ร้านชานม BearHouse 3 สาขาที่ว่าด้วยเรื่องถ้ำหมี ไข่มุกสีขาว และใบชาไทย

Bearhouse คือแบรนด์ชานมไทยของสองยูทูบเบอร์ชื่อดังอย่าง ซาน–ปัทมพร ปรีชาวุฒิเดช และ กานต์–อรรถกร รัตนารมย์ ที่เปิดตัวมาไม่นานก็ติดตลาดทั้งกลุ่มวัยรุ่น วัยทำงานไปจนถึงกลุ่มครอบครัว
Design for Business ครั้งนี้จึงอยากพาไปทัวร์ 3 สาขาใหม่ของแบรนด์ ได้แก่ สาขาบ้านก้ามปู สาขาซีคอนแสควร์ และสาขาสายไหมที่แม้จะแตกต่างกันออกไปในด้านบริบท กลุ่มผู้ใช้งาน แต่ยังคงเอกลักษณ์แบรนด์เอาไว้ โดยได้ดีไซน์เนอร์อย่าง ARTi Architect มารับหน้าที่ออกแบบ

Bearhouse = สดใหม่ และกล้าได้กล้าเสีย

“การออกแบบกับแบรนด์ค่อนข้างมีหลายมิติ เพราะการที่เราจะตีโจทย์ของแบรนด์ออกมาเป็นดีไซน์มันมีปัจจัยหลายอย่าง อย่างง่าย ๆ คือเราอาจจะตีโจทย์จาก CI ของเขาออกมาเป็นงานวัสดุ แต่เรื่องสำคัญที่เราสัมผัสได้จากการทำงานร่วมกับ Bearhouse คือความกล้าได้กล้าเสีย เขาเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีพลังอยากทดลองสิ่งใหม่ ๆ Logic และความเป็นเขาจึงเป็นเรื่องที่เราอยากนำเสนอลงไปผ่านดีไซน์ด้วย” คุณหนึ่ง–อาทิตย์ ศิริมงคล สถาปนิกเล่า

ความกล้าได้กล้าเสียที่ว่าส่งต่อมาเป็นโจทย์ในการดีไซน์ จะทำอย่างไร? ให้ทั้ง 3 สาขามีความแตกต่างที่น่าสนใจ และยังแฝงสตอรี่ที่สมเหตุสมผลในตัวของสาขานั้น ๆ ไปพร้อมกัน

เจ้าของแบรนด์เปิดกว้างให้ทางดีไซน์เนอร์ออกแบบสตอรี่ของทั้ง 3 สาขาอย่างเต็มที่ โดยมีเอกลักษณ์แบรนด์เพียงไม่กี่อย่างที่อยากให้ยังคงไว้ นั่นคือ อยากให้ร้านมีความเป็นซุ้มโค้งคล้ายถ้ำหมี (ที่เป็นโลโก้ของแบรนด์) และเคาน์เตอร์ไม้กลมที่เหมือนกันในทุกสาขา

Photo by : Rungkit Charoenwat


ไข่มุกโมจิสีขาว เอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร

สำหรับสาขาแรกที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองอย่างย่านอโศกอย่าง บ้านก้ามปู สตอรี่ที่ทางผู้ออกแบบและเจ้าของตั้งใจนำเสนอเป็นเรื่องของไข่มุกโมจิสีขาวที่ทั้งคู่คิดสูตรขึ้นเองโดยมีส่วนประกอบเป็นแป้งข้าวไทย ทำให้ชานมไข่มุกที่นี่ไม่เหมือนแบรนด์อื่น ๆ โดยไข่มุกที่ว่านี้ถ่ายทอดผ่านซุ้มโค้งใสที่อัดแน่นไปด้วยลูกบอลอะคริลิคสีขาวเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 20 ซม.จำนวน 1,200 ลูก ในขณะที่เราเข้าสู่ภายในจะค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนอารมณ์ให้ดูอบอุ่นขึ้นในโทนสีขาวและน้ำตาลจากไม้ ซึ่งเป็นสี CI ของแบรนด์ รวมถึงยังมีไข่มุกสีขาวบางส่วนที่ยังสะท้อนผ่านฝ้าเพดานตารางไม้สนที่ซ่อนลูกบอลไฟ 150 ลูกเอาไว้ด้านใน

