Search
Close this search box.

DOt. House. บ้านหรือโชว์รูมเฟอร์นิเจอร์? ที่ดึงสีสันและเส้นสายเฟอร์นิเจอร์มาใช้ออกแบบ

ใครจะคิดว่าการออกแบบและเฟอร์นิเจอร์ที่แตกต่างจะต้องดูแปลกไม่เข้ากันเสมอไป เพราะบ้าน DOt. House. ได้มีการนำของภายในบ้านอย่างเฟอร์นิเจอร์ ของสะสม และของตกแต่ง ในสไตล์ที่ไม่เหมือนกันเลยสักชิ้น มาจัดรวมไว้เข้าด้วยกันอย่างลงตัว บ้านหลังนี้มีผู้ออกแบบถึงสามสำนักด้วยกัน ได้แก่ สถาปนิกจาก INLY STUDIO อินทีเรียดีไซน์เนอร์จาก Studio monD และภูมิสถาปนิกจาก H2O Design

บ้านนักสะสมของเก่า

เจ้าของบ้านเป็นคู่สามีภรรยาที่มีพื้นเพอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่อยู่แล้ว โดยมีอาชีพเป็น อาร์ตคอลเลคเตอร์ สไตล์ลิส ทำเครื่องเงิน และเป็นผู้จำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ รวมไปถึงเป็นนักสะสมของเก่า ทำให้เจ้าของบ้านมีความต้องการที่จะให้บ้านหลังนี้เป็นเสมือนโชว์รูมเฟอร์นิเจอร์ที่รวบรวมของสะสมต่างๆ แต่ในขณะเดียวกันภายในบ้านก็ยังต้องดูโปร่งโล่ง ให้ความรู้สึกถึงความอบอุ่น สะดวกสบายได้เป็นอย่างดี 

สร้างพื้นที่ช่วยให้เฟอร์นิเจอร์ และของสะสมไม่เกิดความเสียหาย

ด้วยการเป็นผู้จำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ และของสะสมที่ต้องขนย้ายอยู่ตลอด ส่งผลให้บริเวณชั้น 1 ออกแบบให้มีที่นั่งเล่นเป็นส่วนต้อนรับพร้อมช่องเปิดขนาดใหญ่ยกสูงอยู่ในระดับเดียวกับความสูงของท้ายรถกระบะ เพื่อให้ง่ายต่อการขนย้ายเฟอร์นิเจอร์และของสะสม นอกจากนี้ผนังของลานจอดรถยังได้ทำหน้าที่เป็นห้องเก็บมอเตอร์ไซค์คันโปรดอีกด้วย

ถัดมาในส่วนด้านซ้ายของตัวบ้าน ได้ออกแบบทางเดินเข้าสู่ตัวบ้านที่ปูด้วยพื้นไม้พร้อมกับที่นั่งขนาดยาวที่ด้านล่างเป็นที่เก็บรองเท้า พื้นที่นั่งเชื่อมต่อเข้ากับบานเฟี้ยมอะลูมิเนียมที่เปิดให้ภายในอาคารสามารถมองเห็นพื้นที่สวนสีเขียวภายนอก พร้อมเสาไม้กลึงกลมที่ทำหน้าเป็นเฟรมสำหรับสวน และเป็นตัวรับน้ำหนักชายคาทางเดิน

“เนื่องจากเฟอร์นิเจอร์ และของสะสมภายในบ้านมีทั้งแบบผลิตใหม่ และแบบเก่าเก็บ เราจึงออกแบบให้ชายคายื่นยาว และเปิดช่องของอาคารให้ได้มากที่สุด เพื่อไม่ให้ฝน และแสงกระทบเข้ามายังภายใน รวมถึงให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ซึ่งช่วยให้เฟอร์นิเจอร์ และของสะสมไม่เกิดความเสียหาย”

