Recycled Content
หนึ่งในเกณฑ์ LEED มาตรฐานอาคารเขียวที่ช่วยให้สถาปัตยกรรมยั่งยืนขึ้น

หากพูดถึงมาตรฐานการก่อสร้างอาคารยั่งยืนระดับสากล เชื่อว่าหลายคนคงนึกถึง LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) ซึ่งเป็นมาตรฐานการรับรองจาก USGBC (U.S. Green Building Council) ประเทศสหรัฐอเมริกา และอย่างที่รู้กันว่า การที่จะก่อสร้างอาคารให้ผ่านมาตรฐานของ LEED นั้น ต้องผ่านเกณฑ์การประเมินมากมายอย่างเคร่งครัด และหนึ่งในนั้นคือ Recycled content นั่นเอง 

วันนี้เราชวนทุกคนมารู้จักกับ Recycled content พร้อมยกตัวอย่างงานออกแบบจากวัสดุรีไซเคิลที่น่าสนใจมาฝากกัน!

Photo Credit : ArchDaily

RECYCLED CONTENT คืออะไร? ทำอย่างไรให้ได้คะแนนข้อนี้?

แน่นอนว่าการรีไซเคิลวัสดุ เป็นอีกหนึ่งหนทางที่ช่วยลดการเกิดเศษวัสดุจากการก่อสร้างและการผลิต รวมถึงลดการเผาทำลายวัสดุที่สามารถก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกได้ และการที่อาคารจะมีความยั่งยืนได้ ก็ต้องประกอบด้วยวัสดุที่ไม่ก่อให้เกิดคาร์บอนฟุตพริ้นท์เช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นสาเหตุที่อาคารเขียวควรมีการใช้วัสดุรีไซเคิลในโครงการ และ Recycled content ก็เป็นเกณฑ์ที่ใช้วัดปริมาณวัสดุรีไซเคิลขั้นต่ำที่อาคารเขียวต้องมี

Recycled content คือ ปริมาณองค์ประกอบจากการรีไซเคิลที่อยู่ในวัสดุ ยิ่งมีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิลในเนื้อวัสดุสูง ยิ่งทำให้มีค่า Recycled content สูง 

โดย Recycled content นั้น ประกอบด้วยวัสดุรีไซเคิล 2 ประเภท ได้แก่ Pre consumer recycled content การนำเศษวัสดุที่เหลือจากขั้นตอนผลิตมารีไซเคิล หรือนำกลับเข้าสู่ขั้นตอนการผลิตอีกครั้ง โดยยังไม่ผ่านการใช้งานจากผู้บริโภค และ Post consumer recycled content การนำวัสดุหรือผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว มารีไซเคิลหรือหลอมใหม่เป็นวัสดุชนิดเดิมหรือเป็นวัสดุชนิดอื่นก็ได้

Museum of Space Available / Photo Credit : Dezeen

ซึ่งการที่จะผ่านเกณฑ์มาตรฐานของ LEED ได้นั้น ต้องมีอัตราส่วนวัสดุ Recycled content ทั้งหมด 25 เปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่ายสำหรับวัสดุที่ใช้ทั้งหมดในโครงการ โดยมีวิธีคำนวณดังนี้

ค่า Recycled content = (½ ของน้ำหนักวัสดุ Pre consumer recycled content + น้ำหนักวัสดุ Post consumer recycled content) x ค่าใช้จ่ายของวัสดุทั้งหมด

นอกจากนี้หากวัสดุชนิดใดถูกเก็บเกี่ยว, ผลิต และจำหน่าย ภายในรัศมี 160 กิโลเมตรของโครงการ วัสดุชนิดนั้นจะมีค่าน้ำหนัก 2 เท่า เมื่อนำมาคำนวณหาค่า Recycled content (อ้างอิงจากข้อมูล LEED v4.1)

Photo Credit : ArchDaily

วัสดุก่อสร้างยอดฮิต ที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้

เช่นเดียวกันกับการรีไซเคิลขยะในชีวิตประจำวัน การที่จะรีไซเคิลวัสดุก่อสร้างก็ต้องแยกวัสดุแต่ละชนิดออกจากกันก่อน แล้วค่อยนำวัสดุชนิดเดียวกันไปหลอมรวมใหม่ หรือนำวัสดุต่างชนิดมาประกอบกัน เพื่อเกิดเป็นวัสดุใหม่ที่มีประสิทธิภาพการใช้งานที่ดีขึ้นก็ได้

