เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกสำคัญอย่างมากสำหรับการพัฒนาของวีดีโอเกมส์ เพราะหลังจากที่เราต้องเล่นเกมส์อยู่คนเดียวกันมาพักใหญ่ เมื่อ Internet ถือกำเนิดขึ้นไม่นาน วีดีโอเกมส์ก็พัฒนาระบบการเล่นแบบออนไลน์ที่ผู้เล่นคนละมุมโลกได้มีโอกาสมาเล่นร่วมกันโดยไม่จำเป็นต้องรู้จักกันเลย
แทบทุกเกมส์ในปัจจุบันมีโหมด Multiplayer เป็นระบบพื้นฐานที่สำคัญต่อการพัฒนาไปสู่ ‘ระบบนิเวศน์’ ของเกมส์นั้นๆ เริ่มมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าบางชนิดกันภายในเกมส์ และเริ่มมีคนประกอบอาชีพตามหา Item ต่าง ๆ เหล่านั้นเพื่อนำมาขายเกร็งกำไร สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้หลายเกมส์เกิดระบบเศรษฐกิจและสังคมที่มีความซับซ้อนมากขึ้น รวมไปถึงการพัฒนาของเทคโนโลยีในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยี Virtual Reality (ความจริงเสมือน) ที่ทำให้แว่น VR เข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนประสบการณ์การเล่นเกมส์ทำให้ตัวผู้เล่นได้เข้าไปสัมผัสสิ่งต่าง ๆ ที่เกมส์พยายามจะนำเสนอได้สมจริงมากขึ้น ทั้งหมดล้วนมีผลทำให้ช่องว่างระหว่าง “โลกเสมือน” และ “โลกความจริง” น้อยลงไปเรื่อย ๆ
Photo Credit : https://ar12gaming.com/articles/review-rainbow-six-siege
โหมด Multiplayer ในเกมส์ Rainbow Six Siege ที่เปิดโอกาสให้ผู้เล่นหลายคนมาทำภาระกิจร่วมกัน รวมไปถึงการแบ่งข้างเพื่อแข่งขันกัน
Photo Credit : https://forum.playragnarokonlinebr.com/index.php?/topic/78755-prontera-bugada/
สังคมของเกมส์ Ragnarok Online ที่ผู้เล่นหลายคนไม่ได้เข้ามาเพียงเพื่อเล่นเกมส์แต่เพียงอย่างเดียว แต่เข้ามาเพื่อพบปะพูดคุยหรือซื้อขายสินค้ากัน
Photo Credit : https://www.roadtovr.com/horizon-call-mountain-psvr-2-hands-on-demo-preview/
โลกเสมือนในวีดีโอเกมส์กับโลกความเป็นจริงเริ่มขยับเข้าใกล้กันใน VR Game – Horizon Call of the Mountain
2-3 ปีที่ผ่านมาในช่วงโควิดกำลังระบาด กระแสของ “Metaverse” หรือ “จักรวาลนฤมิต” กลายเป็นกระแสที่มีคนพูดถึงเป็นจำนวนมาก บริษัทชั้นนำหลายแห่งต่างตื่นตัว เตรียมความพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ซึ่งก็คาดเดากันไปต่าง ๆ นา ๆ ว่า ในอนาคตชีวิตครึ่งหนึ่งของเราจะอยู่ในโลกเสมือน เราจะได้ดูคอนเสิร์ตจากศิลปินที่เราชื่นชอบที่จัดขึ้นบนดาวอังคารทั้ง ๆ ที่ตัวเองนอนอยู่บนเตียงที่บ้าน เราจะได้ไปเชียร์ฟุตบอลติดขอบสนามและได้นั่งร่วมรับประทานอาหารกับเหล่าซุปเปอร์สตาร์ชื่อดัง หรือแม้แต่บางคนก็จะได้มีโอกาสที่จะมีบ้านหลังโต ๆ อยู่ติดชายหาดที่สวยงาม มีพื้นที่หรือสเปซในแบบที่เราใฝ่ฝัน ซึ่งในโลกความจริงสำหรับบางคนอาจไกลเกินเอื้อม ทุกคนจึงอาจต้องการ “space” สำหรับตัวเองในโลกเสมือนใบนี้
