261 House
ไม่มากไม่น้อยเกินไป Modern Classic แบบไหนถึงจะพอดี?

ถ้าพูดถึงองค์ประกอบที่ทำให้นึกถึงสไตล์ Classic ภาพความคิดของใครหลายคน คงหนีไม่พ้นงานคิ้วบัว ลูกฟัก ประโคมด้วยงานทองเหลืองเข้าไปจนเป็นสไตล์ที่หลายคนมักตัดสินไปก่อนว่า เชย และไม่เข้ายุคสมัยเท่าไรนัก แต่ 261 House โปรเจกต์ออกแบบอินทีเรียบ้านอยู่อาศัยแห่งนี้ กลับลบภาพจำนั้นไปจนหมด ด้วยฝีมือการดีไซน์จาก ANONARU Interior Co.,Ltd. ที่ตีความบ้าน Classic ผสมผสานความเป็น Modern ลดทอนองค์ประกอบอย่างพอดี ตอบโจทย์ความชอบ และช่วงวัยของผู้อยู่อาศัยได้อย่างตัว

ด้วยความที่มีงานสไตล์ Modern Luxury และ Classic ออกมาให้เห็นเรื่อย ๆ ลูกค้าหลายคนที่เข้าหา ANONARU เองจึงมาด้วยโจทย์ในเรื่องสไตล์เป็นที่ตั้ง แต่สองพาร์ทเนอร์อินทีเรียดีไซน์เนอร์ ทิพ-นฤมล โพธิพฤกษ์ และอาม-อโนชา โพธิพฤกษ์ ก็ยังตั้งใจให้บ้านแต่ละหลังออกแบบไม่ซ้ำกัน โดยพยายามมองหารูปแบบการทำงานใหม่ ๆ เพื่อต่อยอดและพัฒนางานดีไซน์ของตัวเองให้ไปไกลขึ้น

“บ้าน Modern Classic ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทุกหลัง เพราะความน่าสนใจของสไตล์นี้คือ รูปทรง เส้นสาย คิ้วบัว ลูกฟักที่สามารถพลิกแพลงได้หลากหลายรูปแบบ เราสามารถใช้ลูกเล่นได้แตกต่างกัน อย่าง 261 House หลังนี้ก็มีการเล่นเส้นสายที่แตกต่างกัน 3-4 แบบเลย” อามเล่า

เติมกิมมิค เสริมเรื่องราวให้ Modern Classic

เพื่อให้บ้านสไตล์ Modern Classic มีความเฉพาะเจาะจงและแตกต่างกันในดีเทลลงไปอีก สองดีไซน์เนอร์จึงทำการบ้านกับความชอบส่วนตัวและพบว่า เดิมที ทางเจ้าของเคยพักอาศัยอยู่ที่ประเทศอังกฤษมาก่อน จึงมีการหยิบองค์ประกอบบางอย่างของบ้านในอังกฤษหลังเดิมนั้นมาใช้ในการออกแบบด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เตาผิงจำลองสีดำในห้องนอน ห้องครัวที่ออกแบบโทนสีขาวแต่เพิ่มความน่าสนใจในพื้นที่มากขึ้นด้วยกระเบื้องผนังลายอิฐและพื้นลายจุดสีดำ

นอกจากนี้ยังเสริมฟังก์ชันของสเปซบางส่วนที่ทำให้นึกถึงบ้านในประเทศอังกฤษ อย่างอ่างอาบน้ำสุนัขที่จัดวางสมมาตรใจกลางพื้นที่ หรือมุมต้อนรับใกล้ประตูทางเข้าที่มีจุดนั่งพักเล็ก ๆ พร้อมที่แขวนหมวกและตู้รองเท้าที่อยู่ถัดไปทางขวามือ หรือแม้แต่การปรับพื้นที่เหลือใช้บริเวณบันไดให้กลายเป็น Bay Window หรือมุมนั่งพักผ่อนที่บริเวณชั้นสองนั่นเอง

“เรายังออกแบบผนังงานกรุคิ้วและติดวอลเปเปอร์เข้าไปบริเวณตู้งาน Built-in ต่าง ๆ เพื่อเติมความเป็นงาน Classic ส่วนพื้นที่ชั้นสองเราเลือกใช้งานบัวโพลีที่มีลายเอกลักษณ์อย่างลายเถาองุ่น ผสมกับความชอบส่วนตัวของทางเจ้าของด้วย”

ลดทอนรายละเอียดให้เหลือแต่พอดี

ตอนเริ่มออกแบบ เราพยายามเน้นความ Classic ไว้ก่อน แล้วค่อยเติมความ Modern ที่มีความเรียบเข้ามาผสมผสาน เลยออกมาในรูปแบบ Modern Classic ที่ถูกลดทอนรายละเอียดแล้ว”

