ถ้าอนาคตไม่มีรถยนต์ ถนนจะเป็นอะไรได้บ้าง?

เคยจินตนาการถึงโลกที่ไม่มีรถยนต์บ้างไหม?

ในนวนิยายไซไฟแฟนตาซีหลายเรื่องได้จินตนาการถึงโลกที่มีการแทนที่ “รถยนต์” ด้วยยานพาหนะอื่นที่สะดวกสบายยิ่งกว่า ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของการเดินทางทางน้ำ บนฟ้า หรือ แม้กระทั่งในอวกาศ ปัจจุบันหลายไอเดียพวกนั้นถูกนำมาพัฒนาให้กลายเป็นความจริงมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะช่วยสร้างทางเลือกใหม่ๆ ให้แก่โลกที่ยั่งยืนมากขึ้นในอนาคต

แล้วถ้าไม่มีรถยนต์ จะทำอย่างไรให้ถนนไม่ถูกปล่อยทิ้งร้าง?

วันนี้เราจะมาเสนอไอเดียการเปลี่ยนถนนและพื้นที่ว่างของเมืองที่ไร้ซึ่งรถยนต์ ให้ถูกนำกลับมาใช้สำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนอีกครั้ง ด้วยเทคโนโลยีที่อาจจะเกิดขึ้นในโลกอนาคต!

1. BANGKOK VENICE
เปลี่ยนถนนให้กลับไปเป็นคลอง

เวนิสตะวันออกไม่ใช่แค่ชื่อเล่นๆ แต่ยังสะท้อนถึงจำนวนลำคลองและการใช้ชีวิตร่วมกับสายน้ำของกรุงเทพฯ ในอดีต ดังนั้นถ้าในอดีตเราเคยเปลี่ยนคลองเป็นถนน การเปลี่ยนถนนให้กลับไปเป็นคลองจึงเป็นแนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจ

การพื้นฟูโครงข่ายลำน้ำ นอกจากช่วยสนับสนุนการแก้ปัญหาน้ำท่วมแล้ว ยังสามารถเป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำที่เหมาะสมกับลักษณะภูมิประเทศของเมืองที่แท้จริง โดยอาจจะมีเทคโนโลยีล้ำสมัยเข้ามาช่วยในการควบคุมการจราจรทางน้ำ รวมทั้งการสร้างทางเดิน Canopy สำหรับคนเดินเท้า ที่เชื่อมต่อระหว่างอาคารชั้นบนอีกด้วย

2. UNIVERSAL FAST TRACK
ทางเดินลัดที่เอื้อกับทุกคน

แล้วทางเดินเท้าในโลกอนาคตจะเป็นอย่างไรล่ะ? จะเจ๋งกว่าไหม ถ้าเรามีทางลัดที่พาทุกคนไปได้ทุกที่อย่างรวดเร็ว และสามารถใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง

เราได้ไอเดียนี้จาก Travelator ในสนามบิน ผสานกับคอนเซ็ปต์ของทางด่วนที่มีหลายระดับ ทั้งกดต่ำและยกสูง มาเป็น “ทางด่วนมนุษย์” ที่เอื้อต่อการเดินทางต่อทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะคนที่มีสัมภาระเยอะ หรือผู้ใช้รถเข็นสามารถเดินทาง โดยแบ่งพื้นที่เป็นทางข้างในที่เป็น Fast track ที่ไหลไปเรื่อยๆ กับทางธรรมดาข้างนอก ซึ่งทางลัดพิเศษนี้จะอยู่ในช่องกระจกกันอุบัติเหตุ ที่สามารถกันฝนได้ และขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าทั้งหมด ทำให้สามารถใช้งานได้ 24 ชั่วโมงเลย

