Mirin House
สุนทรียศาสตร์ของบ้านที่ออกแบบ ‘จังหวะ’ ให้เหมือนการเล่าเรื่องในภาพยนตร์

ถึงบ้านจะทำหน้าที่เป็นสถานที่พักผ่อนประจำวันของผู้คน แต่คงไม่บ่อยนักที่บ้านจะทำให้เรารู้สึกถึงการพักผ่อนเสมือนได้ไปรีสอร์ทหรือ Pool villa ดี ๆ ในวันหยุด Mirin House บ้านพักอาศัยในย่านพระราม 5 ของครอบครัว 3 สมาชิกจึงตั้งใจสร้างบ้านหลังใหม่ให้กลายเป็น Pool Villa เชื่อมต่อบ้านหลังเดิมของครอบครัวโดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปไหนไกลก็รู้สึกได้ถึงความผ่อนคลาย ที่ทีมสถาปนิกจาก Ayutt and Associates design (AAd) ตั้งใจใช้ลูกเล่นของแสง จังหวะต่าง ๆ ของสเปซในเชิงสถาปัตยกรรม เพื่อดึงเอาธรรมชาติรอบตัวมาสร้างเป็นความผ่อนคลายและสุนทรียศาสตร์ที่จะเกิดขึ้นภายในบ้านหลังนี้

โจทย์ของบ้านเริ่มต้นง่าย ๆ ด้วยการที่เจ้าของ มีบ้านหลังหนึ่งที่อยู่อาศัยประจำวันก่อนจะได้ที่ดินแปลงข้าง ๆ ประมาณ 100 ตารางวามาเพิ่มเติมโดยตั้งใจจะสร้างพูลวิลลาบนที่ดินแปลงใหม่นี้ แต่ด้วยบริบทที่ตั้งอยู่ในบ้านจัดสรรรายล้อมไปด้วยเพื่อนบ้าน วิวที่สวยงามจึงเป็นสิ่งที่ต้องการในพื้นที่แห่งนี้ ผู้ออกแบบจึงแบ่งออกเป็น 4 โจทย์ย่อยด้วยกันนั่นคือ หนึ่ง สถาปัตยกรรมต้องสวยและผู้อยู่อาศัยต้องมองเห็นสถาปัตยกรรม สองคือ การสร้างแลนด์สเคปเป็นวิวที่เกิดขึ้นในบ้าน สามคือ อินทีเรียที่ต้องอยู่สบาย ส่วนสุดท้ายคืองานศิลปะที่เข้ามาเติมเต็มบรรยากาศ โดยพยายามรวมทุกศาสตร์เหล่านี้เข้าหากัน

01 สุนทรียศาสตร์ในการเข้าถึง
การออกแบบบ้าน ก็เหมือนเล่าสตอรี่ของภาพยนตร์

“เราเชื่ออย่างนึงว่า ผู้คน 90% เวลารับรู้สถาปัตยกรรมผ่านรูปถ่ายหรือนิตยสาร มันคือการรับรู้ได้ด้วยตา ซึ่งจริง ๆ ความลึกมันมากกว่านั้น เราจึงพยายามนำเรื่องประสาทสัมผัสหลาย ๆ ส่วนเข้ามาใช้ในการออกแบบบ้านหลังนี้ เพราะความสวยงามมันไม่ใช่แค่ตาเห็นอย่างเดียว มันคือความรู้สึก เดินเข้าบ้านมาได้ลม ได้กลิ่น ได้การปะทะของแสง หรือได้ยินเสียง ทั้งหมดนี้มันคือการสร้างสเปซแบบหนึ่งที่เราพยายามจะทำขึ้นมา” คุณอาร์ต-อยุทธ์ มหาโสม แห่ง Ayutt and Associates design (AAd)

“จริง ๆ การเล่าสตอรี่มันเหมือนเราดูหนัง ในช่วงจังหวะของแต่ละสตอรี่ ถ้าเราพูดถึงเรื่องอะไร สิ่งนั้นต้องเด่น”

เริ่มต้นตั้งแต่บริเวณหน้าประตูและโรงรถที่ออกแบบให้เป็นสีดำสนิทและไม่มีดาวน์ไลท์ เพื่อควบคุมความรู้สึกคล้ายโรงละคร เพื่อให้ทุกคนปรับรูม่านตาเนื่องจากสีเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาของแสง ทำให้รูม่านตาที่ขยายอยู่ รับรู้สีและธรรมชาติได้ดีขึ้น จากนั้นจึงมีช่องเปิดเล็ก ๆ ที่มองเห็นผนังดินอัดสีแดงและต้นไม้สีเขียว ก่อนจะเดินเลี้ยวเข้ามาในแลนด์สเคปที่เป็นฟอร์มคดโค้ง ซึ่งสถาปนิกตั้งใจสร้างภาวะที่เดินอ้อมเพื่อทำให้บ้านรู้สึกใหญ่ขึ้น และสร้างสุนทรียะที่บังคับให้เจ้าของบ้านต้องเดินผ่านแลนด์สเคปเพื่อดื่มด่ำธรรมชาติ

