Kernel Design ภูมิสถาปนิกกับแนวคิดจู่โจมพื้นที่ว่างเปล่าให้กลายเป็นสวนขนาดเล็ก

หลายปีที่ผ่านมาทุกคนต่างต้องรับมือกับวิกฤต โควิด -19 และ Pm 2.5 ด้วยการกักตัวอยู่บ้านจนไม่มีปฏิสัมพันธ์ และ ไม่ได้รับอากาศที่สดชื่น หลังวิกฤตเริ่มคลี่คลายผู้คนจึงต้องการเข้าถึงพื้นที่สีเขียวกันมากขึ้น แต่ด้วยปริมาณพื้นที่สีเขียวที่ไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากรของกรุงเทพฯ การเข้าถึงพื้นที่สีเขียวจึงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก  

ด้วยเหตุนี้ เคี้ยง-พลวัฒน์ ภูไท ภูมิสถาปนิกแห่ง Kernel Design  จึงสร้างโปรเจกต์เชิงทดลองในชื่อ Weekend Garden Bkk ซึ่งร่วมมือโดยภูมิสถาปนิกรุ่นใหม่อย่าง ธันนรมน วงษ์นิยม และ เจนกชกร เพ็ญสุข ที่ตั้งใจสร้างสวนขนาดเล็กให้เข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น ซึ่งมีผลงานล่าสุดคือ Park Pods สวนจิ๋วเคลื่อนที่ได้ในงาน Bangkok Design Week 2023 ที่ผ่านมานั่นเอง  

เรียนรู้มิติการดีไซน์จากหลายประเทศ

เมื่อเคี้ยงเรียนจบภูมิสถาปัตยกรรมจากรั้วจุฬาฯ ก็มีโอกาสเดินทางไปเป็นภูมิสถาปนิกมือใหม่ไฟแรงที่ Belt Collins International ในประเทศสิงคโปร์เป็นเวลา 1 ปี หลังจากนั้นจึงเดินทางกลับประเทศไทยมาทำงานที่  Shma Company Limited เป็นเวลา 4 ปี จนเกิดไอเดียที่อยากเรียนต่อดีไซน์ในแขนงอื่นๆ และค้นพบว่าอยากเรียนต่อทางด้าน Service Design ที่ London College of Communication ประเทศอังกฤษ เมื่อสะสมประสบการณ์มาอย่างเต็มเปี่ยมจึงกลับมาเปิดออฟฟิศ Kernel Design ในกรุงเทพฯ

เคี้ยง : “Belt Collins International เป็นออฟฟิศขนาดใหญ่ที่มีระบบตำแหน่งชัดเจนมาก เรามีหน้าที่ในการเคลียรูปตัด และดีเทลต่างๆ เลยไม่มีโอกาสได้เรียนรู้งานด้านออกแบบและการเขียนแบบสักเท่าไหร่ พอครบ 1 ปี ก็กลับมาทำงานที่ Shma Company Limited คราวนี้ได้ทำครบหมดทุกอย่างเลย (หัวเราะ) พอสะสมประสบการณ์มาระดับหนึ่ง เลยเลือกไปเรียนต่อด้าน Service Design ซึ่งเป็นการเรียน Design Thinking เพื่อนำวิธีคิดมาใช้มาออกแบบด้านธุรกิจให้เข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น จากนั้นเรามารับงานฟรีแลนซ์อยู่ช่วงหนึ่ง และตัดสินใจเปิด Kernel Design ในปี 2015 รับออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมตั้งแต่สเกลสวนบ้านไปจนถึงสเกลคอนโดมิเนียม และหมู่บ้านจัดสรร ”

ปฏิบัติการจู่โจมพื้นที่ว่างเปล่า

นอกจากประสบการณ์ที่สะสมทั้งใน และต่างประเทศด้านการออกแบบโปรเจกต์ Commercial แล้ว เคี้ยงยังได้รับแนวคิด  Guerrilla gardening หรือการจู่โจมพื้นที่ว่างเปล่าด้วยการสร้างสวนขนาดเล็ก เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้ง่ายมากขึ้น แถมยังใช้งบประมาณน้อยอีกด้วย

เคี้ยง : “การโจรกรรมพื้นที่ว่างมาสร้างสวน เป็นแนวคิดที่ได้รับมาจากต่างประเทศ โดยมีคนกลุ่มหนึ่งที่มักจะนำต้นไม้ที่หาได้มาปลูกลงในพื้นที่ว่างเปล่า เช่น ทางเท้า เกาะกลางถนน หรือกำแพง ซึ่งเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมืองได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องรอภาครัฐ และสร้างกิจกรรมให้คนมีปฏิสัมพันธ์กันได้อีกด้วย แถมเมื่อมีคนสัญจรผ่านไปมาก็ได้รับความสดชื่นของต้นไม้ได้ทันที โดยไม่ต้องรอเวลาว่างเพื่อไปสวนสาธารณะเพียงอย่างเดียว ด้วยพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ ที่มีอยู่จำกัด การนำแนวคิดนี้มาใช้ก็ดูน่าสนใจ แต่ก็ต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าของพื้นที่ด้วย”

