Final World Cup Stadium
ส่อง 5 สนามแมตช์ชิงแชมป์บอลโลก

ในที่สุดก็ถึงวันดวลแข้งแมตช์นัดล้างตาของ FIFA World Cup Qatar 2022 ซึ่งคู่ชิงชนะเลิศสองทีมสุดท้ายในปีนี้ก็ได้แก่ อาร์เจนตินา และ ฝรั่งเศส นอกจากเรื่องฟุตบอลแล้วสิ่งที่ทุกคนรอลุ้นในแต่ละครั้งก็เห็นจะเป็นสนามแข่งขันในรอบไฟนอลซึ่งปีนี้สองทีมสุดท้ายจะลงชิงชัยกันที่ Lusail Stadium สุดอลังการของกาต้าร์นั่นเอง

สเตเดียมสำหรับ Final Match ถือเป็นหัวใจสำคัญหนึ่งสำหรับการแข่งขันฟุตบอลโลกในแต่ละครั้ง ก่อนที่จะไปนั่งลุ้นทีมคว้าแชมป์ในปีนี้กันเราเลยอยากพาทุกคนไปรู้จักกับ Final World Cup Stadium ในแง่มุมของงานดีไซน์และสถาปัตยกรรมกันบ้าง และไม่ใช่เฉพาะสนามในทัวร์นาเมนต์นี้เท่านั้นเพราะเราจะพาคุณไปทัวร์สนามสำหรับ Final Match ในปีต่างๆ ที่ผ่านมา ไปดูกันว่าแต่ละสนามจะน่าสนใจขนาดไหนและบันทึกประวัติศาสตร์ฟุตบอลโลกไว้อย่างไร

Lusail Stadium / Lusail, Qutar

หลายครั้งที่สนามหลักสำหรับเปิดและปิดการแข่งขันจะเป็นสนามเดียวกัน แต่ก็ไม่เสมอไป เช่นเดียวกับฟุตบอลโลก FIFA World Cup Qatar 2022 ปีล่าสุด ซึ่งสนามสำหรับจัดแมตช์ชิงชนะเลิศครั้งนี้ก็คือ Lusail Stadium สุดอลังการ

Lusail Stadium เป็นอีกหนึ่งสนามที่มีความโดดเด่นในด้านดีไซน์ สถาปัตยกรรมสีทองอร่ามนี้สะท้อนถึงความมั่งคั่งรุ่งเรืองตามค่านิยมของดินแดนอาหรับได้อย่างดี รูปทรงออกแบบโดยได้แรงบันดาลใจมาจากภาชนะของชาวอิสลาม (Islamic Bowls) ซึ่งถ้าเข้าไปดูในระยะใกล้ จะเห็นวัสดุที่นำมาสร้างสรรค์เป็นฟาซาดอาคารสะดุดตา ซึ่งเป็นแผ่นโลหะฉลุลายสามเหลี่ยมที่เรียงรายเป็นแพทเทิร์นเรขาคณิต โดยลวดลายนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากลวดลาย Islamic Geometric Patterns อันเป็นเอกลักษณ์ สำหรับสเตเดียมแห่งนี้เป็นสนามกีฬาที่ออกแบบและก่อสร้างขึ้นมาใหม่เพื่อฟุตบอลโลกครั้งนี้โดยเฉพาะ สามารถจุผู้ชมได้กว่า 80,000 ที่นั่ง ออกแบบโดย Foster + Partners บริษัทสถาปนิกชื่อดังระดับโลกที่เราคุ้นเคยกันดี

แหล่งข้อมูลอ้างอิงและภาพถ่าย
Foster + Partners: https://www.fosterandpartners.com/projects/lusail-stadium/ 
AFL: https://www.afl-architects.com/projects/lusail-stadium

Luzhniki Stadium / Moscow, Russia

สนามแมตช์ล้างตารอบสุดท้ายของฟุตบอลโลก FIFA World Cup Russia 2018 ที่ผ่านมาคือ Luzhniki Stadium ในกรุงมอสโก สเตเดียมสำหรับนัดสำคัญนี้ไม่ใช่สถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นมาใหม่แต่เป็นการนำเอาสนามกีฬาแห่งชาติอันเก่ามารีโนเวทโฉมใหม่ สนามดั้งเดิมนั้นก่อสร้างขึ้นเมื่อปี 1955 โดยสถาปนิกชาวรัสเซียอย่าง Alexandr Vasilevich Vlasov และคณะ ซึ่งจุดที่โดดเด่นที่สุดคือฟาซาดรอบด้านที่สร้างขึ้นโดยได้แรงบันดาลใจมาจากสถาปัตยกรรม Russian Revival Style และในปี 1980 เคยใช้เป็นสนามหลักสำหรับมหกรรมกีฬาโอลิมปิก Summer Olympics Moscow 1980 ที่รัสเซีย (สมัยนั้นคือโซเวียต) เป็นเจ้าภาพครั้งแรกด้วย

