ชวนคุยเรื่องฮวงจุ้ยผ่านมุมมอง 10 สถาปนิกไทย

Dsign Something ชวนคุยว่าด้วยเรื่อง ฮวงจุ้ย! ศาสตร์ที่มาคู่กับการออกแบบตลอดกาลอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะวัฒนธรรมไทยยังไงก็ยังคงหนีไม่พ้นเรื่องความเชื่อ ศาสตร์แห่งฮวงจุ้ยจึงเข้ามาเป็นโจทย์หนึ่งในอันดับต้น ๆ ของการออกแบบบ้านพักอาศัยตลอดมา

แต่จะทำอย่างไรให้ศาสตร์ของความเชื่อและหลักการในเชิงสถาปัตยกรรมมาลงตัวกันได้ เราชวนมาตั้งคำถามผ่านมุมมองคำตอบจากสถาปนิกมีชื่อของไทยจาก 10 สตูดิโอ

บุญเลิศ เหมวิจิตรพันธ์ Boon Design

“ผมว่าการดีลกับฮวงจุ้ยมันไม่ได้ยาก เป็นเหมือนเส้นผมบังภูเขา เพราะฮวงจุ้ยเป็นศาสตร์แห่งธรรมชาติ พอเราเป็นสถาปนิกเราอาจจะหมกมุ่นกับการออกแบบของเรา ความจริงฮวงจุ้ยเป็นศิลปะแห่งการสมดุลของธรรมชาติ ฮวงจุ้ยไม่ฝืนธรรมชาติ เพราะฉะนั้นถ้าเราจับทั้งสองอย่างนี้มาผสมผสานกัน มันอาจจะกลายเป็นอีกทางหนึ่งที่ดีก็ได้ 

ในการออกแบบ ผมเจอซินแสมาเยอะมาก แต่เขาไม่มาแก้แบบเรานะ อาจจะเพราะสิ่งที่เราออกแบบมันตรงกับธรรมชาตินิยมของซินแส ซึ่งเราต้องเข้าใจก่อนว่าบางอย่างคือความจริง และบางอย่างก็คือความกลัว ถ้าเราเข้าใจความจริง อย่างการปิด-การเปิด การเก็บ-การปล่อย ทำให้มันสมดุลกัน มันสามารถอยู่อาศัยได้ดี มันเป็นเรื่องของพลังงาน ซึ่งสถาปนิกเองก็เข้าใจเรื่องพวกนี้แหละ มันเหมือนจะบียอนการออกแบบแต่จริง ๆ มันก็เป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบเช่นเดียวกัน ถ้าเราเข้าใจผมว่ามันก็ไม่มีปัญหา”

กุลธิดา ทรงกิตติภักดี HAS design and research 

“HAS design and research เริ่มก่อตั้งที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ซึ่งถือเป็นต้นกำเนิดของศาสตร์ฮวงจุ้ยเลย ข้อมูลที่ได้รับมาจากซินแสจึงถือเป็นหนึ่งในข้อกำหนดของการออกแบบที่เจ้าของโครงการควรจะแจ้งให้สถาปนิกทราบตั้งแต่ช่วงแรกของการออกแบบ เพื่อใช้เป็นหลักในการวางผัง กำหนดทิศทางและตำแหน่งของพื้นที่เฉพาะ ที่ควรจะอยู่ตรงทิศนั้น ๆ  ซึ่งก็จะแปรผันไปตามการใช้งานของอาคารและการไหลเวียนที่อยากให้เกิดขึ้นในโครงการ

การทำงานกับซินแสฮวงจุ้ยสำหรับเราเหมือนเป็นการค้นหาความลงตัวและสมดุลในการออกแบบและการสร้างพลัง ขณะที่การเกื้อหนุนกันระหว่างซินแส สถาปนิก และเจ้าของโครงการก็เป็นอีกพลังงานหนึ่งที่จะทำให้อาคารนั้นประสบความสำเร็จในทุก ๆ ด้านด้วยเช่นกัน”

จูน เซคิโน Junsekino Architect and Design

“จริงๆ เราทำงานกับซินแสได้นะปกติ แต่เราจะบอกก่อนเลยว่า ถ้ามี…ให้มีตั้งแต่ทีแรกเลย ความพีค คือ ‘ทำไปเลยผมมาแก้ได้ ไม่ต้องห่วง’ สุดท้ายเอาหลังคามาปิดคอร์ทตรงกลางหมดเลย…แก้ระหว่างสร้าง สุดท้ายยับเยิน บางครั้งแก้เรื่องที่ซินแสให้เปลี่ยน ก็ยากกว่าการออกแบบใหม่ แต่เราขอเน้นว่าซินแสดี ๆ มีเยอะครับ”

