High Brick House บ้านอิฐลอยได้ที่สร้างความปลอดโปร่งผ่านสเปซโถงสูง

หลังจากที่ StudioMiti ใช้วัสดุอิฐในการออกแบบ Starbuck สาขาวังน้อย มาก่อนหน้านี้ แต่ด้วยความหลงใหลจึงได้พัฒนาต่อยอดการใช้อิฐให้กับบ้าน High Brick House หรือ บ้านอิฐลอยได้ ที่สร้างสเปซให้การอยู่อาศัยรู้สึกโปร่งโล่งสบาย จนเกิดเสน่ห์ของแสงสลัวๆ ที่ดูอบอุ่น รวมไปถึงยังมีการเชื่อมโยงปฏิสัมพันธ์กันด้วยโถงบันสูงให้สามารถได้ยินเสียง และมองเห็นกิจกรรมของคนภายในบ้านได้แม้จะอยู่คนละพื้นที่กัน

ความต้องการบ้านแบบสไตล์อังกฤษ

จากความชื่นชอบ และความหลงใหลในวัสดุอิฐของสถาปนิก จึงได้ทดลองนำวัสดุ อิฐ ไม้ และเหล็กเข้ามาผสมผสานกันเพื่อหาทางเลือกใหม่สำหรับการออกแบบ ในขณะเดียวกันทางเจ้าของบ้านก็ได้มีโอกาสเห็นผลงานและชื่นชอบ จึงชักชวนให้สถาปนิกเข้ามาออกแบบบ้านอยู่อาศัย โดยมีความต้องการที่จะใช้วัสดุอิฐ และไม่มีรั้ว ให้คล้ายคลึงกับบ้านในประเทศอังกฤษ และจะต้องมีฟังก์ชันที่ตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์ เช่น พื้นที่ออกกำลัง ห้องทำงาน ห้องอ่านหนังสือ แพนทรี่ และครัว เป็นต้น

“เจ้าของบ้านทั้งสองคนประกอบอาชีพเป็นนักบินทั้งคู่การทำงานจึงไม่ค่อยเป็นเวลานัก เมื่อกลับมาภายในบ้านจึงต้องมีความเงียบสงบ และมืดที่สุด”

Credit : Spaceshift Studio

ชั้น 1

ชั้น 1

บ้าน 4 ชั้นที่ไม่มีรั้วกั้นแต่สร้างความเป็นส่วนตัวได้

สถาปนิกได้ออกแบบบ้านหลังนี้ให้มีจำนวน 4 ชั้น โดยชั้นแรกประกอบไปด้วยพื้นที่จอดรถ ห้องออกกำลังกาย และส่วนของงานระบบต่างๆ ในส่วนของชั้น 2 ประกอบไปด้วย พื้นที่พักผ่อน พื้นที่รับแขก รับประทานอาหาร แพนทรี่ และครัว โดยให้พื้นที่ชั้นนี้เป็นตัวกลางในการจ่ายสเปซไปยังพื้นที่อื่นๆ ได้แก่ ในส่วนของห้องนอน ห้องทำงาน และห้องอ่านหนังสือในชั้น 3 รวมไปถึงพื้นที่ซักล้าง และสวนภายนอกในชั้น 4

ชั้น 2

ชั้น 2

“ด้วยลักษณะของบ้านที่ไม่มีรั้วกั้นจึงต้องยกให้พื้นที่พักผ่อนขึ้นไปอยู่บนชั้น 2 ประกอบกับบริบทที่ตอบโจทย์ทำให้ชั้นนี้สามารถมองเห็นช่องวิวขนาดยาวของพื้นที่ตรงข้าม รวมไปถึงได้ออกแบบให้ภายในมีโถงสูงเพื่อให้การอยู่อาศัยรู้สึกถึงความโปร่ง โล่ง สบาย ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้สามารถมองเห็น และได้ยินเสียงการเคลื่อนไหวของอีกคนได้ ถึงแม้จะทำกิจกรรมอยู่คนละพื้นที่ก็ตาม”

ชั้น 2

ชั้น 2

ชั้น 2

บ้านอิฐลอยได้เพราะการตัดเสาด้านหน้าออก

สถาปนิกออกแบบอาคารให้เป็นแมสฟอร์มสี่เหลี่ยมวางซ้อนกัน โดยให้แต่ละส่วนมีขนาดความสูงที่ 3.80 เมตร และสร้างช่องเปิดด้วยบานเฟี้ยมเหล็ก มุ้งลวด และกระจกไว้ทั้งทางด้านเหนือ และด้านใต้ ซึ่งเป็นด้านหน้า และด้านหลังของอาคาร ส่งผลให้ลมสามารถพัดผ่านเข้ามาภายในอาคารได้ตลอดทั้งวัน และเลือกให้ผนังทางด้านทิศตะวันตกปิดทึบ เพื่อป้องกันแสงและความร้อนในช่วงบ่าย นอกจากนี้ยังได้ตัดเสาบริเวณทางเข้าอาคารออกทั้งหมด เพื่อให้รู้สึกถึงก้อนอิฐขนาดใหญ่กำลังลอยตัวอยู่ ทั้งนี้ยังได้เลือกตัดวัสดุอิฐให้เหลือครึ่งหนึ่งเพื่อให้ขอบของอาคารดูบางเพียงแค่ 30 เซนติเมตร รวมไปถึงยังใช้เทคนิคการก่ออิฐแบบสองชั้นเพื่อป้องกันน้ำรั่วซึมอีกด้วย

