นอกจากสถาปนิกจะต้องเลือกกระเบื้องให้สวยงาม ตามแนวคิดของการออกแบบสถาปัตยกรรม อินทีเรีย และภูมิสถาปัตยกรรมแล้ว ยังมีรายละเอียดในเรื่องของค่า R หรือค่ากันลื่นอีกด้วย ซึ่งค่า R ที่นิยมใช้งานกันมากที่สุดก็คือ R9 และ R11 แต่ก็ยังเกิดคำถามกับสถาปนิกมือใหม่อย่างเราอยู่ว่า ทำไมต้องใช้แค่ R9 และ R11 ? แล้วค่าไหนจึงจะเหมาะสมกับพื้นที่ที่เรากำลังออกแบบอยู่ละ? Dsign Something จึงได้ทำการทดสอบกระเบื้องทั้งสองชนิดนี้ให้เห็นภาพ และคลายสงสัยกัน ไปดูกันเลยยยย
รู้จักค่า R
รู้หรือไม่ว่า SLIP RESISTANCE RATING คือชื่อเต็มๆ ของค่า R หรือค่ากันความลื่นที่เรามักจะได้ยินกันบ่อยๆ ในการสเปควัสดุพื้นกันอยู่เสมอ แล้วค่าเหล่านี้มาจากไหน? ก็มาจากการทดสอบ Ramp Test โดยการปูกระเบื้องลงไปบนทางลาดชันในระดับองศาที่ต่างกัน เพื่อทดสอบความกันลื่นของพื้นผิวกระเบื้อง เมื่อใดที่องศาความลาดชันเพิ่มขึ้น ระดับค่า R ของแต่ละพื้นผิวก็จะสูงขึ้นตามไปด้วยเมื่อนั้น ยกตัวอย่างเช่น กระเบื้อง R9 จะใช้ปูในระยะความชัน 3-10 องศา กระเบื้อง R10 จะใช้ปูในระยะความชัน 10-19 องศา และกระเบื้อง R11 จะใช้ปูในระยะความชัน 19-27 องศา เป็นต้น
ใช้สบู่ กล้วยหอม และยางลบ ในการทดสอบกระเบื้อง R9 และ R11
เราได้ทำการหยิบสบู่ กล้วยหอม และยางลบ พร้อมกับกระเบื้อง R9 (แผ่นสีขาว) และ R11 (แผ่นสีเทาเข้ม) ที่สถาปนิกนิยมใช้กัน นำมาทดสอบความกันลื่นด้วยการวางกระเบื้องให้ลาดเอียงตามองศาสูงสุดของกระเบื้องแต่ละชนิด พร้อมกลิ้งกล้วยหอมแสนอร่อยและจับเวลา เท่านั้นยังไม่พอเรายังใช้ยางลบถูลงไปบนกระเบื้องในระดับขนานกับพื้น เพื่อดูปริมาณการสึกหรอของตัวยางลบ แต่ว่าเท่านี้จะไปสะใจอะไร เราได้เพิ่มการชโลมน้ำสบู่ และทดสอบกลิ้งกล้วย และถูยางลบซ้ำเป็นรอบที่ 2 งานนี้บอกได้เลยมีแต่คำว่า ‘ลื่นกับลื่น’
จับเวลากล้วยหอมแสนอร่อยกลิ้งลงไปบนกระเบื้อง
กระเบื้อง R9
เริ่มต้นด้วยยกกระเบื้อง R9 ให้เกิดความลาดชันที่ประมาณ 10 องศา ตามความลาดชันสูงสุดที่กระเบื้องสามารถปูได้ จากนั้นจึงหยิบกล้วยหอมแสนอร่อยเปลือกลื่นปื๊ด นำมาเตรียมพร้อมไว้ที่มือ จากนั้นจึงหลับตา และสูดหายใจเข้าลึกลึก เมื่อกรรมการเป่านกหวีด ปี๊ด!!! และเริ่มจับเวลา จึงทำการปล่อยตัวกล้วยหอมให้ลื่นไถลลงไปจนถึงเส้นชัย นั่นก็คือแนวล่างสุดของขอบกระเบื้อง ผลออกมาเจ้ากล้วยแสนอร่อยทำเวลาไปได้ที่ 1.46 วินาที
เริ่มจับสังเกตได้ว่า ด้วยลักษณะของกล้วยที่มีผิวเปลือกเรียบเนียน มาเจอกับผิวกระเบื้อง R9 ที่มีความสากเล็กน้อย แต่ยังคงมันวาวอยู่ ก็ยิ่งทำให้กล้วยกลิ้งม้วนตัวอย่างรวดเร็ว และมีการไถลบ้างเล็กน้อย