ทางเดินที่โค้ง หรือการยกแลนด์สเคปขึ้นมาสูงช่วยเพิ่มพื้นที่ผิวของภูมิทัศน์ ทำให้คนที่เดินผ่านเข้าบ้านสามารถใช้มือสัมผัสใบไม้ได้บ้าง และมีดินอัดที่ออกแบบให้เป็นฟอร์มของกระบะต้นไม้รวมถึงที่นั่งซึ่งเราสามารถสัมผัสได้ถึงความเย็นจากวัสดุธรรมชาติ

02 การรับรู้ 3 ระดับ
Worm’s-Normal-Bird’s eye view

“ความสนุกอย่างหนึ่งของบ้านหลังนี้ คือ คนที่เข้ามาจะไม่เห็นทางเข้าของ Pool villa แต่ทุกคนจะรู้ว่าต้องเดินไปแต่จะมองไม่เห็นประตู เราเพิ่มความสนุกด้วยความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์นี่แหละ”

หลังจากเดินพ้นแลนด์สเคปที่คดโค้งเข้ามา ตัวบ้านจะถูกยกสูงให้มีระดับเทียบเท่าชั้น 2 ของบ้านหลังเดิม เนื่องจากสถาปนิกตั้งใจสร้างสภาวะให้คนเดินเข้าบ้านเกิดการรับรู้แบบ Worm’s-eye view (ส่วนใหญ่บ้านจะถูกดีไซน์ให้เกิดการรับรู้แบบ Normal -eye view) ซึ่งการยกบ้านให้ลอยอยู่บนชั้นสองยังไปแมตช์กับฟังก์ชัน ทำให้พื้นที่ด้านล่างทำหน้าที่คล้ายใต้ถุนบ้านเรือนไทยที่มีลมผ่านได้ ก่อนที่บ้านใหม่และบ้านเก่าจะมองเห็นกันแบบ Normal -eye view ที่บริเวณชั้นสอง ซึ่งมีข้อดีที่ช่วยบล็อกวิวไม่น่ามองจากเพื่อนบ้านได้อีกด้วย

สระว่ายน้ำที่ถูกยกลอยอยู่บริเวณชั้นสองของบ้าน ยังมองลงไปเกิดสภาวะแบบ Bird’s Eye View ที่สามารถมองเห็นเส้นสายของแลนด์สเคปได้อย่างเต็มที่ บ้านหลังนี้จึงมีมุมมองการรับรู้ถึง 3 ระดับ จากบ้านที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนักเลยดูมีขนาดกว้างใหญ่มากขึ้น จากเทคนิคที่เล่นกับความรู้สึกของผู้ใช้งานนั่นเอง

นอกจากนั้น การเล่นระดับของสระว่ายน้ำที่ลอยอยู่บนชั้นสอง ยังสามารถสร้างสเปซด้วยแสงได้ โดยแบ่งเป็นมิติของเงามืดและเงาสว่างตามเวลาของธรรมชาติ

03 ความสำคัญของ Art และ Interior space
ความ Minimal ที่ Maximize

เมื่อเข้าสู่พื้นที่ภายใน ทุกอย่างจะกลายเป็นสีดำทั้งหมดก่อนจะเปิดมุมมองให้เห็นผนังกระจกที่มีท้องฟ้าเป็นแบคกราวด์ เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยได้มองเห็นธรรมชาติในอีกมิติที่ช่วยสร้างความรู้สึกผ่อนคลายได้

“การเลือกใช้สีดำมีผลมาก เพราะหลาย ๆ ครั้ง ถ้าเราเข้าไปอยู่ใน Double volume space ที่เป็นสีขาวจะเกิดภาวะแสบตา เพราะแสงธรรมชาติเข้ามาในปริมาณที่เยอะเกินไป เราเปิดหน้าต่างขนาดใหญ่เพื่อให้แสงธรรมชาติลงมาก ๆ และเลือกใช้ห้องที่เป็นสีดำเพื่อบีบความจ้าของแสงให้น้อยลง บ้านหลังนี้จึงไม่จำเป็นต้องใช้ผ้าม่านเลย ในขณะที่ห้องนอนจะเป็นสีขาวทั้งหมด เนื่องจากทางเจ้าของจะเข้ามาใช้งานในเวลากลางคืน ซึ่งเราอยากให้แสงของแลนด์สเคปฟุ้งเข้ามาในห้องนอนแล้วเกิดเป็นแหล่งกำเนิดแสง”