ในปี 2013 ได้มีการรีโนเวทสนามกีฬานี้ใหม่อีกครั้งเพื่อรองรับมหกรรมฟุตบอลโลก FIFA World Cup Russia 2018  โดยมีการคงโครงสร้างดั้งเดิมตลอดจนฟาซาดที่เป็นเอกลักษณ์ไว้ แต่ภายในมีการปรับปรุงระบบที่นั่งใหม่หมดจนสามารถจุผู้ชมได้ถึงกว่า 81,000 ที่นั่ง รวมถึงมีการสร้างหลังคาโดมเตี้ยครอบสนาม ตลอดจนเสริมแผงรอบชายคาซึ่งเป็นบอร์ดโลหะฉลุลายรูปนักกีฬาหลากหลายประเภททำให้ภาพรวมกลายเป็นการผสมผสานความคลาสสิกกับความทันสมัยได้อย่างกลมกลืน โดยผู้ที่รับผิดชอบในการรีโนเวทครั้งใหญ่นี้ก็คือบริษัทสถาปนิกท้องถิ่นอย่าง SPEECH นั่นเอง

สำหรับคู่ชิงใน FIFA World Cup Russia 2018 ครั้งนี้ก็คือ ฝรั่งเศส กับ โครเอเชีย โดยผู้ที่คว้าแชมป์บนสนาม Luzhniki Stadium นี้ไปครองได้สำเร็จก็คือทีมชาติฝรั่งเศสที่เอาชนะคู่แข่งไปด้วยสกอร์ 4-2

แหล่งข้อมูลอ้างอิงและภาพถ่าย
SPEECH: https://archi.ru/en/projects/9149/bolshaya-sportivnaya-arena-luzhniki-rekonstrukciya

Maracanã Stadium / Rio de Janeiro, Brazil

สนามสำหรับคู่ชิงของ FIFA World Cup Brazil 2014 คือ Maracanã Stadium ในรีโอเดจาเนโร หนึ่งในสนามที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลกตลอดกาล สนามนี้สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 1950 เพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก FIFA World Cup Brazil 1950 โดยเป็นฝีมือการออกแบบและก่อสร้างของวิศวกร Humberto Menescal พร้อมด้วยสถาปนิกท้องถิ่นอีก 7 คน และในวาระครบรอบ 50 ปีเมื่อปี 2000 ได้มีการรีโนเวทสนามกีฬานี้ใหม่อีกครั้งและเปิดตัวโฉมใหม่ในปี 2007 เพื่อเตรียมตัวรองรับการเป็นเจ้าภาพมหกรรมฟุตบอลโลก FIFA World Cup Brazil 2014 ที่บราซิลกลับมาเป็นเจ้าภาพอีกครั้ง ต่อด้วยมหกรรมกีฬายิ่งใหญ่อย่าง Summer Olympics Rio 2016 ด้วยนั่นเอง

ด้วยเอกลักษณ์และความเป็นไอคอนิกของสนามแห่งนี้ทำให้การรีโนเวทยังคงโครงสร้างดั้งเดิมไว้ แต่มีการปรับเปลี่ยนระบบที่นั่งใหม่ให้ทันสมัยยิ่งขึ้นทำให้จากเดิมที่เคยจุผู้ชมได้กว่า 150,000 ที่นั่ง ลดลงมาเหลือแค่ 78,838 ที่นั่ง เพื่อประสิทธิภาพในการชมการแข่งขันที่ดียิ่งกว่า ส่วนจุดที่รีโนเวทได้โดดเด่นที่สุดเห็นจะเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างและวัสดุหลังคาคลุมสนามใหม่ให้กลายเป็นผ้าใบ PTFE เคลือบไฟเบอร์กลาสซึ่งทำให้หลังคาน้ำหนักเบาขึ้นแถมยังเสริมให้ดีไซน์ของสนามนี้โดดเด่นขึ้นด้วย ผลงานการรีโนเวทครั้งนี้เป็นฝีมือของบริษัทสถาปนิกท้องถิ่นชื่อดังอย่าง Fernandes / Arquitetos Associados ที่ทำงานร่วมกับ Schlaich Bergermann Partner (sbp) หนึ่งในบริษัทสถาปนิกชื่อดังระดับโลกที่นับว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบสเตเดียมมากมายทั่วโลก

สำหรับคู่ชิงใน FIFA World Cup Brazil 2014 ครั้งนี้ก็คือ เยอรมัน กับ อาเจนติน่า โดยผู้ที่คว้าแชมป์บนสนาม Maracanã Stadium นี้ไปครองได้สำเร็จก็คือทีมชาติเยอรมันที่เอาชนะคู่แข่งไปด้วยสกอร์ 1-0

แหล่งข้อมูลอ้างอิงและภาพถ่าย
Fernandes / Arquitetos Associados: http://fernandes.arq.br/projetos/maracana-copa-do-mundo-fifa-2014/
schlaich bergermann partner (sbp): https://www.sbp.de/en/project/stadium-maracana-estadio-jornalista-mario-filho/

First National Bank Stadium (FNB Stadium) / Johannesburg, South Africa

สำหรับสนามคู่ชิงใน FIFA World Cup South Africa 2010 ครั้งนี้คือ First National Bank Stadium (FNB Stadium) ในโจฮันเนสเบิร์ก สนามกีฬาทรงโค้งมนที่ได้แรงบันดาลใจมาจากรูปทรงหม้อท้องถิ่นของชาวแอฟริกันและนั่นก็เป็นที่มาของชื่อเล่นของสนามกีฬาแห่งนี้ว่า “Calabash” ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นที่แปลว่าหม้อ จุดเด่นที่สุดของสนามกีฬาแห่งนี้เห็นจะเป็นฟาซาดโดยรอบที่ดูระยิบระยิบล้ำอนาคตซึ่งฟาซาดนี้ตกแต่งลายโมเสกสีสันสดใสในโทนสีร้อนจากวัสดุ Fiber-cement panels ที่เรียงต่อกันอย่างสวยงามซึ่งลวดลายพิกเซลนี้อันที่จริงแล้วออกแบบให้คล้ายกับเปลวไฟที่กำลังลุกโชนให้ความร้อนกับหม้อใบนี้นั่นเอง

เห็นสนามดีไซน์ล้ำสมัยแบบนี้อันที่จริงแล้วเกิดจากการรีโนเวทสนามเก่าแก่เช่นเดียวกับหลายสนามซึ่งสนามดั้งเดิมนั้นร้างขึ้นเมื่อปี 1987 เพื่อรองรับกิจกรรมกีฬาของเมือง นอกจากนั้นสนามแห่งนี้ยังเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์สำคัญนอกเหนือจากการกีฬาด้วยเพราะที่นี่คือที่ที่ Nelson Mandela ขึ้นเวทีปราศรัยครั้งแรกหลังจากที่ถูกปล่อยตัวจากเรือนจำในปี 1990 นั่นเอง สำหรับรูปโฉมล่าสุดนี้อาจทิ้งภาพจำเดิมไปจนเกือบหมดเพราะในปี 2009 ได้มีการรีโนเวทใหม่เพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพ FIFA World Cup South Africa 2010 โดยปรับเปลี่ยนผังที่นั่งภายในใหม่หมดซึ่งสามารถจุผู้ชมได้กว่า 94,736 ที่นั่ง ตลอดจนเสริมฟาซาดดีไซน์ทันสมัยรวมถึงเสริมหลังคาดีไซน์ล้ำจากวัสดุ PTFE membrane ที่บางเบาและสวยงาม ซึ่งการรีโนเวทครั้งนี้เป็นฝีมือของบริษัทสถาปนิก populous ที่สร้างภาพลักษณ์ใหม่ได้อย่างน่าจดจำ

สำหรับคู่ชิงใน FIFA World Cup South Africa 2010 ครั้งนี้ก็คือ เนเธอแลนด์ กับ สเปน โดยผู้ที่คว้าแชมป์บนสนาม FNB Stadium นี้ไปครองได้สำเร็จก็คือทีมชาติสเปนที่เอาชนะคู่แข่งไปด้วยสกอร์ 1-0

