GES-2 House of Culture
ศูนย์วัฒนธรรมยุคใหม่ที่กำเนิดจากรากฐานโรงไฟฟ้าอันเก่าแก่

ศัตรูตัวฉกาจที่สามารถทำลายล้างสถาปัตยกรรมให้สิ้นซากลงได้อย่างง่ายดายนั้น นอกจากภัยธรรมชาติแล้ว ก็มีฝีมือมนุษย์นี่ล่ะ…ที่น่ากลัวไม่แพ้กัน

นี่จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้ในปี ค.ศ.2009 รัฐบาลรัสเซียประกาศขึ้นทะเบียนอาคาร GES-2 โรงไฟฟ้าเก่าแก่ใจกลางกรุงมอสโกให้อยู่ในลิสต์สมบัติแห่งชาติ (The National Cultural Heritage Register of Russia) เพื่อป้องกันการถูกทำลายจากกระแสการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยุคใหม่ที่กำลังเฟื่องฟู

แต่เวลาต่อมา ในปี ค.ศ.2015 อาคาร GES-2 ก็ถึงวันต้องหยุดกิจการลงอย่างถาวร โดยโรงไฟฟ้าแห่งนี้กลายเป็นสมบัติที่ตกไปอยู่ในมือมหาเศรษฐีด้านพลังงานผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของรัสเซีย ดูเหมือนว่ามรดกทางสถาปัตยกรรมแห่งนี้อาจใกล้ถึงเวลาอวสานอย่างแท้จริงแล้ว ทว่าเหตุการณ์ดันตรงกันข้ามเพราะโรงไฟฟ้าเก่าแก่แห่งนี้ยังถูกเก็บรักษาไว้แล้วก็กลับถูกปลุกฟื้นคืนชีพปรับโฉมใหม่ให้ลุกขึ้นมามีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง

กำหนดศูนย์วัฒนธรรมยุคใหม่

ปลายปี ค.ศ.2021 ศูนย์วัฒนธรรมยุคใหม่ของรัสเซียอย่าง GES-2 House of Culture ได้ถือกำเนิดเปิดตัวขึ้นครั้งแรกอย่างเป็นทางการ เจ้าของศูนย์วัฒนธรรมนี้ก็คือองค์กร V-A-C Foundation ที่ก่อตั้งโดย Leonid Mikhelson นักธุรกิจใหญ่เจ้าของกิจการ Novatek หนึ่งในบริษัทพลังงานอันยิ่งใหญ่ของรัสเซีย สำหรับ GES-2 House of Culture นั้นสร้างขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ในการเป็นศูนย์วัฒนธรรมร่วมสมัยหลากหลายแขนงที่ต้องการเปลี่ยนภาพจำจากศูนย์วัฒนธรรมรูปแบบเดิม ๆ อันคร่ำครึให้เป็นแหล่งเสพศิลป์รูปแบบใหม่ที่ทันสมัยไร้กรอบจำกัด

ถึงแม้จะภาพลักษณ์จะปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยแต่ขณะเดียวกันสถานที่แห่งนี้ก็ยังคงให้คุณค่ากับประวัติศาสตร์ดั้งเดิมไปพร้อมกัน เราจึงเห็นการรักษารากเก่าแก่ไว้ในหลากหลายมิติที่สะท้อนผ่านการรีโนเวทเชิงอนุรักษ์สถาปัตยกรรมโบราณไปจนถึงการเลือกใช้ชื่อที่ทำให้คนรุ่นใหม่ยังคงจดจำเรื่องราวอันทรงคุณค่าในอดีต

ชื่อใหม่ของอาคารยังคงนำชื่อเดิมของโรงไฟฟ้ามาใช้เช่นเคย ซึ่งชื่อ GES-2 ก็นำมารวมเข้ากับถึงคำว่า House of Culture เพื่อสื่อสารถึงการเป็นศูนย์รวมของวัฒนธรรมที่หลากหลายอย่างแท้จริง แต่ถ้าหากหาข้อมูลลึกลงไปแล้วอันที่จริงคำว่า House of Culture นี้ก็ได้แรงบันดาลใจมาจาก Houses of Culture พื้นที่แสดงศิลปะสาธารณะในยุคของสหภาพโซเวียตช่วงยุคปลายศตวรรษที่ 19 ด้วย นี่คือแหล่งเสพงานศาสตร์และศิลป์ที่ยอดเยี่ยมในอดีตตลอดจนเพาะบ่มทางปัญญาให้กับชนชาติรัสเซียในยุคก่อนได้อย่างยอดเยี่ยมทีเดียว ซึ่งการที่ถือกำเนิด GES-2 House of Culture ในวันนี้ก็เพื่อที่จะต้องการสืบสานความรุ่งเรืองของศิลปวัฒนธรรมในอดีตมาสู่ยุคปัจจุบันอีกครั้งเช่นกัน