พื้นที่นั่งเล่นที่เต็มไปด้วยเฟอร์นิเจอร์หลากสไตล์

เมื่อเข้ามายังพื้นที่นั่งเล่น อินทีเรียดีไซน์เนอร์และเจ้าของได้ช่วยกันจัดวางเฟอร์นิเจอร์หลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น สไตล์ จีน เรโทร และมิดเซนจูรี่ ที่ให้เฉดสีน้ำตาลทั้งหมด พร้อมติดตั้งตู้ครัว และเคาน์เตอร์สีเขียวไข่กา สไตล์อินดัสเทรียล ให้อยู่ในบริเวณเดียวกัน โดยให้โคมไฟ และมือจับตู้ครัวเป็นสีทอง เพื่อเป็นตัวเชื่อมโยงให้ระหว่างสีเขียว และสีน้ำตาลดูกลมกลืนเป็นส่วนเดียวกัน ในขณะเดียวกันก็ได้เลือกปูพื้นหินขัดสีขาวพร้อมตัดเส้นสีทอง เพื่อขับเน้นเฟอร์นิเจอร์ให้โดดเด่นมากขึ้น พร้อมยังยกฝ้าเพดานสีขาวให้สูงขึ้นเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ดี

“จะเห็นได้ว่าพื้นที่นั่งเล่นหมือนกับเป็นโชว์รูมของเฟอร์นิเจอร์ เมื่อมีแขกมาเยี่ยมเยียนและสนใจเฟอร์นิเจอร์ตัวไหนก็สามารถซื้อกับเจ้าของได้ในทันที”  

พื้นที่โถงบันไดลอยจัดเก็บของสะสม

เพื่อให้ภายในอาคารดูเชื่อมโยงกับเฟอร์นิเจอร์มากขึ้น จึงได้ออกแบบซุ้มโค้งให้เป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนถ่ายสเปซไปยังโถงบันไดลอยสำหรับขึ้นชั้น 2  โดยฟังก์ชันของโถงนี้ทำหน้าที่เป็นพื้นที่โชว์ของสะสม ซึ่งจัดวางของแต่ละชิ้นให้เป็นเฉดสีไปในทางเดียวกัน แถมพื้นที่บริเวณนี้ยังมีช่องเปิดขนาดใหญ่สำหรับมองวิวสวนภายนอก และเดินเข้า-ออกได้ ทั้งนี้ยังมีคอร์ทยาร์ทต้นเมเปิ้ลที่ล้อมไปด้วยบล็อกช่องลมเพื่อกันความร้อนจากทิศตะวันตกและให้ลมสามารถพัดผ่าน รวมถึงยังบดบังสายตาจากเพื่อนบ้านได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีห้องน้ำที่ออกแบบให้เป็นซุ้มโค้งล้อไปกับทางเข้าโถงบันได และปูผนังกระเบื้องดินเผาให้เป็นลายก้างปลาพร้อมติดตั้งกระจกโค้งพร้อมโคมไฟแบบวินเทจ

“เมื่อเข้ามาบริเวณโถงจะมองเห็นชั้นสองบริเวณพื้นที่ทำงาน ที่มีหน้าต่างเปิดเข้า-ออกได้ ซึ่งนอกจากจะทำให้อากาศถ่ายเท และเมื่ออยู่ให้ห้องยังสามารถมองเห็นทุกๆ ส่วนภายในบ้านได้แล้ว ยังสร้างจังหวะให้กับสเปซของโถงดูมีมิติมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ในพื้นที่ชั้น 1 ยังมีห้องนอนสำหรับรองรับคุณพ่อ – คุณแม่ และเพื่อนฝูง ที่ออกแบบให้ภายในห้องเป็นสีน้ำเงิน พร้อมเปิดบ้านกระจกให้สามารถมองวิวพื้นที่สวนได้ทั้งหมด”

ผลักพื้นที่ส่วนตัวไว้ด้านหลัง

พื้นที่ชั้นสองถูกออกแบบให้เป็นส่วน Private ทั้งหมด โดยเมื่อเดินขึ้นมาจะพบกับยอดต้นไม้เมเปิ้ลจากคอร์ทยาร์ทชั้น 1 คอยต้อนรับอยู่ ก่อนทางเดินจะแจกไปยังห้องทำงานที่จัดวางโต๊ะสำนักงานเก่าของอเมริกา และโคมไฟแบบวินเทจ ภายในห้องได้เจาะช่องหน้าต่างไว้ 3 บาน เพื่อให้เห็นพื้นที่ภายในบ้านได้ทั้งหมด ในขณะเดียวกันก็ได้เจาะช่องด้านข้างเพื่อให้สามารถมองเห็นต้นเมเปิ้ลได้อีกด้วย

