จะเป็นอย่างไร ถ้าพักผ่อนอยู่ที่บ้าน แต่เหมือนได้มารีสอร์ททุกวัน ?
ด้วยสภาพแวดล้อมการทำงานด้านธุรกิจเกี่ยวกับน้ำยางที่ไม่ค่อยสุนทรีย์นักทั้งเรื่องกลิ่น หรือตำแหน่งไซท์งาน หนึ่งในสมาชิกคนสำคัญของ บ้านมักมวน จึงต้องการให้บ้านหลังใหม่นี้ตอบโจทย์ทั้งฟังก์ชันพื้นฐานการอยู่อาศัยของครอบครัว และทำหน้าที่เป็นบ้านพักที่ช่วยปรับสมดุลชีวิตจากความเครียดสะสมของการทำงาน สู่การปรับร่างกายให้ฟื้นฟูเหมือนได้มาพักผ่อนในรีสอร์ท
“เรามองภาพรวมที่อยากให้บ้านหลังนี้มีความเป็นรีสอร์ท นั่นคือมันจะมีประสบการณ์การรับรู้ที่ค่อนข้างสร้างความประทับใจให้การพักอาศัย” สถาปนิกจาก S Pace Studio ผู้รับหน้าที่ออกแบบบ้านหลังนี้เล่า
นอกจากเรื่องประสบการณ์การรับรู้ที่ต้องสอดแทรกเข้าไปในการออกแบบ ด้วยตัวบ้านที่ตั้งอยู่ในบ้านโคกไม้งาม อำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่นที่ห่างออกมาจากหมู่บ้านเป็นหน่วยกิโลเมตร ประเด็นเรื่องความปลอดภัยทางด้านการใช้งานจริง และความปลอดภัยในทางความรู้สึกจึงเป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่ต้องคำนึงถึงไม่แพ้กัน
บ้านชั้นเดียวที่โอบล้อมพื้นที่ผ่านการวางผังรูปตัว L
ตามศักยภาพของที่ดินที่มีขนาดค่อนข้างกว้างขวาง สถาปนิกจึงมองว่า การออกแบบเป็นบ้านชั้นเดียวที่แผ่กระจายในแนวราบน่าจะตอบโจทย์การใช้งานได้มากกว่า เพื่อให้สะดวกต่อการใช้ชีวิตในช่วงวัยชราของสองเจ้าของบ้าน ในการออกแบบจึงเป็นการนำทั้งสามโจทย์ (ประกอบด้วยประสบการณ์การรับรู้-ความปลอดภัย-บ้านชั้นเดียว) มาคิดไปพร้อม ๆ กัน เกิดเป็นการวางผังในลักษณะตัว L ที่มีลักษณะการเปิดฝั่งหนึ่งเป็นมุมแหลม ซึ่งตัว L นี้มีข้อดีตรงที่สามารถสร้างการโอบล้อมพื้นที่ผ่านการสร้างเส้นเพียงสองเส้น เกิดเป็นคอร์ดยาร์ดที่ใจกลาง ซึ่งสถาปนิกตั้งใจเลือกมุมแหลมของผัง หันสู่ป่าไม้มะค่า ป่าไม้พยุงเดิมที่บริเวณด้านหลังของบ้าน และหันด้านสามเหลี่ยมกว้างออกสู่วิวสนามหญ้าโล่ง ๆ เปิดมุมมองกว้างไกลที่ด้านหนึ่งของผืนที่ดิน
บริเวณคอร์ดใจกลางยังออกแบบให้เป็น Transition Space เชื่อมต่อพื้นที่ภายในบ้านและภายนอกบ้านให้เป็นส่วนเดียวกันและยังไม่รบกวนพื้นที่ชุมชนโดยรอบ ตอบโจทย์ลักษณะนิสัยของเจ้าของซึ่งมักมีการสังสรรค์กินเลี้ยงกันบ่อย ๆ
ภายในผังรูปตัว L ฟังก์ชันการใช้งานถูกแบ่งสัดส่วนอย่างชัดเจน โดยปีกด้านซ้ายจะเป็นฟังก์ชันส่วนตัวอย่างห้องนอนทั้ง 3 ห้อง มีคอร์ริดอร์ขนาบยาว ส่วนฝั่งด้านขวาเป็นพื้นที่ common area ที่สามารถมาใช้งานร่วมกัน โดยห้องรับประทานอาหาร แพนทรี่ พื้นที่นั่งเล่นจะอยู่รวมกันเป็นพื้นที่เดียว ก่อนจะเชื่อมออกสู่ชานและสระว่ายน้ำที่อยู่บริเวณใจกลางของบ้าน
สร้างประสบการณ์ที่เป็นส่วนหนึ่งกับสภาพแวดล้อม
ย้อนไปก่อนจะก่อสร้างบ้าน ที่ดินตรงนี้เป็นพื้นที่โล่งกว้าง สถาปนิกจึงตั้งใจสร้างแลนด์สเคปและเนินดินเพื่อให้ผู้อยู่อาศัยภายในบ้านเกิดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ เกิดเป็นเส้นสายของงานภูมิทัศน์ที่ค่อย ๆ ไหลจากสนามหญ้าหน้าบ้านเข้าสู่บริเวณคอร์ดภายใน
