ตั้งแต่ช่วงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เรามักจะมองว่าโรงงานเป็นสิ่งก่อสร้างที่ก่อให้เกิดภัยกับทั้งมนุษย์และธรรมชาติ เนื่องจากเราได้เห็นผลกระทบที่ลากยาวมาตั้งแต่ตอกเสาเข็มสร้างโรงงาน ไปจนถึงการกำจัดของเสียหลังกระบวนการผลิต แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มนุษย์ยังต้องกินต้องใช้ ต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตไปในแต่ละวันอย่างสะดวกสบายเช่นกัน
แต่ไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราก็เริ่มเห็นแล้วว่าผู้คนทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนมากขึ้น สินค้าบริโภคอุปโภคต่างๆ จึงต้องปรับพัฒนาตัวเองให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตาม รวมถึงตัวโรงงานด้วยเช่นกัน ดังนั้นวันนี้เราจึงขอยกตัวอย่าง 4 โรงงานที่น่าสนใจ มาดูกันว่า แต่ละโรงงานจะมีวิธีการออกแบบ ที่สะท้อนความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แตกต่างกันอย่างไรบ้าง
The Plus for Vestre โดย BIG
‘โรงงานเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในโลก’ คือคำนิยามที่ทางเจ้าของได้ให้กับ โรงงานเฟอร์นิเจอร์ไม้ ใจกลางป่าทดแทนสำหรับอุตสาหกรรมไม้ ประเทศนอร์เวย์ และเป็นผลงานการออกแบบโดย BIG บริษัทสถาปนิกที่เราคุ้นเคยชื่อกันดี แห่งนี้
“สมควรหรือไม่ ที่สร้างโรงงานกลางป่า?”
แม้ว่าคำถามนี้ยังเป็นสิ่งที่หลายคนกำลังถกเถียงกันก็ตาม แต่ทว่าประเด็นที่เราอยากชี้ชวนให้ดูกันนั้น คือ การออกแบบโรงงานขนาดใหญ่ ให้สามารถลดการใช้พลังงานได้ถึง 90% เมื่อเทียบกับโรงงานทั่วไป โดยพลังงานที่ใช้ในโรงงานนี้ถูกผลิตจากพลังงานทางเลือกแทบจะทั้งหมด ได้แก่
– โซลาร์เซลล์ ที่ติดตั้งบนหลังคาจำนวน 900 แผง ซึ่งสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้มากถึง 250,000 กิโลวัตต์/ชั่วโมง ใน 1 ปี และนอกจากนี้พื้นที่บนหลังคาขนาดยักษ์ ยังถูกออกแบบให้เป็น Green roof ที่นำเมล็ดพันธุ์จากป่ารอบๆ มาปลูกบนหลังคาอีกด้วย
– แหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพ จำนวน 17 บ่อ ซึ่งเป็นการนำไอน้ำร้อนจากใต้ดิน มาเปลี่ยนให้เป็นพลังงานไฟฟ้า สามารถทำได้ในประเทศที่มีบ่อน้ำร้อน ที่มีอุณหภูมิสูงเพียงพอ และมีโครงสร้างธรณีที่เหมาะสม
– ระบบกักเก็บความร้อน ที่ถูกออกแบบซ่อนไว้ในผนังโรงงาน ทำหน้าที่กักเก็บพลังงานที่ได้มาจากการขั้นตอนการเผาไม้ และเปลี่ยนให้เป็นความร้อน กลับคืนสู่กระบวนการผลิต และให้ความอบอุ่นแก่ตัวอาคารอีกครั้ง
ไม่เพียงแค่พลังงานทางเลือกเท่านั้น ที่ทำให้โรงงานแห่งนี้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง ยังถูกคิดมาอย่างดี โดยโครงสร้างที่ใช้ส่วนใหญ่ สร้างมาจากไม้เดิมที่เคยปลูกบนพื้นที่นี้ และสำหรับผนังภายนอกอาคารนั้น สถาปนิกเลือกใช้ไม้สนเผาไฟที่มีสีดำ ให้อาคารดูกลมกลืนไปกับบริบทป่าโดยรอบ ในขณะเดียวกันก็ใช้ไม้สนโทนสีสว่างภายในอาคาร เพื่อสร้างบรรยากาศที่มีชีวิตชีวาให้กับผู้ใช้งาน
