Raveevan Space
จุดบรรจบของ Residential Space และ Art Space

บนที่ดินใจกลางซอยสุขุมวิท 39  Raveevan Space เซอร์วิสอพาร์ทเมนท์แบรนด์ใหม่ที่พึ่งเปิดตัวได้ทีมสถาปนิกจาก Stu/D/O Architects มารับหน้าที่ออกแบบตัวอาคารและยูนิตพักอาศัยทั้งหมด ที่มาพร้อมกับการนำเสนอแนวคิดสนุก ๆ เพิ่มความคิดสร้างสรรค์เข้าไปในการออกแบบพื้นที่พักอาศัยให้แตกต่างออกไปอีกขั้น  

Design For Business ครั้งนี้พามาชมแนวคิดของจุดบรรจบระหว่างการออกแบบพื้นที่พักอาศัยและความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบสถาปัตยกรรมที่เสริมส่งซึ่งกันและกันได้อย่างลงตัว

Raveevan Space  ไม่ใช่โครงการแรกของทางเจ้าของโครงการ แต่เกิดจากการพัฒนาโครงการใหม่ต่อยอดมาจากโครงการ Raveevan Suite เซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ระดับ High End ใจกลางถนนสุขุมวิท 39 ที่ตกแต่งในสไตล์ classic เน้นพื้นที่ยูนิตพักอาศัยที่มีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ ประมาณ 500 ตารางเมตรต่อยูนิตซึ่งได้รับความนิยมมากจากชาวไทยและชาวต่างชาติที่ทำงานอยู่ย่านนี้มายาวนาน แต่สำหรับโครงการใหม่นี้ ทางเจ้าของต้องการปรับให้เป็นยูนิตพักอาศัยที่กะทัดรัดและดูสนุกขึ้น โดยความน่าสนใจไม่ได้อยู่เพียงแค่เรื่องของขนาดยูนิตพักอาศัยเท่านั้น แต่คือการนำเสนอการออกแบบที่นำเอาปัญหาและข้อจำกัดรอบ ๆ พื้นที่มาคิดใหม่ จนได้ออกมาเป็นลูกเล่นของการแก้ปัญหาผ่านการออกแบบที่ทันสมัยและน่าสนใจ

เส้นสายที่เกิดจากการทลายข้อจำกัด ปรับให้ได้ประโยชน์

ทีมสถาปนิกจาก Stu/D/O Architects ทำการบ้านจากโจทย์ที่ได้รับ โดยเริ่มจากการค่อย ๆ ทลายข้อจำกัดของพื้นที่โครงการจากปัญหาแรกนั่นคือเรื่องของ “มุมมอง” ซึ่งที่ดินด้านหน้าติดกับถนนซอยสุขุมวิท 39 รายล้อมรอบด้านไปด้วยอาคารบ้านเรือน ทั้งตึกแถวและบ้านพักอาศัย แต่พอจะมีที่ว่างที่มีต้นไม้ขนาดใหญ่อยู่เพียงที่ดินแปลงที่เยื้องไปด้านหลังโครงการเท่านั้น ปัญหาต่อมาคือเรื่อง “ทิศทางแสงแดด”  ซึ่งด้านหน้าโครงการเป็นทิศตะวันตก – ตะวันตกเฉียงใต้ที่จะได้รับความร้อนจากแสงแดดช่วงบ่ายเต็ม ๆ และความต้องการใช้พื้นที่ที่มีอยู่ให้คุ้มค่ามากที่สุด

ทีมสถาปนิกเสนอการออกแบบแผ่นผนังอาคารให้เป็นลักษณะผนังเฉียงบิดมุมไปประมาณ 45 องศา ซอยเป็นแผ่นแทรกอยู่ตามช่องเปิดบนรูปด้านอาคาร เพื่อใช้มุมบิดของผนังนี้ในการนำสายตาของผู้พักอาศัยให้มองไปยังพื้นที่สีเขียวด้านหลังโครงการที่มีอยู่ ผนังนี้ยังช่วยบดบังแสงแดดช่วงบ่ายที่จะเข้ามาในอาคารได้ดีไปพร้อมกับเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้พักอาศัยอีกด้วย เป็นการออกแบบครั้งเดียวแต่แก้ปัญหาได้หลายจุด 

