยังตัดสินชนชาติอื่นโดยใช้วัฒนธรรมตนเองมาเป็นบรรทัดฐาน นักเขียนเรื่องท่องเที่ยวชาวอังกฤษ บาซิล ฮอลล์ แชมเบอร์เลน (Basil Hall Chamberlain) เขียนเกี่ยวกับศาลเจ้าอิเสะในหนังสือนำเที่ยว ปี 1902 ว่า “ไม่มีอะไรให้ดู และพวกเขาก็ไม่เปิดให้เราเข้าไปดูเสียด้วย”  

โมเดลของศาลเจ้าอิเสะ ถ่ายโดย Jean-Pierre Dalbéra ภาพจาก https://www.flickr.com/photos/dalbera/43810454052/

สถาปนิกตะวันตกในช่วงคริสศตวรรษที่ 19 ก็ไม่ค่อยประทับใจในศาลเจ้าอิเสะเช่นกัน เนื่องจากในความคิดชาวตะวันตก งานสถาปัตยกรรมต้องมีความเป็นอนุสรณ์สถานและคงทนถาวร ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม เจมส์ เฟอร์กูสัน (James Fergusson) ประกาศไว้ในปี 1876 ว่าศาลเจ้าอิเสะไม่ถือว่าเป็นอาคารด้วยซ้ำ ส่วนสถาปนิกชาวอังกฤษ โจซิอา คอนดอร์ (Josiah Condor) ที่รัฐบาลเมจิของญี่ปุ่นได้ว่าจ้างให้มาเป็นศาสตราจารย์สาขาสถาปัตยกรรม มองภาพรวมของสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมว่า ‘เปราะบาง’ เนื่องจากอัคคีภัยที่เกิดขึ้นบ่อย และโครงสร้างที่ไม่คงทนเท่าวัสดุจำพวกหิน ทำให้นักศึกษาญี่ปุ่นที่เรียนจบจากหลักสูตรในยุคนี้มีมุมมองต่อสถาปัตยกรรมบ้านเกิดตนเองเปลี่ยนไป ธีสิสหลายหัวข้อกล่าวถึงความพยายามที่จะปฏิรูปสถาปัตยกรรมญี่ปุ่น รวมถึงการเปลี่ยนศาลเจ้าชินโตให้เป็นอิฐและหินทั้งหมด

จนกระทั่งในช่วงปีคริสศตวรรษที่ 20 ตะวันตกเข้าสู่ ยุคศิลปะโมเดิร์น นักออกแบบชาวเยอรมันจากเบาเฮาส์ บรูโน ทอท (Bruno Taut) ได้มาท่องเที่ยวญี่ปุ่นช่วงปี 1933 และยกย่องให้ศาลเจ้าอิเสะเป็นหนึ่งในความสำเร็จทางสถาปัตยกรรมเทียบเท่ากับวิหารพาร์เธนอน งานเขียนของบรูโนได้รับการเผยแพร่ในวงกว้าง และมุมมองสุนทรียะแบบสากลของบรูโนได้รับการตอบรับที่ดีมากจากชาวญี่ปุ่นเช่นกัน นอกจากนี้ยังเกิดงานเผยแพร่อีกหลายชิ้นในภาษาอังกฤษ เช่น งานเขียนของ ลาฟคาดิโอ เฮิร์น ( Lafcadio Hearn) และ โอคาคุระ คาคุโซ (Okakura Kakuzo) ที่ค่อยๆเปลี่ยนมุมมองชาวตะวันตกให้เปิดรับความสวยงามในแก่นแท้ของวัสดุ รวมถึงวัฒนธรรมเกี่ยวกับความยั่งยืนของความไม่เที่ยง (Permanence of Impermanence) ภายใต้วงจรการบูรณะศาลเจ้าอิเสะด้วย

วัสดุอาคารศาลเจ้าอิเสะเป็นไม้สนที่หาได้ในป่า (จนกระทั่งช่วงหลังมีการใช้ไม้จากทั่วประเทศ) ถึงแม้รูปลักษณ์อาคารจะดูเรียบง่าย แต่ก็สอดคล้องกับแนวคิดในยุดศิลปะโมเดิร์น อย่างเช่นสัจจะวัสดุ และความสัมพันธ์กับบริบทโดยรอบอย่างชัดเจน ถ่ายโดย Yoshio Watanabe ภาพจาก https://theprepared.org/features-feed/ise-jingu-and-the-pyramid-of-enabling-technologies

ศาลเจ้าอิเสะ สู่การอนุรักษ์ด้วยความแท้

จะขอเล่าถึงหลักการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมสากลเสียก่อน กฏบัตรเวนิช ค.ศ. 1964 (Venice Charter) เป็นเอกสารในยุคแรกๆที่กำหนดขอบเขตการอนุรักษ์โบราณสถาน (Historic Monument) และรัฐบาลทุกประเทศที่ลงชื่อจะต้องปฏิบัติตามข้อตกลง ประเทศไทยเองก็ได้ลงนามเป็นภาคีใน ค.ศ. 1985 โดยกฎบัตรเวนิชมีใจความสำคัญว่า (1) การอนุรักษ์ต้องมีเป้าหมายชัดเจนเพื่อสงวนรักษา (2) การบูรณะซ่อมแซมใดๆจำต้องหยุดลงเมื่อเกิดการคาดเดา และ (3) การเสริมเติมแต่งจากส่วนที่เป็นของเดิมจะต้องกลมกลืนไปในภาพรวม แต่ต้องสามารถแยกออกได้อย่างชัดเจนว่าเป็นของใหม่