กระเบื้อง R11
คราวนี้ลองมาดูกระเบื้อง R11 กันดูบ้าง เราได้ทำการยกระกระเบื้องในระยะความชันประมาณ 27 องศา ตามความลาดชันสูงสุดที่กระเบื้องสามารถปูได้ เมื่อทุกอย่างเข้าที่แล้ว จึงทำการเตรียมพร้อมหยิบกล้วยไว้ในมือ หลับตาสูดหายใจเข้าลึกลึกเช่นเดิม เมื่อถึงเวลากรรมการเป่านกหวีด ปี๊ด!!! และจับเวลา จึงเริ่มปล่อยน้องกล้วยหอมอีกครั้ง คราวนี้กล้วยกลิ้งลงอย่างรวดเร็ว และมีการไถลบ้างเล็กน้อย โดยถึงเส้นชัย (แนวล่างสุดของขอบกระเบื้อง) ในเวลา 1.55 วินาที ซึ่งทำเวลาได้มากกว่า กระเบื้อง R9 เสียอีก
สรุปผล
สิ่งที่น่าตกใจสำหรับผู้ทดสอบ ก็คือระยะเวลาในการเข้าเส้นชัยของกล้วย ดูจะไม่แตกต่างกันเท่าไหร่นัก อาจจะเป็นเพราะว่าการตั้งกระเบื้องไว้ที่ความลาดชันสูงสุดที่กระเบื้องจะปูได้ และแม้กระเบื้อง R 11 จะมีผิวสัมผัสที่ขรุขระ แต่หากอีกวัสดุที่มีความเรียบเนียน และมันวาวเข้ามากระทบ อย่างกล้วยก็มีสิทธิ์ที่จะลื่นไถลได้ง่ายเช่นกัน ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดๆ ทุกคนต้องเคยใส่รองเท้าแตะที่ไม่มีดอกยาง เพียงแค่เดินบนถนนปกติยังลื่นปื๊ดจนใจหาย และถ้าหากเดินบนกระเบื้อง R11 ในความลาดชัน 27 องศา แค่นึกภาพก็ลื่นเป็นสไลด์เดอร์เลยละ
ใช้ยางลบถูไปบนกระเบื้อง R9 และ R11 เพื่อดูผิวสัมผัส
ทีนี้มาลองมาเปลี่ยนใช้ยางลบทดสอบกันดูบ้าง เราได้เตรียมยางลบไว้ทั้งหมด 2 ก้อน โดยก้อนแรกจะถูลงไปบนกระเบื้อง R9 และอีกก้อนหนึ่งจะถูลงไปบนกระเบื้อง R11 ซึ่งเราจะทำการถูทั้งหมด 10 ครั้ง และเมื่อถูเสร็จมาเปรียบเทียบกันดูว่าอันไหนจะสึกหรอมากกว่ากัน คราวนี้แหละเห็นความแตกต่างกันอย่างแน่นอน
ใช้ยางลบเปิดเผยผิวสัมผัสกระเบื้อง R9
ปึ้ง! เสียงขณะยกกระเบื้องลงให้ขนานไปกับพื้น ทันใดนั้นก็ใช้ยางลบถูไปบนกระเบื้อง 10 ครั้ง!! อย่างช้าๆ
ผลปรากฏว่าด้านที่ถูกถู มีลักษณะแหว่งออกไปเพียงเล็กน้อย
ใช้ยางลบเปิดเผยผิวสัมผัสกระเบื้อง R11
ใจร้อนไม่รอช้ารีบหยิบแผ่นกระเบื้อง R11 เข้ามาแทนที่ทันที! แล้วใช้ยางลบอีกก้อนหนึ่งถูกเข้าไปอีก 10 ครั้ง จนกล้ามขึ้น
ผลปรากฏว่ายางลบด้านที่ถูกถู แหว่งออกไปพอสมควร และเศษยางลบก็มีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
สรุปผล
มาเปรียบเทียบให้เห็นกันชัดๆ ยางลบที่ถูลงไปบนกระเบื้อง R11 ถูกเฉือนออกไปมากกว่า กระเบื้อง R9 อย่างปฏิเสธไม่ได้นั่นก็เพราะเนื้อผิวของกระเบื้อง R 11 มีความขรุขระเหมือนกระดาษทราย ซึ่งแตกต่างจากผิวมันเงา และมีความขรุขระเพียงเล็กน้อยของกระเบื้อง R9
ถ้ากระเบื้องสองชนิดอยู่ในห้องน้ำหรือพื้นที่ที่ต้องโดนน้ำอยู่ตลอด จะเป็นอย่างไร ?
