ใครที่ผ่านไปมาบนถนนซอยสุขุมวิท 49 คงไม่พลาดที่จะพบกับ Norse Republics ร้านนำเข้าฟอร์นิเจอร์สแกนดิเนเวียนสไตล์จากหลากหลายแบรนด์ชั้นนำ ซึ่งปัจจุบันมีการรีโนเวทและรีแบรนด์ให้กลายเป็น Norse Store โฉมใหม่ที่มีความเป็นไลฟ์สไตล์ เข้าถึงกลุ่มคนรักบ้านได้ง่ายมากยิ่งขึ้น บนพื้นที่ 500 ตารางเมตร ซึ่งได้ดีไซน์เนอร์ฝีมือดีจาก Taste Space มารับหน้าที่ออกแบบร้านใหม่ให้ลงตัวกับความต้องการและสร้างประสบการณ์ในการซื้อสินค้าที่ต่างไปจากเดิม
พื้นที่ Unfinished ที่รอให้เฟอร์นิเจอร์มาเป็นตัว Finished
ด้วยความที่มีเฟอร์นิเจอร์มากมายหลากหลายแบรนด์อย่างเช่น HAY, Fritz Hanzen, Vitra, Gubi, Artek และอื่น ๆ ซึ่งแต่ละแบรนด์ต่างมีคาแร็กเตอร์เฉพาะตัวที่แตกต่างกัน แล้วจะทำอย่างไรให้แบรนด์เหล่านี้อยู่ด้วยกันได้ทั้งหมด นำมาสู่บทสรุปของทางเจ้าของและดีไซน์เนอร์ที่เห็นตรงกันว่า สเปซโดยรวมที่จัดแสดงเฟอร์นิเจอร์เหล่านี้จะอยู่ในลักษณะเหมือนจะไม่เสร็จสมบูรณ์ (Unfinished) โดยมีความดิบ และไม่จำเป็นต้องเนี้ยบกริบเหมือนการออกแบบใหม่ เพื่อให้ ‘พื้นที่แห่งนี้ดูเหมือน Unfinished แต่การเติมเฟอร์นิเจอร์เข้าไปทำให้มัน Finished มากขึ้น’
โจทย์ต่อมาคือการออกแบบให้ตัวร้านมีความเป็น Window display เพื่อเปิดมุมมองออกสู่ภายนอก และทำให้ผู้คนที่ผ่านไปมา รู้สึกเชื้อเชิญและเข้าใจได้ง่ายว่าภายในเป็นร้านเฟอร์นิเจอร์ที่กำลังรอให้ทุกคนเข้ามาเยี่ยมชม นอกจากนั้นภายในยังต้องยืดหยุ่น พร้อมปรับเปลี่ยนได้ง่ายในอนาคตอีกด้วย
Unboxing แกะกล่องเฟอร์นิเจอร์
ผู้ออกแบบนำสองประเด็นหลักนี้มารวมกัน เกิดเป็นไอเดียที่มองว่า “ในทุกแบรนด์ของเฟอร์นิเจอร์ เวลาส่งเข้ามาต้องมีการห่อบรรจุภัณฑ์เป็นกล่องเพื่อป้องกันความเสียหาย เราเลยเลือกใช้คอนเซ็ปต์ Unboxing ซึ่งจะเห็นได้ว่าบริเวณฟาซาดจะมีความเป็น Window display ที่คล้ายการเปิดกล่องออกมา เป็นกล่องต่าง ๆ มาเรียงกันอยู่ ส่วนด้านในวิธีการเรียบง่ายมาก ๆ โดยเราจะซอยพื้นที่ก่อนจากการใช้สอย และค่อย ๆ สร้างคาแร็กเตอร์แต่ละโซนให้แตกต่างกันไป”
แนวคิดการเปิดกล่องจะทำให้มองเห็นสินค้าได้ง่ายและสนุกขึ้น โดยมีทั้งกล่องเปิดและปิด แทนด้วยการออกแบบพื้นที่ Solid – Void บางส่วนมีการเปิดเป็นบานกระจกเพื่อให้จากถนนมองเห็นสินค้าภายในได้ ฟอร์มภายนอกตัดเป็นสีดำเพื่อให้ภายในโดดเด่นออกมา โดยฟาซาดที่เราเห็นจะเป็นอลูมิเนียมคอมโพสิท เนื่องจากเป็นวัสดุเอาท์ดอร์ที่บาง แข็งแรงทนทานและทำฟอร์มได้
“ตอนแรกเราจะแบ่งพื้นที่ตามแบรนด์ที่ขาย แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือพอแบ่งแล้วมันจะอยู่รวมกันยาก เราเลยใช้วิธีการจัดสเปซแบบ No Boundary หรือทุกห้องต้องเป็นได้ทุกห้อง ทุกโซนคือพื้นที่ส่วนกลางที่ในอนาคตสามารถปรับเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ได้หลากหลายเพราะทุกแบรนด์มีคาแร็กเตอร์ไม่เหมือนกันเลย ถ้าเราไปโฟกัสให้ห้องมันเด่น เฟอร์นิเจอร์อาจจะถูกลืมก็ได้ เราเลยตัดเรื่องสิ่งแวดล้อมออกให้มากที่สุด เพื่อให้เหลือเฟอร์นิเจอร์เป็นตัวเด่นมากที่สุด”
Showroom Tour