Photo by : Rungkit Charoenwat

สำหรับสาขานี้ รูปทรงที่เราสังเกตได้ชัดที่สุดคือ ทรงกลม ที่ผู้ออกแบบตั้งใจนำมาใช้ทั้งในทาง 2 มิติ และ 3 มิติ สื่อสารตรงไปตรงมากับเอกลักษณ์ของแบรนด์ เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงสินค้าและแบรนด์ได้ง่ายที่สุด

Photo by : Rungkit Charoenwat

ร้านชานม Bearhouse ที่เป็นห้องสมุดชวดชาก็ได้ คาเฟ่ก็ดี

“ความแตกต่างอยู่ที่บริบทและประสบการณ์ เราอยากให้มีอะไรใหม่เข้าไปในร้านนั้น ๆ หรือถ้าแบรนด์อยากเล่าอะไรเป็นพิเศษ เราจะเอาสิ่งเหล่านี้มาแชร์กัน”

เมื่อสาขาแรกประสบความสำเร็จ ก็นำมาสู่สาขาที่สอง ณ ซีคอนบางแค ซึ่งความแตกต่างคือ วิธีการมองเห็นของคนที่เดินผ่านไปมาที่ไม่เหมือนริมถนนอโศก เมื่ออยู่ในห้างสรรพสินค้าทำให้ต้องแข่งกับร้านข้าง ๆ เพื่อให้แบรนด์เด่นออกมาให้ได้ ซึ่งด้วยความที่อยู่บริเวณหัวมุมบันไดพอดี ซุ้มโค้งของสาขานี้จึงตั้งใจเปิดออกเพื่อดึงดูดให้คนที่ผ่านไปมามองเห็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายในได้บ้าง ด้วยการออกแบบเชือกสีขาวร้อยสลับกันไปมาไปมา เกิดสเปซของซุ้มแทนที่จะเป็นผนังทึบธรรมดา เพื่อช่วยลดเส้นแบ่งระหว่างภายในและภายนอกร้านออกไป ส่วนฝ้าเพดานยังคงออกแบบให้เป็นตารางที่อัดแน่นไปด้วยผ้าซ่อน Lighting ไว้ด้านหลังเพื่อให้ร้านโดดเด่นออกมาจากบริบทที่รายล้อม

เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าส่วนใหญ่ที่เป็นนักเรียน นักศึกษาที่ชอบเข้ามานั่งอ่านหนังสือภายในร้าน สาขานี้ทางเจ้าของและสถาปนิกจึงอยากเพิ่มประสบการณ์ใช้งานที่ต่างไป ด้วยการดีไซน์ที่นั่งแบ่งเป็น 3 โซน นั่นคือโซนเก้าอี้สูงหน้าร้าน โซนที่นั่งโซฟา และโซนที่นั่งแบบสแตนด์ยกระดับ ซึ่งเมื่อเกิดระดับสูงต่ำ ก็ทำให้ภายนอกร้านสามารถมองเข้ามาเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นด้วย และในโซนสุดท้ายนี้มีการหยิบไอเดียแบบห้องสมุดมาดีไซน์โชว์ขวดชาเพื่อให้ลูกค้าได้เห็นที่มาของใบชาแบบต่าง ๆ ที่ทางแบรนด์สรรหามาจากวัตถุดิบในประเทศ

ถ้ำหมีและตะกร้าใบชา ในสาขาสายไหม

แต่พอมาถึงสาขาที่ 3 อย่างสายไหมอเวนิว บริบทของพื้นที่ก็แตกต่างจากสาขาอื่น ๆ ไปอีก โดยตัวร้านไม่ได้ติดถนนใหญ่ และไม่ได้อยู่ในห้าง อีกอย่างคือด้านซ้าย-ขวาเป็นช็อปเหมือนกัน และตัวร้านอยู่ในลักษณะที่ลึกเข้าไปเหมือนอุโมงค์ ด้วยบริบทจึงมาเข้ากับคอนเซ็ปต์ถ้ำหมีที่ทางเจ้าของอยากได้ในตอนแรก

