‘กวิน ศิริ’ อดีตสถาปนิกผู้อยู่เบื้องหลังเพจ ‘นวล’ หมากวนๆ ที่เล่าเรื่องราวในสังคม

“ชอบวาดรูป” เหตุผลสุดคลาสสิกที่ทำให้ใครหลายคนมาลงเอยที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เพราะเราเชื่อว่าจะได้มาฝึกวิทยายุทธจนแกร่งกล้า (แถมความสามารถในการอดนอน) ก่อนจะไปประลองฝีไม้ลายมือ ปลดปล่อยความเป็นตัวเองผ่านเส้นสายและดีไซน์ได้อย่างเต็มที่ แต่ความเป็นจริงแล้วกลับมีอุปสรรคมากมายที่ทำให้เราตระหนักได้ว่า การชอบวาดรูปอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ไม่ใช่ทุกอย่างของการดีไซน์ 

เช่นเดียวกันกับแขกคนพิเศษของเราในคอลัมน์ ‘ชีวิตหลังความเต็ค’ กับเรื่องราวชีวิตของเหล่าสถาปนิกหลังผันตัวไปโลดแล่นบนเส้นทางใหม่ อย่าง ‘คุณกวิน ศิริ’ สถาปนิกที่หันกลับมาต่อยอดความหลงใหลในลายเส้น จนกลายมาเป็นเจ้าของเพจ Facebook และ YouTube channel ‘นวล’ ซึ่งเป็นการ์ตูนหมาที่เล่าเรื่องด้วยปลายปากกา ท่าทีและน้ำเสียงสุดกวน ชวนให้เราอดที่จะเอ็นดูแกมหมั่นไส้ไม่ได้ จนไป ๆ มา ๆ ก็กลายเป็นหนึ่งในบรรดา 1 ล้านกว่าคนที่กดปุ่ม Follow นวลไปเรียบร้อย

คุณกวิน ศิริ เจ้าของเพจนวล

ความตั้งใจเริ่มแรกก่อนเปิดประตูสู่รั้วสถาปัตย์

“ความตั้งใจที่เข้ามาเรียนที่นี่ มันไม่ได้มาจากความตั้งใจอยากเป็นสถาปนิก ความฝันจริง ๆ ในวัยเด็ก คือ อยากเป็นนักเขียนการ์ตูน แต่ในยุคของเรามันไม่ได้มีตัวเลือกเยอะขนาดนั้น เราก็เป็นนักเรียนสายวิทย์ที่พอวาดรูปได้ แล้วพ่อก็เป็นวิศวกรทำรับเหมาก่อสร้าง เราเคยเข้าไปออฟฟิศแล้วเห็นงานของสถาปนิกคนหนึ่ง เรายังจำได้ว่าบนผนังมีภาพ Perspectives ใส่กรอบรูปแขวนไว้ 9 ภาพ เราไม่เคยเห็นมาก่อนเลยว้าวมาก ถ้าได้เรียนคณะสถาปัตย์ก็น่าจะได้วาดรูปแบบนี้ แล้วอาจจะทำให้วาดฉากหลังการ์ตูนได้สวย” (ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่เกี่ยวเลย)

คุณกวินเล่าย้อนว่า ‘การ์ตูน’ เป็นเชื้อเพลิงสำคัญที่จุดประกายฝันทำให้เขาก้าวเข้ามาในรั้วคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการ์ตูนที่ทำให้เขาเห็นความงามของสถาปัตยกรรม คือ ‘Aria’ โดย Kozue Amano (โคซูเอะ อามาโนะ) เขาประทับใจในสถาปัตยกรรมเก่า ๆ ที่อยู่บนฉากหลัง ‘Neo-Venezia’ ซึ่งเป็นเมืองจำลองในเรื่องที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเมือง Venice (เวนิส) ในอิตาลี และเขาคิดว่าถ้าได้เรียนเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมเชิงอนุรักษ์ก็น่าจะสนุกดี

