Green Rock & Green Block เมล็ดมวลเบาสังเคราะห์และอิฐบล็อก วัสดุใหม่จากการผลิตสุรา

ใครจะไปคิดว่าการผลิตสุราจะสามารถสร้างวัสดุก่อสร้างได้! เพียงแค่ใช้นวัตกรรมที่นำน้ำกากส่า ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการผลิตสุรามาสร้างเป็นเมล็ด Green Rock ที่ใช้ทดแทนหินในการผสมคอนกรีต มีคุณสมบัติแข็งแรงทนทานต่อไฟ น้ำหนักเบา ดูดซับความชื้นได้ดี และยังสามารถเป็นฉนวนได้อีกด้วย โดยวัสดุชนิดนี้ยังนำไปใช้สร้างอิฐ Green Block ที่มีคุณสมบัติแขวนของหนักได้ และยังก่อได้สูงถึง 3 เมตร โดยไม่ต้องใช้ทับหลัง รายละเอียดของวัสดุสองชนิดนี้จะเป็นอย่างไรไปติดตามกัน

เมล็ดมวลเบาที่ได้จากน้ำกากส่า

Green Rock คือ วัสดุเมล็ดมวลเบาสังเคราะห์ที่มีรูพรุนภายในเป็นจำนวนมาก (Internal Voids) ทำให้ตัววัสดุมีคุณสมบัติที่โดดเด่นมากมาย ได้แก่ มีความแข็งแรง ทนทาน สามารถเป็นฉนวนเสียง ความร้อนและความเย็น ดูดซับความชื้นได้ดี และเมื่อผสมกับคอนกรีต อิฐบล็อก หรือ ผนัง Precast จะทำให้น้ำหนักโดยรวมมีความเบามากกว่าการผสมหินแบบทั่วไปถึงร้อยละ 30 เลยทีเดียว ทั้งนี้ยังเป็นวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

นอกจากนี้ Green Rock ยังได้ร่วมมือกับโรงงานผลิตคอนกรีต เพื่อทำการสร้างผนังห้องคอนกรีตที่มีการผสม Green Rock เข้าไป และทดสอบกำลังอัด 10 ชั่วโมง ได้ค่าออกมาที่ 180 Ksc ซึ่งคอนกรีตทั่วไปจะอยู่ที่ 140 Ksc  และกำลังอัด 28 วัน ได้ค่าอยู่ที่ 324 Ksc ซึ่งคอนกรีตทั่วไปจะอยู่ที่ 215 Ksc รวมไปถึงยังกันความร้อนได้ดีกว่าคอนกรีตแบบทั่วไป 3-5 องศา อีกด้วย 

ใช้น้ำกากส่าในการผลิต

Green Rock เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตสุราที่มักจะได้น้ำกากส่าที่เป็นผลพลอยได้อยู่เสมอ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วน้ำกากส่าจะนำไปทำเป็นปุ๋ย หรืออาหารสัตว์มากกว่า แต่ด้วยการค้นคว้าวิจัย จึงใช้นวัตกรรมนำเอาน้ำกากส่าไปผ่านการบำบัด และนำมาเผาจนได้ขี้เถ้าออกมา จากนั้นจึงนำไปผสมกับวัตถุดิบอื่นๆ เช่น ดิน เพื่อนำมาปั้นขึ้นรูปเป็นทรงกลม และนำเข้าเตาเผาในอุณหภูมิ 1200 – 1400 องศา ส่งผลให้เกิดเป็นเมล็ดที่มีรูพรุนภายในวัสดุ และให้คุณสมบัติในการเป็นวัสดุก่อสร้างได้

Green Block อิฐบล็อกก่อผนังที่มีส่วนผสมของเมล็ด Green Rock

จากเมล็ด Green Rock ได้พัฒนามาสู่ Green Block บล็อกคอนกรีตที่มีคุณสมบัติดูดซึมน้ำในปริมาณน้อย ซึ่งจะช่วยลดการยืดหดของตัวบล็อกที่ไม่ทำให้เกิดการแตกร้าว กันไฟ เป็นฉนวนกันเสียง และกันความร้อนได้อีกด้วย ซึ่งตัวอิฐบล็อกจะให้น้ำหนักอยู่ที่ 4.4 กิโลกรัม/ก้อน และให้ความหนาแน่นที่ 1,442 กิโลกกรัม/ลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ยังสามารถใช้ตะปูเจาะรูให้กลายเป็นที่แขวนสิ่งของได้ซึ่งสามารถรับน้ำหนักได้มากถึง 50 กิโลกกรัม ได้อย่างไม่น่าเชื่อ จึงเหมาะกับการนำไปก่อเป็นผนังทั้งภาย และภายในอาคาร

ติดตั้งให้สูงถึง 3 เมตร โดยไม่ต้องใช้ทับหลัง

วัสดุ Green Block สามารถนำมาก่อผนังได้โดยไม่ต้องใช้ทับหลัง เนื่องจากตัวบล็อกสามารถรับแรง และน้ำหนักมากได้ จึงสามารถก่อได้สูงถึง 3 เมตร อย่างไรก็ตามการก่อทุก 2 แถว ควรเสริมด้วยหนวดกุ้ง เพื่อเสริมความแข็งแรงให้กับผนังได้มากขึ้น รวมไปถึงในขั้นตอนการฉาบควรติดลวดตาข่ายตามมุมวงกบประตู และหน้าต่าง เพื่อให้ตามมุมขอบต่างๆ ไม่เกิดการแตกร้าวในอนาคต

ราคา Green Rock และ Green Block ไม่แพงอย่างที่คิด

สำหรับ Green Rock มีขนาดให้เลือก 2 แบบด้วยกัน คือ ขนาด 4 – 6 มิลลิเมตร และ 7-10 มิลลิเมตร โดยราคาจำหน่าย 1 กิโลกรัมอยู่ที่ 7 บาท และ ราคา 1 ตันอยู่ที่ 7,000 บาท

สำหรับ Green Block จะมีขนาดอยู่ที่ 19 x 39 x 7 เซนติเมตร ราคาจะอยู่ที่ 18 บาท/ก้อน ใช้ก่อผนัง 12 ก้อน/ตารางเมตร

Charun Business 52 ผู้คิดค้น วิจัย และผลิตวัสดุ Green Rock

เดิม Charun Business 52 เป็นบริษัทวัสดุก่อสร้าง และพื้นกระเบื้องสำหรับปูภายนอกอาคาร ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจต่อเนื่องของบริษัท ThaiBev ต่อมาจึงได้มีการเพิ่มเติมธุรกิจใหม่ และเริ่มต้นการค้นคว้าวิจัย พร้อมกับร่วมมือกับองค์กรต่างๆ เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ขึ้นมา ซึ่งพวกเขาได้ให้ความสนใจในผลพลอยได้ที่เกิดจากการผลิตสุราอย่างน้ำกากส่า จึงเลือกหยิบนำมาแปรรูปให้เกิดเป็นมูลค่า จนเกิดเป็นวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นวัสดุทางเลือกใหม่ให้กับสถาปนิก และนักออกแบบ

Writer
Watsapon Vijitsarn

Watsapon Vijitsarn