Search
Close this search box.

P30 House บ้านสไตล์โมเดิร์นที่หยิบสเปซจากโรงแรมหรูมาใช้ในการออกแบบ

หลายคนคงคุ้นเคยกับบรรยากาศในโรงแรมระดับ Luxury ที่มีสเปซโออ่า กว้างขวาง และหรูหรา แต่ใครจะคิดว่าแนวคิดการออกแบบโรงแรมจะถูกใส่ลงมาภายในบ้านพักอาศัยได้อย่างลงตัว จนกระทั่งบ้าน P30 House ที่ออกแบบโดย Normal Practice ได้หยิบจับสเปซของโรงแรม และวัสดุธรรมชาติเข้ามาใช้ในการออกแบบ ซึ่งทำให้ทั้งภายนอกและภายในอาคารดูทันสมัย กว้างใหญ่ และหรูหราได้อย่างไม่น่าเชื่อ

สเปซแบบเดียวกับในโรงแรม

เดิมเจ้าของบ้านพักอาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมเป็นหลัก และทำงานอยู่ในโรงแรมเป็นประจำ จึงต้องการบ้านพักอาศัยที่มีสเกล และสเปซที่ดูยิ่งใหญ่หรูหรา รวมถึงต้องการใช้วัสดุธรรมชาติ อย่างหิน และไม้ เข้ามาใช้ในการออกแบบ โดยที่สไตล์ของบ้านหลังนี้จะต้องดูทันสมัยอยู่ตลอด สถาปนิกจึงตีโจทย์ให้บ้านหลังนี้เป็นสไตล์โมเดิร์นขนาดโอ่อ่าที่เปิดรับธรรมชาติจากภายนอกเข้ามาเป็นส่วนเดียวกับภายในบ้าน

สัดส่วนที่ขัดแย้ง แต่ลงตัวด้วยการทับซ้อน

ด้วยขนาดของฟอร์มอาคารที่มีสัดส่วนขนาดใหญ่ แต่ฟังก์ชันทั้งหมดยังคงต้องอยู่ในระดับสัดส่วนมนุษย์ การจะออกแบบให้องค์ประกอบทั้งสองส่วนสัมพันธ์กัน จึงต้องเลือกใช้วิธีการทับซ้อน เช่นบันไดด้านหน้าทางเข้าของอาคารถูกดึงให้ยืดยาวออกไป และให้อาคารชั้น 1 วางทับซ้อนก็จะทำให้ทั้งสองส่วนดูไม่ขัดแย้งกัน และสร้างภาษาที่ชัดเจนให้กับอาคารด้วย

แยกฟังก์ชันพื้นที่รับรอง และพื้นที่ส่วนตัวด้วยคอร์ทยาร์ดตรงกลาง

พื้นที่กว่า 2 ไร่ ครึ่ง สถาปนิกได้เลือกวางฟังก์ชันประเภท Service ไว้ติดกับส่วนของเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นที่จอดรถ พื้นที่ซักล้าง และห้องเครื่องต่างๆ และให้พื้นที่ด้านหน้าเป็นพื้นที่รับรอง เช่น ห้องรับประทานอาหารแขก และห้องฟิตเนส ถัดมาจะเป็นส่วนของคอร์ทยาร์ด สระว่ายน้ำ บ่อปลาคราฟต์ และ Sunken seating เพื่อกั้นให้ส่วนของ Private ที่บรรจุห้องครอบครัว ห้องนอน และห้องสะสมโมเดล ได้มีระยะที่ห่างกันมากขึ้น  

“ระยะของทางเดินของอาคารทั้ง 2 ส่วนจะค่อนข้างไกล เมื่อคนภายในนอกเดินบนเส้นทางนี้จะรู้สึกถึงความเกร็ง และไม่อยากเดินเข้าไปในส่วนนี้”  

ให้ระนาบวัสดุเป็นตัวโอบล้อมสเปซ

ห้องรับประทานอาหารแขกได้จัดวาง โต๊ะขนาดยาว 16 ที่นั่ง ที่สร้างบรรยากาศหรูหราด้วยหินสีดำ Black Forest ปูไปตามยาวของผนังเป็นรูปตัวแอลจนครอบคลุมไปถึงส่วนบานตู้ของโต๊ะไอส์แลนด์ ซึ่งทำให้สเปซระหว่างโต๊ะและไอส์แลนด์ดูเป็นส่วนเดียวกัน นอกจากนี้ในส่วนของดับเบิ้ลสเปซยังเจาะช่องให้แสงธรรมชาติเข้ามากระทบกับส่วนระแนงไม้สัก จนเกิดเป็นเฉดเงา ซึ่งช่วยเพิ่มความสวยงามของไม้ได้อีกด้วย

“นอกจากนี้เรายังได้สร้างระนาบระแนงไม้สักให้กับสวนน้ำตก ยาวไปจนถึงทางเข้าประตูในส่วนของ Private ซึ่งใช้ระนาบแบบรูปตัวแอลเช่นเดียวกัน การที่เราสร้างระนาบแบบนี้เพื่อขับเน้นความชัดเจนของพื้นที่มากยิ่งขึ้น”  