คุณกวินยังเล่าต่อว่าหลังจากเข้ามาเรียนแล้ว เจอแต่คนเก่ง ๆ เต็มไปหมด กลายเป็นว่าต้องใช้พลังงานมหาศาลในการพิสูจน์ตัวเอง นานเข้าก็เริ่มสั่งสมความสามารถในการรับมือปัญหาและการทำโปรเจกต์ เหมือนตัวละครในเกมที่ยิ่งเล่นนาน ก็ยิ่งมีหลอดพลัง HP ที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งหลอด HP นี้ไม่ได้บรรจุแค่กำลังกาย แต่รวมถึงกำลังใจหรือสิ่งใด ๆ ที่ทำให้งานเสร็จ ในขณะเดียวกันก็เรียนรู้ที่จะใช้พลังงานอย่างชาญฉลาด

“เราอาจจะไม่ใช่นักเรียนที่น่ารักสำหรับอาจารย์เท่าไหร่ เพราะว่าเราทำงานแบบเอามันส์เข้าว่า ไม่ค่อยเชื่อฟังใบโปรแกรมเท่าไหร่ งานเลยออกมาดูเอาแต่ใจ อาจารย์ท่านอุตส่าห์ตรวจถูกผิดมาแค่ไหน สุดท้ายเราก็ทำมาตามแบบที่ตัวเองชอบอยู่ดี เราเลยรู้สึกชอบช่วงเวลาประมาณปี 4 ปี 5 เพราะตอนปีเด็ก ๆ เรายังเกรงใจอาจารย์ ทำให้ไม่กล้าออกจากกรอบมากนัก แต่ปีโต ๆ ก็เริ่มรู้แล้วว่า ถ้างานเราผ่าน Requirement ขั้นพื้นฐานได้ ที่เหลือจะทำอะไรก็ไม่ใช่เรื่องผิด”

พลิกบทบาทสู่เส้นทาง Animation Producer

หลังจากที่คุณกวินเรียนจบมาแล้วก็ได้มีโอกาสลองทำงานหลายอย่าง ตั้งแต่งานกราฟฟิค หรือแม้กระทั่งคนเขียนบทละครเวทีและซิตคอม ซึ่งระหว่างนี้เขาก็ขบคิดถึงเป้าหมายในชีวิตไปด้วย แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจหันกลับมาหาลายเส้นการ์ตูนที่เขาหลงใหล 

“นวลเกิดขึ้นมา เพราะเราเคยมีความฝันอยากจะเป็นวาดการ์ตูนนั่นแหละ ตอนแรกก็ไม่ได้คิดว่ามันจะกลายเป็นอาชีพขึ้นมาได้ เพราะเราแค่เล่าเรื่องของหมาจรจัดที่รับมาเลี้ยง แต่เล่าไปเล่ามา ขอบเขตของเรื่องที่เล่ามันก็ขยายขึ้นมาเรื่อย ๆ จากเรื่องป่วน ๆ ของหมาที่บ้าน มาเป็นเรื่องการเมืองการปกครอง ปรัชญา เศรษฐศาสตร์ สุขภาพจิต จากการ์ตูนเป็นหน้า ๆ ก็กลายมาเป็นอนิเมชันเต็มรูปแบบ เรียกว่าช่วงไหนสนใจเรื่องอะไร ก็เอามาทำเป็นเนื้อหาในวีดิโอได้หมดเลย ประกอบกับความที่เราเป็นคนทำงานเอามันส์อยู่แล้ว ถึงเรื่องที่เล่าจะจริงจัง แต่เราสนุกกับการหาทางเรียบเรียงเรื่องราวให้มันไม่น่าเบื่อ หาทางปล่อยมุก หาทางเสียดสี พอมีกลิ่นอาย มีลายเซ็นต์เป็นตัวของตัวเองสูง ก็อาจจะทำให้มันน่าจดจำ แตกต่างจากคนอื่นขึ้นมา”

