ก่อนถอยรถไฟฟ้าคันใหม่เข้าบ้านต้องเตรียมพร้อมอะไรบ้าง

หลายคนได้หันมาให้ความสนใจเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก แต่ยังคงมีข้อสงสัยและกังวลเรื่องการติดตั้งเครื่องชาร์จแบตเตอรี่ภายในบ้านอยู่ ว่าจะต้องติดตั้งอะไรเพิ่มเติมหรือไม่? หรือสามารถเสียบเข้ากับเต้ารับภายในบ้านได้ในทันที ในวันนี้ทาง Dsign Something จึงได้รวบรวมข้อมูลการติดตั้ง และเรื่องไฟฟ้าภายในบ้าน ให้เข้าใจกันก่อนจะครอบครองรถยนต์ไฟฟ้าดีไซน์สวยมาใช้กัน

ควรติดตั้ง ‘มิเตอร์ไฟฟ้า’ ไม่ต่ำกว่าขนาด 30 แอมป์

ปกติแล้วมิเตอร์ไฟฟ้าสำหรับบ้านพักอาศัยทั่วไปจะอยู่ที่ 15 (45) แอมป์ 1 เฟส หมายถึง 15 แอมป์ และแรงพิกัดกระแสสูงสุดไม่เกิน 45 แอมป์ ให้แรงดันไฟฟ้า 220-230 โวลท์ โดยที่มิเตอร์ไฟฟ้าสามารถรองรับกระแสสูงสุดได้ไม่เกิน 3 ชั่วโมง ซึ่งหากใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือ รถยนต์แบบ Plug-In Hybrid จะต้องใช้พลังงานไฟฟ้าอยู่ที่  8 -16 แอมป์ ดังนั้นควรติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าใหม่ให้มีขนาด 30 (100) แอมป์ หากต้องการชาร์จแบตเตอรี่ในช่วง 3.7-7.4 กิโลวัตต์ชั่วโมง ควรจะใช้ 1 เฟส ก็เพียงพอแล้ว แต่ถ้าต้องการชาร์จแบตเตอรี่ให้รวดเร็วขึ้น ควรเปลี่ยนมาใช้เป็น 3 เฟส ซึ่งจะให้แรงดันไฟฟ้าที่ 380-400 โวลท์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพื้นที่ เครื่องชาร์จแบตเตอรี่ รถยนต์ และการประเมินของการไฟฟ้าด้วย

แยกวงจรสายไฟฟ้า (สายเมน) และลูกเซอร์กิตเบรกเกอร์สำหรับจ่ายไฟ EV Charger ออกจากวงจรจ่ายไฟภายในบ้าน

เมื่อติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าขนาด 30 (100) แอมป์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้ทำการแยกชุดสายไฟฟ้า (สายเมน) และ ลูกเซอร์กิตเบรกเกอร์ (Main Circuit Breaker (MCB)) เป็นจำนวน 2 ชุด โดยชุดแรกสำหรับใช้จ่ายไฟภายในบ้าน และชุดที่สองใช้สำหรับจ่าย EV Charger โดยเฉพาะ ซึ่งทั้งสองวงจรนี้จะต้องมีค่าพิกัดแสรวมกันไม่เกิน 100 แอมป์ ตามมิเตอร์ไฟฟ้า และจะต้องติดตั้งป้ายบริเวณ MCB ให้กับทั้งสองวงจรเพื่อบอกตำแหน่งของอีกวงจรหนึ่งด้วย

ใช้สายไฟฟ้า (Line) ขนาด 25 ตร.มม  และลูกเซอร์กิตเบรกเกอร์ขนาด 100 แอมป์

สำหรับสายไฟฟ้า Line จะส่งกระแสไฟฟ้าจะไหลเข้าสู่ EV Charger จึงจำเป็นต้องใช้สายขนาด 25 ตารางมิลลิเมตร THW สำหรับเดินลอยในอากาศ หรือใช้ขนาด 35 ตารางมิลลิเมตร NYY หากเดินร้อยท่อใต้ดิน ให้เดินคู่ไปพร้อมกับสายไฟฟ้า Neutral ที่ทำหน้าที่ให้กระแสไฟฟ้าไหลออกจากเครื่องใช้ไฟฟ้าให้ครบวงจร รวมไปถึงยังต้องติดตั้งสาย Ground เพื่อป้องกันกระแสไฟรั่ว นอกจากนี้ยังต้องติดตั้งลูกเซอร์กิตเบรกเกอร์ขนาด 100 แอมป์ โดยไม่ใช้ร่วมกับเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น เพิ่มเติมภายในตู้ควบคุมไฟฟ้า (Main Distributor Board) หากภายในตู้มีพื้นที่ไม่เพียงพอให้ทำการติดตั้งตู้ใหม่เพิ่มเติม

เสริมความปลอดภัยด้วยอุปกรณ์ป้องกันไฟรั่ว (RCD)

จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีอุปกรณ์ตัดไฟรั่ว (Residual Current Devices) ซึ่งจะทำหน้าที่ตรวจจับกระแสไฟฟ้ารั่วในสถานการณ์ต่างๆ เช่น ฟ้าฝ่า กระแสไฟฟ้าจ่ายผิดปกติ สายไฟฟ้าเกิดความชำรุดเสียหาย จนส่งผลให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งอุปกรณ์นี้จะตรวจจับเมื่อกระแสไฟฟ้ารั่วลงไปที่ดินและผ่านเข้าสู่ตัวคน โดยควรเลือกอุปกรณ์ตัดไฟรั่วที่มีพิกัดขนาดกระแสไฟฟ้ารั่วไม่เกิน 30 mA  และจะต้องตัดไฟได้ภายในระยะเวลา 0.04 วินาที เมื่อมีไฟรั่วขนาด 150 mA ตาม มอก. 909 ทั้งนี้ควรติดตั้งสายดินร่วมด้วยเสมอเพื่อเพิ่มความปลอดภัยสูงสุดในการใช้งาน ทั้งนี้หากสายชาร์จได้มีระบบป้องกันไฟรั่วอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องติดตั้งอุปกรณ์ตัดไฟรั่วเพิ่มเติมอีก