“เราดูว่าในพื้นที่ 80 ตารางเมตรของร้าน  เราอยากจะเล่าอะไรบ้าง เริ่มต้นจากว่า เดินเข้ามาเจอเคาน์เตอร์ เสร็จแล้วเดินไปทางไหน นั่งได้กี่แบบ” ซึ่งสาขานี้ นอกจากเรื่องถ้ำหมี ยังมีอีกหนึ่งสตอรี่ที่แบรนด์อยากจะเล่า นั่นคือใบชา เพราะชาที่ใช้เป็นใบชาไทยที่ทางแบรนด์ตั้งใจเก็บมาเองจากทางภาคเหนือ นำมาสู่การออกแบบที่นั่งโครงเหล็กที่อินสไปร์มาจากรูปทรงของตะกร้าเก็บชา

นอกจากนั้นที่ช่วงหลังสุดของร้าน ยังดีไซน์ให้เป็นพื้นที่รองรับคนกลุ่มใหญ่ที่มานั่งทำงาน นั่งติวหนังสือ โดยยกระดับพื้นและออกแบบเฟอร์นิเจอร์ให้เหมาะกับคนกลุ่มใหญ่ ส่วนที่นั่งอื่น ๆ ของสาขานี้ เน้นไปที่โต๊ะกลุ่ม 4 คนขึ้นไป เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในละแวกนี้ซึ่งส่วนมากจะเป็นครอบครัวนั่นเอง


“สำหรับเรื่องสีของแบรนด์ ทางร้านเน้นสีน้ำตาลและสีขาว ซึ่งเราพยายามมองหาวัสดุที่จะมาแมตช์เข้ากัน อย่างเคาน์เตอร์เราใช้หินเทอราซโซ ที่อยู่ในโทนสีขาวแต่ไม่ได้ขาวจนเกินไป ส่วนพื้นเราใช้กระเบื้องยางลายไม้เพื่อให้รู้สึกอบอุ่นมากขึ้น ไม่แข็งกระด้าง โดยแต่ละสาขาสัดส่วนของสีขาวและน้ำตาลจะไม่เท่ากัน แต่สาขานี้เราอยากเน้นสัดส่วนของไม้เยอะกว่าเพราะอยากให้รู้สึกเป็นถ้ำ”

เพดานในส่วนนี้จะมีลักษณะโค้งเพื่อให้เข้ามาแล้วรู้สึกว่าอยู่ในถ้ำหมี โดยความยากต่อไปอยู่ที่การจัดแสงให้ดูเป็นถ้ำ ซึ่งฝั่งที่พนักงานอยู่จะเป็นโทนสีขาว ส่วนฝั่งที่ลูกค้าอยู่จะเป็นโทนสีน้ำตาล และสถาปนิกหันฝ้าเพดานครึ่งหนึ่ง ดึงลงเตี้ยและใส่ไฟยาวตลอดแนว เพื่อให้ส่องสว่างไล่ระดับกับฝ้าเพดานไม้ลงมาจนเหมือนถ้ำ นอกจากนั้นฟาซาดหน้าร้านที่มีทรงโค้งอยู่แล้ว ดีไซน์เนอร์ยังเลือกใช้วัสดุอิฐโค้งเล็ก ๆ มาประกอบต่อเนื่องกันให้เป็นซุ้มโค้ง Arch ใหญ่ ซ่อนไฟตามช่องอิฐโค้งที่สามารถสุ่มปรับเปลี่ยนได้ถึง 8 แพทเทิร์น

คุณหนึ่ง–อาทิตย์ ศิริมงคล สถาปนิกจาก ARTi Architect

Something More : “สำหรับงานออกแบบร้าน เรื่องที่เรามองว่าต้องคำถึงถึงเป็นพิเศษ คือวัสดุและดีเทลในการติดตั้ง เพราะหลังจากที่เราออกแบบมาสามสาขา จุดที่ต้องระวัง คือมุมต่อต่าง ๆ เพราะมันไม่เหมือนการออกแบบบ้าน ต้องมีการจบขอบด้วยไม้จริง จบขอบด้วยแสตนเลสข้างล่าง เพราะคนที่เข้ามาใช้หมุนเวียนเปลี่ยนบ่อยและหนักกว่าบ้าน ดีเทลพวกนี้จะปริมุมง่าย เราต้องพัฒนาด้วยการเขียนดีเทลตัวจบมุม จบขอบที่นั่งให้มันทนทาน และแข็งแรงมากขึ้น”

BearHouse สาขาบ้านก้ามปูและซีคอนสแควร์ ภาพถ่ายโดย : Rungkit Charoenwat

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้