นอกจากนี้เรายังแอบถามคุณกวินว่าถ้าไม่เป็นหมา จะอยากเป็นอะไร ? เจ้าตัวก็ตอบกลับมาอย่างไว “สมเสร็จครับ เพราะว่าเวลามันนอนดูสบายดี แล้วมันก็เหมือนหมูที่เป็นแพนด้า จริง ๆ ตอนแรกเราจะจดชื่อทะเบียนบริษัท สมเสร็จสตูดิโอ เรามีโลโก้อะไรเสร็จเรียบร้อยเลยนะ แต่พอเราให้พนักงานดู โดนด่ายับเลย บอกว่าจะไม่ทำงานในบริษัทชื่อสมเสร็จ (หัวเราะ) ”

ทักษะสถาปัตย์ที่อยู่เบื้องหลังของการทำงานอนิเมชัน

คุณกวินเล่าว่าถึงแม้การทำงานบนแพลตฟอร์มจะมีตัวแปรเยอะ มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา ทำให้ต้องเรียนรู้ปรับตัวให้เข้ากับความต้องการใหม่ๆ ของทั้งผู้ชมและแพลตฟอร์ม แต่กระบวนการทำงานอนิเมชันก็คล้ายกับงานสถาปัตย์ เพราะต้องเริ่มจากการค้นหา วิเคราะห์ข้อมูลและทำ Circulation Diagram เช่นกัน เพียงแต่ Diagram ของคนเล่าเรื่องจะเป็นการวางแนวทางเส้นเรื่องแทน

“จริง ๆ ประสบการณ์จากการเรียนสถาปัตย์มันมีความสำคัญมาก ๆ ในการ Shape Idea มันเป็นการทำงานกับความคิด ทำงานกับสิ่งที่อาจไม่สามารถวัดค่าได้ด้วยการเก็บข้อมูลหลังบ้าน แต่เรารู้ว่ามันจะไปปรากฏในใจผู้ชมอย่างแน่นอน เพราะสุดท้ายแล้วเราทำงานให้คนดู ยกตัวอย่างการทำสตอรี่ที่ดี ให้ประทับใจคนจำนวนมาก มันคล้ายกับการที่เราต้องเอาจิ๊กซอว์คนละชุดมาต่อกันให้มันเมคเซ้นส์ ถ้าจิ๊กซอว์แต่ละชิ้นที่เราหยิบมาใช้ เป็นสิ่งที่เราเล่นดีไซน์ขึ้นมาใหม่หมดทุกอันเลย เราอาจจะสนุก ทำงานง่าย แต่คนดูอาจจะรับไม่ทันหรือเปล่า ? บางทีเราต้องเอาจิ๊กซอว์ที่ทุกคนมีอยู่แล้ว อยู่ในใจคนดูอยู่แล้ว มาพลิกด้านอื่น ประกอบกันขึ้นมาเป็นรูปใหม่ คนดูก็จะรับสารได้ง่ายขึ้น เรารู้สึกว่าความสามารถในการมองเห็นสิ่งเหล่านี้มันได้มาจากตอนเรียนสถาปัตย์”

หลังจากที่ทีมนวล สตูดิโอช่วยกันวาดลายเส้นให้ดูเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาแล้ว ก็เข้าสู่ขั้นตอนการทำอนิเมชัน ซึ่งในพาร์ทนี้คุณกวินยังแอบสอดแทรกความชอบส่วนตัวลงไปในงานอีกด้วย 

“เราเป็นคนที่ค่อนข้างอินกับการทำหนัง บางครั้งเราก็จะใส่ลายเซ็นต์ของผู้กำกับหนังเข้าไปด้วย อย่างช่วงนึงเราดูหนังของฟินเชอร์ (David Fincher) เยอะ เราก็จะพากย์เสียงถี่มาก ๆ และการใส่ Sound Effect มันก็ช่วยยกระดับงานขึ้นไปอีก เราเคยทำฉากที่เสือ (หนึ่งในตัวละคร) จมน้ำแล้วขึ้นมา ซึ่งถ้าไปเปิดเบื้องหลังดูจะเห็นมีซาวด์ประมาณ 20-30 ช่อง เพราะมันจะมีทั้งเสียงคลื่น เสียงนกนางแอ่น เสียงน้ำโดนทราย เสียงคนสำลักน้ำ ดีเทลที่ใส่ไปพวกนี้มันสนุกมาก แต่ก็เสียเวลาไปกับตรงนี้เยอะมาก (หัวเราะ)”