วิหารแห่งแสงสว่าง

GES-2 หรือที่รู้จักกันในชื่อท้องถิ่น Tramvaynaya (ที่แปลว่า Tram Power Station) ก็คือโรงไฟฟ้าแห่งที่สองของรัสเซียซึ่งสร้างขึ้นเพื่อผลิตไฟฟ้าป้อนให้กับระบบรถรางของกรุงมอสโก โรงไฟฟ้าแห่งนี้สร้างแล้วเสร็จในปี ค.ศ.1907 มันทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้านับตั้งแต่แรกเริ่มมาจนถึงปี ค.ศ.2015 เลยทีเดียว ถึงแม้ว่าจะมีสถานะเป็นโรงผลิตไฟฟ้า แต่โรงงานแห่งนี้กลับสร้างสถาปัตยกรรมขึ้นมาอย่างงดงามอลังการ โดยสร้างอาคารขึ้นตามแบบสถาปัตยกรรม Neo-Russian Architectural Style (Russian Revival Style) จากฝีมือสร้างสรรค์ของ Vasili Bashkirov สถาปนิกผู้มีชื่อเสียงของรัสเซียในยุคนั้นนั่นเอง

เอกลักษณ์ที่โดดเด่นของอาคารหลังนี้ คือโครงสร้างสูงโปร่งโอ่โถงเป็นสง่าผสานกับฟาซาดอาคารที่งดงามวิจิตรไม่แพ้อาคารบ้านเรือนหรูหรา ฟาซาดที่งดงามนี้ทอดตัวยาวเลียบริมแม่น้ำสายเล็กอย่าง Moskva River จนกลายเป็นหนึ่งในวิวสุดคลาสสิกของเมืองมานับร้อยปี เสน่ห์ตรงจุดนี้จึงทำให้สถาปนิกเลือกที่จะอนุรักษ์คุณค่าดั้งเดิมนี้ให้คงอยู่ไว้เช่นเคย

ผู้มารับหน้าที่เนรมิตชีวิตใหม่คราวนี้ก็คือ Renzo Piano สถาปนิกอิตาลีชื่อดังก้องโลกเจ้าของรางวัล Pritzker Architecture Prize ในปีค.ศ. 1998 โดยโจทย์สำคัญของการรีโนเวทคือการปลุกให้อาคารหลังนี้กลับมามีชีวิตในยุคใหม่อีกครั้ง เสน่ห์ดั้งเดิมอย่างฟาซาดอาคารตลอดจนโครงสร้างหลักอาคารจึงถูกอนุรักษ์ไว้หมดทุกส่วน ปรับเปลี่ยนเสริมรายละเอียดเล็กน้อย ตลอดจนทาสีปรับโฉมใหม่เพื่อให้อาคารกลับมามีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง

รายละเอียดที่ถูกปรับเปลี่ยนมากที่สุดเห็นจะเป็นการปูหลังคาอาคารใหม่ทั้งหมดโดยแทนที่ด้วยหลังคาโปร่งแสงผสานการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตพลังงานสะอาดไว้ใช้ในตัวอาคารไปพร้อมกันด้วย จากหลังคาทึบเปลี่ยนอารมณ์สู่หลังคาโปร่งแสงนั้นแสงฃทำให้แสงธรรมชาติลอดผ่านเข้าสู่อาคารได้มากขึ้น แสงที่ส่องเข้าสู่ถายในอาคารลอดผ่านโครงเหล็กใต้หลังคาขนาดใหญ่รวมถึงโครงเหล็กสอดผสานภายในอันแข็งแกร่งทำให้เราสามารถเห็นรายละเอียดที่แข็งแรงทรงพลังในขณะเดียวกันก็เห็นความอ่อนโยนบริสุทธิ์ของสีขาวที่ฉาบอยู่ได้ไปพร้อมกัน