Photo Credit : https://comicbook.com/gaming/news/ready-player-one-trailer-2/
เรื่องราวของโลกมนุษย์ในอนาคตที่ “ผู้คนต้องใช้ชีวิตจริงอยู่ในโลกเสมือน” จากภาพยนต์เรื่อง Ready Player One
ที่ใดต้องการสเปซ ที่นั่น…ย่อมต้องการคนออกแบบสเปซ
ถนนทุกสายบนโลกต่างมุ่งหน้าไปสู่ Metaverse ในฐานะของสถาปนิก ถ้าอยากเก็บกระเป๋าเดินทางไปกับเขาด้วย ก็คงหนีไม่พ้น ต้องศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับโลกใหม่นี้ เพราะ “ที่ใดต้องการสเปซ ที่นั่น…ย่อมต้องการคนออกแบบสเปซ”
การออกแบบโลกเสมือนอาจจะเป็นเรื่องใหม่ แต่ถ้าเราลองเทียบเคียงกับการออกแบบสิ่งก่อสร้างภายในเกมส์แนวสร้างเมือง (city-building simulation) หรือเกมส์ที่มีฟังก์ชันการก่อสร้างอาคารและสถานที่ต่าง ๆ เราก็พอจะเห็นภาพแนวความคิดของการออกแบบเบื้องต้นได้ง่ายขึ้น
หากลองเข้าไปดูตาม Channel ของเหล่าเกมเมอร์ใน Youtube ที่เล่นเกมส์แนวสร้างเมืองอย่าง Cities: Skylines หรือเกมส์แนวบริหารจัดการพื้นที่อย่าง Planet Zoo หรือ Planet Coaster รวมไปถึงเกมส์จำลองการใช้ชีวิตอันโด่งดังอย่าง The Sims ในโหมดของการสร้างบ้านและการตกแต่งภายใน เราจะเห็นได้ว่าเกมเมอร์หรือ Youtuber เหล่านี้ สามารถออกแบบวางผังของเมือง ออกแบบสวนสัตว์ สวนสนุก รวมถึงการออกแบบบ้านและการคัดเลือกเฟอร์นิเจอร์เพื่อมาตกแต่งภายในบ้านได้อย่างสวยงาม ทั้ง ๆ ที่หลายคนไม่ได้มีพื้นฐานในการออกแบบ ‘สถาปัตยกรรม’ เลยด้วยซ้ำ
ครึ่งหนึ่ง ผมเคยมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญรวมถึงอาจารย์ที่สอนแนวคิดการออกแบบสถาปัตยกรรมในโลกเสมือนจริง ไม่ว่าจะอยู่ในในโลก Metaverse หรือโลกของ Video game จึงอยากสรุปเป็น 3 ประเด็นที่พอจะเห็นถึงความแตกต่างของหลักคิดและวิธีการออกแบบของโลกสองใบนี้
01 สถาปัตยกรรมในโลกเสมือน ไม่มีเงื่อนไขเรื่องความแข็งแรงโครงสร้าง
จะออกแบบ weird แค่ไหนก็ย่อมได
อ้างอิงตามหนังสือที่เรียกได้ว่าเป็นตำนานหนังสือสถาปัตยกรรมเล่มแรกของโลกที่ชื่อว่า De architectura ถูกแต่งขึ้นมาตั้งแต่สมัยโรมันได้นิยามสิ่งที่จะสามารถเรียกว่าเป็น “สถาปัตยกรรม” ได้นั้น จะต้องมีองค์ประกอบพื้นฐานด้วยกันอย่างน้อย 3 อย่าง นั่นคือ utilitas (utility) – สิ่งนั้นต้องมีอัตถประโยชน์ , firmitas (strength) – สิ่งนั้นต้องมีความมั่นคงแข็งแรง and venustas (beauty) – และสิ่งนั้นจะต้องมีความงาม