ผนังเฉียงที่แยกเป็นแผ่นบนรูปด้านอาคารที่เราเห็นนี้จะเข้าไปเป็นเส้นหลักในการจัดพื้นที่ยูนิตพักอาศัยภายใน โดยในแต่ละยูนิตจะถูกออกแบบผังให้รับกันกับแนวบิด 45 องศานี้ เมื่อเทียบกับเส้นของถนนและที่ดินที่ตั้งฉากกัน เราจะเห็นผังยูนิตพักอาศัยและพื้นที่ส่วนกลางของอาคารนี้บิด 45 องศาไปด้วย ที่นี่จะมียูนิตพักอาศัยทั้งหมด 23 ยูนิต แต่ละยูนิตจะมีพื้นที่ประมาณ 250 ตารางเมตร โดยแต่ละยูนิตจะประกอบด้วยพื้นที่ใช้สอยที่ครบถ้วน มีส่วนรับแขก, ส่วนรับประทานอาหาร, ส่วนเตรียมอาหาร, ส่วนครัว, ห้องนอนใหญ่ 1 ห้อง, ห้องนอน 2 ห้อง และมีส่วนแม่บ้านแยกออกไปอย่างชัดเจน  เนื่องจากที่นี่เป็นเซอร์วิสอพาร์ทเมนต์ ที่ให้เช่าแบบ Fully Fixed  ที่ผู้เช่าจะต้องนำเอาเฟอร์นิเจอร์เข้ามาเอง  การออกแบบภายในจึงต้องคิดถึงเรื่องความยึดหยุ่นและเรียบง่ายสำหรับการใช้งาน เลือกวัสดุตกแต่งที่ทนทานและดูแลรักษาได้ง่ายเป็นหลัก

ด้วยยูนิตพักอาศัยที่นี่มีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ตามปกติ  Stu/D/O Architects จึงออกแบบให้แต่ละยูนิตจะมีพื้นที่นั่งเล่นที่มีเพดานสูง 2 ชั้น (Double Volume Space) ของตัวเอง โดยพื้นที่โถงสูงนี้จะมีลูกเล่น สลับตำแหน่ง ล็อคกันไปมาโดยเราจะเห็นได้จากรูปด้านอาคารภายนอกได้อย่างชัดเจน จึงเกิดมิติของที่ว่างภายในอาคารสลับไปมาที่แตกต่างกัน สร้างกราฟฟิกให้อาคารดูน่าสนใจมากขึ้น

“ปกติถ้าเราอยู่ในอาคารแล้วมองกระจกออกมาภายนอก เราจะเห็นวิวเป็นมุมมองแบบ One Point Perspective แต่สำหรับที่นี่ เมื่อเราบิดมุมมองอาคารเป็น 45 องศาแล้ว เราจะเห็นวิวภายนอกเป็นมุมบิด เป็นแบบ Two Point Perspective ที่ดูแปลกตา และน่าสนใจ”  คุณเรย์ – หนึ่งในทีมสถาปนิกเล่าเสริม

เส้นเฉียงและสามเหลี่ยมที่เป็นภาษาหลักของอาคารนี้ถูกนำไปใช้เป็นแนวคิดของการออกแบบเส้นสายในการออกแบบตกแต่งภายใน งานกราฟฟิก และงานภูมิสถาปัตย์ (Landscape) เพื่อให้กลมกลืนสอดคล้องไปร่วมกัน

นอกจากนั้น สถาปนิกยังคิดถึงเรื่อง ปัจจัยที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของการอยู่อาศัยผ่านการได้แสงและลมธรรมชาติเพื่อการระบายอากาศภายในอาคาร โดยออกแบบช่องแสงรูป 3 เหลี่ยม  จากชั้นดาดฟ้าต่อเนื่องลงไปยังชั้น 1 เพื่อช่วยระบายอากาศให้กับยูนิตพักอาศัยที่อยู่ส่วนในของอาคารที่ไกลจากหน้าต่างภายนอก ช่วยให้เกิด Cross Ventilation ในทุกยูนิต

