การได้เห็นเมืองที่เด็กๆ ได้วิ่งเล่นโดยที่ไม่ต้องกังวลถึงอันตรายบนท้องถนน และสามารถเติบโตขึ้นอย่างมีความสุขในชุมชนที่เข้มแข็ง คงจะเป็นภาพที่ชวนให้ยิ้มได้ไม่น้อย สภาพแวดล้อมที่ดูเหมือนฝันนี้ได้เกิดขึ้นจริงแล้วที่ ย่านวูบ็อง เมืองไฟรบวร์ค ประเทศเยอรมนี ภายใต้การพัฒนาเพียงแค่สิบสามปี ด้วยความร่วมแรงร่วมใจระหว่างคนในชุมชนและรัฐบาล ทำให้สามารถเปลี่ยนจากฐานทัพเก่าของกองทัพนาซีเยอรมนี ให้กลายเป็นชุมชนต้นแบบที่เป็นมิตรต่อเด็กๆและสิ่งแวดล้อมมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกได้อย่างน่าชื่นชม
ช่วงปี ค.ศ. 1970 ประเทศเยอรมนีเกิดการเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Movement) ส่วนในเมืองไฟรบวร์คเองก็มีการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของรัฐบาลเช่นกัน หลังจากนั้นสมาชิกใน พรรคเขียว (Green Party) ได้รับการเลือกตั้งในตำแหน่งสภาเทศบาลเมือง (City Council) ของเมืองไฟรบวร์ค และสามารถดำรงตำแหน่งอยู่นับสิบปี ทำให้เกิดการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากมาย เช่น เครือข่ายเส้นทางจักรยานยาวกว่าสี่ร้อยกิโลเมตรทั่วเมือง การพัฒนาเส้นทางรถราง และติดตั้งพลังงานหมุนเวียนกับอาคารสาธารณะ ออฟฟิศ ที่อยู่อาศัย และศาสนสถาน จนในปี 2010 เมืองไฟรบวร์คได้รับการเลือกให้เป็น Academy of Urbanism’s European City of the Year จากการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน (Sustainable Urbanism) อีกด้วย
การบุกเบิกของคนหนุ่มสาว เปลี่ยนฐานทัพเก่าของนาซีเยอรมนีให้เป็นชุมชนที่แข็งแรง
สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพนาซีเยอรมนีได้สร้างฐานทัพที่ชานเมืองไฟรบวร์คเพื่อใช้เป็นที่ตั้งสำหรับ กองกำลังป้องกันแวร์มัค (Wehrmacht) หลายปีต่อมาหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองจบลง กองกำลังฝรั่งเศสได้เข้ายึดเพื่อใช้เป็นหนึ่งในที่ตั้งของกองทัพนาโต้ (NATO) และเรียกฐานทัพนี้ว่า ควอเทียร์วูบ็อง (Quartier Vauban) มาจากชื่อของจอมพลชาวฝรั่งเศส เซบัสเตียง เลอ แพร็สทร์ เดอ โวบ็อง (Sébastien Le Prestre de Vauban) หรือมาควิสวูบ็อง นั่นเอง ภายหลังจากการรวมชาติเยอรมนีสิ้นสุดลงในปี 1991 กองทัพฝรั่งเศสได้ถอนตัวออกไปจากพื้นที่ ในปีต่อมาเทศบาลเมืองไฟรบวร์คจึงทำการซื้อพื้นที่จากรัฐบาลเยอรมนี 40 เฮกตาร์ (ประมาณ 250 ไร่) เพื่อนำมาพัฒนาให้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยอย่างยั่งยืน
จริงๆ แล้วที่มาของการพัฒนาพื้นที่วูบ็องนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากกลุ่มคนหนุ่มสาว ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยพวกฮิปปี้และกลุ่มอนาธิปไตย (Anarchists) ที่แอบบุกเข้าไปอยู่ในฐานทัพ หลังจากกองทัพฝรั่งเศสถอนกำลังออกไปได้ไม่นาน ถึงแม้ทางเทศบาลจะไม่ค่อยพอใจสักเท่าไหร่ แต่ในที่สุดก็อนุญาตให้ใช้ฐานทัพสี่แห่งสำหรับอยู่อาศัยต่อได้ และหลังจากที่เทศบาลเมืองไฟรบวร์คได้ซื้อพื้นที่คืนจากรัฐบาลเยอรมนีในปี 1992 แล้ว จึงได้เริ่มต้นการพัฒนาเขตวูบ็องอย่างยั่งยืน (Vauban Sustainable Urban District) อย่างเป็นทางการ โดยจุดประสงค์ของโครงการเพื่อการพัฒนาพื้นที่ฐานทัพเดิมให้กลายเป็นย่านที่อยู่อาศัย โดยให้ความสำคัญกับคนในชุมชนโดยเฉพาะเด็กๆ สตรี เยาวชน ผู้มีรายได้น้อย และคำนึงถึงผลกระทบกับธธรรมชาติให้น้อยที่สุดด้วย เพียงแค่ 13 ปีหลังจากโครงการได้เริ่มต้นขึ้น เขตวูบ็องซึ่งมีจำนวนผู้อาศัยกว่า 5,00 คน ก็ได้ชื่อว่าเป็นย่านที่เป็นมิตรกับเด็กๆที่สุด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุดย่านหนึ่งของโลก