โครงสร้างหลังคารูปทรงกากบาทที่เราเห็นนั้น เป็นเพียงหนึ่งในวัสดุคอนกรีตไม่กี่ชิ้นที่ถูกใช้ในงานนี้ และยังเป็นคอนกรีต Low-carbon อีกด้วย ซึ่งภายใต้หลังคานี้ถูกรองรับน้ำหนักโดยโครงสร้างไม้ Glulam ที่มีสแปนยาวมากถึง 14 เมตรเลยทีเดียว
อีกความน่าสนใจของโรงงานนี้ คือ การที่สถาปนิกออกแบบให้ผู้คนทั่วไปสามารถเข้ามาศึกษาเรียนรู้การผลิตไม้ได้ โดยใช้การออกแบบสีที่พื้น เพื่อแทนกระบวนการผลิตแต่ละขั้นตอนที่แตกต่างกัน และมีไฮไลท์ของงานเป็น Courtyard กลางอาคารที่มีบันไดสีเหลืองจากเหล็กรีไซเคิล หมุนวนขึ้นไปยังพื้นที่ชมวิวบนหลังคา
นอกจากนี้ ทางโรงงานยังมีการจัดการของเสียหลังกระบวนการผลิตในหลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการนำความร้อนกลับไปใช้ใหม่, การนำน้ำที่ใช้แล้วมากรอง แล้วนำกลับไปใช้ในขั้นตอนการผลิตอีกครั้ง หรือ การนำเศษวัสดุไม้ที่เหลือ ส่งไปยังโรงงานผลิตไฟฟ้าจาก Biomass เป็นต้น
ซึ่งจากการออกแบบและจัดการทั้งหมดนี้ ส่งผลให้โรงงาน The Plus for Vestre แห่งนี้สามารถลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้ถึง 55% เมื่อเทียบกับโรงงานในประเภทเดียวกัน นำไปสู่การรับรองมาตรฐานอาคารสีเขียวในระดับสูงสุด จาก BREEAM ของอังกฤษ
Factory in the Forest โดย Design Unit Architects Snd Bhd
การออกแบบพื้นที่สำนักงานของโรงงานผลิตไฟฟ้า ประเทศมาเลเซีย ที่นำหลักการ Biophilia ซึ่งเป็นหลักการที่นำเอาธรรมชาติเข้ามาผสานกับพื้นที่อาคาร ไม่ว่าจะเป็นการนำองค์ประกอบจากธรรมชาติ ที่สัมผัสผ่านรูป รส กลิ่น เสียง มาใช้โดยตรง หรือการถอดรหัส ลดทอนเส้นสายจากองค์ประกอบของธรรมชาติ มาเป็นจุดเด่นในงานออกแบบ เพื่อเชื่อมต่อสถาปัตยกรรม ธรรมชาติ และผู้คนเข้าไว้ด้วยกัน โดยการสร้างป่ารอบๆ และสอดแทรกไปยัง Courtyard ตรงกลาง ช่วยสร้าง Micro-climate ที่มีสภาวะน่าสบายให้กับตัวอาคาร และทำหน้าที่เป็นพื้นที่พักผ่อน เชื่อมระหว่างสำนักงานและโรงงานผลิตไฟฟ้า
ตัวอาคารถูกออกแบบให้เผยสัจจะวัสดุของคอนกรีตเสริมเหล็ก เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างกลมกลืน และในขณะเดียวกัน ก็ช่วยขับเน้นความเขียวของป่าออกมาให้โดดเด่นยิ่งขึ้น โดยมีการเจาะช่องอาคารเพื่อโอบรับแสงจากธรรมชาติเข้ามา ช่วยลดการใช้แสงจากหลอดไฟภายในตัวอาคาร
แต่เราก็คงรู้กันดีว่า ด้วยสภาพอากาศที่ใกล้เคียงกับเมืองไทยนั้น ทำให้แดดที่มาเลเซียก็คงแรงไม่แพ้กันกับเรา ดังนั้นสถาปนิกจึงมีการออกแบบหลังคาระแนงบานเกล็ด และ Façade คอนกรีตที่มีลักษณะเป็นครีบ (Fin) เพื่อปกป้องอาคารจากความร้อนและแสงแดดจ้าตลอดทั้งปี
นอกจากนี้ ยังมีการลดพลังงานที่ใช้สร้างความเย็นให้กับตัวอาคาร โดยใช้ระบบปรับอากาศล้ำสมัย ร่วมกับระบบ Radiant Floor Cooling ที่เป็นการนำน้ำเย็นมาไหลเวียนในท่อใต้พื้นคอนกรีต ซึ่งสามารถช่วยลดอุณหภูมิของพื้นคอนกรีตได้ถึง 21 องศาทีเดียว!
ส่วนระบบรดน้ำที่ใช้กับอาคารและป่าขนาดย่อมนี้ ก็มาจากการกักเก็บน้ำฝน ที่สถาปนิกได้ออกแบบรางน้ำจากหลังคา ลงมาสู่พื้นที่รับน้ำบนพื้นก่อน เพื่อแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของภูมิอากาศร้อนชื้น แล้วค่อยเชื่อมต่อไปยังถังเก็บน้ำใต้ดิน
Jakob Factory โดย G8A Architecture & Urban Planning + rollimarchini architekten
มาดูการออกแบบโรงงานขนาดกลางกันบ้างอย่าง Jakob Factory ในเมืองโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม แม้โรงงานแห่งนี้จะไม่มีพื้นที่ในแนวราบเพียงพอที่จะสร้างป่า ทว่ายังคงต้องการสร้างสภาวะน่าสบายให้กับตัวอาคาร รวมทั้งเป็นมิตรกับสภาพแวดล้อมโดยรอบด้วย ดังนั้นจึงนำมาสู่การสร้าง Façade สวนแนวตั้งแทน
Façade พิเศษนี้ ถูกออกแบบมาให้ทำหน้าที่ช่วยกรองแสงแดดและฟอกอากาศให้กับตัวอาคาร โดยต่อเติมรางปลูกพืชชนิดพุ่มรอบตัวอาคาร แล้วขึงยึดติดกับตัวอาคารเป็นแนวทแยงไขว้กันด้วยเหล็กเส้น 2 ชั้น ทั้งด้านในและด้านนอก พร้อมเสริมการรับน้ำหนักด้วยเสาเหล็ก ซึ่งงานออกแบบชิ้นนี้ถือเป็นตัวอย่างของการสร้างความยั่งยืนให้กับโรงงาน ในรูปแบบที่เข้าถึงง่าย ทั้งในเชิงการก่อสร้างและการดูแลงานระบบ
Al Naseej Factory โดย Leopold Banchini Architects
ปิดท้ายด้วยโรงงานอุตสาหกรรมระดับท้องถิ่น อย่าง Al Naseej Factory โรงงานทอผ้า ที่เป็นทั้งแหล่งสร้างรายได้และพื้นที่พบปะของช่างฝีมือในชุมชนเล็กๆ ในประเทศบาห์เรนแห่งนี้ โดยสถาปนิกได้ออกแบบโครงสร้างอาคารไม้ ในรูปแบบกริด Modular ผสานกับสถาปัตยกรรมท้องถิ่น Arish structure ในส่วนของผนังและหลังคา ซึ่งเป็นการนำใบปาล์มมาสานเป็นผืน มาช่วยปกป้องแสงแดดอันร้อนระอุ และในขณะเดียวกันก็ปล่อยให้ลมสามารถพัดผ่านเข้ามาในตัวอาคารเช่นกัน
ส่วนพื้นที่ภายในอาคารนั้น ถูกออกแบบให้โปร่งโล่ง มีทางเดินเชื่อมแต่ละพื้นที่เข้าหากัน โดยมีเพียงกระจกใสเท่านั้นที่ใช้แบ่งพื้นที่ทำงานบางส่วนเอาไว้ ทำให้สามารถมองเห็นขั้นตอนการผลิตได้อย่างทั่วถึง
แม้งานออกแบบชิ้นนี้จะไม่ได้มีการวางงานระบบเพื่อลดการใช้พลังงานอย่างโรงงานอื่นๆ แต่ก็สามารถสร้างความยั่งยืนได้ด้วยตัวสถาปัตยกรรมเอง โดยเฉพาะใบปาล์ม ที่เป็นวัสดุหาได้ง่ายในท้องถิ่น สามารถย่อยสลายกลับคืนสู่ธรรมชาติได้ และที่สำคัญ ยังเป็นการส่งต่อคุณค่าภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่สถาปัตยกรรมสมัยใหม่อีกด้วย
นอกจากการออกแบบอย่างยั่งยืนจาก 4 โรงงานที่เรายกตัวอย่างมานี้ ยังมีอีกหลายวิธีที่ช่วยแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ดีไซน์อาคารที่ใช้งานได้หลากหลายฟังก์ชัน, การใช้พลังงานสะอาด ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล, การเลือกใช้วัสดุที่มีค่า Recycled content สูง เป็นต้น ซึ่งเราเองก็คาดหวังว่าในอนาคตจะมีสถาปัตยกรรม ที่ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมสามารถลดการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
แหล่งที่มาข้อมูลและรูปภาพ:
– https://www.dezeen.com/2022/05/25/the-plus-furniture-factory-big-vestre/
– https://www.archdaily.com/982957/the-plus-for-vestre-big
– https://www.archdaily.com/947771/factory-in-the-forest-design-unit?ad_medium=gallery
– https://www.archdaily.com/947300/jakob-factory-g8a-architecture-and-urban-planning-plus-rollimarchini-architekten
– https://www.dezeen.com/2022/11/01/jakob-factory-rollimarchini-g8a-architects/
– https://www.archdaily.com/981518/al-naseej-textile-factory-leopold-banchini-architects?ad_medium=gallery
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!