Photo Credit : http://3.bp.blogspot.com/-PdpcOzBGTL0/VDPA8RKdWxI/AAAAAAAACW0/j-YLmp_Q6ZY/s1600/Dearchitectura02.jpg
ตำรา De architectura แต่งโดย Marcus Vitruvius Pollio
ถ้ายึดตามหนังสือเล่มนี้ การก่อสร้างอาคารที่ไม่มีนัยยะของ “ความมั่นคงแข็งแรง” สิ่งนั้นอาจไม่นับว่าเป็น ”สถาปัตยกรรม” ใน “โลกเสมือน” ความแข็งแรงของโครงสร้างจะถูกให้ความสำคัญน้อยลงจากกระบวนการในการออกแบบ โดยถูกลดบทบาทลงจนเหลือเป็นเพียง “ความน่าจะเป็นของโครงสร้าง” ที่ช่วยทำให้อาคารหรือสิ่งก่อสร้างรวมถึงสภาพแวดล้อมภายใน “โลกเสมือน” ดู “สมจริง” ซึ่งดูจะเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่าความแข็งแรงของโครงสร้างตามนิยามของโลกความจริง
Photo Credit : https://segmentnext.com/the-sims-4-house-building-tips-how-to-build-perfect-house/
งานออกแบบก่อสร้างภายในเกมส์ The Sim 4
Photo Credit : https://thesimscatalog.com/sims4/downloads/houses-and-lots/residential/modern-mountain-home-no-cc/
ตัวอย่างของบ้านใน The Sim 4 : Modern Mountain Home (NO CC) ออกแบบโดย MINI SIMMER
ในแง่หนึ่ง การออกแบบโดยไร้ข้อจำกัดทางด้านโครงสร้าง ทำให้เรามีอิสระในการออกแบบสิ่งต่าง ๆ ในโลกเสมือนได้มากขึ้น เราสามารถออกแบบอาคารให้มีลักษณะเหนือธรรมชาติโดยไม่จำเป็นต้องสนใจว่ามันจะอยู่ยังไงหรือสร้างยังไง เราสามารถบิดเบือนฟังก์ชันหรือฟอร์มของอาคารให้มีความผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง แม้กระทั่งยังสามารถออกแบบความสัมพันธ์ระหว่าง Space และ Time โดยอาจจะให้ space ของอาคารมีการเคลื่อนไหวหรือปรับเปลี่ยนรูปแบบได้อย่างอิสระเพื่อเพิ่มความน่าสนใจให้กับพื้นที่ที่เราออกแบบ เหมือนอย่างในภาพยนต์เรื่อง Inception ของ Christopher Nolan หรือในเกมส์ Control จากค่าย Remedy Entertainment
https://www.timeout.com/movies/inception-2010
Space ที่ไม่หยุดนิ่งในภาพยนต์เรื่อง Inception
https://meups.com.br/noticias/control-tera-duracao-entre-15-a-20-horas-confirma-remedy/
Space ที่ปรับเปลี่ยนไปมาได้เหมือนเขาวงกตในเกมส์ Control
02 สถาปัตยกรรมโลกเสมือนไม่มีเงื่อนไขในเรื่องเวลา
เปลี่ยนผนังบ้านได้ไว้แค่เม้าท์คลิ๊ก ไม่ต้องรอแบบขออนุญาต
