ความสวยงามของคาเฟ่ยุคสมัยใหม่ไม่ใช่แค่เปลือกภายนอกของอาคารอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นการดึงเอาบริบทเกษตรกรรม และธรรมชาติโดยรอบเข้ามาสร้างมิติให้กับสเปซจนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว และพื้นที่พักผ่อนแบบใหม่อย่างที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน เช่นเดียวกับ Aston Gilbert คาเฟ่สไตล์โมเดิร์นที่อยู่ใจกลางสวนยาง ในจังหวัดนครศรีธรรมราช จากทีมผู้ออกแบบอย่าง VARC HD+ID ที่ได้สร้างสเปซให้สามารถซึมซับบรรยากาศธรรมชาติโดยรอบพื้นที่ แถมยังใช้กระจกเข้ามาตกแต่งจนอาคารดูกลมกลืนไปกับสวนยางได้อย่างน่าสนใจอีกด้วย
ตั้งอยู่ใจกลางสวนยาง ธรรมชาติ และชุมชน
ทางเจ้าของต้องการขยับขยายกิจการคาเฟ่ให้มีสาขาเพิ่มขึ้น และสร้างคาเฟ่บนพื้นที่ดินที่ทำกิจการสวนยางกว่า 13 ไร่ ในสไตล์โมเดิร์น ดูเรียบง่าย แต่ต้องดูโดดเด่นน่าสนใจ จนสามารถเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดนครศรีธรรมราชได้
“เนื่องจากที่ตั้งโครงการอยู่ในอำเภอพรหมคีรี บริบทของพื้นที่มีความเป็นธรรมชาติสูง มีการทำเกษตรกรรม และยังมีถนนลัดเลาะเข้าสู่ชุมชมเล็กๆ อยู่โดยรอบพื้นที่ การออกแบบอาคารสไตล์โมเดิร์นจึงต้องคำนึงถึงบริบทเป็นสำคัญด้วย”
ให้อาคารแทรกเข้ากับพื้นที่สวนยางจนกลายเป็นส่วนเดียวกัน
ด้วยลักษณะของสวนยางที่ถูกจัดวางให้ต้นไม้เป็นรูปแบบ Grid อยู่ดั้งเดิม สถาปนิกจึงออกแบบอาคารฟอร์มสี่เหลี่ยมผืนผ้าสองชั้น วางแทรกเข้าไปใน Grid ของต้นไม้ให้อาคารและสวนยางกลายเป็นส่วนเดียวกัน แต่ด้วยพื้นที่สวนยางที่มีขนาดใหญ่จนไม่สามารถรับรู้ขอบเขตของคาเฟ่ได้ สถาปนิกจึงออกแบบผนังให้ล้อมรอบไปด้วยอิฐบล็อกช่องลม ที่มาพร้อมกับคอร์ดยาร์ทขนาดเล็กอยู่ 2 คอร์ท สำหรับนั่งดื่มกาแฟรับบรรยากาศภายนอก ทั้งนี้ผนังอิฐช่องลม และคอร์ทยาร์ทก็ช่วยระบายอากาศ และเปิดรับแสงให้กับตัวอาคารเนื่องจากสภาพอากาศทางภาคใต้มีความร้อนชื้นสูง
กระจกเกรียบสร้างมิติให้คาเฟ่ล่องหน และกลมกลืนไปกับธรรมชาติ
ไฮไลท์ของคาเฟ่แห่งนี้อยู่ในส่วนของผนังเฉียงที่ติดตั้งกระจกเกรียบ ซึ่งตัดผ่าเข้าไปยังกลางแมสฟอร์มของอาคารจนกลายเป็นทาง Approach ในขณะที่กำลังเดินเข้าไปยังคาเฟ่ กระจกจะค่อยๆ เผยภาพตัวอาคารภายในที่กำลังล่องหนอยู่ ทั้งนี้ผนังกระจกยังสร้างขอบเขตพื้นที่การใช้งานให้ชัดเจนขึ้น รวมไปถึงยังเป็นตัวสะท้อนธรรมชาติและบริบทโดยรอบให้ดูกลมกลืนเป็นส่วนเดียวกันอีกด้วย
สร้างพื้นที่นั่งให้มองเห็นยอดต้นยาง