ชั้น 3

ชั้น 4

“เราได้ปรึกษาวิศวกรเรื่องการตัดเสาด้านหน้าอาคารออก วิศวกรได้แนะนำให้เพิ่มขนาดคานของชั้น 3 ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น จึงได้ออกแบบให้คานกลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ สำหรับนั่ง หรือวางหนังสือได้ และเหตุผลของการก่ออิฐสองชั้น เพราะเราเคยก่ออิฐโชว์แนวแบบชั้นเดียว กลับเจอปัญหาน้ำซึมเข้ามาในตัวบ้าน และเกิดตะไคร่น้ำ เนื่องจากเนื้อของอิฐมักจะมีรูพรุนอยู่เกือบทุกก้อนจึงต้องใช้การก่อสร้างที่มีความเนี้ยบสูง”

ใช้อิฐเผาอุณหภูมิสูงสร้างแพทเทิร์นของอาคารให้มีเสน่ห์

สถาปนิกได้ใช้อิฐเผาอุณหภูมิสูงมาใช้ เพื่อให้สามารถป้องกันแดดและฝนได้เป็นอย่างดี แต่ก็จะมีริ้วรอย และเส้นสายที่เกิดขึ้นจากเองตามธรรมชาติ และเมื่อก่อผนังสถาปนิกก็เลือกให้เหลือร่องรอยของคราบปูนเพื่อให้เกิดเสน่ห์ของตัวบ้านได้ตามธรรมชาติมากยิ่งขึ้น

“การใช้อิฐต้องเข้าใจธรรมชาติของมัน จึงจะมองเห็นเสน่ห์ของมันออก”

ช่องแสงที่เกิดจากการเว้นระยะร่นของอาคาร

ถึงแม้ตัวบ้านฝั่งด้านตะวันตกจะไม่มีช่องเปิดก็ตาม แต่ในชั้นที่ 3 จะต้องมีระยะร่นอาคารที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดเป็นไอเดียเว้นช่องแสงที่สร้างไฮไลท์ให้แสงตอนเที่ยงทอดลงมาที่ตัวบันไดจนเกิดเป็นแสงเงา ไม่เพียงเท่านั้นสถาปนิกยังได้เรียงแพทเทิร์นอิฐใหม่ใหกับผนัง และเว้นช่องบางส่วนด้วยการติดตั้งแผ่นอะคริลิค เพื่อสร้างมิติเฉดเงาให้มากขึ้นอีกด้วย

ผสมผสานเหล็กและไม้ให้กับตัวบ้าน

สถาปนิกได้ติดตั้งบานเฟี้ยมเหล็กขนาดใหญ่เพื่อสร้างความปลอดภัยในช่วงที่เจ้าของไม่อยู่บ้าน และหากวันใดอยากรับลมสบายๆ ก็สามารถดึงบานมุ่งลวดออกมาได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังเลือกใช้ไม้เก่าสำหรับปูพื้นเนื่องจากมีการยืดหดตัวน้อย  และมีเสน่ห์ของร่องรอยการใช้งานในอดีตอยู่ด้วย รวมไปถึงยังได้ติดตั้งเฟอร์นิเจอร์หนังที่ให้สีสันเข้ากับตัวไม้ พร้อมติดตั้งเฟอร์นิเจอร์บิ้วอินที่ยังคงใช้วัสดุไม้กับเหล็กสำหรับเก็บของ ซึ่งนอกจากจะเป็นเฟอร์นิเจอร์บิ้วอินแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นราวกันตกไปพร้อมกันด้วย

จบวัสดุอย่างตรงไปตรงมา

สถาปนิกพยายามให้รายละเอียดการจบวัสดุเป็นอย่างตรงไปตรงมา เช่น ระแนงเหล็กของราวกันตก จะเชื่อมเข้ากับคอนกรีตของบันได ให้รู้สึกว่าเหล็กหายลงไปในคอนกรีต และเบรกให้ไม้หยุดก่อนที่จะถึงตัวระแนง ซึ่งช่วยสร้างความชัดเจนให้กับวัสดุโดยไม่ต้องปกปิดใดๆ

เจ้าของบ้านให้อิสระในการออกแบบ

โชคดีที่บ้านหลังนี้เจ้าของบ้านให้ความไว้วางใจและ อิสระในการออกแบบกับเรามาก ตั้งแต่การเลือกอิฐ การตัดเสาของบ้านออก รวมไปถึงการที่จะเลือกของตกแต่งเข้ามา พวกเขาจะถามไถ่เราอยู่เสมอเมื่อต้องการจัดวางสิ่งของใดๆ ซึ่งทำให้เราเกิดความสนุก และสร้างความท้าทายใหม่ๆ อยู่เสมอ

Credit :
Lead Architect : 
Padirmkiat Sukkan
Architect : Thanwa chantarasena
Interior : Chamaiporn lamaiphan, Atchaporn Chamnarnchak, Narinrat Chaichat
Main Contractor : Jarin Detchutrakul
Interior Contractor : Chinnapat Changto
City : Lat Phrao
Country : Thailand
Writer
Watsapon Vijitsarn

Watsapon Vijitsarn