มีคนเคยพูดไว้ว่า ‘เวลาในโลกเสมือนมีค่าเป็นอนันต์’ ถ้าไม่ใส่เงื่อนไขอะไรบางอย่างเข้าไป “โลกเสมือน” ก็เป็นเหมือนดังพื้นที่ว่างเปล่าไร้ข้อจำกัดทั้งในเรื่อง Space และ Time (เหมือนเกมส์ที่ไม่มีระบบกลางวันกลางคืน) ไม่มีการแก่หรือการตายที่แท้จริง ไม่มีแม้แต่การเสื่อมสลายของวัตถุ แต่โลกเสมือนที่เวลาเหมือนจะเป็นสิ่งที่ไร้ความหมายนั้น ในทางตรงข้าม เวลา กลับถูกใช้เป็นตัววัดประสิทฺธิภาพของโลกเสมือนใบนั้น
เกมส์ระดับ AAA ที่มีภาพกราฟฟิกสวยงามใกล้เคียงกับภาพยนต์ฟอร์มยักษ์ ทีมงานผู้พัฒนาจะต้องทำการเพิ่มประสิทธิภาพตัวเกมส์ให้เข้ากับเครื่องเล่นเกมส์ในแต่ละแบบแต่ละรุ่น ให้คงความสวยงามคมชัดของภาพควบคู่ไปกับประสิทธิภาพความไหลลื่นของการควบคุม เกมส์ไหนที่ภาพสวยแต่กินแรงเครื่องมาก เกมส์นั้นจะมีคนเล่นน้อย เกมส์ไหนภาพสวยแต่ใช้เวลาโหลดฉากนานคนก็จะเบื่อ หรือเกมส์ไหนที่การตอบสนองของการควบคุมไม่ทันท่วงที โดยเฉพาะเกมส์แนว First-person shooter (FPS) ที่เวลาเพียงเสี้ยววินาทีสามารถตัดสินการแพ้ชนะของเกมส์ได้ เกมส์นั้นจะถูกโยนทิ้งไปทันที
การโอนถ่ายข้อมูลในเกมส์หรือในโลกเสมือนจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของการดำรงอยู่ของโลกเสมือนใบนั้น ข้อมูลมหาศาลที่โลกแต่ละใบต้องเก็บรวบรวมเอาไว้ใช้งาน จะมีขนาดใหญ่เกินกว่าที่เราจะเข้าใจ ถ้าโลกใบไหนมีการโอนถ่ายข้อมูลที่เชื่องช้าและไม่สามารถตอบสนองความต้องการของ ‘พลเมือง’ ในโลกนั้นได้อย่างทันท่วงที โลกเสมือนใบนั้นจะถูกทิ้งร้างไปทันที
ในเรื่องของสิ่งก่อสร้างก็เช่นกัน…การก่อสร้างหรือการปรับเปลี่ยนสิ่งต่าง ๆ ภายใน “โลกเสมือน” จะต้องมีรวดเร็วในระดับเสี้ยววินาทีหรือเพียงแค่หนึ่งเม้าท์คลิ๊ก ไม่มีการเขียนแบบ ไม่มีการขออนุญาตปลูกสร้าง ไม่มีการจ้างผู้รับเหมา ไม่มีการขอส่งงานเลท สิ่งต่าง ๆ จะต้องเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงที การเปลี่ยนสีของผนังบ้านใหม่จะเร็วพอ ๆ กับการเปลี่ยน wall paper ในหน้าจอมือถือ การออกแบบห้องหรือพื้นที่หนึ่งพื้นที่ใด เราอาจจะต้องเตรียมแบบที่พร้อมใช้งานไว้อย่างน้อยสิบแบบและแต่ละแบบต้องรองรับการปรับแก้ (customize) จากเจ้าของได้โดยตรงอีกด้วย
http://simcitizens.com/wp-content/uploads/2014/08/Sims-4-Build-Mode-1024×576.png
โหมดสร้างบ้านใน The Sim 4
นอกจากนี้กฎของการใช้วัสดุจะถูกเปลี่ยนไป เราจะไม่ได้ยินประโยคที่ว่า “เหล็กไม่เหมาะกับอาคารที่อยู่ริมทะเล” “ไม้จะมีปัญหาเรื่องปลวก” หรือ “กระเบื้องสีนี้ทำความสะอาดยาก” ความรู้เกี่ยวกับวัสดุและผลิตภัณฑ์จะเหลือแค่เพียงความสวยงามภายนอกเท่านั้น เรื่องอายุการใช้งานหรือข้อจำกัดในเรื่องความคงทน ยกเว้นจะมีโลกเสมือนใบไหนที่ต้องการออกแบบให้วัสดุแต่ละชิ้นมีความสมจริงในมิติของเวลา ก็สามารถทำได้…แต่ส่วนตัวผมเข้าใจว่า ไม่น่าจะมีใครทำ
03 สถาปัตยกรรมในโลกเสมือนไม่มีเงื่อนไขในเรื่องความงาม
เรื่องนี้คุยกันยาว…ไม่ว่าจะเป็นเกมส์แนวสร้างเมือง เกมส์แนวบริหารจัดการ หรือเกมส์จำลองการใช้ชีวิต เกมส์เหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีหัวใจหลักอยู่ที่การบริหารจัดการทรัพยากรภายในเกมส์ ใน Cities: Skylines และ SimCity คุณจะต้องจัดการบริหารเมืองให้คนภายในเมืองมีความสุขด้วยเงื่อนไขของงบประมาณและพื้นที่ที่มีจำกัด (ที่ยากที่สุดของ Cities: Skylines คือการแก้ปัญหารถติด) ในเกมส์สร้างเมืองแบบย้อนยุคอย่าง ANNO 1880 คุณจะต้องบริหารจัดการผลผลิตต่าง ๆ ภายในเมืองรวมถึงทำการค้ากับเมืองต่าง ๆ และถ้าเผลอไปทะเลาะกับใคร ก็ต้องทำสงครามกับเขาด้วย หรือบางเกมส์อย่าง Tropico 6 หนึ่งในเกมส์ที่ถูกห้ามเล่นในหลายประเทศ คุณจะต้องบริหารจัดการ “คะแนนนิยม” ของประชาชนในเมืองด้วย เพราะถ้าคุณแพ้การเลือกตั้งเกมส์จะจบลงทันที แต่ไม่ต้องกังวล…เพราะถ้าดูแล้วว่าเราอาจจะแพ้การเลือกตั้ง เราสามารถเลือกที่จะไม่จัดการเลือกตั้งในครั้งนั้นได้…โครตเจ๋ง
https://store.steampowered.com/app/255710/Cities_Skylines/
Cities: Skylines
เบื้องหลังของเกมส์ประเภทนี้ มีเงื่อนไขของการผ่านด่านที่ซับซ้อน เพราะหัวใจหลักของเกมส์แนวนี้คือ “การบริหารจัดการทรัพยากร” แต่แทบจะไม่มีเกมส์ไหนเลยที่นำเอา “ความงาม” มาเป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีผลต่อตัวเกมส์ ทำให้การออกแบบเมืองให้มีความสวยงามหรือการออกแบบบ้านให้มีความน่าอยู่ จึงเป็นเพียง “ความต้องการของผู้เล่นเไม่ใช่ความต้องการของเกมส์” เพราะหลายเกมส์ ถ้าผู้เล่นออกแบบโดยเน้นความสวยงามเป็นหลัก ในบางครั้งผู้เล่นหลายคนจะไม่สามารถผ่านด่านนั้นไปได้หรืออาจจะลามไปจนถึงขั้น Game Over ด้วยเงื่อนไขของทรัพยากรในเรื่องของพื้นที่ในการก่อสร้างที่มีจำกัด หรืองบประมาณที่ถูกบีบ (ซึ่งเป็นกลไกหลักที่เกมส์สร้างขึ้นเพื่อ challenge เรา) ทำให้อะไรที่เคยถูกสร้างขึ้นโดยที่ไม่ได้มีผลต่อเกมส์เช่น ความสวยงามจะถูกตัดทิ้งไปในท้ายที่สุด
แต่ก็ยังมีบางเกมส์ที่พยายามจะใส่เงื่อนไขของความงามให้ไปอยู่ในสมการที่มีผลต่อการผ่านด่าน เพื่อให้ผู้เล่นประเภทที่ไม่ได้สนใจในเรื่องของความงามแต่เน้นแต่การผ่านด่านอย่างเดียว ได้หันมาลองสร้างความงามตามที่ตัวเกมส์กำหนด แต่โจทย์สำคัญคือ แล้วตัวเกมส์จะอ่านค่าความงามยังไง?