กระเบื้อง R9
งานนี้ไม่มีประนีประนอม หยิบสบู่บีบด้วยมือระยะสูง และชโลมให้ทั่วทั้งแผ่นแบบเดียวกับร้าน สตรีทฟู้ดในอินเดีย และทำการตั้งกระเบื้อง R9 ด้วยความลาดชันที่ 10 องศา อีกครั้งหนึ่ง พร้อมเปลี่ยนน้องกล้วยใบใหม่ผิวสวยกว่าเดิม ! จากนั้นจึงทำการเตรียมพร้อม แต่ครั้งนี้หายใจลึกเหมือนเดิมไม่ได้แล้วเพราะเริ่มหอบจากการยกกระเบื้องหลายครั้ง (หัวเราะ) เมื่อกรรมการเป่านกหวีด ปี๊ด!!! กล้วยหอมเริ่มลื่นลงไป และเข้าเส้นชัยในระยะเวลา 0.98 วินาที ไถลเร็วอย่างกับเดอะแฟลช
กระเบื้อง R11
ยังไงกระเบื้อง R 11 แกก็หนีไม่พ้นการโดนชโลมด้วยสบู่หรอกนะ! พอชโลมเสร็จแล้วจึงทำการตั้งกระเบื้องในความลาดชัน 27 องศา เมื่อกรรมการเป่านักหวีดก็ทำการกลิ้งกล้วยลงไปเหมือนที่ผ่านมา แต่สิ่งที่น่าตกใจก็คือกล้วยค่อยๆ ไถลลงไปอย่างชิวๆ และเข้าเส้นชัยไปในระยะเวลา 1.92 วินาที
สรุปผล
จากการทดสอบสังเกตได้ว่า เมื่อกลิ้งกล้วยลงไปบน กระเบื้อง R9 น้องดูลื่นไถลมากกว่าจะหมุนหรือกลิ้งลงไปเสียอีก ซึ่งหากพื้นกระเบื้องต้องเปียก หรือโดนฝนอยู่ตลอดเวลา แนะนำให้ใช้กระเบื้อง R11 จะดีกว่าเพราะโอกาสในการเดินแล้วลื่นไถลเป็นได้มากกว่ายากกว่า
ทดสอบถูยางลบไปกระเบื้อง R9 ที่ชโลมด้วยสบู่
กระเบื้อง R9
เมื่อทดสอบการกลิ้งกล้วยแล้ว จึงยกกระเบื้องให้ขนานไปกับพื้นอีกครั้ง และทำการทดสอบด้วยการใช้ถูยางลบไปอีก 10 ครั้ง!!! ไปบนกระเบื้อง R9 ที่ถูกชโลมไปด้วยน้ำสบู่สุดลื่น
ไม่ว่าจถูขึ้นหรือลงก็ให้ความรู้สึกเหมือนถูน้ำแข็งมากกว่ากะเบื้องเสียอีก และผลก็ฟ้องออกมาว่ายางลบไม่มีส่วนใดที่แหว่ง หรือสึกหรอเลยสักนิดเดียว
กระเบื้อง R11
ถึงตาของกระเบื้อง R11 แล้ว ไม่รอช้านำยางลบมาถูไป 10 ครั้ง เช่นเดิม
ในขณะที่ถูไม่คาดคิดว่ากระเบื้องผิวขรุขระแบบ R11 จะลื่นได้ถึงขนาดนี้ แต่เมื่อถูเสร็จยางลบก็ยังมีส่วนเว้าแหว่งออกไปบ้าง
สรุปผล
ไม่คิดว่าเมื่อใช้ยางลบถูไปบนกระเบื้อง R9 และ R11 ให้ความรู้สึกถึงความลื่นราวกับน้ำแข็งขนาดนี้ อาจจะเป็นเพราะว่าการชโลมด้วยสบู่ไปตั้งครึ่งขวด (หัวเราะ) อย่างไรก็ตามกระเบื้อง R 11 ให้ความลื่นที่น้อยกว่า เนื่องจากยางลบยังสามารถเกาะตัวไปบนพื้นผิว และเกิดการเว้าแหว่งของเนื้อยางลบอยู่บ้าง
