สถาปนิก หรือนักออกแบบหลายคนคงคุ้นเคยกับกระเบื้องที่ผลิตขึ้นจาก ดินเผา หรือเครื่องหินต่างๆ ที่ทำให้ภายในอาคารรู้สึกถึงความแข็งแกร่งสวยงามได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าเราอยากให้ภายในอาคารรู้สึกถึงความนุ่มนวล แต่ยังคงความแข็งแรงจะเลือกใช้กระเบื้องประเภทไหนกันดีละ?
ease studio จึงได้คิดค้น และออกแบบ Tex-Tile กระเบื้องแบบผ้าที่ผ่านฝีมือหัตถกรรมด้วยเทคนิคการสาน พัน ปัก และจับจีบ จนเกิดเป็นแพทเทิร์นที่ดูนุ่มนวล ดีไซน์หลากหลาย จนสามารถสร้างความสนใจให้กับภายในอาคารได้เป็นอย่างดี
สร้างกระเบื้องด้วยแนวคิด Industrial Craft
Tex-Tile วัสดุตกแต่งผนังภายใน และกึ่งภายนอก ที่ทำขึ้นจากผ้าชนิดต่างๆ เช่น หนังแท้ หนังเทียม พีวีซี เส้นเชือกทีพี เชือกไนล่อน หรือเชือกทอ ที่ผลิตขึ้นจากโรงงานอุตสาหกรรม และนำมาผ่านฝีมือหัตถกรรม (คราฟต์) ด้วยเทคนิค การสาน พัน ปัก จับจีบ และเทคนิคอื่นๆ ลงไปบนแผ่นไม้อัด ไม้ MDF ไม้ HMR หรือ Acoustic Board ซึ่งทางสตูดิโอได้สร้างสรรค์แพทเทิร์นให้เลือกมากถึง 20 แบบ พร้อม 10 สีสัน ซึ่งสถาปนิก และนักออกแบบสามารถเลือกสรร ปรับแต่งดีไซน์วัสดุ และเมื่อเลิกใช้งานสามารถถอดออกนำไปใช้งานที่อื่นได้อย่างไม่มีข้อจำกัด
“ในปัจจุบันนี้มีการก่อสร้างอาคารกึ่งถาวรเยอะมากขึ้น เช่น Sale Gallery ของโครงการหมู่บ้าน หรือคอนโดมิเนียม ที่เมื่อขายหมดก็ต้องรื้อถอน เราก็เลยคิดว่าถ้าเราสามารถถอดวัสดุก่อนที่จะรื้อถอนอาคาร แล้วนำมาเก็บไว้ เมื่อมีงานก่อสร้างอาคารใหม่ก็สามารถเอาวัสดุกลุ่มนี้ไปติดตั้งใหม่ได้ในทันที อย่างไรก็ตามก่อนจะทำการติดตั้งเราจะต้องนำวัสดุที่ดีไซน์ไปเทียบกับวัสดุอื่นๆ และสีที่ใช้ติดตั้งด้วย เพื่อให้ภาพรวมออกมาดูเป็นส่วนเดียวกัน”
ทดลองผสมผสานวัสดุอื่นๆ เพื่อให้เกิดแพทเทิร์นที่แปลกใหม่
ทางสตูดิโอจะทำหน้าที่เป็นส่วน Service Design ที่จะคอยสร้างสรรค์กระเบื้องให้ตอบโจทย์กับลูกค้า และสถาปนิก แต่ก็ยังไม่ลืมที่จะใส่ไอเดีย และทดลองสร้างวัสดุด้วยเทคนิคใหม่ๆ เช่น การนำเส้นสีทองผสมผสานเข้าไปกับแพทเทิร์นการสาน หรือวัสดุจากอุตสาหกรรมอื่นๆ เข้ามาผนวก หรือการผสมเส้นใยบางอย่างเข้าไป เพื่อให้วัสดุตกแต่งผนังดูแปลกใหม่ และน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
“ด้วยประสบการณ์ทั้งด้านการดีไซน์ และความคุ้นเคยกับเครื่องจักร ทำให้เรารู้กระบวนการทำงานในระดับหนึ่งว่าผลงานจะออกมาเป็นอย่างไร”
ใช้ตะปูในการยึดติดทำให้ติดตั้งได้รวดเร็ว
สำหรับ Tex-Tile ควรใช้ตะปูในการยึดติด เพราะสามารถทำได้ง่าย และเร็ว โดยไม่ต้องใช้กาวในการยึดติด ซึ่งต้องเตรียมพื้นผนังให้เป็นไม้อัด หรือ หากผนังเดิมเป็นโครงคร่าวอยู่แล้วก็สามารถติดตั้งวัสดุเข้าไปได้เลย โดยทางสตูดิโอจะมีทีมงานในการติดตั้งวัสดุ หรือ หากสถาปนิก และลูกค้ามีผู้รับเหมาอยู่แล้วทางสตูดิโอก็จะแนบวิธีการติตตั้งและวัสดุให้ไปพร้อมกัน
“ด้วยการที่เราทำงานมาหลายโปรเจกต์ก็จะรู้ทันทีว่าทุกโปรเจต์ต้องการความรวดเร็วทั้งหมด การติดตั้งแบบแห้งจึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุด”
ทนทานต่อแสงยูวี และทำความสะอาดง่าย
สำหรับวัสดุทุกชิ้นทางสตูดิโอจะทำการเคลือบกันฝุ่น และกันน้ำไว้ในเบื้องต้นแล้ว แต่ถ้าหากใช้งานไปในระยะหนึ่งแล้วต้องการทำความสะอาด ก็สามารถใช้เครื่องดูดฝุ่น หรือผ้าหมาดๆ เช็ดถูได้ นอกจากนี้ด้วยเส้นใยของผ้าที่ถูกคัดสรรมาเป็นอย่างดี จึงสามารถทนทานต่อแสงยูวี และความชื้นได้เป็นอย่างดี
ราคาขึ้นอยู่กับวัสดุ และเทคนิคความยากง่าย
ราคาเริ่มต้นที่ 2,500 – 20,000 บาท/ตารางเมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาด เทคนิคความยากง่าย และ Raw Material สำหรับใช้ในการออกแบบ
ease studio สตูดิโอที่ชอบทดลองเทคนิคเกี่ยวกับผ้าอยู่เสมอ
ease studio ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2014 โดย ก๊อง-วนัส โชคทวีศักดิ์ และ พลอย-ณิชภัค ต่อสุทธิ์กนก ด้วยทั้งสองคนมีพื้นฐานความรู้ทางด้าน อินทีเรียดีไซน์ เฟอร์นิเจอร์ดีไซน์ และกราฟิกดีไซน์ ประจวบกับบ้านของก๊อง เป็นโรงงานปักผ้าอยู่แล้ว ทำให้ทั้งสองคนมีความสนใจในด้านผ้าโดยเฉพาะ จึงได้ทดลองผลิตของแต่งบ้านด้วยเทคนิคการปัก ไปพร้อมกับเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการผลิต ทั้งเครื่องจักร และการสร้างงานคราฟต์ จากนั้นจึงเริ่มต่อยอดมาสู่การทดลองนำผ้ามาใช้กับกระเบื้องจนเกิดเป็นผลงาน Tex-Tile อย่างในทุกวันนี้
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!