จากพื้นที่บ้านเกิดในอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ได้ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นบ้านพักตากอากาศสบายๆ โดยงานนี้ได้สถาปนิกจาก Architecture’s Matter เข้ามารังสรรค์การออกแบบผ่านแนวคิด การเคารพบริบทพื้นเดิมที่ให้ธรรมชาติโดยรอบ และบ้านพักตากอากาศเป็นตัวส่งเสริมซึ่งกันและกัน จนเกิดประสบการณ์แบบใหม่ให้กับเจ้าของบ้านแบบที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน
บริบทพื้นที่รายล้อมไปด้วย กอไผ่ และแม่น้ำ
จากโจทย์ที่ได้รับเจ้าของบ้านต้องการสร้างบ้านพักตากอากาศในพื้นที่เดียวกันกับบ้านของคุณพ่อ คุณแม่ และเครือญาติ โดยจะกลับมาพักผ่อนเพียง แค่เดือนละ 2-3 ครั้ง รวมไปถึงด้วยอาชีพครูที่สอนเกี่ยวกับด้านการเงินของเจ้าของบ้าน จึงมักมีทั้งทีมงาน และนักเรียน ที่แวะเวียนมาเยี่ยมเยือนอยู่บ่อยครั้ง
“เมื่อลงไปในพื้นที่จริงเราพบกอไผ่ขนาดใหญ่สูงถึง 10 เมตร รายล้อมไปทั่วทั้งพื้นที่ ที่มักจะมีเสียงลมพัดกระทบกับไม้ไผ่อยู่ตลอด ถึงแม้จะมีแม่น้ำป่าสักอยู่แต่เป็นเพียงแค่ช่วงแคบและไม่ได้สวยงามเท่าไหร่นัก นอกจากนี้เรายังพบว่าในช่วงฤดูฝนน้ำจะท่วมสูงไปทั่วทั้งบริเวณพื้นที่ จึงต้องศึกษาสถิติระดับน้ำและเลือกถมดินในพื้นที่บางจุดเพื่อหลบหลีกไม่ให้น้ำท่วมถึงในเบื้องต้นก่อน”
ให้ธรรมชาติส่งเสริมบ้าน และให้บ้านส่งเสริมธรรมชาติ
ด้วยความคุ้นเคยพื้นที่มาตั้งแต่เด็กของเจ้าของบ้าน สถาปนิกจึงเลือกใช้แนวคิดที่ยังคงเคารพพื้นที่ และบริบทดั้งเดิมอยู่ โดยให้ธรรมชาติและบ้านพักตากอากาศเป็นตัวส่งเสริมซึ่งกันและกัน เพื่อสร้างมุมมอง และสเปซที่ช่วยมอบประสบการณ์แบบใหม่ให้กับเจ้าของบ้านแบบที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน
สร้างอาคารให้เป็นรูปตัวแอล เพื่อเปิดมุมมองสู่ธรรมชาติ
ในส่วนของการจัดวางพื้นที่ สถาปนิกเลือกออกแบบให้อาคารเป็นตัวแอล เพื่อแบ่งโซนระหว่าง Public และ Private ออกจากกัน โดยส่วนของ Public ออกแบบให้เป็น Open Plan ไล่ลำดับตั้งแต่ แพนทรี่ ส่วนรับประทานอาหาร และส่วนของพื้นที่รับแขก โดยทั้งหมดติดตั้งกระจกบานเลื่อนขนาดใหญ่เพื่อให้มองเห็นวิวคอรท์ยาร์ดธรรมชาติได้ นอกจากนี้ยังมีระเบียงรอบอาคารที่สามารถออกไปนั่งเล่น หรือสังสรรค์กับทีมงานได้อีกด้วย
โดยตัว Corridor ตรงกลางจะทำให้หน้าที่เชื่อมเข้าสู่พื้นที่ Private ที่มีห้องนอนรองรับแขกจำนวน 2 ห้อง และห้องนอนขนาดใหญ่จำนวน 2 ห้อง โดยห้องลำดับแรก (ขวา) จะเป็นห้องของน้องชายที่เข้ามาพักอาศัยบ่อยครั้ง ส่วนห้องลำดับที่สอง (ซ้าย) สำหรับเจ้าของบ้าน ซึ่งเป็นห้องที่สามารถมองเห็นคอร์ทยาร์ดธรรมชาติผ่านกระจกบานเลื่อนขนาดใหญ่ นอกจากนี้ยังมีระเบียงส่วนตัวที่สามารถออกไปนั่งเล่นเพื่อสัมผัสอากาศธรรมชาติได้อีกด้วย
“เราพยายามค่อยๆ ไล่ละดับความรู้สึก ตั้งแต่บ้านที่มีความปิดทึบมองเห็นภายในได้ไม่ชัดเจน แต่พอเข้ามาภายในบ้าน ด้วยช่องเปิดที่เป็นบานเลื่อนกระจกจุดโฟกัสจะย้ายไปอยู่ที่คอร์ทยาร์ดตรงกลางที่มีป่าไผ่ลายล้อมอยู่ ถึงแม้จะมีความร้อนมาจากทิศใต้แต่ป่าไผ่ก็ช่วยกรองแสงในระดับหนึ่ง ในขณะเดียวกันแสงอาทิตย์ในช่วงตอนเที่ยงก็ยังทอดลงมาคอร์ทยาร์ดตรงกลาง ซึ่งช่วยสร้างความน่าสนใจใหกับคอร์ทยาร์ดได้เป็นอย่างดี”
“การที่เราพยายามออกแบบช่องเปิดที่เชื่อมถึงกันทั้งหมด เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ตลอดทั้งวันจนไม่ต้องติดตั้งเครื่องปรับอากาศ หรือ การเปิดช่องแสงบนหลังคาบริเวณทางเดินเพื่อไม่ให้สเปซดูทึบตัน และช่วยประหยัดพลังงานได้ในอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งเป็นวิธีการของ Passive Design นั่นเอง”
นิ่งและเรียบด้วยการใช้เส้นแนวนอน
สถาปนิกขับเน้นเส้นแนวนอนให้กับกำแพง ระเบียง และ หลังคาในสัดส่วนที่มากกว่าเส้นตรง รวมไปถึงวัสดุอิฐที่ใช้วิธีการก่อแบบแนวนอนเพื่อให้อาคารดูมีความนิ่ง เรียบ และสามารถบดบังสายตาให้กับพื้นที่ในส่วน Private นอกจากนี้ยังมีการใช้หินธรรมชาติเพื่อให้อาคารดูเป็นส่วนเดียวไปกับธรรมชาติ
“ด้วยการออกแบบกำแพง เราเลือกที่จะให้กำแพงกลืนเสาเข้าไป ซึ่งตัวผนังมีจะช่องว่างตรงกลางที่มีอากาศไหลเวียนอยู่ ทำให้ไม่ว่าจะฤดูร้อนหรือฤดูหนาวก็ช่วยทำให้ภายในอาคารไม่ร้อน หรือหนาวจนเกินไป”
สร้างมุมมองใหม่ที่มองเห็นตัวบ้านได้สวยที่สุด
อีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญคือส่วนที่นั่งภายนอกบริเวณคอร์ทยาร์ดที่สถาปนิกใช้วิธีการถมดิน และให้ที่นั่งฝังลงในดิน ซึ่งเป็นมุมมองที่สามารถมองเห็นตัวบ้านในมุม 45 องศา โดยเป็นมุมที่มองเห็นตัวบ้าน และท้องฟ้าได้สวยที่สุด เมื่อนั่งทำกิจกรรม หรือ นั่งพักผ่อน ก็ช่วยทำให้เกิดประสบการณ์ใหม่ที่นอกจากวิวธรรมชาติเพียงอย่างเดียว
ประสบการณ์ที่ท้าทายและสนุกสำหรับสถาปนิก
สถาปนิกพยายามให้บ้านหลังนี้มีรายละเอียดที่เรียบง่ายมากที่สุด ไม่ซับซ้อน แต่ก็มีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดไปตามแต่ละสเปซเพื่อให้งานออกมาดีที่สุด ซึ่งต้องสื่อสารกับผู้รับเหมาอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากด้วยระยะทางที่ต้องใช้เวลาเดินทาง 5 – 6 ชั่วโมง ทำให้สามารถลงไปควบคุมงานได้เพียง 1-2 ครั้งต่อเดือนเท่านั้น และก่อนจะเริ่มเข้าไปตรวจไซต์ก่อสร้างจำเป็นต้องเริ่มวางแผนการสำรวจต่างๆ ไม่ว่าจสิ่งที่ต้องแก้ไข หรือการเพิ่มเติม เพื่อให้ทันกับรอบต่อไปที่เราจะเข้าไปดู ยิ่งเป็นเรื่องวัสดุยิ่งต้องแม่นยำ ถึงแม้จะมีอุปสรรคพอสมควรในขั้นตอนก่อสร้าง แต่ทางสถาปนิกที่ได้รับความไว้วางใจจากเจ้าของบ้านที่เปิดรับการดีไซน์ของสถาผนอหเกือบทั้งหมด ทำให้ได้ทดลองรายละเอียดใหม่ๆ ซึ่งสร้างความสนุก และประสบการณ์ใหม่ให้กับสถาปนิกเป็นอย่างมาก
Completion Year: 2022
Gross Built Area (m2/ ft2): 330 m2
Project Location: Petchabun, Thailand
Lead Architects: Nattapon Hongthong , Pongsatorn Phimnualsri , Nachapon Rujirasopon
Photo Credits: Rungkit Charoenwat
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!