เริ่มเปิดประตูเข้าสู่ภายใน โซนชั้นล่างถูกจัดไว้ให้เป็นพื้นที่ของแบรนด์ HAY ซึ่งมีสินค้าไลฟ์สไตล์ที่สนุกขึ้น ทำให้คนที่เข้ามาสามารถเลือกซื้อได้ง่ายกว่า โดยบริเวณใจกลางร้านจะเป็นเคาน์เตอร์ต้อนรับที่ดีไซน์เนอร์ออกแบบในลักษณะสบาย ๆ กึ่งเป็นพื้นที่คาเฟ่ที่ดูผ่อนคลายขึ้น ซึ่งเลือกใช้วัสดุด้านหลังเป็นไม้เพื่อสื่อถึงบรรยากาศสงบ เรียบง่ายในแบบสแกนดิเนเวียน ตัดกับเคาน์เตอร์ที่ออกแบบด้วยกระเบื้องสีขาวชิ้นเล็กเล่นกับยาแนวโทนสีเขียวเพื่อให้มีลูกเล่นที่ดูวัยรุ่น และดิบขึ้นอีกนิด
ถัดเข้าไปทางขวา จากพื้นที่ร้านเดิมที่มีพื้นชั้น 2 ยาวตลอดแนว ทีมออกแบบมีการทุบพื้นบางส่วนออก เพื่อเปิดทะลุโล่งถึงเพดานชั้น 2 ทำให้คนสัมผัสกับความโล่งโปร่ง แตกต่างจากบริเวณหน้าประตูที่มีเพดานค่อนข้างเตี้ยเนื่องจากต้องการใช้ประโยชน์พื้นที่ชั้น 2 ให้มากที่สุด ซึ่งในโซนนี้ยังดีไซน์ชั้นวางสูงใหญ่เพื่อดิสเพลย์สินค้าน่ารัก ๆ ของ HAY ได้อีกมากมาย ที่ติดกันนั้นเป็นบันไดขึ้นสู่ชั้นสอง ซึ่งการเปิดโล่งพื้นที่ส่วนนี้ยังทำให้คนในร้านเห็นบันไดชัดเจน และเกิดความรู้สึกเชื้อเชิญให้เดินไปเยี่ยมชมพื้นที่ด้านบนด้วยนั่นเอง
เลี้ยวซ้ายจากบันได เราจะเจอกับโถงทางเดินยาว ที่ให้ความรู้สึกเหมือนสเปซในบ้านโมเดิร์น แต่กลับเก็บฟินิชชิงความดิบไว้ทั้งหมดตั้งแต่ยุคแรกของอาคารอย่างเสาที่มีรอบขีดเขียน มีร่องรอยเจาะ เพิ่มการออกแบบตะแกรงเหล็กบริเวณฝ้าดาน และเติมไฟเส้นเพื่อเพิ่มความดิบ แบบล้ำสมัยเข้ามา และยังเป็นจุดซ่อนระบบไฟ สายไฟทั้งหมด แต่กลับมาที่โจทย์ว่าแล้ว Unfinished แบบไหนจึงจะเหมาะกับวัตถุต่าง ๆ อย่างพอดี? นำมาสู่การเลือกใช้ผนังเบา และการใช้วัสดุเก่าเท่าที่มีอย่างการทาสีอิฐใหม่ หรือการออกแบบเติมลูกเล่นอย่างการเลือกวัสดุดิบ ๆ ที่มักนำมาใช้ในการก่อสร้างอาคารชั่วคราวอย่างสังกะสี เพื่อสร้างโซนดิสเพลย์โคมไฟ และของตกแต่งต่าง ๆ ซึ่งเกิดแสงสะท้อนได้ดี
ติดกันนั้นเป็นพื้นที่ต่างระดับ ซึ่งเป็นของเดิมที่มีอยู่ในอาคาร แต่ถูกปรับมู้ดแอนด์โทนให้กลายเป็นวัสดุไม้ เพื่อใช้เป็นพื้นที่จัดแสดงสินค้าแบรนด์ที่หรูหราและโฮมมี่มากขึ้น
ส่วนฝั่งขวามือจากบันได จะถูกแบ่งออกเป็นห้องซึ่งมีความเป็น Gallery มากกว่า โดยสามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานพื้นที่ได้ในอนาคต เพดานภายในห้องนี้จะเป็นตะแกรงเหล็กทั้งหมด เพื่อให้ง่ายต่อการแขวนเพื่อดิสเพลย์ผลงานได้ในอนาคต
“จะทำยังไงให้มันอยู่ร่วมกันได้ อันนี้ยากมาก ที่ชอบที่สุดคือความหลากหลาย ความคอนทราสกันสุด ๆ เราออกแบบให้แต่ละจุดดูต่างกันอย่างละนิดละหน่อย เพื่อไม่ให้ร้านมันดูแบนเกินไป ซึ่งเรามองว่ามันคือความพอดีที่ทำให้กลมกล่อมแหละ
ทำยังไงให้ลูกค้าที่เข้ามาเขาได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุด อย่างชั้น 1 จับต้องได้ ซื้อง่าย แต่พอขึ้นมาชั้นบน เราสร้างบรรยากาศให้มีความเป็นบ้านมากขึ้น ของชิ้นใหญ่มากขึ้นเพื่อให้เขาได้มีเวลาลองนั่ง ลองใช้งาน เพราะมีมูลค่าสูง การมีเวลาให้เขาได้ลองเป็นเรื่องสำคัญ อันนี้คือรูปแบบ business ที่เรามองร่วมกับเจ้าของโครงการ บางทีคนรู้สึกว่าเฟอร์นิเจอร์แพง ไม่กล้านั่ง แต่ที่นี่เราออกแบบบรรยากาศทุกอย่าง รวมถึงสเปซ เชื้อเชิญคนมากขึ้น เพื่อให้คนกล้าจะสัมผัสมัน” ดีไซน์เนอร์เล่า
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!