ยกตัวอย่าง บริเวณห้องทำงานที่มีการเปลี่ยนมู้ดแอนด์โทนให้ดูทึมและเท่มากขึ้นเมื่อเทียบกับห้องอื่น ๆ ในบ้าน โดยเราจะสังเกตเห็นผนังไม้และผนังกระจกผืนใหญ่สีน้ำตาล รวมถึงบานกรอบอะลูมิเนียม ที่ลดทอนองค์ประกอบให้บ้านดูเรียบ และโมเดิร์นขึ้นมาทันที แต่ยังคงองค์ประกอบความคลาสสิกอย่างเช่น การกรุคิ้ว ผนังบางส่วนเอาไว้เช่นเดิม

สำหรับบ้านหลังนี้ ใจความสำคัญไม่ใช่แค่การลดทอน แต่ยังเป็นการปรับเปลี่ยนและเพิ่มบางอย่างเข้าไปให้ลงตัวมากขึ้น อย่างการดีไซน์เปลี่ยนพื้นโครงการเดิมจากที่เป็นกระเบื้องสีขาวล้วน ให้เป็นกระเบื้องลายไม้ปูสลับแบบก้างปลาที่มีเส้นสายตัดกันได้ดีกับงานคิ้วต่าง ๆ รวมถึงที่มีการเปลี่ยนแพทเทิร์นของงานผนังและกระเบื้องให้ล้อและเข้ากันไปกับเส้นสายทั้งหมดของตัวบ้าน

% ของสี กับความลงตัวของงานอินทีเรียดีไซน์

อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน และเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในตัวตัดสินที่ทำให้ภาพรวม Modern Classic ไม่มากไม่น้อยเกินไป คือเรื่องของการใช้สี ซึ่งสำหรับ 261 House โทนสีหลักที่เลือกใช้จะเป็นสีขาวที่ทำให้ภาพรวมบ้านโปร่ง โล่ง และยังดูมินิมอลทันสมัย เพิ่มความน่าสนใจด้วยการเลือกใช้วัสดุที่แตกต่างอย่าง ผนังเรียบ หรืองานหินอ่อน แต่ยังคงโทนสีสว่างอย่างสีขาวเอาไว้ เสริมทัพเข้าไปด้วยงานทองเหลืองที่บ่งบอกความคลาสสิกแต่เลือกใช้อย่างพอดีที่ประมาณ 15% อย่างงานมือจับต่าง ๆ และที่พลาดไม่ได้ คือโทนสีดำซึ่งทำหน้าที่เติมความเท่ ทำให้บ้านดูสมาร์ทและ Casual มากขึ้น เพียงแต่เลือกใช้ในปริมาณเล็กน้อยประมาณ 10% เช่น อ่างล้างมือ ราวกันตก และบานประตู

นอกจากนั้นเรายังเห็นภาพรวมของบ้าน เสริมวัสดุที่ดูเป็นธรรมชาติอย่างพื้นลายไม้ หรือแม้แต่การเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์โมเดิร์นสีน้ำตาลเข้าไปทำให้บ้านดูผ่อนคลาย ลดความเชย และทำให้ภาพลักษณ์ดูทันสมัยมากขึ้นด้วยนั่นเอง

อุปกรณ์เสริมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนภาพลักษณ์ให้บ้าน

เรื่องที่คาบเกี่ยวกับงานดีไซน์ อย่างการเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ พร็อพ เครื่องใช้ไฟฟ้า สวิตช์ไฟ และองค์ประกอบต่าง ๆ ใครว่าไม่สำคัญ เพราะเหล่านี้ต่างก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ทำหน้าที่เปลี่ยนภาพลักษณ์ให้กับบ้าน การเลือกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีดีไซน์ หรือการเลือกใช้อุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยียุคใหม่ยังช่วยทำให้ภาพลักษณ์ความเป็น Modern Classic ของบ้านดูทันสมัย และไม่ตกยุคไปด้วย

Something More: งานพร็อพต่าง ๆ ที่นำมาตกแต่งบ้าน ทางทีมออกแบบเลือกใช้ชิ้นที่ยังคงความคลาสสิก แต่ไม่มีรายละเอียดที่มากเกินไปจนแย่งความสนใจพื้นที่ และทำให้ภาพรวมทั้งหมดดูแน่น และเยอะจนเกินพอดี

แต่ทั้งนี้ ความพอดีของแต่ละคนอาจแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ ความชื่นชอบส่วนตัว ความเหมาะสมกับบริบทที่ตั้ง หรือแม้แต่ข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณ รวมถึงประเด็นต่าง ๆ ในการออกแบบ แต่อย่างน้อยเราเชื่อว่า หากคุณเป็นหนึ่งในคนที่หลงรักบ้านในสไตล์ที่เราเล่าไปข้างต้นก็สามารถนำไอเดียเหล่านี้ไปปรับใช้ได้อย่างแน่นอน หรือหากสนใจผลงานในแนวทางดังกล่าว สามารถติดต่ออินทีเรียดีไซน์เนอร์ได้โดยตรงผ่านทาง https://www.facebook.com/anonaru หรือ https://www.anonaru.com/ 

Interior Design : Anonaru Interior Co.,Ltd.
Contractor : Anonaru Interior Co.,Ltd.
Photographer Credits : Nut Sangthongchay

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้