3. URBAN FARM
LANE นี้เก็บได้ LANE นี้กินได้

สำหรับโซนเมืองเก่า ที่มีขนาดถนนไม่กว้างมากนัก และมักมีอาคารที่มีความสูงน้อย ทำให้ร่มเงาของตัวอาคารไม่ได้บดบังพื้นที่ว่างทั้งหมด จึงมีแสงแดดเพียงพอต่อการพัฒนาถนน ให้เป็น “แหล่งเพาะปลูกของเมือง” หรือ “Urban Farm” เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับครัวเรือน รวมถึงยังช่วยสร้างกิจกรรมเชื่อมความสัมพันธ์ให้กับผู้คนในสังคมเมืองได้อีกด้วย

การสร้างพื้นที่ปลูกพืชผักผลไม้นี้ มีการนำดีไซน์มาผสานกับเทคโนโลยีมาออกแบบ ให้ใช้งานได้อย่างเสถียรมากขึ้น เช่น พื้นที่กักเก็บน้ำฝน ที่มีจอแสดงค่าปริมาณและคุณภาพที่กักเก็บได้, โดรนเข้ามาช่วยรดน้ำและเก็บผลผลิต, พื้นที่เพาะปลูกที่ถูกแบบออกเป็นโซนกลางแจ้ง โซนในร่ม และสวนดาดฟ้า เป็นต้น

4. ANIMALS AVENUE
พื้นที่ป่าแนวยาวสำหรับเหล่าสัตว์ในเมือง

ในปัจจุบันเราจะเห็นว่ากรุงเทพฯ มีพื้นที่สวนและป่าค่อนข้างน้อย รวมถึงไม่มีพื้นที่เหมาะสมสำหรับการใช้ชีวิตของสัตว์ในเมืองอีกด้วย แล้วเป็นไปได้ไหม ที่ในอนาคตเราจะแบ่งพื้นที่ของมนุษย์ให้กับสัตว์และธรรมชาติบ้าง?

“ป่าแนวยาว” หรือ “Linear Forest” ที่เราสร้างพื้นที่สำหรับสัตว์และธรรมชาติในเมืองนั้น จะช่วยเพิ่มความสมดุลของสิ่งแวดล้อม ให้ผู้คนสามารถอยู่ร่วมกับสัตว์และธรรมชาติได้อย่างไม่รบกวนกัน โดยจำกัดให้คนสามารถเข้าถึงพื้นที่นี้ได้ผ่านทางเดิน Skywalk ด้านบนเท่านั้น

5. HEALTHY PLAZA
สุขภาพและกีฬาเป็นยาวิเศษของคนและเมือง

ถนนหลายสายหรือสี่แยกบางแห่ง มีขนาดใหญ่มากจนแทบจะใช้สนามกีฬาได้ แล้วจะเป็นอย่างไร ถ้าเปลี่ยนพื้นที่เหล่านี้ให้กลายเป็นพื้นที่กีฬาและนันทนาการสำหรับคนเมือง?

แน่นอนว่าการให้ความสำคัญกับสุขภาพของผู้คนทั้งกายและใจย่อมเป็นเรื่องดีอยู่แล้ว โดยเราอาจจะเปลี่ยนพื้นที่สี่แยกใหญ่ๆ ให้กลายเป็นลานกิจกรรมกลางแจ้ง ที่เป็นทั้งลานกีฬา, พื้นที่จัดงานอีเว้นท์ และเวทีการแสดง ที่เปิดโอกาสให้ผู้คนทุกเพศทุกวัยได้มาทำกิจกรรมหรือชมการแข่งขันงานกีฬารวมกันได้ และในส่วนของบนถนนก็อาจจะออกแบบเป็นลู่วิ่งที่ใช้ในการแข่งขัน และสำหรับใครที่อยากมาออกกำลังกายชิลๆ ก็มีทางวิ่งเล็กๆ ท่ามกลางบรรยากาศสวนหย่อมรอบๆ ให้มาใช้งานได้อีกด้วย

Idea & Sketch: พรรณราย เหมือนพรรณราย

Writer
Nara Aunjai

Nara Aunjai

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ที่ดำรงอาชีพนักเขียนเป็นงานหลัก นักแปลเป็นงานรอง และรับออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมเป็นงานพาร์ทไทม์