แหล่งข้อมูลอ้างอิงและภาพถ่าย
populous: https://populous.com/

Olympiastadion / Berlin, Germany

ส่วนสนามแมตช์ชิงชนะเลิศใน FIFA World Cup Germany 2006 คือ Olympiastadion ในกรุงเบอร์ลินที่ถือว่าเป็นหนึ่งในสนามกีฬาคลาสสิกสุดไอคอนิกของโลกอีกแห่ง และน่าจะเป็นหนึ่งในสนามไม่กี่แห่งที่ออกแบบให้สเตเดียมไม่ล้อมชิดปิดกันสนิท ซึ่งส่วนที่เว้นว่างนี้คือที่ตั้งของประตูเสาหิน Marathon Gate ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมอันโดดเด่น ในส่วนที่นั่งด้านในแบ่งเป็นสองโซนหลักโดยโซนด้านบนระดับเดียวกับ Marathon Gate จะเป็นโซนที่อยู่ระดับพื้นดิน ส่วนโซนด้านล่างจะเป็นสแตนด์ที่นั่งล้อมปิดสมบูรณ์แบบและอยู่ในระดับใต้ดิน ที่สำคัญดีไซน์ดูล้ำสมัยไม่เหมือนใครนี้เป็นรูปแบบดั้งเดิมที่ออกแบบมาตั้งแต่ปี 1936 โดยฝีมือสถาปนิกชาวเยอรมันอย่าง Werner March โดยสนามดั้งเดิมนี้มีชื่อว่า Berlin Olympic Stadium สร้างขึ้นเพื่อรองรับมหกรรมกีฬาโอลิมปิก Summer Olympics Berlin 1936 ที่เยอรมันได้เป็นเจ้าภาพครั้งแรก รวมถึงต่อมาก็กลายเป็นสนามแข่งขันของมหกรรมฟุตบอลโลก FIFA World Cup WM 74 ในปี 1974 ที่เยอรมันตะวันตก (ชื่อดั้งเดิมในยุคนั้น) เป็นเจ้าภาพครั้งแรกด้วยเช่นกัน

ในส่วนของสนามกีฬา Olympiastadion ยุคใหม่นี้มีการรีโนเวทครั้งล่าสุดในปี 1998 เพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพ 2006 FIFA World Cup การรีโนเวทครั้งนี้ยังคงโครงสร้างเดิมไว้เกือบทั้งหมดโดยเฉพาะส่วนสำคัญอย่างโครงสร้างเสาหินธรรมชาติรายรอบอาคารที่กลายมาเป็นฟาซาดสวยงามของสนามกีฬาแห่งนี้ด้วยซึ่งการออกแบบอย่างเรียบง่าย การเผยให้เห็นเนื้อแท้ของวัสดุ ตลอดจนโครงสร้างที่แข็งแกร่ง ดูจะเป็นอัตลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นของชนชาติเยอรมัน ส่วนที่มีการปรับโฉมใหม่หมดก็คือโซนด้านในสนามที่มีการปรับเปลี่ยนระบบเก้าอี้ใหม่ทั้งหมดตลอดจนลู่วิ่งที่เปลี่ยนจากพื้นโทนสีส้มมาเป็นโทนสีน้ำเงินอย่างโดดเด่น ตลอดจนเสริมโครงสร้างหลังคาใหม่ที่ทำให้สนามนี้ดูโดดเด่นมีเอกลักษณ์ร่วมสมัยยิ่งขึ้น การรีโนเวทครั้งสำคัญนี้ได้บริษัทสถาปนิกดังอย่าง Gmp Architekten von Gerkan, Marg und Partner หรือ gmp  
สำหรับคู่ชิงใน FIFA World Cup Germany 2006 ครั้งนี้ก็คือ อิตาลี กับ ฝรั่งเศส ผู้ที่คว้าแชมป์บนสนาม Olympiastadion นี้ไปครองได้สำเร็จก็คือทีมชาติอิตาลีที่เอาชนะคู่แข่งด้วยการยิงลูกโทษไปด้วยสกอร์ 5-3 

แหล่งข้อมูลอ้างอิงและภาพถ่าย
gmp: https://www.gmp.de/en/projects/394/olympic-stadium-reconstruction-and-roofing

Writer
Tada Ratchagit

Tada Ratchagit

นักเขียนที่หลงรักการถ่ายภาพ หลงเสน่ห์การเดินทาง หลงใหลงานดีไซน์ไปจนถึงสถาปัตยกรรมทุกยุค ตลอดจนสนใจเรื่องราวของสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตยั่งยืน