“เราสร้างสภาพแวดล้อมให้ไม้พุ่มกลืนเข้ามาตั้งแต่ภายนอก ไหลเข้ามาภายในเป็นเส้นโค้ง เป็นขอบเขตเล็ก ๆ จนมาจบที่ต้นไม้ใหญ่เป็นจุดนำสายตา ทั้งหมดนี้จะเกิดเอฟเฟกต์ของแสง การบดบัง มันคือเรื่องของการเข้าถึง สะท้อนให้ผู้ใช้งานรู้สึกว่าอาคารเป็นส่วนหนึ่งของสภาพแวดล้อมที่เราสร้างขึ้นมาใหม่โดยไม่เขอะเขินกับสภาพแวดล้อมเดิม”
การเปิดมุมมองไปยังทิศตะวันตกและใต้นี้ จะตามมาด้วยความร้อน ซึ่งผู้ออกแบบแก้ปัญหาด้วยการสร้าง Shading ขนาดใหญ่ครอบที่บริเวณส่วนปลายตัว L เกิดเป็นทรงสามเหลี่ยมพีระมิด ซึ่งหลังคาระแนงที่ทำหน้าที่เป็น Shading นี้จะเป็นตัวห้อมล้อมให้เกิดเป็นคอร์ดกลางบ้านอย่างสมบูรณ์ โดยทีมออกแบบเลือกใช้ความถี่ของระนาบ Shading นี้ให้เป็นระแนง เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงกับภายนอก โดยคอร์ดยาร์ดจะเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของแลนด์สเคปไปด้วยนั่นเอง
“พอเรามีตัว Shading พาดเป็นสามเหลี่ยม เราวางผังให้ตำแหน่งสระว่ายน้ำขนานกับปีกหนึ่งของตัว L และมี Shading พาดอยู่ เพื่อสร้างประสบการณ์การว่ายน้ำให้มีมากกว่าหนึ่งสเปซ สามารถอยู่ในคอร์ดรู้สึกปลอดภัยได้ แต่ถ้าว่ายพ้นตัวบ้านไปจะได้มองเห็นวิว เกิดเป็นความรู้สึกอีกแบบหนึ่ง”
ปลอดภัยจากการห่อหุ้มของอาคาร
สิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือการสร้างคอร์ดยาร์ด common area ทั้งหมดให้รู้สึกปลอดภัยผ่านการห่อหุ้มจากตัวอาคาร เพียงแต่ระนาบที่ใช้ในการห่อหุ้มจะถูกออกแบบเพื่อไม่ให้ปิดทึบจนเกินไป เมื่อเรายืนอยู่ที่สวนมองเข้ามาในบ้าน ตัวองศาของระแนงอะลูมิเนียมและการหักเหจะทำให้ทึบตันบดบังการมองเห็นฟังก์ชันภายใน แต่กลับกันหากอยู่ภายในมองออกสู่ภายนอก จะสามารถมองเห็นสภาพแวดล้อมโดยรอบบ้านได้อย่างชัดเจน ทำให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกปลอดภัยและเป็นส่วนตัวไปพร้อมกับการสร้างประสบการณ์เชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ภายในและภายนอก
Something More: “เรามีงบประมาณจำกัด แต่ทำยังไง? ให้มันแสดงศักยภาพของตัวบ้านออกมาให้มากที่สุด เพราะเราอยากให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมชุมชน” สถาปนิกเลือกนำองค์ประกอบแบบผนังบ้านอีสาน ไม่ว่าจะเป็นการโชว์โครงคร่าว เส้นนอนของแนวปีกไม้เข้ามาเล่นกับผนังภายนอกภายใน โดยใช้ผนังภายนอกเป็นโครงเหล็กเพื่อให้เกิดความแข็งแรง ส่วนภายใน ใช้วัสดุสำเร็จรูปเข้ามาสร้างเส้นตั้ง เส้นนอนขัดกันไปมา เพื่อให้คล้ายกับผนังคร่าวนั่นเอง
Location : อำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น
Area : 330 ตร.ม.
Budget : งานอาคารหลัก 7 ลบ, ตกแต่งภายใน 1.2 ลบ, เฟอร์ลอยตกแต่ง 8 ส, ภูมิทัศน์ 1 ลบ (รวม 10 ลบ)
Owner : คุณจีรนันท์
Contractor : ก.กิจรุ่งเรือง จำกัด
Engineer : บริษัท บันได (ประเทศไทย) จำกัด
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!