บริเวณห้องนั่งเล่น ในวันที่แสงธรรมชาติส่องถึง เราจะเห็น sculpture ด้านหลังที่ออกแบบถอดฟอร์มมาจากธรรมชาติรอบบ้าน อย่างต้นไม้และหินกาบเด่นขึ้นมา เนื่องจากถูกออกแบบให้กลายเป็นคอร์ดเล็ก ๆ ที่มีแสงธรรมชาติเป็น spotlight ส่องให้ sculpture โดดเด่นเป็นพระเอก ซึ่งจะมีการเปลี่ยนเฉดของเงาสะท้อนไปในแต่ละช่วงเวลา

ห้องที่ให้ความสำคัญไม่แพ้กันในการออกแบบ Pool villa คือ ห้องน้ำ โดยหลังนี้มีการเลือกใช้ผนังกระจกใสสีดำขนาดใหญ่จากพื้นถึงฝ้ารอบด้าน เพื่อเปิดวิวให้เห็นสระว่ายน้ำชัดเจน แต่แน่นอนว่าต้องไม่ให้คนภายนอกเห็น จึงมีการออกแบบซ้อนกระจกหลายเลเยอร์ ทำให้คนที่อยู่ภายนอกซึ่งเป็นที่สว่างกว่าไม่สามารถมองเข้ามาเห็นภายในห้องน้ำที่มืดกว่าได้ ส่วนถ้าเปิดไฟในเวลากลางคืน แสงจะมารวมกันที่ Sculpture ที่ออกแบบให้คล้ายผ้าม่าน ช่วยลดแรงปะทะที่แสงวิ่งเข้าหาตัวคน ทำให้ภายในห้องน้ำสามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว

04 Façade
ภาพลักษณ์หน้าตาของสถาปัตยกรรม

ในส่วนของภาพลักษณ์ภายนอก ฟาซาดที่ถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของงาน AAD ถูกออกแบบด้วยอลูมิเนียมด้วยเหตุผลในเรื่องฟังก์ชันที่ง่ายต่อการดูแลรักษา ไม่ต้องทาสีใหม่ก็สามารถอยู่ทนได้หลายสิบปี (ถ้าเทียบกับผนังก่ออิฐฉาบปูนทาสี) ซึ่งในความเป็นจริงอลูมิเนียมก็มีคราบเช่นเดียวกัน แต่ด้วยการออกแบบแพทเทิร์นพับไปมาในลักษณะสามเหลี่ยมจึงเกิดแสงและเงาตามธรรมชาติที่ทำให้คราบเหล่านั้นมองไม่ค่อยเห็น

การพับสามเหลี่ยมที่มีรูด้านบนและด้านล่าง ยังทำให้อากาศธรรมชาติไหลโฟลวเข้าสู่ภายในได้ โดยตัวบ้านจะมีผนังหนึ่งชั้น ที่สถาปนิกเลือกใช้วัสดุที่ดูดซับความร้อนได้ดีมาเป็นตัวดูดความร้อน เพื่อให้ความเย็นของลมระบายความร้อนออกก่อนที่จะแผ่ไปถึงผนังก่ออิฐฉาบปูนภายในบ้าน นอกจากนั้นในเรื่องของความสวยงาม ฟาซาดพับไปมานี้ยังเล่นกับมิติของแสงเงาที่เปลี่ยนไปตลอดเวลาตามองศาของแสง เวลาเช้า กลางวัน เย็น สีของฟาซาดในแต่ละช่วงจึงไม่เหมือนกันเลย

คุณอาร์ต-อยุทธ์ มหาโสม แห่ง Ayutt and Associates design (AAd)

“ถ้าถามว่าบ้านหลังนี้ ชอบอะไรมากที่สุด? เราชอบเกี่ยวกับสเปซ และสุนทรียศาสตร์ในเชิงลึกที่ไม่ใช่เพียงฟังก์ชันอย่างเดียว เพราะลูกค้ามีความเข้าใจและรับรู้สิ่งเหล่านี้ได้เยอะกว่าลูกค้าท่านอื่น ๆ พอเราใส่งานดีไซน์เข้าไป ลูกค้าเขารับรู้ได้หมดเลย เพราะฉะนั้นนี่แหละครับ คือเสน่ห์ของบ้านหลังนี้” สถาปนิกกล่าว

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้