แบ่งการชาร์จออกเป็น 2 แบบ ได้แก่

การใช้สายชาร์จพกพาแบบเสียบเต้ารับ (EV Socket-Outlet)

การใช้สายชาร์จพกพาแบบเสียบเต้ารับ จะมีระยะการชาร์จไฟอยู่ที่ 0-80 เปอร์เซ็นต์ ในเวลาประมาณ 40-60 นาที ซึ่งหัวชาร์จจะเป็นระบบการจ่ายแบบไฟฟ้ากระแสตรง (DC Charging) ซึ่งหมายถึงกระแสไฟฟ้าจะออกจากขั้วลบผ่านเข้าสู่เครื่องชาร์จและจะไหลเข้าสู่ขั้วบวกนั่นเอง โดยหัวชาร์จจะมีอยู่สามประเภทด้วยกัน ได้แก่ CHArge de Move ,GB/T , Combined Charging System Type 1 และ Combined Charging System Type 2 ซึ่งประเทศไทยจะใช้ในรูปแบบของ Type 2 เป็นส่วนใหญ่

โดยสายชาร์จจะเสียบเข้ากับ EV Socket-Outlet หรือเต้าเสียบชนิด 3 รู ซึ่งให้กระแสไฟฟ้าได้ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 16 แอมป์ ตาม มอก. 166-2549 ทั้งนี้ยังต้องติดตั้งหลักดินขนาด 16 มิลลิเมตร ยาว 2.40 เมตร และใช้สายหุ้มฉนวนขนาด 10 ตารางมิลลิเมตร ยิดติดกันระหว่าง วงจรชาร์จไฟฟ้า EV Socket-Outlet และหลักดิน เพื่อความปลอดภัยจากไฟฟ้ารั่วไหล และลัดวงจร

การใช้เครื่องชาร์จแบบมีสายชาร์จ (Wall Mounted Charger)

การใช้เครื่องชาร์แบบมีสายชาร์จ จะใช้ไฟฟ้ากระแสสลับ (Ac Charging) ซึ่งหมายถึงกระแสไฟฟ้าจะไหลกลับไปมาอยู่ตลอดเวลาภายในเส้นทางเดียวกัน ผ่านเครื่องชาร์จ Wallbox ที่ติดตั้งไว้บนผนังของโรงจอดรถ ซึ่งจะใช้เวลาในการชาร์จอยู่ที่ประมาณ 5-7 ชั่วโมง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดแบตเตอรี่ และสเปคของรถยนต์ด้วย อย่างไรก็ตามควรติดตั้งเครื่องชาร์จ Wallbox ที่ได้มาตรฐาน มอก. 61851 หรือ IEC 61851 และต้องติดตั้งหลักดิน และสายหุ้มฉนวนเช่นเดียวกับแบบ Quick Charger

สำหรับหัวชาร์จของรุ่นนี้จะใช้อยู่ 2 รูปแบบคือ

1.Type 1 หัวชาร์จที่นิยมใช้ในทวีปอเมริกาเหนือ และประเทศญี่ปุ่น เป็นหัวชาร์จพลังงานไฟฟ้ากระแสสลับ ใช้กับแรงดันไฟฟ้าที่ 120V และ 240V

2.Type 2 หัวชาร์จที่นิยมใช้ในแถบทวีปยุโรป และประเทศไทย เป็นหัวชาร์จพลังงานไฟฟ้ากระแสสลับ รองรับแรงดันไฟฟ้าอยู่ที่ 120V และ 240V

เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายในการชาร์จแบตเตอรี่ให้กับรถยนต์ไฟฟ้า ควรจะเริ่มต้นจากการเปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้าของบ้านก่อน ซึ่งไม่แนะนำให้เสียบปลั๊กชาร์จเข้ากับเต้ารับเดิมที่มีอยู่แล้ว เนื่องจากบ้านพักอาศัยทั่วไปไม่ได้ใช้พลังงานไฟฟ้าถึง 30 (100) แอมป์ และควรแยกวงจรไฟฟ้าให้ชัดเจนว่าส่วนใดเป็นไฟฟ้าที่จ่ายภายในบ้าน และไฟฟ้าที่ใช้จ่ายสำหรับรถยนต์ ทั้งนี้ก็ควรติดตั้งเซฟตี้ต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับคน และตัวบ้าน หากกำลังหาซื้อใรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้งาน แต่ยังไม่มั่นใจเรื่องการติดตั้งระบบชาร์จแบตเตอรี่ แนะนำให้ปรึกษากับการไฟฟ้านครหลวง ซึ่งพวกเขาจะมีทีมคอยให้คำปรึกษา ถึงข้อมูลต่างๆ รวมไปถึงการติดตั้งที่เหมาะสมด้วย

ขอบคุณที่มาจาก
การไฟฟ้านครหลวง
https://www.autoinfo.co.th/

Writer
Watsapon Vijitsarn

Watsapon Vijitsarn