หลายคนเข้าใจว่าพุทธศาสนาเป็นปรัชญาที่ลึกซึ้งยากจะจับต้องได้เป็นรูปธรรม แต่เมื่อตีความลงมาในการออกแบบ เรากลับเห็นสถาปัตยกรรมประเภท วัด สร้างสเปซ และลวดลายที่วิจิตรอยู่เสมอ ทำให้เราตั้งคำถามต่อมาว่า ถ้าแนวคิดทางพุทธศาสนาไม่ได้ถูกนำเสนอในรูปแบบลวดลายอ่อนช้อย ฝาผนัง งานจิตรกรรมที่เราคุ้นเคยกันเพียงอย่างเดียว แต่ถูกผสมผสานด้วยแนวคิดสมัยใหม่ อาคารจะมีสเปซและหน้าตาเป็นอย่างไร?
DBALP นำแนวคิดข้างต้นมาใช้กับศาลาปฏิบัติธรรมธวีธรรม ในอำเภอเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ด้วยการหยิบวัดไทย และวัดบรมพุทโธ จากประเทศอินโดนิเซียมาใช้ออกแบบ ผ่านวิธีคิดแบบโมเดิร์น ทำให้ศาลาปฏิบัติธรรมแห่งนี้มีเสาและหลังคา ที่ซ้อนกันถึง 3 เลเยอร์ จนเกิดสเปซที่ปิดล้อม แต่เปิดโล่ง
แรงบันดาลใจจากวัดมรดกโลก
เจ้าของที่ดินตั้งใจสร้างศาลาปฏิบัติธรรมกึ่งสาธารณะ ท่ามกลางหุบเขาธรรมชาติ โดยมอบหมายให้สถาปนิกสามารถออกแบบอาคารได้อย่างอิสระ สถาปนิกจึงหยิบวัดบรมพุทโธ มรดกโลกในประเทศอินโดนีเซียที่หลงใหลมานานนับ 10 ปี มาเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดการออกแบบ
“ความน่าสนใจของเจดีย์วัดบรมพุทโธ คือการใช้หินมาออกแบบให้เสมือนกำลังสานกัน และเจาะช่องให้มองเห็นพระที่อยู่ภายในเจดีย์ ซึ่งในประวัติศาสตร์ยังไม่เคยพบเจดีย์แบบนี้มาก่อน เราตั้งสมมติฐานว่าคนออกแบบน่าจะนิมิตเห็นเจดีย์แก้วแต่ในอดีตยังไม่สามารถผลิตแก้วได้ จึงพยายามสร้างเจดีย์กึ่งทึบกึ่งโปร่งให้คล้ายคลึงกับแก้วมากที่สุด”
ซ้อนเสาทับเสา
สถาปนิกนำความกึ่งทึบกึ่งโปร่งมาใช้ออกแบบอาคาร โดยออกแบบจัดวางเสาไม้ทั้งหมด 3 เลเยอร์ โดยเสาเลเยอร์แรกทำหน้าที่บ่งบอกสัดส่วนของอาคารที่ได้แรงบันดาลใจจากวัดไทย ส่วนเสาเลเยอร์ที่สอง และสาม วางแพทเทิร์นสลับฟันปลาให้เกิดจังหวะของสเปซ แถมยังสามารถบดบังความร้อนจากแสงแดด และน้ำฝนที่สาดเข้ามาได้
ด้วยการวางในลักษณะนี้ เสาเลเยอร์แรกจึงบดบังเสาเลเยอร์ที่สองและสามทำให้เกิดสเปซการปิดล้อม แต่ยังให้ความโปร่งโล่ง จนลม และแสงสามารถแทรกเข้ามาภายในได้อย่างพอดิบพอดี
“เราใช้วิธีการสร้างแพทเทิร์นเสาสไตล์โมเดิร์น แต่ได้แรงบันดาลใจจากเจดีย์บรมพุทโธ รวมถึงการเลือกใช้วัสดุไม้เพราะให้ความรู้สึกถึงธรรมชาติ และยังสื่อถึงวัดไทย แต่เราเลือกหยิบไม้สนจากสวีเดนที่ไม่เกี่ยวข้องกับวัดไทยมาใช้ ถึงแม้งานนี้จะมีวิธีคิดที่ดูซับซ้อน สลับไปมา แต่ก็สร้างความน่าสนใจให้กับแมสอาคารได้เป็นอย่างดี”
จั่ววัดไทย แต่ใช้วิธีคิดแบบโมเดิร์น
เพื่อให้เกิดความรู้สึกถึงวัดไทยมากขึ้น ผู้ออกแบบหยิบหลังคาจั่วของวิหารวัดเก่า 3 หลัง ในหลายจังหวัดของไทย ที่มีสัดส่วนลงตัวกับสแปนเสาของอาคารหลังนี้ นำมาซ้อนทับกันให้เป็นเฟรมจั่ว 3 เลเยอร์ ทำให้เกิดความรู้สึกโปร่งโล่ง แต่ซับซ้อน ซึ่งเป็นการเปรียบเปรยถึงแก้วเหมือนกับวัดบรมพุทโธ