Office  Terrarium

Office  Terrarium

บทบาทใหม่ในนาม Weekend Garden Bkk

ด้วยการพยายามผลักดันสวนขนาดเล็กให้เกิดขึ้นจริง เคี้ยงจัดนิทรรศการเล็กๆ ในพื้นที่ออฟฟิศตัวเองเพื่อให้ผู้คนได้เข้ามาเยี่ยมชมกันจนเกิดกระแสตอบรับที่ดี ทาง Bangkok Design Week 2020 จึงรวมนิทรรศการนี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งในโปรแกรมการจัดแสดง จากจุดเริ่มต้นนี้ทำให้เคี้ยงสร้างแบรนด์ใหม่ภายใต้ชื่อ Weekend Garden Bkk  พร้อมเสริมทัพด้วย ธัน และเจน เพื่อสร้างสวนขนาดเล็กให้เข้าถึงผู้คน ชุมชน รวมไปถึงการจัดแสดงในนิทรรศการต่างๆ ด้วย

เคี้ยง : “โปรเจกต์สวนในออฟฟิศเกิดจากพี่ ฟิวส์-นัฐพงษ์ พัฒนโกศัย Cloud-floor ชวนทำ Open House ร่วมกับออฟฟิศดีไซน์เนอร์ภายในเวิ้ง 33 Space ตอนแรกตั้งใจว่าจะเปิดออฟฟิศให้เข้าเยี่ยมชมกัน แต่เราอยากทำให้มากไปกว่านั้น จึงตั้งชื่อโปรเจกต์ Office  Terrarium โดยการนำต้นไม้มาลงบนพื้นที่ออฟฟิศที่ใช้ต้นไม้ใบเรียวเล็กทั้งหมด เช่น  ต้นนีออน ผักชีลาว ต้นชาฮกเกี้ยน เป็นต้น เพื่อให้สเปซดูนุ่มฟู อบอุ่น และผ่อนคลาย พร้อมใช้ผ้าม่านกั้นระหว่างคนภายนอก และน้องๆ ที่ทำงานกันอยู่ไม่เกิดการรบกวนซึ่งกันและกัน”

The Terrarium

เคี้ยง : “หลังจากนั้นไม่นานทาง The Shophouse 1527 สามย่าน ก็ชวนเราไปจัดสวนบนอาคารของเขา โดยเราตั้งชื่อโปรเจกต์นี้ว่า The Terrarium ซึ่งเป็นการจัดวางต้นไม้ที่คล้ายคลึงกับแบบออฟฟิศ แต่แตกต่างกันที่ชนิดของพันธุ์พืช และการใช้กระจกวงกลมที่ติดตั้งทั้งสองฝั่งผนังอาคาร เป็นการสะท้อนให้พื้นที่สวนมีมากขึ้น และสร้างความน่าสนใจได้มากขึ้น”

Home forest – Bangkok Design week 2022 

Home forest – Bangkok Design week 2022 

Home forest – Bangkok Design week 2022 
ห้องทำงาน

หยิบสเปซบ้านพักอาศัยมาสร้างเป็นสวนป่า

เมื่อถึงต้นปี 2022 ทางทีมได้ร่วมเข้าประกวดแบบสวนด้านหน้าไปรษณีย์กลางบางรักกับทาง Creative Economy Agency สำหรับจัดแสดงในงาน Bangkok Design week 2022  ด้วยแนวคิด Home forest หรือ บ้าน-ป่า ที่ตีความมาจากห้องต่างๆ ภายในบ้าน ได้แก่ ห้องทำงานที่ออกแบบพื้นสีเหลือง ที่นั่งสีชมพูให้เกิดคอนทราสต์กัน แถมยังเลือกใช้ต้นไม้ ที่มีดอกหลากสี เพื่อเพิ่มความสดใส และกระตุ้นความพร้อมในการทำงาน ถัดมาจะเป็นส่วนของห้องรับประทานอาหาร ที่ออกแบบเป็นโต๊ะสำหรับนั่งรับประทานอาหารที่รายล้อมไปด้วยพืชสมุนไพร และสวนครัว โดยสีสันทั้งหมดเลือกใช้สีแดง สีเหลือง สีเขียว และสีส้ม เพื่อให้เกิดความต้องการทางด้านอาหารมากยิ่งขึ้น  

Home forest – Bangkok Design week 2022 
ห้องนอน

ไฮไลท์ของพื้นที่นี้คือ ห้องนอนในหลุมบันไดของอาคาร ที่เลือกใช้พืชกลิ่นหอม และพืชดักฝุ่น ให้ความสดชื่นได้ตลอดทั้งวัน พร้อมวางหมอนสีแดง ขาว ฟ้า เพื่อให้สเปซดูผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น แถมยังมีกระจกรูปก้อนเมฆที่สะท้อนภาพของสวน เปรียบเปรยถึงความฝันขณะนอนหลับอยู่ นอกจากนี้กระถางต้นไม้ทั้งหมดถูกออกแบบให้เป็นโมดูล่าร์ เพื่อให้สวนสามารถต่อกันได้ และสะดวกต่อการเคลื่อนย้าย

สวนวิน – วิน

สวนวิน – วิน

สร้างสวนให้วิน วินกันทุกฝ่าย   

ในระหว่างเดินทางมาทำงานที่ 33  Space ทางทีม Weekend Garden Bkk ได้พบกับพื้นที่พักของวินมอเตอร์ไซต์ปากซอยประดิพัทธ์ 17 ข้างกำแพงสีขาว แทรกไปด้วยกองขยะ และเสาไฟฟ้าที่ไม่เป็นระเบียบ ให้ความรู้สึกไม่สบาย และไม่น่ามอง ทางทีมจึงเกิดไอเดียสร้างสวนขนาดเล็กให้กับที่พักของวินมอเตอร์ไซต์ โดยใช้แนวคิด สวนสามแบบ นั่นคือ สวนไม้ดอก สวนในร่ม และสวนครัว ที่ช่วยมอบความสดชื่น และบรรยากาศสีเขียวให้กับพี่ๆ วินมอเตอร์ไซต์ และผู้ที่สัญจรผ่านไปมา แถมยังเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เมืองได้อีกด้วย งานนี้เรียกได้ว่า วินวิน กันทุกฝ่าย  

สวนวิน – วิน

เคี้ยง : “เราให้น้องๆ เข้าไปคุยกับพี่วินดูก่อนว่าถ้ามีสวนตรงนี้โอเคไหม เขาก็ยินดีให้เราทำ หลังจากนั้นเราจึงดำเนินการขออนุญาตเจ้าของพื้นที่และนำสวนกระถาง รวมถึงที่นั่งใหม่เข้าไปจัดวาง ซึ่งพี่วินก็ดีใจและดูแลต้นไม้เองทุกวัน ตอนนี้ก็ผ่านไปครึ่งปีแล้ว ผลตอบรับก็ออกมาดีทั้งพี่วินเองและคนที่สัญจรผ่านมา การสร้างโปรเจกต์นี้เราเป็นสปอนเซอร์ให้เกือบทั้งหมดแต่ก็มีผู้รับเหมางานนี้ที่ใจดีให้ต้นไม้ฟรี และมีร้านค้าข้าง ๆ สนับสนุนทั้งน้ำรดต้นไม้ และร่มใหม่ให้พี่วิน สวนนี้จึงไม่ได้มอบแค่ความสดชื่นเท่านั้น แต่ยังสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในละแวกได้อีกด้วย”

ธัน-นรมน วงษ์นิยม

ธัน : “เราคิดว่าพอผู้คนผ่านไปมาก็อยากนำไอเดียนี้ไปปลูกต้นไม้ที่บ้าน และจะดีขึ้นไปอีกถ้าวันหนึ่งมีกลุ่มทุนมองเห็นศักยภาพได้นำไอเดียเหล่านี้ไปต่อยอดในอนาคต เพียงแค่สวนขนาดเล็กๆ ยังสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนให้มีความสุขขึ้นได้ ถ้ามีขนาดใหญ่กว่านี้คงจะดีไม่ใช้น้อย”

Park Pods – Bangkok Design week 2023

Park Pods – Bangkok Design week 2023

สวนเคลื่อนที่ที่เข้าถึงได้ทุกคน

สำหรับ Bangkok Design week 2023 ที่ผ่านมา Weekend Garden Bkk ได้ร่วมมือกับ Urban Studies Lab ออกแบบสวนเคลื่อนที่ในย่านนางเลิ้งชื่อว่า Park Pods  ที่พยายามให้พื้นที่สีเขียวเล็กๆ เข้าถึงได้ทุกพื้นที่ภายในย่าน โดยออกแบบรถเข็นให้มี 2 รูปแบบได้แก่ สวนตู้ปลา และสวนที่นั่ง โดยได้ไอเดียมาจากคุณตา และคุณยายในย่านที่มักจะนำ โอ่งดินเผาที่ใช้เลี้ยงปลา และกระถางต้นไม้มาประดับตกแต่งให้เป็นพื้นที่พักผ่อน ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ก็เป็นสเปซที่เชื่อมต่อกับพื้นที่สาธารณะในอีกทางหนึ่งด้วย

