ย่านอโศกที่การจราจรแน่นขนัด ผสมกับอากาศร้อน ๆ ในตอนบ่าย เราหลบเข้ามาในสุขุมวิทซอย 10 เพื่อหาร้านคาเฟ่นั่งคลายร้อน และได้พบกับ Mindmade ร้านขนมปัง และคาเฟ่ขนาดกระทัดรัด 50 ตารางเมตร ที่สร้างความน่าสนใจด้วยการปิดทึบอาคารทั้งหมดและยกหลังคาสูง เพื่อเปิดให้แสงจากภายนอกเข้าสู่ภายในแถมยังได้กลิ่นอาย เหมือนยกญี่ปุ่นมาไว้ใจกลางกรุงเทพฯ ! งานนี้ออกแบบโดย Ourour
ให้คาเฟ่กระซิบเบาๆ แต่ได้ยินทั่วถึง
เจ้าของต้องการออกแบบร้านขนมปัง และคาเฟ่ในพื้นที่ขนาดเล็กบนพื้นที่เก็บของและห้องแม่บ้านเก่าให้กลายเป็นร้านที่มีกลิ่นของความเป็นญี่ปุ่นที่ไม่ต้องสร้างความโดดเด่นให้อาคารมากมายนัก เพียงให้อาคารกระซิบเบาๆ ถึงคนที่เดินผ่านไปมาให้สามารถรับรู้ถึงคาเฟ่แห่งนี้ได้
ปิดทึบด้านหน้า และคว้านประตูเข้าไปภายใน
สถาปนิกออกแบบให้ส่วนด้านหน้าอาคารปิดทึบทั้งหมดเพื่อให้อาคารดูกลมกลืนไปกับของบริบทโดยรอบ และสร้างความสงบให้กับพื้นที่ภายในอาคาร และการที่อาคารอยู่ติดกับถนนทำให้ไม่สามารถติดตั้งประตูเข้าออกได้เนื่องจากผิดกฎหมาย จึงคว้านส่วนทางเข้าให้ลึกเข้าไปภายใน และติดตั้งประตูไม้สำหรับทางเข้าจนเกิดพื้นที่สามเหลี่ยมที่สร้างความน่าสนใจกับสเปซภายในได้
ยกหลังคาทรงจั่วเพื่อให้แสงลอดผ่าน
เดิมพื้นที่เก็บของ และห้องแม่บ้านเก่าถูกปิดทึบจนแสงไม่สามารถลอดผ่านได้ สถาปนิกจึงเลือกยกหลังคาจั่วขึ้นเพื่อให้แสงทางด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกเข้ามากระทบภายในอาคารผ่านช่องกระจก เมื่ออาทิตย์ลับขอบฟ้า แสงไฟสีเหลืองที่ถูกซ่อนอยู่ตามโครงสร้างหลังคาและไฟภายในอาคารก็จะส่องสว่างทะลุจากช่องเปิดกระจกเหล่านั้น กลายเป็นจุดไฮไลท์ของร้าน นอกจากนี้ยังติดตั้งสกายไลท์บริเวณครัว ทำให้แสงอาทิตย์ในช่วงสายและเที่ยงส่องเข้ามากระทบกับพื้น ซึ่งแสงจะสะท้อนผนังเกิดเป็นเฉดเงาให้กับห้องครัว
“เราเลือกใช้ไฟดวงกลมภายในอาคาร และลูกบิดประตูทรงกลมเพื่อเบรกความเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสของอาคารให้ดูไม่เลี่ยนจนเกินไป”
วางกริดเสาเป็น Modular system ตามอาคารเดิม
ในส่วนโครงสร้าง ความน่าสนใจอยู่ที่กริดเสาเดิมถูกวางไว้เป็น Modular system ที่หาร 7 ได้ลงตัว เช่นระยะ 2.8 และ 3.5 เมตร ทำให้การออกแบบจันทันเหล็ก และเสาคอนกรีตเสริมเหล็กชิ้นใหม่ ยังคงวางในลักษณะของกริดเดิมทั้งหมด เสริมลูกเล่นด้วยการเพิ่มโครงสร้างจันทันเข้าไปในระหว่างกลางของแต่ละช่วง เพื่อให้ผนังอาคารดูเรียบคลีนมากที่สุด