แสงอีกส่วนส่องผ่านกระจกหน้าต่างบานใหญ่ที่ผสานอยู่กับฟาซาดงดงามวิจิตร สาดเข้ามาสอดผสานกับแสงจากด้านบนจนทำให้ภายในอาคารดูสว่างและโปร่งสบายราวกับเปิดไฟหลากหลายล้านดวง เมื่อแสงปะทะเข้ากับโครงสร้างที่อลังการตามสถาปัตยกรรมยุคคลาสสิกในอดีต ความงดงามรูปโฉมใหม่นี้ถึงกับทำให้สถาปัตยกรรมแห่งนี้ได้รับการขนานนามว่าเป็น Cathedral of Light วิหารแห่งแสงสว่างยุคใหม่อย่างแท้จริง และสะท้อนถึงความรุ่งเรืองในยุคสมัยใหม่ได้ดีไปในคราวเดียวกัน

การบริหารจัดการพื้นที่เชิงศิลปวัฒนธรรม

ถึงแม้ว่าการออกแบบอาคารจะดูทันสมัยผิดไปจากศูนย์วัฒนธรรมรูปแบบเดิม ๆ แต่การจัดสรรพื้นที่ใช้สอยภายในก็ทำได้ยอดเยี่ยมไม่ต่างจากศูนย์วัฒนธรรมชั้นนำทั่วโลก โดยภายในแบ่งพื้นที่ใช้สอยเป็นหลากหลายโซนตั้งแต่ห้องเรียนขนาดเล็กไปจนถึงห้องประชุมขนาดใหญ่ ห้องจัดแสดงนิทรรศการหลากหลายแบบที่แต่ละห้องยังสามารถปรับเปลี่ยนผังจัดแสดงได้หลากหลายดีไซน์ตามต้องการ ห้องสมุดสำหรับศึกษาหาความรู้ไปจนถึงสถานที่จัดกิจกรรม Workshop สำหรับสร้างสรรค์จินตนาการสำหรับเด็ก

อีกไฮไลท์เด่นภายในอาคารสุดอลังการหลังนี้ก็คือโซน Prospekt โถงกลางอาคารที่กว้างขวางและสูงโปร่งซึ่งบริเวณนี้เป็นพ้นที่เปิดสำหรับจัดนิทรรศการตลอดจนงานแสดงไปจนถึงคอนเสิร์ตต่าง ๆ ได้อย่างอิสระ อย่างกิจกรรมประเดิมเริ่มแรกที่สร้างชื่อเสียงระดับโลกให้กับที่นี่ก็คือโปรเจกต์ Santa Barbara – A Living Sculpture ซึ่งเป็นผลงานศิลป์รูปแบบ Performing Art ของศิลปินชาวไอซ์แลนด์อย่าง Ragnar Kjartansson ที่จำลองการถ่ายทำละครทั้งกระบวนการมาให้ได้ชมกันสด ๆ ดั่งผลงานศิลปะผลงานหนึ่ง ซึ่งทั่วพื้นที่จะมีการเนรมิต Production Studio แบบ Open Studio สตูดิโอสำหรับถ่ายทำละครตลอดจนห้องตัดต่อและส่วนการทำงานอื่น ๆ ครบครันจบในที่เดียวจนได้ผลงานสำเร็จออกมา ผู้ที่มาชมนิทรรศการนี้ก็จะได้เห็นการทำงานจริงทุกขั้นตอนตั้งแต่การถ่ายทำไปจนกระทั่งการตัดต่อต่าง ๆ แบบสมจริงและสดแบบ Real Time

โดยโปรเจกต์นี้ทำการแสดงจริงทั้งสิ้น 98 วันจนถ่ายทำและตัดต่อเสร็จ ซึ่งเรื่องราวที่นำมาถ่ายทำในโปรเจกต์นี้ก็คือการรีเมคละครโทรทัศน์เรื่อง Santa Barbara ซึ่งนี่เป็นละครแนว Soap Opera ยอดฮิตของรัสเซียแถมยังเป็นละครอเมริกันเรื่องแรกที่เข้ามาฉายตลอดจนเป็นละครที่ยืนหยัดฉายติดต่อกันนานที่สุดเป็นประวัติการตั้งแต่ปี ค.ศ.1992-2002 อีกด้วย โดยโปรเจกต์รีเมคครั้งนี้ถ่ายทำในสตูแบบสไตล์ย้อนยุคเพื่อเลียนแบบให้เหมือนต้นฉบับให้มากที่สุด ที่สำคัญเป็นการเปลี่ยนนักแสดงใหม่มาใช้นักแสดงท้องถิ่นแทนทั้งเรื่องด้วย