เจน-กชกร เพ็ญสุข

เจน : “ทาง USL ให้เราออกแบบ 2 Pods ให้เชื่อมโยงกับอีก 6 Pods ที่เหลือ โดยมีแนวคิดให้สวนเหล่านี้เคลื่อนที่ได้ เราจึงเลือกใช้ตู้ปลา และใส่ปลาหางนกยูงเข้าไป พร้อมกับสวนกระถางที่เลือกใช้ไม้กริชที่เหมือนกับสาหร่ายให้ล้อไปกับพืชในตู้ปลา และอีกชิ้นหนึ่งก็เป็นสวนกระถางที่มีเก้าอี้สำหรับนั่งพักผ่อนได้ ซึ่งมันช่วยสร้างให้ผู้คนที่เดินผ่านไปมารู้สึกสดชื่นด้วยสวนขนาดเล็ก และยังสามารถมองเห็นเมืองในมิติใหม่ผ่านตู้ปลาได้อีกด้วย”

ธัน : “พื้นที่นางเลิ้งเป็นพื้นทับซ้อนเพราะ มีคนหลายกลุ่มเป็นเจ้าของ ซึ่งหากเจ้าของพื้นที่ส่วนใดรู้สึกไม่โอเคก็สามารถเคลื่อนย้ายได้ทันที อย่างไรก็ตามถึงแม้จะเป็นจุดสีเขียวเล็กๆ แต่ช่วยสร้างกิจกรรมให้คนภายในย่านได้ช่วยกันรดน้ำต้นไม้ และมีพื้นที่สีเขียวให้สัมผัสกันได้ เพราะย่านนางเลิ้งเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้ยาก”

สวนขนาดเล็กสร้างความสุขให้ผู้คน

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาผู้คนไม่ได้รับอากาศที่ดี และไม่ได้ออกไปใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะเท่าไหร่นัก  ส่งผลให้ราคาต้นไม้ขนาดเล็กพุ่งสูงขึ้น เพราะหลายคนอยากนำต้นไม้ไปเพิ่มพื้นที่สีเขียวในห้อง ระเบียง หรือโต๊ะทำงาน ซึ่งเป็นพื้นที่ขนาดเล็กๆ แต่ก็ช่วยสร้างความรื่นรมย์ ในอีกแง่หนึ่งอาจจะเป็นเพราะในบางพื้นที่ไม่มีพื้นที่สีเขียว หรือมีระยะห่างที่ไกลจนไม่สามารถเข้าถึงได้ ก็หวังว่าการพัฒนาเมืองในอนาคตเราจะได้เห็นทั้งสวนขนาดเล็ก และขนาดใหญ่กันมากขึ้น

เคี้ยง : “การทำพื้นสีเขียว หรือ การจัดการเมือง ต้องมีกระบวนการที่ซับซ้อนจึงใช้ระยะเวลาในการสร้างนาน แต่การออกแบบสวนขนาดเล็กมีกระบวนการที่ไม่ซับซ้อนมากนัก สามารถทำได้เลย ส่งผลให้ประหยัดเวลา และเข้าถึงได้ทันที แต่ไม่ใช่ว่าพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ไม่สำคัญ อย่างพื้นที่ประปาแม้นศรีเองที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์หากเข้าไปสร้างพื้นที่สีเขียว จัดอีเวนต์ ให้คนเข้าไปใช้งานได้ทุกวันก็ยิ่งสร้างมูลค่าให้กับพื้นที่ได้มากยิ่งขึ้น รวมไปถึงยังสามารถเป็นพื้นที่รับน้ำให้กับคนเมืองได้อีกด้วย เราเห็นว่าพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ให้กรุงเทพฯ มีอยู่มากมาย แต่หลายที่มักจะเป็นพื้นที่ปิด ซึ่งต้องรอเวลาจัดงานเท่านั้นถึงจะเข้าได้ จะดีกว่าไหมถ้าพื้นที่เหล่านี้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะให้คนเข้าถึงได้ทั้งหมด”

สำหรับใครที่อยากสนับสนุน Weekend Garden Bkk ในการสร้างสวนก็สามารถอุดหนุดหมวกสวยๆ ที่ทางทีมออกแบบเอง ผ่านเพจ https://www.facebook.com/weekendgardenbkk ได้เลย

Writer
Watsapon Vijitsarn

Watsapon Vijitsarn