“การหยิบหลังคาจั่วจากวิหาร 3 ทั้งสามหลังมาใช้ เราไม่ได้มีนัยยะทางศาสนา เพียงแต่อยากให้รู้สึกถึงวัดไทยมากกว่า จะเห็นว่าเราใช้กระเบื้องหลังคา Shingle steel ชนิด Titanium ซึ่งเป็นวัสดุเดียวกับอาคาร Guggenheim Museum Bilbao ที่ Frank Owen Gehry เป็นคนออกแบบ อาคารหลังนี้จึงมีความโมเดิร์นสูง แต่ในขณะเดียวกันก็ยังให้ความรู้สึกถึงวัดไทยอยู่”
ขับเน้นอาคารและพระประธาน
บริเวณภายในศาลาปฏิบัติธรรมเลือกใช้กระเบื้องหินอ่อนสีขาวเพื่อขับเน้นโครงสร้างของอาคาร และพระประธานให้ดูโดดเด่น นอกจากนี้บริเวณพื้นทั้งสี่มุมของอาคารได้ออกแบบให้เป็นระบบ dry system ระหว่างกระเบื้องแต่ละแผ่นจะมีร่องระบายน้ำ เมื่อเวลาฝนสาดน้ำจะระบายลงทันที
เสริมธรรมชาติด้วยสระบัว
ตัวอาคารตั้งอยู่บนสระน้ำ 3 ชั้น เพื่อให้อาคารเกิดเงาสะท้อนลงไปบนผิวน้ำแบบไล่ระดับ ซึ่งบนสระน้ำมีดอกบัวที่สื่อสารถึงความเป็นธรรมชาติสอดคล้องไปกับพุทธศาสนา นอกจากนี้ยังออกแบบทางเดินแผ่นหินที่ให้ความรู้สึกเหมือนน้ำกำลังแหวกออกเพื่อเปิดทางให้เราเข้าไปสู่อาคารด้านหลัง ซึ่งเป็นทางเข้าที่มีความคล้ายคลึงกับวัดไทย
“สำหรับแลนด์สเคปไม่ได้อ้างอิงถึงพุทธศาสนามากนัก เพียงแค่ต้องการสร้างเอฟเฟกต์ให้ส่งเสริมอาคารมากกว่า”
วางผังแบบแกน
สำหรับการวางผังโครงการสถาปนิกใช้ระบบแกน ที่มีคอร์ทยาร์ดอยู่ตรงกลางเพื่อนำทางเข้าสู่ศาลาปฏิบัติธรรม นอกจากนี้ยังแจกไปสู่อาคารสองชั้นทางด้านซ้ายที่เป็นทั้งห้องสมุด และห้องปฏิบัติธรรม รวมไปถึงอาคารเวิร์คช็อปหรือ ศูนย์อบรมด้านศาสนาที่อยู่ทางด้านขวา ซึ่งอาคารทั้งสองหลังถูกดีไซน์ให้เป็นกล่องสี่เหลี่ยมแบบโมเดิร์นเพื่อไม่ให้แย่งความน่าสนใจจากศาลาปฏิบัติธรรม แต่ยังใช้วัสดุไม้สนแบบเดียวกัน ทำให้ภาพรวมของอาคารทั้งหมดดูเชื่อมโยงเป็นส่วนเดียวกัน
พุทธศาสนากับสถาปัตยกรรม
ศาลาปฏิบัติธรรมหลังนี้ไม่ได้ใช้แนวคิดสถาปัตยกรรมโมเดิร์นเพียงอย่างเดียว แต่หยิบยืมรายละเอียดจากสถาปัตยกรรมโบราณอย่าง วัดบรมพุทธโธ และวิหารวัดไทยในอยุธยามาใช้ในการออกแบบภาพลักษณ์ และสเปซของอาคารให้รู้สึกถึงความสงบ ร่มรื่น เหมาะสมกับเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมทางพุทธศาสนา
“เราตั้งคำถามว่าวัดไทย จำเป็นต้องตีความหมายจากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างเดียวไหม? หรือสามารถพัฒนาด้วยวิธีคิดแบบสถาปัตยกรรมโมเดิร์น หรือที่มาจากอย่างอื่นได้ไหม? การอธิบายความหมายพุทธศาสนา 100 คนก็ 100 แบบ ถึงแม้จะอธิบายไม่เหมือนกันแต่เราเชื่อว่าทุกคนมีแก่นในการเข้าถึงพุทธศาสนาแบบเดียวกัน”
Credit
Architectural Design : DBALP
Photographer : W Workspace
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!