พัชระ วงศ์บุญสิน และอรณิชา ดุริยะประพันธ์ P.O.AR

“จริง ๆ ผมเป็นคนมี six sense จึงเชื่อในเรื่องเหล่านี้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเรื่องการจัดวางห้อง ตำแหน่งห้องน้ำ ตำแหน่งเตียงยังไงให้ผีไม่มา โดยวิเคราะห์จากประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยเจอและเคยสังเกตมา ซึ่งเมื่อนำมาประกอบกับหลักการวิทยาศาสตร์เบื้องต้นพบว่าหลายอย่างมีเหตุผลที่สอดคล้องกับหลักฮวงจุ้ย และประสบการณ์ส่วนตัวที่เจอมาตั้งแต่เด็ก เช่น เรื่องห้องน้ำตรงกับเตียง หรือการนอนเห็นประตูห้องน้ำ ซึ่งห้องน้ำมีความชื้นและยังมีแบคทีเรีย

ซึ่งหากห้องนอนไม่ได้เปิดแอร์ในตอนกลางวัน ความชื้นและความเย็นจากห้องน้ำจะเข้ามาอยู่ในห้องนอนทำให้มีกลิ่นเหม็น และความชื้นทำให้เกิดผลเสียมากมายกับร่างกาย และเมื่อนอนตรงกับห้องน้ำทีไร ผมจะเจอผีทุกครั้ง

ส่วนเรื่องการทำงานกับซินแส จริง ๆ ผมเจอซินแสมาไม่ค่อยมาก แต่ทุกครั้งจะยินดีที่ต้องทำงานร่วมกัน แต่มีข้อแม้ข้อเดียวคือ ต้องให้ซินแสวางทิศทางมาให้ตั้งแต่ก่อนเริ่มออกแบบ โดยเราจะนำหลักการนั้นไปใช้ในการวางฟังก์ชันต่าง ๆ ซึ่งจะมีซินแสอยู่กลุ่มหนึ่งที่เขาจะไม่สามารถวางให้เราตั้งแต่ต้นได้ ทางเราจะแก้ปัญหาด้วยการบอกไปตามตรงว่า ขอไม่รับงาน เพราะเท่าที่เคยเจอจะมีการปรับแก้แบบไปไม่มีที่สิ้นสุด

เท่าที่เราสังเกต งานที่เรารับมาในช่วงสิบปีที่เปิดบริษัทมานี้ กลุ่มลูกค้าที่ใช้ฮวงจุ้ยในการออกแบบบ้านน้อยลงเรื่อยๆ จนเหลือแค่ 5% ของลูกค้าทั้งหมด และงานประเภทโรงแรมที่เราเคยทำไม่มีเจ้าไหนเลยที่สนใจฮวงจุ้ย” 

อนนท์ จิตรานุเคราะห์  ACA Architects

“ผมเชื่อว่าหลักการฮวงจุ้ยกับหลักการออกแบบอาคาร ‘บางส่วน’ ก็คล้ายกันและมีเหตุผลซ่อนอยู่เบื้องหลังตามที่เราสามารถวิเคราะห์ได้ เช่น ทำไมต้องห้ามวางประตูตรงกัน ทำไมเปิดห้องนอนแล้วไม่ควรเจอปลายเท้าชี้ออก ทำไมบันไดต้องวนขวาและขั้นต้องเป็นเลขคี่ สิ่งเหล่านี้ส่งเสริมและสอดคล้องกับหลักการออกแบบที่ดี อันนี้เราเข้าใจได้ แต่จะมีหลักการบางส่วนที่เราไม่เข้าใจถึงเหตุผลเบื้องหลัง เช่น ตำแหน่งเสือขาวมังกรเขียว หรือตลับเมตรซินแสที่จะต้องเลือกให้ระยะเป็นเลขดี ซึ่งไม่เคยเป็นเลขลงตัวเลย เราเข้าใจว่าพวกนี้เป็นความเชื่อที่มาจากสถิติดวงแต่ละคน แต่ไม่รู้ว่าจะเป็นประโยชน์กับการออกแบบขนาดไหน

ซึ่งที่ผ่านมาในการออกแบบ เราเจอซินแสเกือบทุกโครงการ ซึ่งเราพิจารณาว่าเขาเป็นหนึ่งในโจทย์ที่ทำให้การออกแบบมีความสนุกและท้าทายหยักสมองมากขึ้น ซึ่งก็เป็นไปได้ด้วยดีทุกหลัง ตอนเป็นสถาปนิกใหม่ ๆ เราไม่เข้าใจ ถึงกับเคยถามซินแสที่รู้จักกันว่าทำไมบ้านถึงต้องหนาๆ เป็นสี่เหลี่ยม และห้ามเจาะช่องแสงลงถึงพื้น แต่บ้านจีนมีคอร์ทกลางแสงลงถึงพื้นทุกบ้าน

ส่วนประสบการณ์พีคๆ กับซินแส ก็พอจะมีบ้าง มีบ้านหลังนึงที่เราออกแบบพิจารณาตามทิศแดด ลม ฝน และสิ่งต่างๆ ที่ควรจะเป็น แต่วันที่ซินแสมาเดินปรากฎว่าผิดไปทุกอย่าง หลังนั่งคุยแก้แบบกันไปประมาณ 2 ชั่วโมง ซินแสบอกว่า “อ่อ..ซินแสหันทิศผิด…….. ที่ทำมาถูกต้องแล้ว….(หัวเราะ)”

เอกภาพ ดวงแก้ว EKAR Architects

“เราเชื่อวิธีการ การวิเคราะห์ หลักการ และเหตุผลในเชิงสถาปัตยกรรมมาเป็นที่หนึ่ง สำหรับเรา ถ้าเจอลูกค้าที่มีซินแส ก็อยากให้เขามาตั้งแต่แรกเลย เพราะจริง ๆ หลักการออกแบบของเราจะพยายามนึกถึงคนอยู่เสมอ เราอยากทำบ้านให้เจ้าของเขามีความสุข ถ้าเขาเชื่อในเรื่องฮวงจุ้ย เราก็จำเป็นต้องประนีประนอมเรื่องพวกนี้ให้มันลงตัวกับงานออกแบบสถาปัตยกรรมของเรา”

ณัฏฐวุฒิ พิริยประกอบ NPDA Studio

“ต้องตอบตามตรงว่า ผมรัก และเชื่อมั่นในวิชาการ และวิชาชีพสถาปัตยกรรมมากที่สุด และยังรู้ไม่หมด ผมเลยอยากสนใจและโฟกัสไปที่ศาสตร์ของการออกแบบตามพื้นฐานสถาปัตยกรรมที่เราเรียนมาก่อน แต่ถ้าได้ร่วมงานกับซินแส แล้วมีการนำแนวคิดตามหลักวิชาสถาปัตยกรรมเป็นตัวตั้ง ก็ไม่มีปัญหาอะไรครับ”

ณฤชา คูวัฒนาภาศิริ I Like Design Studio

“ผมมองเรื่องนี้ 50/50 ครับ ผมเห็นด้วยครึ่งนึงและไม่เห็นด้วยครึ่งนึง ที่เห็นด้วยส่วนใหญ่จะสามารถอธิบายด้วยเหตุและผลได้ครับ บางเรื่องก็จะเป็นเหตุผลที่ตรงกับหลักการออกแบบ ส่วนที่ไม่เห็นด้วย บางทีเป็นเรื่องลี้ลับ (ที่ยังหาเหตุผลมาอธิบายไม่ได้) แต่ทางผมในฐานะผู้ออกแบบก็พยายามแก้ปัญหาให้เพื่อความสบายใจของลูกค้า แต่จะพยายามต่อรองโดยไม่ให้งานออกแบบเสียนะครับ”

ธนชาติ สุขสวาสดิ์ Pommballstudio

“ประสบการณ์แบบพีคๆ กับซินแสสำหรับผมไม่ค่อยมีครับ มีปรับแก้บ้างตามความเหมาะสม เน้นแฮปปี้กันทุกฝ่ายมากกว่าครับ”

กานต์ คำแหง Pommballstudio

“ผมยังไม่เคยเจอประสบการณ์พีคๆ กับเรื่องฮวงจุ้ยเหมือนกันครับ เท่าที่เจอมาซินแสคุยกันได้ แต่ต้องมาช่วงเเรกๆ นะครับ ผมถือเป็นอีกหนึ่ง Requirement นึงที่ผมมักจะถามลูกค้าก่อนเสมอ ถ้าไม่ลืมครับ”

ดนัย สุรสา และ สร้อยพลอย พานิช STUDIO KRUBKA

“เอาจริง งาน 80-90% ที่ทำมาของเรา มีซินแสเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะเป็นงานออกแบบบ้านและออฟฟิศ เพราะฉะนั้นเวลาเรารับงาน เราจะถามเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก เลย เพื่อให้เขาไปเคลียร์มาก่อนและต้องมาตั้งแต่แรก เพราะว่ามันก็เป็นโจทย์อีกหนึ่งมิติที่เพิ่มขึ้นมา คือเรายังสนุกกับมันอยู่นะ แต่บางทีมันก็จะกลายเป็นข้อจำกัดที่เราไม่สามารถผลักดันไปได้ไกลกว่านี้แล้ว เพราะกรอบนี้มันเป็นกรอบทางจิตวิญญาณที่เราทะลุไปไม่ได้ 

Mindset เราเป็นแบบนี้ ถ้าเราทำงานด้วยกัน ตราบใดที่มีอาจารย์ฮวงจุ้ยเข้ามาทำงานด้วย เราคือทีมแล้ว เราจะไม่ไปตั้งธงว่าอาจารย์ฮวงจุ้ยคือศัตรู แต่เป็นแค่อีกโจทย์หนึ่งที่ท้าทายเราเพิ่มขึ้นเท่านั้นเอง ซึ่งถ้าลูกค้าเขาเชื่อเรื่องนี้เราก็ต้องให้เกียรติเขาด้วย”

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้