Photo Credit : ArchDaily

เหล็ก ถึงเหล็กจะมีความแข็งแรง ทนทาน และมีอายุการใช้งานยาวนาน แต่รู้ไหมว่า… เหล็กเป็นวัสดุที่ถูกนำไปรีไซเคิลมากที่สุดในโลก! ซึ่งจำนวนเหล็กที่ถูกนำไปรีไซเคิลในแต่ละปี มีมากกว่าจำนวนของกระดาษ, แก้ว, พลาสติก และอะลูมิเนียมรวมกันเสียอีก ทั้งนี้เป็นเพราะเหล็กสามารถนำมาหลอมรวมใหม่ด้วยความร้อนได้เรื่อย ๆ โดยยังคงรักษาคุณภาพเอาไว้ได้เหมือนเดิม จึงทำให้เป็นวัสดุที่ถูกหมุนเวียนอยู่ในวงจรการรีไซเคิลได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

Photo Credit : ArchDaily

คอนกรีต เป็นวัสดุที่แทบจะเป็นส่วนหนึ่งของทุกงานก่อสร้างในยุคนี้ ซึ่งการรีไซเคิลคอนกรีตนั้น นอกจากจะช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติแล้ว ยังลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่เกิดจากขั้นตอนการผลิตอีกด้วย โดยสามารถรีไซเคิลได้ทั้งคอนกรีตที่เหลือจากการผลิต โดยนำวัตถุดิบมาทำความสะอาดใหม่ แล้วนำกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตอีกครั้ง และการรีไซเคิลเศษคอนกรีตที่เหลือจากการรื้อถอนสิ่งก่อสร้าง โดยบดย่อยให้ได้ขนาดตามมาตรฐาน แล้วนำกลับมาใช้ทดแทนหิน กรวด และทราย หรือที่เรียกว่า ‘Recycled concrete aggregate (RCA)’

Photo Credit : ArchDaily

ไม้ อีกหนึ่งวัสดุสุดฮิตที่มักถูกนำมารีไซเคิล ไม่ว่าจะเป็นการนำชิ้นไม้มาประกอบใหม่เป็นโครงสร้างอาคารและเฟอร์นิเจอร์ หรือนำเศษไม้ที่เหลือมาผลิตเป็นไม้บอร์ดอย่างไม้อัดประเภทต่างๆ ที่มีคุณสมบัติแตกต่างกัน เช่น ไม้ปาติเกิล, ไม้ MDF, ไม้อัด OSB ซึ่งนอกจากการนำไม้มารีไซเคิลเป็นวัสดุใหม่แล้ว เรายังสามารถรีไซเคิลเป็นพลังงานทางเลือกอย่าง ‘พลังงานชีวมวล (Biomass energy)’ ได้อีกด้วย

Photo Credit : ArchDaily

แก้ว โดยทั่วไปแล้วผลิตภัณฑ์จากแก้วที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน สามารถนำไปรีไซเคิลและกลับคืนสู่รูปเดิมอีกครั้ง แต่สำหรับแก้วจากกระจกที่ใช้ในการก่อสร้างนั้นกลับไม่สามารถคืนสู่รูปเดิมได้ เนื่องจากกระจกแต่ละชนิดมีคุณสมบัติทางเคมีและจุดหลอมเหลวที่ต่างกัน ดังนั้นจึงมักนำเศษแก้วเหล่านี้ไปผสมกับวัตถุดิบอื่นๆ เพื่อรีไซเคิลเป็นวัสดุใหม่ เช่น ไฟเบอร์กลาส (Fiberglass), สีทาถนนชนิดสะท้อนแสง, วัสดุปิดผิวคอนกรีตผสมแก้ว เป็นต้น

ยังมีวัสดุอื่นๆ มากมายที่สามารถนำมารีไซเคิลใหม่ ทำให้ใช้ประโยชน์ในเชิงการออกแบบและการก่อสร้างได้อีกครั้ง เช่นเดียวกับ 3 งานออกแบบสถาปัตยกรรมจากวัสดุรีไซเคิลที่เรายกตัวอย่างมาให้ชมกัน

Photo Credit : ArchDaily

Weekend Shelter โดย Agora Arquitectura

ที่พักหลังเล็กในแคมป์ปิ้งท่ามกลางธรรมชาติริมเทือกเขา Pyrenees ประเทศสเปน ที่เลือกใช้วัสดุที่ง่ายต่อการก่อสร้าง ลดการใช้พลังงาน และลดการรบกวนธรรมชาติ อย่างการใช้โครงสร้างเหล็กร่วมกับไม้เป็นหลัก โดยมีจุดเด่นคือฟาซาดไม้คอร์กที่มีโทนสีเข้ากับบริบทโดยรอบ และไม้อัด OSB ประกบกับเฟรมไม้ทั้ง 2 ด้าน ที่ถูกนำมาใช้กับพื้นที่ภายในแทบจะทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นพื้น, ผนัง, ฝ้า หรือเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งนอกจากจะเป็นวัสดุรักษ์โลกและติดตั้งง่ายแล้ว ยังช่วยสร้างความรู้สึกอบอุ่นให้กับที่พัก ตัดกับหิมะสีขาวโพลนในฤดูหนาวอีกด้วย

Photo Credit : ArchDaily

Zero Waste Bistro Restaurant โดย Linda Bergroth

ร้านอาหารสไตล์นอร์ดิกที่ทำมาจากกล่องนมทั้งหมด! ร้านอาหารแห่งนี้ถูกจัดแสดงขึ้นชั่วคราวในเทศกาลออกแบบ NYCxDesign เมื่อปี 2018 เพื่อสะท้อนแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) โดยการเลือกบริโภคสินค้าที่มีบรรจุภัณฑ์แข็งแรง คงทน และสามารถนำมารีไซเคิลได้ ทดแทนการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เสื่อมสภาพเร็ว หรือไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่อได้ และในการออกแบบครั้งนี้ นักออกแบบเลือกใช้กล่องนมจากแบรนด์รักษ์โลกอย่าง Tetra Pak มารีไซเคิลใหม่ เป็นทั้งโครงสร้างอาคารและเฟอร์นิเจอร์ และสีที่เราเห็นนั้นก็เป็นสีจากบรรจุภัณฑ์จริงๆ

Photo Credit : ArchDaily

Kamikatz Public House โดย Hiroshi Nakamura & NAP

คามิคัตสึเป็นเมืองเล็กๆ แต่ไร้ขยะ ในจังหวัดโทคุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ในเมืองนี้มีระบบจัดการอย่างเป็นระเบียบ พร้อมทั้งให้ความรู้เรื่อง Zero waste แก่ประชาชนในทุกๆ ด้าน จึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง Public House เพื่อเป็นพื้นที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ารีไซเคิล และเป็นพื้นที่พบปะกันของคนในชุมชน สถาปนิกจึงนำสิ่งของเหลือใช้หรือถูกทิ้งในชุมชนมาออกแบบแต่งแต้มความสนุกและสร้างสรรค์ให้กับอาคาร เพื่อสร้างภาพจำที่สะท้อนถึงความรักษ์โลกของชุมชนแก่ผู้มาเยือน เช่น ฟาซาดจากหน้าต่างที่ได้จากบ้านร้าง, โคมไฟระย้าจากขวดแก้ว, ชั้นวางของจากอุปกรณ์การเกษตร เป็นต้น

ไม่เพียงแค่การรีไซเคิลวัสดุเท่านั้น ที่จะช่วยลดการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง แต่การออกแบบอาคารให้มีประสิทธิภาพ สามารถใช้งานได้อย่างยาวนาน ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยลดปริมาณวงจรขยะจากสิ่งก่อสร้างได้เช่นกัน

Photo Credit : ArchDaily
Writer
Nara Aunjai

Nara Aunjai

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ที่ดำรงอาชีพนักเขียนเป็นงานหลัก นักแปลเป็นงานรอง และรับออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมเป็นงานพาร์ทไทม์