“ฝั่งด้านหน้าอาคารทั้งหมดได้ติดตั้งเสาเหล็กขึ้นมาใหม่ทั้งหมด โดยอ้างอิงจากตำแหน่งเสาคอนกรีตเสริมเหล็กเดิมของผนังด้านในสุด และเสาเดิมได้เสริมต่อเหล็กกล่องขึ้นไปให้มีระยะในการติดตั้งกระจกได้ นอกจากจะเปิดให้แสงเข้าแล้วยังเปิดโชว์โครงสร้างจันทันด้วย เมื่อมองผ่านช่องกระจกใสจากภายนอกทำให้เส้นของโครงสร้างของหลังคาที่มุงด้วย Seamless มีความบาง และคาดเดาได้ในทันทีว่าภายในอาคารนี้คือคาเฟ่”
ใช้ไม้สักอัดที่เหมือนสีของขอบขนมปังโฮมเมด
เพราะเป็นร้านขายขนมปัง สถาปนิกจึงตีความสีของขอบขนมปังโฮมเมด ออกมาเป็นการเลือกใช้วัสดุไม้สักอัดปูทับบนคอนกรีตเสริมเหล็กและเหล็กกล่องของอาคารทั้งหมด นอกจากนี้ยังเลือกใช้ผนังที่มีผิวสัมผัสขรุขระไปทั่วทั้งบริเวณ ช่วงบ่ายแก่ ๆ ของวันแสงแดดจะค่อยๆ กระทบบนผนัง เกิดเป็นแสงเงาที่ช่วยเพิ่มมิติความลึกให้กับผนังได้
เฟอร์นิเจอร์ built-in ที่สามารถปรับเปลี่ยนฟังก์ชันการใช้งานได้
ด้วยพื้นที่ที่มีขนาดเล็กเจ้าของต้องการให้ครัวสามารถใช้งานได้มากที่สุด บริเวณโต๊ built-in ภายครัวจึงถูกออกแบบเป็น 2 ฟังก์ชันซ้อนกัน คือ ส่วนเตรียมแป้งที่สามารถดึงโต๊ะที่พับอยู่ขึ้นมาได้ และเมื่อถึงเวลาเปิดร้านก็สามารถพับโต๊ะส่วนนี้เก็บลงไปให้กลายเป็นช่องสำหรับยืนรับลูกค้าที่เคาน์เตอร์ได้ นอกจากนี้โต๊ะบริเวณทางเข้าเคาน์เตอร์ก็สามารถเลื่อนเข้า-ออก ให้กลายเป็นเคาน์เตอร์เพื่อใช้สำหรับในการขายอาหาร และเสิร์ฟโดยเฉพาะ
“การออกแบบโต๊ะภายในครัว เราจะทำงานร่วมกับเจ้าของตลอดเพื่อให้ได้ขนาดในการทำงานที่คุ้นเคยสำหรับการทำแป้ง แต่ขนาดจะต้องอยู่ในลักษณะ Modular system ของอาคารด้วย”
ติดตั้งเส้นอะลูมิเนียมไว้ที่ขอบหลังเพื่อกันน้ำไหลย้อนกลับ
เมื่อฝ้าไม้ภายนอกต้องจบชนกับรางน้ำ จึงใช้เส้นอะลูมิเนียมสีดำติดตั้งตามขอบหลังคาเพื่อไม่ให้น้ำไหลย้อนเข้ามาเจอกับไม้ได้ในเวลาฝนตก และด้วยความต้องการให้หลังคาดูเรียบและแบน รางน้ำถูกออกแบบให้มีขนาดเล็กกว่าปกติ ส่งผลให้ดูเรียบเนียนกับไปสันหลังคาได้อย่างพอดิบพอดี นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดการจบผนังภายในและพื้นด้วยการเซาะร่องและใช้เส้นอะลูมิเนียมเป็นตัวเชื่อมระหว่างสองส่วนนี้
พื้นที่ขนาดเล็กแต่สร้างมุมมองให้น่าสนใจ
“การออกแบบคาเฟ่หลังนี้เราเริ่มคิดจากขนาดของพื้นที่ และภาพรวมเป็นหลักก่อน และค่อยเจาะไปแต่ละมุมมองของ Modular system ที่มีความแตกต่าง และส่งเสริมมุมมองเหล่านั้นให้มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น เช่น มุมสามเหลี่ยมของช่องประตูที่ใช้วิธีการปรับมุมให้โค้ง เพื่อตัดความเหลี่ยมมุมของอาคารให้แสงตอนบ่ายกระทบกับผนัง ถึงแม้พื้นที่จะมีขนาดเล็ก แต่ข้อจำกัดของมันกลับสร้างมุมมองที่น่าสนใจให้กับสเปซได้อย่างไม่น่าเชื่อ”
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!