อีกพื้นที่ในโซนนี้ที่น่าสนใจก็คือโซน Platforms ซึ่งเป็น Open Space ลอยฟ้าขนาดย่อมที่มีลานแสดงแบบ Open Stage ลอยฟ้าและสแตนด์ขนาดเล็กสำหรับนั่งชม บริเวณนี้สามารถจัดได้ทั้งการแสดงไปจนถึงคอนเสิร์ต ตลอดจนเป็นสถานที่ถ่ายทำรายการได้ด้วยเช่นกัน

โรงละครเอนกประสงค์

หนึ่งในฟังก์ชันสำคัญของการเป็นศูนย์วัฒนธรรมมาตรฐานสากลที่ขาดไม่ได้ก็คือส่วนของโรงมหรสพนั่นเอง สำหรับโรงมหรสพก็คือโซน Playhouse + Cinema ที่มีการสร้างโถงมหรสพเอนกประสงค์ไว้รองรับกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ สามารถปรับเปลี่ยนฟังก์ชันการใช้งานได้ตามต้องการ

โดยสามารถปรับให้เป็นโรงละครแบบ Theatre ที่มีเวทีแสดงตลอดจนที่นั่งเล่นระดับเพื่อเพิ่มอรรถรสในการชม ตลอดจนปรับเปลี่ยนเป็น Concert Hall สำหรับแสดงดนตรีได้หลากหลายแขนงตั้งแต่ดนตรีคลาสสิกไปจนถึงคอนเสิร์ตป๊อบคัลเจอร์สุดมันส์ หรือสามารถปรับเปลี่ยนฟังก์ชันให้เป็นแบบ Cinema เลื่อนจอฉายขนาดยักษ์ลงมาเพื่อปรับโฉมให้กลายเป็นโรงภาพยนตร์แสงสีเสียงสุดอลังกาลก็ได้เช่นกัน หรือท้ายที่สุดสามารถปรับเปลี่ยนห้องให้เป็นพื้นระนาบเพื่อกลายเป็น Meeting Room ตลอดจนเป็น Event Space และ Gallery เอนกประสงค์ก็ได้อีกด้วย

นอกจากการปรับเปลี่ยนให้เป็นโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่มาตรฐานสากลแล้วผนังฝั่งตรงข้ามกับจอภาพยนตร์บริเวณภายนอกอาคารนั้นก็ยังสามารถเลื่อนจอภาพยนตร์ขนาดใหญ่อีกจอลงมาเพื่อฉายภาพยนตร์กลางแจ้งได้ เป็นบรรยากาศของการนั่งชมภาพยนตร์บนสแตนด์ท่ามกลางธรรมชาติที่ให้อารมณ์แบบชมหนังกลางแปลงแบบไทย ๆ ได้อย่างน่าประทับใจ

พื้นที่เวิร์คชอบเพื่อโลกแห่งการสร้างสรรค์

อีกหนึ่งไฮไลท์ของ GES-2 House of Culture นั้นเป็นโซนอาคารหลังเล็กในซอกหลืบที่แยกตัวออกมาจากอาคารหลัก ถึงแม้จะเป็นหน่วยเล็ก ๆ ทว่าฟังก์ชันของอาคารและเสน่ห์ของสถาปัตยกรรมนั้นก็น่าหลงใหลไม่แพ้กัน อาคารที่ว่านี้คือ The Vaults สถานที่ที่ถูกเนรมิตให้เป็น Centre for Artistic Production เพื่อรองรับกิจกรรม Professional Workshop แขนงต่าง ๆ อย่างครบครัน

ก่อนจะไปดูกิจกรรมน่าสนใจเราอยากเล่าถึงที่ไปที่มาของอาคารที่เกือบถูกลืมหลังนี้ก่อนดีกว่า อาคารนี้เดิมทีเป็นโกดังเก่าที่ซ่อนตัวอยู่ใต้สะพาน Patriarshy Bridge เดิมทีถูกสร้างขึ้นให้เป็นโกดังเก็บสินค้าจำพวกไวน์และเกลือในสมัยก่อน ซึ่งภายหลังกลายมาเป็นโกดังของ Ivan Smirnov ที่ใช้เก็บเครื่องดื่มวอดก้าแบรนด์ดังอย่าง Smirnoff ในยุคบุกเบิกนั่นเอง

ด้วยการเป็นโกดังเก็บสิ้นค้าประเภทเครื่องดื่มนี้ทำให้โครงสร้างดั้งเดิมกลายเป็นเอกลักษณ์ที่น่าสนใจซึ่งทางสถาปนิกเลือกคงเอกลักษณ์นี้ไว้ให้กลายเป็นเสน่ห์ของอาคารหลังใหม่ได้อย่างดีเยี่ยม เดิมทีโกดังแห่งประวัติศาสตร์นี้ถูกทิ้งร้างและเกือบจะไม่ได้รับความสนใจ แต่ทันทีที่ Renzo Piano มาเห็นเข้าเขาก็ตัดสินใจจะรีโนเวทอาคารนี้และเลือกคงเอกลักษณ์ของผนังตลอดจนกำแพงอิฐแดงไว้ รวมถึงโครงสร้างอาคารเดิมและฟาซาดด้านนอกที่เป็นลักษณะกรอบโค้งอันแสนมีเสน่ห์

อาคารหลังนี้ถูกปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นพื้นที่รองรับการสร้างสรรค์ผลงานสำหรับศิลปินหลากหลายสาขา โดยที่นี่ได้จัดเตรียมอุปกรณ์ทันสมัยไว้รองรับการทำงานศิลปะตลอดจนวัฒนธรรมอย่างครบครัน ภายในอาคารสองชั้นสุดคลาสสิก 2 ชั้นนี้ถูกแบ่งออกเป็นห้องต่าง ๆ พร้อมอุปกรณ์และเครื่องมือสำหรับการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในแต่ละสาขา โดยห้องต่างๆ มีตั้งแต่พื้นที่ workshop สำหรับงานไม้, งานโลหะ, งานพลาสติก, งานเซรามิก, งานสิ่งทอ, สตูดิโอภาพพิมพ์, ภาพถ่าย (ห้องมืด), ห้องบันทึกเสียง, สตูดิโอขนาดเล็ก, ห้องดนตรี, ห้องสมุดวัสดุที่เก็บรวบรวมฐานข้อมูลวัสดุน่าสนใจจากทั่วโลก, ไปจนถึง Co-working space สำหรับทำงานศิลป์ เป็นต้น ซึ่งพื้นที่นี้เปิดบริการให้กับผู้ที่สนใจไปจนถึงนักสร้างสรรค์ระดับมืออาชีพเข้ามาใช้งานได้ตามต้องการ

สถาปัตยกรรมหายใจได้และอาคารเพื่อวิถียั่งยืน

อีกหัวใจสำคัญที่ Renzo Piano ตั้งปณิธานไว้สำหรับการออกแบบและรีโนเวทโปรเจกต์นี้ก็คือการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมภายใต้คอนเซ็ปต์ Breathable Architecture อาคารที่สามารถระบายอากาศได้ดีและหายใจหายคอได้สะดวกสบาย ซึ่งคอนเซ็ปต์นี้สามารถตีความมาเป็นรายละเอียดการออกแบบได้หลากหลายลักษณะ ตั้งแต่มิติของการออกแบบระบบระบายอากาศให้กับตัวอาคาร การออกแบบสถาปัตยกรรมผสานกับการออกแบบภูมิสถาปัตย์ที่ลงตัว การให้ความสำคัญกับพื้นที่ว่างเพื่อลดความอึดอัด ไปจนถึงการออกแบบสถาปัตยกรรมให้มีพื้นที่สำหรับ “หายใจ” เพื่อพักผ่อนหย่อนใจได้ในตัว

แนวคิดนี้นำมาสู่การสร้างอัตลักษณ์ใหม่ให้กับสถาปัตยกรรมนี้ ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีอาคารเก่าหลังนี้เคยมีปล่องไฟอิฐทรงกระบอกสูงชะลูด 4 ปล่องอยู่ด้านบน ปล่องอันตระหง่านนี้เคยทำหน้าที่เป็นปล่องระบายควันมาก่อน โดยอีกด้านของปล่องนี้คือตัวปล่อยมลพิษสู่เมือง ถึงแม้ว่าอาคารยุคหลังจะมีการทำลายปล่องไฟนี้ไปพักใหญ่แล้ว แต่การรีโนเวทครั้งนี้สถาปนิกกลับเลือกที่จะนำปล่องอันเป็นเอกลักษณ์นี้กลับมาสู่อาคารอีกครั้ง โดยคราวนี้ปรับเปลี่ยนจากปล่องอิฐให้กลายเป็นปล่องโลหะสีน้ำเงินเพรียวบาง 2 ปล่องที่สูงตระหง่านกว่า 72 เมตร ตัดกับสีอาคารอย่างโดดเด่น