สำหรับพื้นที่ภายในชั้นที่ 1 สถาปนิกได้แบ่งพื้นที่ออกเป็นสองส่วน ได้แก่ Speed Bar และพื้นที่สำหรับนั่งดื่มกาแฟ หากใครต้องการชมวิวและรับลมก็สามารถขึ้นไปนั่งบนชั้น 2 ที่ถูกออกแบบให้โปร่ง และไม่ติดเครื่องปรับอากาศ ซึ่งสามารถมองเห็นยอดของต้นยางที่พริ้วไหวไปตามสายลมได้โดยรอบบริเวณพื้นที่ ซึ่งต้นยางในแต่ละฤดูก็จะให้บรรยากาศที่แตกต่างกันจนสามารถสร้างประสบการณ์แบบใหม่ในดื่มกาแฟได้ไม่ใช่น้อย นอกจากนี้ยังติดตั้งฟาซาดกระจกเกรียบที่สามารถปรับองศาให้หมุนได้ เพื่อเพิ่มมิติการสะท้อนบริบทธรรมชาติได้ในอีกทางหนึ่งด้วย
“วัสดุที่ใช้ในการออกแบบอาคารได้มาจากร้านในท้องถิ่นทั้งหมด อย่างผนังเองก็ใช้วิธีการก่ออิฐฉาบปูนสีขาวแบบเรียบง่ายเพื่อให้ขับเน้นเฉดเงาที่แสงกระทบกับต้นไม้ และด้วยความเป็นธรรมชาติเราจึงเลือกเปลือยผิวคอนกรีตให้กับเสากลม ที่ต้องการสื่อสารถึงความเป็นธรรมชาติให้ได้มากที่สุด”
ต้นยางทำให้เกิดความยากในการก่อสร้าง
ในช่วงการก่อสร้างจะต้องตัดต้นยางบริเวณภายในขอบเขตของอาคารให้น้อยที่สุด แต่ก็พบเจอปัญหาที่เมื่อต้องขุดดินเพื่อก่อฐานรากมักจะมีรากที่อยู่ใต้ดินเต็มพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งต้องคอยระวังรากต้นยางใกล้เคียงที่ต้องการเก็บเอาไว้ และจำเป็นต้องก่ออิฐรอบฐานรากเพื่อไม่ให้รากเกิดการทำลายโครงสร้างในอนาคต
“การก่อสร้างทั้งหมดได้เลือกผู้รับเหมาท้องถิ่น ซึ่งมีข้อจำกัดที่ผู้รับเหมาไม่เคยทำงานสไตล์แบบนี้มาก่อน การสื่อสารจึงกลายเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในช่วงเวลานั้น เช่น การติดตั้งกระจกเกรียบที่มีขนาดเล็กที่มีจำนวนมาก เราจึงต้องคอยให้ข้อมูล และพร้อมทดลองเรียนรู้ไปกับผู้รับเหมา เพื่อให้ไม่เกิดความเสียหาย หรือการแก้งานที่บ่อยครั้ง ซึ่งนับว่าเป็นความท้าทายพอสมควร”
คาเฟ่ที่สร้างคุณค่าให้กับบริบทโดยรอบ
การออกแบบคาเฟ่ในปัจจุบันนี้ สิ่งที่ต้องคำนึงคือ การสร้างความน่าสนใจให้กับบริบทด้วยวิธีการคิดสเปซ และยังต้องสร้างคุณค่าให้กับพื้นที่ และชุมชนได้โดยรอบด้วย นอกจากความสวยงามของคาเฟ่แล้ว ในเรื่องของผลิตภัณฑ์ และเมนูทางเจ้าของได้หยิบวัตถุดิบท้องถิ่นนำมาสร้างมูลค่า ซึ่งช่วยสร้างประโยชน์ให้กับคนในท้องถิ่น และคาเฟ่ก็ได้ผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจด้วยเช่นกัน
“เราอยากให้ผู้ใช้งานได้รับประสบการณ์ใหม่ในการดื่มกาแฟได้ทุกวัน อยากให้เป็นจุดหมายหนึ่งของนักท่องเที่ยวที่เมื่อมาถึงนครศรีธรรมราช และแวะมาที่คาเฟ่นี้ก็จะได้สัมผัสถึงชุมชนและธรรมชาติของอำเภอพรหมคีรีที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์อยู่”
Credit
Owner : ภวัต สุวรรณมาส
Architectural & Interior Design :VARC HD+ID
Photographer : adisorn
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!