เกมส์อย่าง Beach life (2002) ซึ่งเป็นเกมส์แนว business simulation game ที่เปิดโอกาสให้ผู้เล่นได้เป็นผู้บริหารจัดการพื้นที่ชายหาดซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวของเมือง การจะผ่านไปด่านถัดไปผู้เล่นจะต้องทำ objective หลักที่ตัวเกมส์จะเป็นผู้กำหนดให้สำเร็จ ซึ่ง objective ในแต่ละด่านก็จะมีความแตกต่างกันออกไป แต่มีอยู่ฉากหนึ่งที่ตัวเกมส์กำหนด objective ในการผ่านด่านเป็น “คุณจะต้องทำชายหาดให้ สวย และเป็นที่พึงพอใจของคนในเมือง” หลายคนติดอยู่ที่ฉากนี้นานมาก (หลายคนที่ว่านี่ก็เป็นสถาปนิกด้วยนะ) ทำยังไงก็ไม่สามารถผ่านไปได้ซักที เพราะไม่ว่าจะจัดรูปแบบชายหาดยังไง ก็ยังไม่ สวย จนสามารถผ่านด่านนั้นไปได้ สุดท้ายแล้วหลายคนที่ผ่านด่านนี้ไปได้ก็ใช้เวลาอยู่นาน แล้วหลายคนก็ยังไม่รู้คำตอบว่าตัวเองทำยังไงถึงผ่านด่านนี้มาได้
https://www.uvlist.net/game-100418-Beach+Life
เกมส์ Beach life (2002)
ถ้าเราเข้าใจใน ตรรกะของคอมพิวเตอร์ จะรู้ว่าตรรกะของเกมส์เหล่านี้จะไม่สามารถแยกแยะ ความสวยงามออกได้ สิ่งที่เกมส์วัดได้มีเพียงค่าที่เป็นจำนวนและตัวเลขเท่านั้น
ในการพัฒนาเมือง เวลาเราจะหาวิธีวัดค่าความสุขของประชากรในเมือง เราไม่สามารถเดินไปถามประชากรแต่ละคนตรง ๆ ได้ว่า คุณมีความสุขหรือไม่ เพราะความสุขของคนมีเงื่อนไขหลากหลายประการ รวมถึงเงื่อนไขที่อาจจะทำให้ผลการวัดมีความบิดเบือนไป เช่น ความทุกข์หรือความสุขอันเกิดจากช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เช่น มาถามตอนกำลังหงุดหงิดผลที่ได้ออกมาก็จะเป็นในเชิงลบเสียเป็นส่วนใหญ่ หรือ ความ Bias ต่อตัวผู้ถามหรือรัฐบาลในช่วงเวลานั้นจะมีผลต่อคำตอบที่มีเหตุผลทางการเมืองเป็นตัวชี้นำ ซึ่งจะทำค่า ความสุขมีความคลาดเคลื่อนไป ในการวัดค่าความสุขส่วนใหญ่จึงมักจะใช้วิถีการวัดจาก ปัจจัยเทียบเคียง หรือ proxy ที่มีผลต่อความสุขตามทฤษฎีหรืองานวิจัยที่เชื่อถือได้ เช่น คนเรามีความสุขจากความรู้สึกปลอดภัย ก็ใช้ตัวเลขอัตราการเกิดอาญากรรมในพื้นที่มาเป็นตัวเลขในการวัด หรือ คนเรามีความสุขจากสุขภาพที่แข็งแรง ก็อาจจะใช้ตัวเลขของจำนวนสถานพยาบาลในพื้นที่หรือจำนวนบุคคลากรทางการแพทย์ต่อประชากรในพื้นที่มาเป็นตัววัด แล้วนำค่าต่าง ๆ ของแต่ละปัจจัยที่แปลงมาเป็นตัวเลขเรียบร้อยแล้ว มาคำนวนหาค่าความสุขอีกครั้ง เป็นต้น
การวัด ค่าความงาม ในเกมส์ Beach life มีหลักการณ์ใกล้เคียงกันแต่ไม่ได้มีความซับซ้อนขนาดนั้น การวัดค่าความงามในเกมส์นี้จะวัดจากปริมาณของตกแต่งชายหาดที่ปรากฎขึ้นที่ผู้เล่นจะต้องใส่เข้าไปในพื้นที่ ยิ่งมีของตกแต่งมากก็เท่ากับว่าชายหาดมีความสวยงามมาก เพียงแค่คุณเลือกชองในหมวด “Scenery” (ทิวทัศน์) ซึ่งจะมีชองตกแต่งมากมาย เช่น เก้าอี้นั่ง ต้นไม้ เสาไฟ น้ำพุ วางเรียงๆ ถม ๆ มันเข้าไป (spam) ไม่นานคุณก็จะผ่านฉากนี้ไปได้อย่างง่ายดาย โดยไม่ต้องสนใจตำแหน่งที่ตั้งของมัน ไม่ต้องสนใจเรื่องการจัดองค์ประกอบ ไม่ต้องสนใจเรื่องทฤษฎีสี และนั่นคือนิยามของ “ความสวย” ในเกมส์นี้
หรือถ้าจะยกระดับขึ้นมาอีกนิด เกมส์แนว business simulation game อย่างเกมส์ ซีรีห์ Two point Hospital ที่เป็นเกมส์บริหารจัดการโรงพยาบาล ของตกแต่งแต่ละชิ้น ไม่ว่าจะเป็น ต้นไม้ รูปภาพ เก้าอี้ ไฟกิ่ง ไฟประดับ และอื่น ๆ อีกมากมาย จะมีค่า Prestige (ศักดิ์ศรี) ที่แตกต่างกัน ซึ่งค่า Prestige นี้จะมีผลต่อบรรยากาศภายในห้องห้องนั้น ยิ่งห้องไหนมีค่า Prestige มาก เวลาที่ผู้ป่วยเข้ามาในห้องผู้ป่วยคนนั้นก็จะมีความสุขมากขึ้น ซึ่งความสุขเหล่านั้นจะมีผลต่อความพึงพอใจอันส่งผลทำให้รายได้ของโรงพยาบาลมากขึ้นตามไปด้วย จะเห็นได้ว่าตัวเกมส์ได้ยกระดับให้ “ความสวย” ที่ถูกแทนด้วยค่า Prestige เริ่มเข้าไปอยู่ในสมการของการเล่นเกมส์ซึ่งส่งผลต่อเนื่องผูกโยงกับปัจจัยอื่น ๆ ซึ่งมีผลต่อการเล่นเกมส์อย่างมีนัยยะ แม้รูปแบบของการนับค่า Prestige ยังคงเป็นเรื่องของการนับจำนวนอยู่ก็ตาม
https://www.reddit.com/r/TwoPointHospital/comments/dp47ty/training_speed_in_this_3x3_training_room_for_4/
การตกแต่งภายในเกมส์ Two point Hospital จะมีผลต่อการผ่านด่าน
แม้ในโลกของเกมส์ความงามอาจจะไม่ใช่เงื่อนไขหลัก แต่ “ความงาม” ยังคงมีผลอย่างมากใน “พื้นที่รอยต่อระหว่างโลกความจริงกับโลกของวีดีโอเกมส์” กลับเข้าไปดูตาม Channel เกมส์ ของเหล่า Gamer หรือ Youtuber ใน Youtube อีกครั้ง เราจะพบว่า ถ้า Gamer หรือ Youtuber คนไหนที่ทำ content เล่นเกมส์แนวนี้ แล้วสามารถสร้างออกมาได้ “สวย” ช่องนั้นก็มักจะมียอด view หรือ subscribers สูงกว่าช่องอื่น ๆ ที่เล่นเกมส์แนวเดียวกัน
https://www.youtube.com/@PHTNGaming
Cities Skylines: Westdale Showcase – Dream City [4K] by PHTN Gaming
https://www.youtube.com/watch?v=KaNGhg27P4U&t=13s
Beautiful Life Zoo | Planet Zoo by DeLadysigner
แม้ว่าความสวยงามอาจจะไม่ใช่เงื่อนไขของเกมส์การเล่น แต่เกมส์เหล่านี้ก็ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง เพราะจริง ๆ แล้วเกมส์ประเภทนี้จะเป็นเกมส์ที่จะเปิดโอกาสให้ผู้เล่นได้มี “อิสระ” ในการออกแบบสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบบ้าน โรงพยาบาล สวนสัตว์ หรือแม้แต่การออกแบบเมืองได้อย่างที่ใจเราปรารถนา ให้ลองนึกถึงตอนเด็ก ๆ ที่เราได้มีโอกาสได้วาดรูป ได้ระบายสี ได้เล่นในกระบะทราย มันไม่มีกติตา ไม่มีข้อจำกัด เราอยากจะทำอะไรเราก็ทำ “ความสวยงามจึงเป็นเรื่องรอง แต่ความสุขที่ได้สร้างมันคือเรื่องที่สำคัญมากกว่า” นั่นคือ concept ของเกมส์ประเภทนี้ แต่ถ้าพูดถึงการออกแบบในโลกเสมือน หรือ “Metaverse” ความสวยงามก็ยังน่าจะมีความสำคัญอยู่ เพียงแต่อาจจะมีสิ่งอื่นเข้ามาทดแทนบ้าง เช่น “ความนิยม”
ในโลกอนาคตคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ จะถูกควบคุมและกำหนดด้วยระบบอัลกอลิทึ่ม ซึ่งประมวลผลจากข้อมูลตัวเลขทางสถิติจำนวนมหาศาล คุณค่าของสิ่งต่าง ๆ จะถูกวัดจากยอด View , Engagement, Reach หรือ Impression ผลงานศิลปะที่โด่งดังที่สุดในโลกอาจจะไม่ใช่ผลงานที่ถูกยอมรับในแง่ของกระบวนการคิดริเริ่มสร้างสรรค์หรือเทคนิคฝีมือในเชิงศิลปะ แต่ผลงานศิลปะที่โด่งดังที่สุดในโลกอาจจะเป็นผลงานของใครก็ได้ ที่สามารถสร้างกระแสให้กับผลงานชิ้นนั้น ซึ่งกระแสนั้นอาจจะเกิดขึ้นจากตัวผลงานที่มีคุณค่าเอง หรือ อาจจะเกิดจากการ “ปั่น” กระแสก็ได้
จากสามประเด็นที่ได้กล่าวมาก็คงเป็นเพียงการคาดเดาถึงความเป็นไปได้ของ “แนวทางการออกแบบสถาปัตยกรรมในโลกเสมือน” ที่นำเอาตัวอย่างของโลกของ Video game มาเล่าสู่กันฟังเพื่อให้เราได้มีเวลาเตรียมตัวสำหรับการเก็บกระเป๋าเดินทางเพื่อออกสำรวจโลกใบใหม่ที่รอเราอยู่ข้างหน้า
โลกเรามีการเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกวันจากอดีตถึงปัจจุบันและกำลังเปิดเส้นทางใหม่สู่โลกอนาคต เราคงต้องถามตัวเองว่า “เราได้เตรียมความพร้อมสำหรับการอาศัยอยู่ในโลกใบใหม่ใบนี้อย่างไร” โลกมันหมุนของมันทุกวัน ไม่ว่าเราจะเดินถอยหลังหรือหยุดนิ่ง…สุดท้ายวันนึง…มันก็หมุนมาทันเราจนได้อยู่ดี
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!