หนึ่งในศาลเจ้าอิเสะ มีโคะเด็นชิอยู่บนที่ว่างข้างๆ กลางลานกรวดสีขาว ถ่ายโดย Bernhard Scheid ภาพจาก https://www.flickr.com/photos/bluntschli/10590051415/in/photostream/

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การรื้อศาลเจ้าแล้วสร้างใหม่ทั้งหลังแบบนี้ ถือว่าแหกกฏบัตรเวนิชเต็มๆเลย! แต่ด้วยความพิเศษของศาลเจ้าอิเสะทำให้ในปี ค.ศ. 1994 ญี่ปุ่นได้ยกประเด็นเรื่องการอนุรักษ์คุณค่าทางนามธรรมสู่ที่ประชุม จนเป็นที่มาของ เอกสารนาราว่าด้วยความแท้ ค.ศ. 1994 (1994 Nara Document on Authenticity) ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับความหลากหลายของวัฒนธรรมและมรดกโลก ซึ่งความหลากหลายนี้เองต้องได้รับความเคารพ จะนำบรรทัดฐานของวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่ง มาตัดสินคุณค่าของแหล่งมรดกในบริบทของทั้งโลกไม่ได้ นอกจากนี้ความแท้ยังครอบคลุมไปถึงรูปลักษณ์การออกแบบ วัสดุ การใช้สอย ประเพณี เทคนิค จิตวิญญาณและความรู้สึก และปัจจัยอื่นๆด้วย

ศาลเจ้าอิเสะ เก่าและใหม่ ถ่ายโดย Bernhard Scheid ภาพจาก https://www.flickr.com/photos/bluntschli/10590068556/in/photostream/
ถึงแม้ศาลเจ้าอิเสะจะมีอิทธิพลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายเกี่ยวกับการอนุรักษณ์โบราณสถาน แต่ศาลเจ้าอิเสะเองไม่ได้อยู่ในรายชื่อมรดกโลก เนื่องจากผู้ดูแลของศาลเจ้าอิเสะไม่ต้องการให้หน่วยงานใด รวมถึงรัฐบาลญี่ปุ่น มายุ่งเกี่ยวหรือมีสิทธิเหนือองค์กรที่ทำหน้าที่ดูแลศาลเจ้าอิเสะโดยตรง ภาพจาก https://japan-forward.com/soul-of-japan-ise-jingu-a-place-to-pray-for-the-imperial-family-and-the-nation/

จิตวิญญาณศาลเจ้าอิเสะยืดหยัดผ่านกาลเวลามานับพันปี มุมมองของคนที่มีต่อศาลเจ้าอิเสะนั้นก็แตกต่างกันออกไปตามยุคสมัย ในสายตาสถาปนิกชาวตะวันตกยุคแรกๆนั้นไม่อาจจะเข้าถึงสุนทรียะของศาลเจ้าอิเสะได้ แต่ด้วยความหมายอันลึกซึ้งมากกว่าแค่ที่ตาเห็น ทำให้ศาลเจ้าอิเสะเป็นหนึ่งในงานสถาปัตยกรรมชิ้นเอกของโลก และเป็นสัญลักษณ์ของการถ่ายทอด ความรู้ ความหมาย จิตวิญญาณของสถานที่ เพื่อส่งต่อไปให้รุ่นลูกหลานไปอีกร้อยพันปี ไม่แน่ว่าประเทศแถวๆนี้อาจได้แรงบันดาลใจมาจากศาลเจ้าอิเสะก็ได้ เพราะเราก็เพิ่งรื้ออาคารเก่าทรงคุณค่า เพื่อสร้างเป็นแลนด์มาร์คกลางทำเลทอง โดยสัญญาว่าจะสร้างใหม่ให้เหมือนเดิมเป๊ะ! นี่นา

References
Ise Jingu. (n.d.). Retrieved from https://www.isejingu.or.jp/en/
Potter, B. (2021). Ise Jingu and the Pyramid of Enabling Technologies. (T. Prepared, Ed.) Retrieved from https://theprepared.org/features-feed/ise-jingu-and-the-pyramid-of-enabling-technologies
Reynolds, J. M. (2011). Ise Shrine and a Modernist Construction of Japanese Tradition. (CAA, Ed.) Retrieved from https://www.jstor.org/stable/3177211
Sand, J. (2015). Japan’s Moniment problem : Ise Shrine as Metaphor. (G. University, Ed.) Retrieved from https://www.researchgate.net/publication/272390071_Japan’s_Monument_Problem_Ise_Shrine_as_Metaphor
Soul of Japan. (n.d.). Retrieved from https://japan-forward.com/category/culture/soul-of-japan/
เสาวลักษณ์ พงษธา โปษยะนันทน์. (2022). หลักการและแนวทางการอนุรักษ์มรดกสถาปัตยกรรมไม้. (กรมศิลปากร, บ.ก.) กรุงเทพฯ.
ชัยยศ อิษฎ์วรพันธุ์. (2014). หิมะ พระจันทร์ ดอกไม้ สวนญี่ปุ่น. สำนักพิมพ์สารคดีภาพ.

 

Writer
Panon Sooksompong

Panon Sooksompong

สถาปนิกที่หลงใหลในการค้นคว้าสู่นักเขียนผู้ถ่ายทอดเรื่องราว จากกองหนังสือที่เอามารองนอน ตอนนี้ได้ฤกษ์จะถูกหยิบมาเปิดอ่านไปพร้อมกัน