ห้องโถงครอบครัวสูงขนาด 9 เมตร

ห้องโถงครอบครัวสูงจากพื้นถึงฝ้าประมาณ 9 เมตร เมื่อจัดวางเฟอร์นิเจอร์ติดผนังกลับมีสัดส่วนที่ไม่สัมพันธ์กัน สถาปนิกจึงเลือกใช้ผนังหินเรืองแสงขนาดใหญ่เพื่อเชื่อมห้อง และเฟอร์นิเจอร์ ดูเป็นส่วนเดียวกัน ขณะเดียวกันในเวลากลางคืนก็ยังมีแสงไฟแบบสลัวๆ ที่จะถูกเปิดตามเซนเซอร์อัตโนมัติ

“เราก็ยังนำเอาระนาบรูปตัวแอลมาใช้กับส่วนของชั้น 2 ด้วยการใช้ระแนงอลูมิเนียมสีดำ ตั้งแต่หน้าบ้านยาวจนมากถึงด้านใน ซึ่งผนังด้านหน้าจะวางคู่กับวัสดุหินอ่อนทราเวอร์ทีน”

บ้านที่มีบันไดวนส่วนตัว และบันไดส่วนรวม

บ้านหลังนี้มีได้มีการออกแบบให้มีทางขึ้นบันไดอยู่ 2 พื้นที่ด้วยกัน ได้แก่ บันไดวนส่วนตัว บริเวณห้องโถงครอบครัวสำหรับทางเข้าห้อง Master bedroom โดยเฉพาะ และโถงบันไดหลัก ที่ใช้ Bookmatch Marble ทั้งผนังและพื้นซึ่งจะมีลวดลายที่ต่อกันอย่างสวยงาม  

อาคารดูเบาด้วยเสากากบาท

ด้วยรูปแบบของสไตล์โมเดิร์นจึงใช้วิธีการออกแบบเสาลอยแบบ Star Column ด้วยการประกบเหล็กฉาก 4 ชิ้นให้กลายเป็นรูปกากบาท ซึ่งมีความพิเศษอยู่ที่ทำให้โครงสร้างของตัวอาคารดูเบา แต่ยังคงให้ความแข็งแรงอยู่ ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากเจ้าพ่อยุคโมเดิร์นอย่าง Mies van der Rohe  

ห้องสไตล์ Cigar Bar สเปซเดียวที่วินเทจ

ด้วยสไตล์ของทุกห้องจะถูกออกแบบให้เป็นสไตล์โมเดิร์นทั้งหมด เจ้าของบ้านจึงอยากให้สถาปนิกออกแบบห้องรับแขกคนสนิทในสไตล์ Cigar Bar ที่ให้ความรู้สึกถึงความขึม เท่ ดูวินเทจ สถาปนิกเลือกใช้วัสดุไม้รกฟ้าเข้ามาใช้ตกแต่งห้อง และเจาะช่องกระจกให้สามารถมองเห็นรถซุปเปอร์คาร์ที่บริเวณโถงจอดรถได้

นอกจากนี้เจ้าของบ้านยังเป็นคนชอบสะสมผลงานศิลปะ และหุ่นโมเดล ที่ชื่นชอบ และเคารพนับถือ จึงมีห้องไว้สำหรับเก็บสะสม เพื่อสำหรับนั่งชื่นชม หรือกิจกรรมได้

บ้านหลังนี้สเกลคือความยาก

“ความยากของบ้านหลังคือเรื่องขนาดของบ้านที่มีขนาดใหญ่กว่า 2,900 ตารางเมตร ซึ่งอีกนิดเดียวจะเป็นขนาดของโรงแรมแล้ว จึงต้องพยายามควบคุมเรื่องของสเกลให้ได้สัดส่วนความงามที่ยังคงสัมพันธ์กับฟังก์ชัน Human Scale ซึ่งส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับฟังก์ชันก็จะมีการปรับเพิ่มขนาดไปตามความเหมาะสม หรือใช้เทคนิควิธีการซ่อน เช่น อาคารด้านหน้า 2 ส่วนที่ถูกวางทับซ้อนกัน ซึ่งแมสฟอร์มดูทึบตันในระดับหนึ่งแล้ว หากไม่ซ่อนอาคารฟิตเนสไว้ด้านหลังผนังที่บางเบา ภาพรวมอาคารทั้งหมดก็จะรู้สึกถึงความหนัก และดูไม่ลงตัวได้ ด้วยความซับซ้อนของสเกลทำให้บ้านหลังนี้จึงต้องออกแบบให้เรียบง่ายมากที่สุด”

Credit : Architectural and
Interior Design: Normal Practice
Structural Design: KEYSTONE Consultant
Lighting Design: Aey Jongsiriwanich
Garden Design: Lana Design Studio
Image: SkyGround architectural film & photography

Writer
Watsapon Vijitsarn

Watsapon Vijitsarn

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading