รู้จักกับ FOS Lighting Design Studio
นักออกแบบผู้อยู่เบื้องหลังงานแสดงแสงไฟบนหอเก็บน้ำ ‘ประปาแม้นศรี’

ภาพของแสงสีที่ตัดกับท้องฟ้ายามค่ำคืน ผสานกับงาน Art Installation ที่ชวนตระหนักถึงคุณค่าของตัวอาคารในฐานะหอเก็บน้ำแห่งแรกในประเทศไทย พร้อมทั้งสร้างภาพจำใหม่ในการเป็นพื้นที่นั่งเล่นของคนเมือง ทำให้งาน ‘ประปาแม้นศรี’ เป็นหนึ่งในไฮไลท์ที่เป็นที่พูดถึงและได้รับความสนใจจากผู้ร่วมงานเป็นอย่างมากจากงาน Bangkok Design Week 2023

วันนี้เราจะพาทุกคนมารู้จักกับผู้ที่อยู่เบื้องหลังการออกแบบแสงในงานนิทรรศการ ‘ประปาแม้นศรี’ และ ‘หอประติมากรรมต้นแบบ กรมศิลปากร’ อย่าง FOS Lighting Design Studio ที่จะมาเล่าถึงชีวิตการทำงาน และบทบาทของนักออกแบบแสง (Lighting Designer) ในมุมมองใหม่ๆ ให้เราได้ฟังกัน

FOS Lighting Design Studio สตูดิโอที่บอกเล่าแนวคิดผ่านแสง

จุดเริ่มต้นของสตูดิโอแห่งนี้ ก่อตั้งโดย คุณพิณ ฐะนียา ยุกกะทัต และคุณดิวัน ขัตติยากรจรูญ โดยทั้งคู่เล่าว่าหลังจากที่จบการศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรแล้ว จึงได้ตัดสินใจเรียนต่อ ป.โท ที่ Light and Lighting ณ University College London ช่วงแรกที่เรียนจบมาก็ทำงานกับบริษัท แต่ผ่านไปซักพักก็อยากทำงานที่หลากหลายมากขึ้น จึงกลายเป็นที่มาของการตั้งกลุ่มนักออกแบบแสงและสตูดิโอแห่งนี้ ซึ่งปีนี้ก็เข้าปีที่ 16 แล้ว

FOS Lighting Design Studio เคยออกแบบแสงในงานประเภทไหนมาบ้าง?
คุณพิณ : “ยุคแรกๆ งาน Lighting design มักจะอยู่ในโรงแรม ร้านอาหาร และบ้านขนาดใหญ่ ที่ทางเจ้าของมีงบประมาณเยอะ และมองว่าการออกแบบแสงสามารถสร้างบรรยากาศในบ้านได้ ต่อมาพอผู้คนให้ความสำคัญกับการออกแบบแสงมากขึ้น ก็เริ่มมีงานในสเกลสาธารณะเข้ามา เช่น วัดวาอาราม, โรงเรียน, พิพิธภัณฑ์ รวมถึงอาคารสำนักงาน, ห้างสรรพสินค้า, ห้องสมุดสาธารณะ, โรงพยาบาล และงานประเภทอื่นๆ อีกหลากหลายประเภท”

การออกแบบแสงในงานเชิง Commercial และงานเชิงเพื่อสาธารณะ มีความท้าทายแตกต่างกันอย่างไร?
คุณพิณ : “งานเชิง Commercial เป็นการทำเพื่อตอบโจทย์กลุ่มผู้ใช้งานที่ค่อนข้างเจาะจงกว่า และแคบกว่าสเกลสาธารณะ ดังนั้นจึงต้องออกแบบตามวัตถุประสงค์ของฟังก์ชันในงานนั้นก่อน แล้วค่อยเป็นเรื่องคุณภาพ, ความสวยงาม และการตอบโจทย์กับคอนเซ็ปต์หลักด้วย 

ส่วนงานเชิงเพื่อสาธารณะ จะมีความท้าทายตรงที่เราทำงานร่วมกับหลายฝ่าย ต้องคำนึงถึงนโยบายของเมือง และ Sense of belonging ของคนในชุมชน ยกตัวอย่างเช่น สะพานพิทยเสถียร ที่จากเดิมคนก็อาจไม่ได้ให้ความสำคัญขนาดนั้น แต่พอเราเข้าไปจัดแสงสีในพื้นที่ คนในชุมชนจึงเห็นคุณค่าและรู้สึกหวงแหนมากขึ้น แต่ไม่ว่าจะเป็นงานเชิง Commercial หรืองานเชิงเพื่อสาธารณะ เราจะพยายามรักงานทุกงานเท่ากันและทำออกมาให้ดี”

เรียนรู้มุมมองการทำงานของ Lighting Designer

นักออกแบบแสงมีขั้นตอนการทำงานอย่างไร? ต่างจากสถาปนิกหรือไม่?
คุณพิณ : “ขั้นตอนการทำงานเริ่มจากสำรวจไซต์ หรือศึกษาการออกแบบของอินทีเรียและสถาปัตยกรรมก่อน แล้วค่อยทำมาเป็น Concept design ที่สอดคล้องกัน หลังจากนั้นจึงเข้าสู่ช่วง Design development ที่นำแนวคิดมาทำเป็นผัง ว่าจะใช้ดวงโคมอะไรอย่างไร แล้วทำเป็นตารางโหลดไฟฟ้าให้ทางวิศวกร หลังจากประเมินงบเสร็จแล้ว ค่อยลงดีเทลการติดตั้งของแสง และสเปครายละเอียดดวงโคม เพื่อให้ได้คุณภาพแสงและเอฟฟ็กต์แบบที่ต้องการ 

วิธีการทำงานของ Lighting designer กับสถาปนิกหรือนักออกแบบสาขาอื่นๆ ค่อนข้างคล้ายคลึงกัน แต่ต่างตรงที่แสงเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น เราจึงต้องใช้จินตนาการและประสบการณ์ในการออกแบบ และเราก็ทำงานช่วงกลางคืนด้วย ต้องไปหน้าไซต์เพื่อปรับแสง, องศาของแสง, เปอร์เซ็นต์ความสว่าง ให้ได้ตามแบบที่เราคิดไว้ ถ้างานไหนมีระบบ Lighting control ก็จะต้องทำงานกับโปรแกรมเมอร์ เพื่อเซ็ทซีนตามที่เราคิดไว้ในขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งเรียกขั้นตอนนี้ว่า Lighting commissioning”

งานนิทรรศการแสง สกาลา เครดิตภาพ FOS Lighting Design Studio

แล้วเราจะจินตนาการถึงการออกแบบแสงได้อย่างไร?
คุณดิวัน : “ในวงการ Lighting เขาจะเรียกว่า ‘เป็นสายตาที่ถูกฝึกมาแล้ว’ เพราะตอนไปเรียน เขาจะให้เริ่มเรียนจากเรื่องหลอดไฟก่อน เราต้องรู้ว่าหลอดไฟมีกี่แบบ แต่ละแบบให้คุณลักษณะยังอย่างไร ให้แสงแบบไหน จนมองออกว่าแสงแบบนี้จะออกมาจากหลอดประเภทนี้ สีของแสงนี้จะมีอุณหภูมิประมาณเท่าไหร่ แล้วจะมีเรื่องที่เกี่ยวกับจิตวิทยาด้วย เพราะแสงสามารถส่งผลโดยตรงต่อความรู้สึกของคน รวมทั้งความรู้ในเชิงวิทยาศาสตร์ต่างๆ พอเรามีความรู้พื้นฐานพวกนี้แล้ว รู้จักคุ้นเคยวัสดุอุปกรณ์ของเราแล้ว ถึงจะเอามาประยุกต์ใช้ได้

อย่างนักออกแบบรุ่นแรกๆ เขาก็ใช้ประสบการณ์ที่สั่งสมจากการลองผิดลองถูกกันมาเรื่อยๆ ผ่านการ Mockup (การทดลองติดตั้งวัสดุหน้างาน) ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากสำหรับการออกแบบแสง เพราะเราต้องสังเกตบริบทรอบๆ ทั้งตอนกลางวันและกลางคืน”

คุณพิณ : “จริงๆ ถ้าเราลองหลับตาแล้วจินตนาการถึงแสงในสเปซ พี่ว่าทุกคนก็ทำได้ เพียงแต่ว่าความรู้เรื่องอุปกรณ์และประสบการณ์พวกนี้ มันจะทำให้เราสามารถถ่ายทอดสิ่งที่คิดไว้ออกมาได้อย่างแม่นยำ”

งานนิทรรศการแสง สกาลา เครดิตภาพ FOS Lighting Design Studio

การควบคุมแสงภายในและภายนอกอาคารต่างกันอย่างไร?
คุณพิณ : “วิธีการคำนวณแสงข้างในและข้างนอกอาคารมีความต่างกัน ถ้าเป็นพื้นที่ภายใน แสง Ambient (แสงทั่วไปที่ล้อมรอบบริเวณนั้น) และ แสง Accent (แสงที่ส่องเน้นจุดใดจุดหนึ่ง) จะสร้างโดยเรา ซึ่งเราสามารถควบคุมเปอร์เซ็นต์ Contrast (ความแตกต่างของค่าแสง) ได้ง่าย 

ถ้าเป็นพื้นที่ภายนอก แสง Ambient จะไม่ได้สร้างโดยเรา แต่จะมาจากแสงจากบริบทรอบๆ ตัวเรา ซึ่งแต่ละที่ก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้นในพื้นที่ภายนอกจะมี Contrast เยอะมากๆ ทำให้ควบคุมได้ยากกว่า ดังนั้นเราจึงต้องไปสำรวจพื้นที่ก่อน ว่ามีแสง Ambient ข้างนอกเท่าไหร่ และบางทีก็มักจะเจอปัญหาแสง Ambient จากหลอดไฟที่สว่างจ้ามาก แต่อย่างงานประปาแม้นศรี ก็ถือว่าเป็นงานในพื้นที่ภายนอก ที่ควบคุมแสงไม่ยาก เพราะมีแสงรบกวนน้อย”

จุดเริ่มต้นการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงาน Bangkok Design Week

หากใครได้ติดตามงาน Bangkok Design Week จะพบว่าทาง FOS Lighting Design Studio นั้น ได้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม Lighting Designers Thailand (LDT) ที่มาเข้าร่วมสร้างสรรค์นิทรรศการจัดแสดงแสงสีในย่านชุมชนตลาดน้อย ภายใต้ผลงานชื่อว่า ‘The Wall’ ตั้งแต่ปี 2018 แล้ว

การจัดแสดงแสงในสเกลเมือง ร่วมกับ Bangkok Design Week มีแนวคิดอย่างไรบ้าง?
คุณพิณ : “สำหรับงาน The Wall นั้น มีจุดประสงค์ 3 อย่าง คือ หนึ่ง ช่วยให้เมืองปลอดภัย สอง ให้ความรื่นรมย์ และสาม ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของย่านชุมชน ซึ่งสำหรับการออกแบบครั้งนั้น ก็เหมือนเป็นการแนะนำให้ผู้คนได้รู้จักก่อนว่า Lighting มีประโยชน์อย่างไรกับเมือง และตั้งแต่ปีนั้นจนถึงตอนนี้ ก็มีกลุ่มนักออกแบบเข้าไปแวะเวียนจัดนิทรรศการอยู่เสมอ ซึ่งทางชุมชนก็ยินดีให้เข้าไป เพราะมันทำให้ชุมชนมีมูลค่ามากขึ้น ค้าขายได้มากขึ้น อันนี้ถือเป็นประสบความสำเร็จครั้งแรก ในการที่เอาแสงเข้ามาช่วยพัฒนาชุมชน และหลังจากนั้นทางสตูดิโอก็ได้เข้าร่วมงาน Bangkok Design Week มาทุกปี”

เครดิตภาพ FOS Lighting Design Studio

“สำหรับงานนิทรรศการที่คลองผดุงกรุงเกษม ในปี 2022 นั้น นับว่าเป็นผลงานที่ใกล้เคียงกับสเกลเมืองมากที่สุด เพราะนอกจากแนวคิดในการจัดแสงตามจุดต่างๆ แล้ว ยังมีแนวคิดการออกแบบแสงที่เน้นองค์ประกอบของเมือง ไม่ว่าจะเป็น Landmarks ซึ่งก็คือ สะพานพิทยเสถียรและอาคารชัยพัฒนสิน, Paths ที่เน้นบริเวณสะพานนี้จงสวัสดีและทางเดินริมคลอง และ Edge ที่เกิดจากต้นไม้ที่เรียงรายริมคลอง ซึ่งเป็นการออกแบบเพื่อให้ผู้คนรับรู้ถึงเอกลักษณ์ความงามของพื้นที่ ที่ซ่อนเร้นอยู่ในมุมเล็กๆ ในกรุงเทพฯ และขณะเดียวกันก็สร้างความปลอดภัย รวมถึงช่วยขยายเวลาการใช้งานของพื้นที่ในย่านอีกด้วย”

“อย่างงานประปาแม้นศรีในปีนี้เอง ก็เป็นการร่วมมือกันกับ Urban Alley ในการหยิบพื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ แต่กลับถูกทิ้งร้าง มาชุบชีวิตใหม่ให้กลายเป็นพื้นที่นั่งเล่นของเมือง โดยผสานการออกแบบแสงสีเข้ากับ Art Installation จากนักออกแบบอื่นๆ อีกด้วย”

งานนิทรรศการแสง สะพานพิทยเสถียร เครดิตภาพ FOS Lighting Design Studio

คุณค่าของการออกแบบแสง ที่ส่งผลต่อสถาปัตยกรรม เมือง และผู้คน

ทำไมการออกแบบแสงจึงเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ?
คุณพิณ : “แสงเป็นสื่อกลางระหว่างตากับวัตถุ สำหรับผู้คนแล้ว แน่นอนว่าถ้าไม่มีแสงเราก็มองไม่เห็น ซึ่งเราสามารถออกแบบให้มองเห็นหรือมองไม่เห็นก็ได้ แม้กระทั่งแสงแดด เราก็สามารถเล่นกับมันได้ แค่นี้ก็น่าจะเป็นคำตอบแล้วว่าทำไม Lighting Designer ถึงมีบทบาทสำคัญช่วยส่งเสริมงานสถาปัตยกรรมได้ และยิ่งในสเกลเมืองก็ยิ่งสำคัญขึ้นไปอีก เพราะมันไม่ได้มีเรื่องความสวยงามอย่างเดียว ยังมีเรื่องความปลอดภัย ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยเน้นบริบท รวมถึงแยกแยะองค์ประกอบหลักและรองของเมือง” 

คุณดิวัน : “ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ คือ ถ้าเราไปสนามหลวงแล้วเรามองวัดพระแก้ว ซึ่งปกติจะเห็นมุมพาโนรามาที่มีตึกข้างๆ ทั้งสองข้าง และมีวัดพระแก้วอยู่ตรงกลาง ถ้าเราเอา Floodlight สีขาวสาดเข้าไปเหมือนกันทุกมุม เราจะไม่ได้ภาพว่าอันไหนเป็นแลนด์มาร์กที่สำคัญของเมือง ในขณะเดียวกัน ถ้าเราเอาแสงขาวสาด 2 ข้าง และใช้แสงเหลืองสาดตรงกลาง โดยใช้ความสว่างของแสงที่เท่ากัน เราก็อาจจะพอเห็นความแตกต่าง แต่ก็ยังดูแบนๆ ยังไม่เห็นมิติออกมา แต่พอเราเอาศาสตร์ Lighting Design มาจับ โดยลดความสว่างด้านข้างลง เน้นความสว่างตรงกลางในระดับที่พอดี ปรับค่าอุณหภูมิแสง เพื่อให้เราโฟกัสที่จุด Focal point รวมทั้งลดแสงของถนนลงมาในระดับที่ยังปลอดภัยต่อการใช้งาน เราก็จะได้รูปด้านของเมืองที่สวยงาม ช่วยทำให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้อีกด้วย”

คุณพิณ : “พอมาเรียนต่อที่ลอนดอน เรารู้สึกว่าที่นู่นเขาสวยทั้งภาพเมือง เห็นการเชื่อมโยงกันระหว่างองค์ประกอบของเมือง แล้วเรารู้สึกว่ามันเจ๋งดี พอเห็นอย่างนั้น เราก็อยากพากรุงเทพไปให้ถึงจุดนั้น ซึ่งจากที่ทำมา คนก็ให้ความสำคัญกับ Lighting มากขึ้น แต่เราก็ไม่อยากให้คนคิดว่า Architectural Lighting เป็นแค่ Art Installation ที่ผ่านมาแล้วจบไป ดังนั้นเราจึงพยายามผลักดันให้ประเทศชาติเห็นความสำคัญของ Urban Lighting จนนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการทำผังเมืองและแผนพัฒนาชาติของไทยเรา” 

แม้แสงจะเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ แต่ก็เป็นสิ่งที่เราขาดไม่ได้เช่นกัน เชื่อว่าการออกแบบแสงที่ดี จะทำให้เรามองเห็นความสำคัญของวัตถุ สถาปัตยกรรม เมือง และแม้กระทั่งตัวเรา ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น นั่นจึงเป็นสาเหตุที่เราอยากชวนให้ทุกคนได้ทำความรู้จักและเข้าใจในบทบาทของนักออกแบบแสงไปด้วยกัน และเราก็หวังว่าทั้งในปัจจุบันและอนาคต ผู้คนจะให้ความสนใจการออกแบบแสงมากขึ้น จนเห็นภาพเดียวกันว่าแสงสีสามารถนำพาเราไปสู่สังคมที่ดีกว่าได้

ขอขอบคุณ FOS Lighting Design Studio
Facebook: https://www.facebook.com/foslightingdesign/
Instagram: https://www.instagram.com/designfos/?hl=en

Writer
Nara Aunjai

Nara Aunjai

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ที่ดำรงอาชีพนักเขียนเป็นงานหลัก นักแปลเป็นงานรอง และรับออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมเป็นงานพาร์ทไทม์