ปล่องสุดสะดุดตานี้ไม่ใช่แค่การออกแบบเก๋ๆ เพื่อมาติดตั้งกับตัวอาคารเท่านั้น แต่ปล่องนี้ถูกออกแบบขึ้นเพื่อให้งานให้เป็นประโยชน์กับตัวอาคารไปพร้อมกันด้วย โดยปล่องทั้งสองจะทำหน้าที่ระบายอากาศบริสุทธิ์จากด้านบนเข้าสู่ตัวอาคาร และสร้างให้เกิดระบบหมุนเวียนอากาศที่ดีภายในตัวอาคารด้วย อากาศถ่ายเท ลมเย็นสบาย ซึ่งเมื่อระบบไหวเวียนอากาศดีก็จะช่วยลดการใช้เครื่องปรับอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

อีกส่วนที่ออกแบบภายในคอนเซ็ปต์ Breathable Architecture ก็คือโซนของ “พื้นที่สาธารณะ (Public Space)” ซึ่งมีการออกแบบภูมิทัศน์ไว้อย่างดีเยี่ยม โซนนี้จะอยู่ด้านข้างของอาคารหลัก ปรับเปลี่ยนพื้นที่ว่างให้เป็นพื้นที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจโดยออกแบบให้มีระนาบเอียงในลักษณะเดียวกันกับภูมิประเทศไหล่เขา รวมถึงคัดเลือกต้นไม้ท้องถิ่นมาปลูกให้มีลักษณะคล้ายป่าเพื่อให้อารมณ์เหมือนเดินเล่นอยู่ท่ามกลางป่าเขียวขจีพร้อมสูดอากาศบริสุทธิ์ไปพร้อมกัน

นอกจากระบบถ่ายเทอากาศและระบบพลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) แล้ว อีกระบบหนึ่งที่ออกแบบไว้อย่างดีเยี่ยมก็คือระบบบริหารจัดการน้ำฝน ทั้งในส่วนของน้ำฝนจากตัวอาคารและน้ำฝนจากโซนสวนป่าด้านข้าง ระบบระบายน้ำจะถูกออกแบบให้น้ำไหลมารวมกันไว้ในแทงค์กักเก็บเพื่อนำน้ำไปใช้ในระบบห้องน้ำ ระบบล้างทำความสะอาด ตลอดจนระบบรดน้ำต้นไม้ต่อไป ซึ่งเป็นการออกแบบเพื่อลดการใช้น้ำให้มากที่สุดตลอดจนบริหารการใช้ทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยนั่นเอง

GES-2 House of Culture ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ Moskva River ในย่าน Bolotnaya Embankment ใจกลางกรุงมอสโก และอยู่ไม่ไกลจากเครมลิน (Kremlin) มากนัก การรื้อฟื้นอาคารเก่าแก่ครั้งนี้นอกจากจะทรงคุณค่าทางด้านสถาปัตยกรรมแล้วก็ยังสร้างคุณค่าใหม่ในมิติของวิถียั่งยืนอีกด้วย การรีโนเวทภายใต้การอนุรักษ์นั้นทำให้วัสดุส่วนใหญ่เป็นวัสดุรีไซเคิลมากกว่า 50% ลดปริมาณขยะได้มาก และยังช่วยลดการใช้ทรัพยากรได้ในตัว ระบบบริหารจัดการพื้นที่ภายใต้การบริหารจัดการด้านพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพนั้นก็ทำให้ที่นี่ได้รับการรับรองด้านสิ่งแวดล้อมระดับ LEED Gold ในปี ค.ศ.2022 อีกด้วย และนี่คืออีกเสียงสะท้อนแห่งการอนุรักษ์ที่สามารถสร้างคุณค่าใหม่ให้กับโลกปัจจุบันได้เช่นกัน  

แหล่งอ้างอิงข้อมูลและภาพถ่าย
RPBW (Renzo Piano Building Workshop): www.rpbw.com
GES-2 : https://v-a-c.org/en/ges2  
The New York Times: https://www.nytimes.com/2021/12/07/arts/design/santa-barbara-ges-2-moscow-ragnar-kjartansson.html

Writer
Tada Ratchagit

Tada Ratchagit

นักเขียนที่หลงรักการถ่ายภาพ หลงเสน่ห์การเดินทาง หลงใหลงานดีไซน์ไปจนถึงสถาปัตยกรรมทุกยุค ตลอดจนสนใจเรื่องราวของสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตยั่งยืน