ควรใช้กระเบื้องค่า R ให้เหมาะสมกับพื้นที่
สรุปผลภาพรวม กระเบื้อง R11 จะมีผิวที่ขรุขระ และยึดเกาะกับวัสดุอื่นๆ ได้ดีกว่าแต่ถ้าหากเจอสบู่ในปริมาณชนิดครึ่งขขวดก็มีอากาสลื่นได้เช่นกัน ซึ่งกระเบื้องถูกออกแบบมาให้ใช้งานภายนอกอาคารมากกว่า
ส่วนกระเบื้อง R9 ที่มีผิวมันวาวกว่าจึงนำมาใช้กับภายในอาคาร เช่น ห้องรับแขก ห้องโถง ห้องน้ำ หรือ ส่วนภายในอาคารที่ไม่ได้เจอกับความมัน หรือโดนแดด ลม ฝน ตลอดทั้งวัน
และสาเหตุที่ไม่เลือกกระเบื้อง R10 เข้ามาทดสอบ เพราะผิวสัมผัสของกระเบื้องมีความก้ำกึ่งระหว่าง R9 และ R11 รวมไปถึงยังเป็นค่าที่สถาปนิกใช้งานน้อยด้วย อย่างไรก็ตามกระเบื้องแต่ละค่าได้ถูกออกแบบให้เหมาะสมกับการปูในรูปแบบพื้นที่ที่แตกต่างกัน ซึ่งเราสามารถเลือกกระเบื้องให้เหมาะสมกับพื้นที่ตามค่าต่างๆ ได้ดังนี้
กระเบื้องค่า R9
เป็นค่าต่ำสุดสำหรับเลือกใช้กระเบื้องที่มีความลาดชันในการปูพื้นอยู่ที่ 3-10 องศา สำหรับใช้ในพื้นที่โดนน้ำในระยะเวลาหนึ่ง และไม่ได้มีความมันเท่าไหร่นัก เช่น ทางเข้า บันได ห้องรับประทานอาหาร ห้องรับแขก ห้องน้ำ โถงทางเดิน กระเบื้องปูพื้นที่มีค่าอยู่ในระดับนี้จะมีผิวหน้าที่มันวาว มีเงาสะท้อน ดูสวยงาม
ค่ากันลื่น R10
เป็นค่าสำหรับการเลือกใช้กระเบื้องในบริเวณที่ต้องเปียกน้ำ ระดับความลาดชันของพื้นที่ที่ 10-19 องศา หรือ ห้องน้ำ โรงรถ ที่จอดรถ เป็นต้น กระเบื้องปูพื้นจะเริ่มมีความสากขึ้นมาระดับขึ้น ไม่มีความมันวาว สะท้อนแสงน้อย
กระเบื้องค่า R11
เป็นค่าที่ระบุสำหรับความลาดชันในระดับ 19-27 องศา เป็นพื้นผิวสำหรับใช้ในพื้นที่ภายนอกที่ต้องโดนแดด ลม ฝน ตลอดเวลา เช่น บริเวณทางเข้าภายนอก บันไดนอกตัวอาคาร ที่จอดรถนอกอาคาร บริเวณรอบสระว่ายน้ำ พื้นห้องน้ำผู้สูงอายุ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีกระเบื้องค่า R 12 และ 13 ซึ่งต้องปูในพื้นที่ที่มีความลาดชันสูงมาก และมีความมันอยู่ที่พื้นตลอดเวลา
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!