บ้านประหยัดพลังงาน ที่ผู้อาศัยร่วมกันออกแบบ
ช่วงเดียวกันกับที่ชาวฮิปปี้ชนะสิทธิอยู่อาศัยในฐานทัพสี่แห่งจากยี่สิบแห่งจากสภาเทศบาลเมือง ในปี 1994 ได้เกิดกลุ่มฟอรัมวูบ็อง (Forum Vauban) ซึ่งคอยกดดันเทศบาลให้พัฒนาย่านไปในทิศทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทางสภาเทศบาลจึงมอบหมายให้กลุ่มฟอรัมวูบ็อง รับผิดชอบเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน (community consultation) ไปซะเลย ตลอดระยะเวลาหนึ่งปี ระหว่างค.ศ. 1997-1998 กลุ่มพัฒนาเมืองวูบ็องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการค้นคว้าแลกเปลี่ยนความรู้ และพัฒนาโมเดลภายใต้หัวข้อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน เช่น ที่อยู่อาศัยแบบชีวภูมิ (Bioclimatic construction), การสัญจรอย่างยั่งยืน (Sustainable Mobility), และประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (Energy Efficiency) และมีการสนับสนุนให้เกิดการเวิร์คชอประหว่างประชาชนและผู้เชี่ยวชาญหลายๆสาขารวมแล้วกว่า 40 เวิร์คชอป ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นแนวคิดหลัก Learning while Planning หรือ การวางแผนพร้อมกับเรียนรู้ไปด้วย
การพัฒนาต่างๆ เช่น การวางผังเมือง หรือ นโยบายปลอดรถยนต์ เป็นผลลัพธ์ที่มาจากการเวิร์คชอปเช่นกัน ในเรื่องของอาคารที่อยู่อาศัยในเขตวูบ็อง ก็มีกลุ่มต่างๆ มากมายที่รับผิดชอบ เช่น SUSI (Self-Organized Independent Settlement Initiative) ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ จัดหาที่อยู่อาศัย และสร้างพื้นที่สาธารณะในย่านวูบ็อง Student Organization ที่พัฒนาโกดังหลายแห่งในฐานทัพเป็นหอพักนักเรียน และการรวมตัวกันก่อตั้ง สหกรณ์เคหะสถาน (Cooperative Housing Unit) กว่าสี่สิบกลุ่ม ซึ่งมีหน้าที่หลากหลายตั้งแต่ก่อสร้างอาคาร ดูแลรักษา และควบคุมระบบต่างๆ นอกจากนี้สมาชิกในกลุ่มจะร่วมกันออกแบบอาคารที่ตัวเองอยู่ ทั้งฟาซาด ทิศทางอาคาร พื้นที่สาธารณะ และสเกล โดยอิงจากหลักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตามที่กำหนด
หลังจากผ่านการพัฒนามากว่าสิบปี อาคารอยู่อาศัยของย่านวูบ็องซึ่งมีอพาร์ทเมนต์กว่าสองพันอาคาร ทุกอาคารผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำของอาคารใช้พลังงานน้อย low energy construction และอาคารเกือบสามร้อยยูนิตผ่านเกณฑ์อาคารประหยัดพลังงาน Passive house standard นอกจากนี้ยังมีอาคารบางส่วนที่เป็น Energy Plus หรือ สามารถผลิตพลังงานได้มาก กว่าใช้อีกด้วย
วูบ็อง ย่านที่ถนนเต็มไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ
วูบ็องเริ่มใช้นโยบาย เขตปลอดรถยนต์ (Car-Free Neighborhood) มาตั้งแต่ปี 2001 การที่นโยบายประสบความสำเร็จส่วนหนึ่งมาจากการวางผังสัญจรแบบ Filtered Permeability ซึ่งมีจุดเด่นคือการจัดวางถนนเล็กๆในลักษณะกริดที่เชื่อมกันอย่างทั่วถึงสำหรับเดินเท้าและปั่นจักรยาน และตัดผ่านพื้นที่สาธารณะ เพื่อความสะดวก และเพิ่มความน่าสนใจในการเดินสำรวจพื้นที่ต่างๆ นอกจากนี้ย่านวูบ็องยังจัดฟังก์ชันของอาคาร เช่น อาคารที่อยู่อาศัย อาคารพาณิชย์ สถานที่ทำงาน สิ่งอำนวยความสะดวก ให้ผสมผสานกันและกระจายอยู่ทั่วเขต ทำให้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเดินทางไกล อีกทั้งระบบขนส่งสาธารณะคุณภาพสูงอย่าง รถราง รถไฟ และรถบัส การเดินทางเข้าสู่ตัวเมืองไฟรบวร์คจึงไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใด
นอกจากนี้ย่านวูบ็องยังมีกฎจราจรที่เคร่งครัด รถยนต์สามารถเข้าถึงได้แค่บางพื้นที่ ส่วนถนนในโซนพื้นที่อยู่อาศัยจะถูกเรียกว่า Play Street โดยรถยนต์จะถูกจำกัดความเร็วให้ต่ำกว่าคนเดิน (5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง!) และสามารถจอดในเวลาสั้นๆเพื่อรับส่งคนและขนของเท่านั้น ส่วนในบริเวณอื่นๆของเขตวูบ็องจะสามารถขับได้ไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งจะเป็นความเร็วที่เหมาะสมในการเคลื่อนตัว และสามารถลดการเกิดอุบัติเหตุลงได้ถ้าเบรคกระทันหัน เราจึงสามารถเห็นเด็กๆออกมาวิ่งเล่นที่ถนนได้โดยไม่ต้องกังวลอุบัติเหตุ
นอกจากนโยบายเขตปลอดรถยนต์ ย่านวูบ็องยังถือว่าเป็นเขตปลอดที่จอดรถ (Parking-Free Neighborhood) โดยที่จอดรถถาวรจะถูกจัดให้อยู่ตามริมขอบของบริเวณที่อยู่อาศัย และบ้านไหนที่มีรถยนต์ส่วนตัว จะต้องทำการซื้อที่จอดรถในราคาสูงลิ่วประมาณเจ็ดถึงแปดแสนบาทต่อคัน และต้องจ่ายค่าซ่อมบำรุงในทุกๆเดือนด้วย เห็นแบบนี้แล้วก็ไม่แปลกที่ชาวเมืองส่วนใหญ่จะเลือกการปั่นจักรยานหรือโดยสารสาธารณะแทนการมีรถยนต์ส่วนตัว
ย่านวูบ็องเกิดขึ้นได้จากความร่วมแรงร่วมใจระหว่างประชาชนและรัฐบาล ทำให้เกิดการพัฒนาในด้านต่างๆมากมายไม่ว่าจะเป็น สิทธิการได้เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย, การเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐาน, พื้นที่สีเขียวที่ดี, โอกาสได้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมทางชุมชนรวมไปถึงกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมต่างๆ และเครือข่ายทางสังคมที่เหนียวแน่น ในที่สุดแล้ว ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนามากที่สุดคือเด็กๆ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ พวกเขาจะได้เติบโตภายใต้สภาพแวดล้อมที่ดีที่สุด ด้วยวิสัยทัศน์ที่ก้าวหน้า ชุมชนวูบ็องจึงสามารถพลิกฐานทัพของนาซี ให้เป็นย่านแห่งอนาคตของเด็กๆได้ภายในเวลาเพียงสิบกว่าปี
Barber, K. (2020, July). Freiburg: Germany’s futuristic city set in a forest. Retrieved from https://www.bbc.com/travel/article/20200715-freiburg-germanys-futuristic-city-set-in-a-forest
Christchurch needs an eco-neighbourhood like Vauban. (2015, June). Retrieved from https://www.stuff.co.nz/the-press/opinion/69230031/christchurch-needs-an-eco-neighbourhood-like-vauban
Ramos, A. (2010). Vauban Sustainable Urban District. (U. o. Coimbra, Ed.) Portugal. Retrieved from https://www.uclg-cisdp.org/en
Tina. (2022, 06). เที่ยว Freiburg Im Breisgau เมืองมหาวิทยาลัยในป่าดำ. Retrieved from https://www.sawadeedeutschland.com/freiburg-im-breisgau/
Wikipedia. (2022, December). Vauban, Freiburg. Retrieved from https://en.wikipedia.org/wiki/Vauban,_Freiburg
Zimmerman, M. (2017, October). An almost car-free suburb, where kids roam free. Retrieved from https://plancharlotte.org/story/vauban-freiburg-germany-sustainable-suburb-low-carbon-footprint
https://en.wikipedia.org/wiki/Vauban,_Freiburg
Parking Price
https://www.mobility-academy.eu/mod/book/view.php?id=293&chapterid=741
Residential
https://arrow.tudublin.ie/cgi/viewcontent.cgi?article=1058&context=bescharcart
Student Village
https://www.ayf.uni-freiburg.de/students/housing/vauban/
30 กม./ชม. ไทย
https://www.pandastaroil.co.th
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!