‘นวล’ หมาที่ซื่อสัตย์กับจุดยืนและความฝัน

ก่อนที่จะกล่าวร่ำลากันไป เราก็ได้ถามทิ้งท้ายถึงมุมมองของคุณกวินในฐานะคนที่ผ่านชีวิตหลังความเต็คมาแล้ว

ถ้าย้อนกลับไปได้ จะยังเลือกเรียนสถาปัตย์อยู่ไหม ?
“เรียนสถาปัตย์มันก็มันส์ดีนะ มันก็เป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำดี สำหรับเราแล้วการเรียนคณะสถาปัตย์มันคล้าย ๆ กับการกินอาหารที่มีทุกรสชาติเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน เหมือนกินเมี่ยงคำมั้ง เคี้ยว ๆ เข้าไปแล้วก็ค่อยไปเลือกเองว่าจะชอบรสอะไรในนั้น และเราเองก็อาจจะชอบรสขมก็ได้นะ”

ช่วยฝากอะไรถึงคนที่ยังตามหาความฝันของตัวเองหน่อยได้ไหม ?
“ถ้าให้พูดในมุมของนักเรียนสถาปัตย์ เราก็อยากให้ได้ใช้ช่วงเวลาการเป็นนักเรียนอย่างเต็มที่ ไม่ต้องกังวลกับความผิดพลาดจนเกินไป การทำตามโจทย์ให้ถูกต้องอาจนำไปสู่คำตอบที่ควรจะเป็น แต่ถ้าได้ลองทำสิ่งที่แตกต่างมากๆ ดู อาจนำไปสู่เส้นทางบางอย่างที่อาจารย์ไม่ได้สอนก็ได้ ซึ่งในชีวิตการทำงานจริง เราอาจจะไม่ได้มีโอกาสทำอะไรตามใจตัวเองขนาดนั้นอีกแล้ว 

และการเรียนดีไซน์มันก็ย่อมมาควบคู่กับความไม่มั่นใจ ความกังวลใจ และความว้าวุ่น มันก็เป็นหน้าที่ของวัยรุ่นอยู่แล้วล่ะนะ ดังนั้นก็กลุ้มใจไปเถอะ อย่าไปรู้สึกว่าเราต้องมีคำตอบทุกอย่างให้ตัวเองตอนนี้ เพียงแค่เมื่อถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจ ก็อยากให้เลือกจากสิ่งที่เป็นตัวเอง แค่นี้ก็น่าจะโอเคแล้ว”

แม้ปัจจุบันคุณกวินจะได้สร้างนวลมา 5 ปีแล้ว และมันก็เป็นสิ่งที่ใกล้เคียงกับอาชีพในฝัน ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังตอบไม่ได้ว่าการรับบทเป็นหมาในโลกอินเตอร์เน็ต คือคำตอบที่ใช่สำหรับเขาแล้วหรือยัง แต่สิ่งสำคัญมากกว่าในตอนนี้คือ เขาอยากทำหน้าที่เป็นหมาที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ เป็นหมาที่ไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อน และทำประโยชน์ให้กับคนอื่นบ้าง ตามความสามารถตัวเอง

กวิน ศิริ (นวล)
YouTube: https://www.youtube.com/@nualthedog
Facebook: https://www.facebook.com/nualthedog
Twitter: https://twitter.com/nualthedog
(ขอบคุณภาพผลงานประกอบจาก https://www.facebook.com/nualthedog)

Writer
Nara Aunjai

Nara Aunjai

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ที่ดำรงอาชีพนักเขียนเป็นงานหลัก นักแปลเป็นงานรอง และรับออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมเป็นงานพาร์ทไทม์