พื้นที่ชั้นดาดฟ้าถูกออกแบบให้เป็นพื้นที่ส่วนกลางของโครงการ ประกอบด้วยสระว่ายน้ำขนาดใหญ่ ห้องฟิตเนส และยังมีพื้นที่ระเบียงไม้ขนาดใหญ่สำหรับสามารถจัดงานริมสระว่ายน้ำได้  ซึ่งยังคงดึงเส้นสายสามเหลี่ยมมาใช้เป็นแนวคิดหลัก ในการจัดพื้นที่ เช่นออกแบบที่นั่งในสระว่ายน้ำเป็นมุมสามเหลี่ยมเพื่อใช้เป็นที่นั่งส่วนตัวแยกออกมาจากพื้นที่ว่ายน้ำหลักได้

อาคารเปรียบเสมือนงานศิลปะชิ้นหนึ่ง

ด้วยความที่เจ้าของโครงการเป็นผู้ที่อยู่ในวงการศิลปะมายาวนาน สถาปนิกจึงนำเสนอแนวคิดการออกแบบอาคารที่มีคาเร็กเตอร์ของ Art Space ให้ตัวอาคารมีพื้นที่ภายในคล้ายกับ  Art Gallery  ที่สามารถนำงานศิลปะมาจัดวางตกแต่งได้และในขณะเดียวกันตัวอาคารเองก็เป็นเสมือนผลงานศิลปะชิ้นหนึ่งเช่นกัน

อาคารภายนอกถูกออกแบบให้ดูเรียบนิ่งจากผนังแนวตั้งสีเทาเข้มขนาดใหญ่ที่วางตัวเป็นมุมเฉียง ไล่เรียงกันเป็นแนวในรูปด้าน ตัดกับแผ่นพื้นระเบียงภายนอกแนวนอนสีเทาอ่อนจากปูนเปลือยที่ยื่นออกมาจากตัวอาคาร  แผ่นโครงสร้างทั้ง 2 ระนาบนี้เล่นกับแสงอาทิตย์ เกิดเงาพาดไปกับตัวอาคารได้อย่างต่อเนื่องน่าสนใจ แทรกไปด้วยพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ที่ออกแบบเตรียมไว้ทั้งบนชั้นดาดฟ้าและสวนโดยรอบอาคาร ช่วยให้อาคารดูมีชีวิตชีวา ดูผ่อนคลายมากขึ้นจากต้นไม้ไทยที่มีดอกไม้สีสัน และกลิ่นหอม ซึ่งผู้ออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมเลือกใช้

การสอดประสานกันระหว่างการออกแบบเชิงธุรกิจและแพชชั่นของงานดีไซน์

เพราะอะไร ? โครงการอาคารพักอาศัยใจกลางเมืองย่านธุรกิจและความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบสถาปัตยกรรมจึงสามารถมาบรรจบกันได้อย่างลงตัว สถาปนิกเล่าทิ้งท้ายให้เราฟังว่า

เราโชคดีมากที่เจ้าของโครงการฯ มีวิสัยทัศน์และเข้าใจในเรื่องคุณค่าของงานออกแบบและงานศิลปะ นอกไปจากสิ่งสำคัญพื้นฐานทางธุรกิจที่โครงการเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ลักษณะนี้ต้องมี ซึ่งทางเจ้าของโครงการฯ มีประสบการณ์  ทางสถาปนิกจึงสามารถนำเสนอแนวคิดการออกแบบได้อย่างเต็มที่ เพราะเราเชื่อว่านอกจากการออกแบบเพื่อตอบโจทย์ในเรื่องการใช้สอยพื้นฐานได้ดีแล้ว การใส่แนวความคิดสร้างสรรค์ที่น่าสนใจและแตกต่างลงไป ในงานออกแบบ จะช่วยเพิ่มมูลค่าและสร้างภาพลักษณ์ที่น่าจดจำซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อโครงการ และเราได้สร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่าให้กับวงการสถาปัตยกรรมอีกด้วย

Location:  Bangkok, Thailand
Client:      บริษัท เอแอนด์บี โซลเมท จำกัด  /  A & B Soulmate Company Limited 
Site Area:  1,900 sqm.
Built Area:  9,900 sqm.
Architects: Stu/D/O Architects (stu.d.o)
Photograph: DOF Sky I Ground 

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้