บริเวณชั้น 2 ยังมีห้องนอนที่ถูกออกแบบผนังให้เป็นแพทเทิร์นตารางสีเขียวไข่กาแบบเดียวกับห้องครัว ปูพื้นด้วยวัสดุไม้ลายก้างปลา และจัดวางที่นอนสไตล์วินเทจให้อยู่ตรงกลางห้อง ส่วนบริเวณภายนอกระเบียงถูกออกแบบเป็นขอบพื้นคอนกรีตให้เชื่อมกับกระเบื้องลายก้างปลา เสริมด้วยรั้วมนโค้งสไตล์อิตาลี เพื่อให้ภาพรวมดูเชื่อมโยงกับเฟอร์นิเจอร์ และของสะสมทั้งหมด นอกจากนี้ภายในห้องยังมีห้องน้ำที่ตกแต่งด้วยกระเบื้องลายเกล็ดปลา และกระจกทรงมนโค้ง หากอยากดึงธรรมชาติเข้ามาภายในห้องก็สามารถพับมู่ลี่ขึ้นได้

ผสมผสานหลังคาซีเมนต์โบราณ และ ซีมเลส

สถาปนิกเลือกใช้กระเบื้องซีเมนต์โบราณวิบูลย์ศรี และทำสีเพิ่มเติมให้กับอาคารด้านหลัง 2 ชั้น สำหรับอาคารชั้นเดียวบริเวณด้านหน้าได้เลือกใช้หลังคาแบบซีมเลส และเสริมระแนงช่องแสงให้กับหน้าจั่ว เมื่อสองวัสดุมุงหลังคามาเจอกันทำให้อาคารมีส่วนผสมของความเป็นไทย และสไตล์โมเดิร์นได้เป็นอย่างดี

“นอกจากนี้ด้วยสไตล์ของสตูดิโอเองเรามักออกแบบให้หลังคาจะโชว์คาน และจันทันไม้ในส่วนของหลังคา เพราะมันช่วยเสริมมิติทางความงามให้หลังคาดูน่าสนใจได้เป็นอย่างดี”

พืชพรรณฟรีฟอร์ม สร้างความผ่อนคลาย

บริเวณสวนภายนอกที่ภูมิสถาปนิกได้ออกแบบให้มีลานสนามหญ้า และบ่อบัวเพื่อให้น้ำสะท้อนตัวบ้านได้อย่างน่าสนใจ พืชพรรณทั้งหมดเน้นต้นที่ให้ความเป็นฟรีฟอร์มดูผ่อนคลาย และให้ร่มเงาได้ดี นอกจากนี้บริเวณใต้ถุนบ้านยังโรยด้วยหินให้รู้สึกถึงความสะอาด และป้องกันสัตว์มีพิษต่างๆ

บ้านที่ไม่มีวันตกยุค

บ้านหลังนี้ได้จัดวางผังให้พื้นที่ชั้น 1 หรืออาคารด้านหน้า เป็นส่วนของ Public Space ทั้งหมด และออกแบบให้สเปซภายในเป็นแบบ Open Plan เพื่อเชื่อมโยงเข้ากับทุกๆ ส่วนของบ้าน แถมยังให้ตัวบ้านรู้สึกโปร่งโล่งสบาย มองเห็นทุกๆ ส่วนภายในบ้าน และสวนภายนอกได้ทุกมุม เมื่อเสริมซุ้มโค้งเข้าไปทำให้เฟอร์นิเจอร์แต่ละชิ้นที่มีหน้าตาไม่เหมือนกัน เข้ากับภายในบ้านได้อย่างไม่น่าเชื่อ สำหรับอาคารด้านหลัง 2 ชั้น จะเป็นส่วน Private Space ทั้งหมด

“สุดท้ายแล้วการออกแบบบ้านซักหลังไม่จำเป็นต้องคุมโทน หรือมีการตกแต่งในทางเดียวกัน แต่ก็สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้อยู่อาศัย และยังแสดงถึงตัวตนของเจ้าของบ้านผ่านตัวบ้านได้”

Credit
Project location : Chiangmai, Thailand
Completion Year : 2022
Area : 380 sq.m.
Architect : INLY STUDIO | Pakorn Yoodee | Chayanin anantasete | Kiattisak srikumwong neawbenthud
Interior designer : Studio monD
Landscape designer : H2O Design Co.,Ltd
Style : Dot.decor
Structure Engineer : Pilawan Piriyapokhai
Builder : WN house
Photographer : Rungkit charoenwat | Soopakorn srisakul
Writer
Watsapon Vijitsarn

Watsapon Vijitsarn

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading