ในบ้านสวนผัก ไม่มีแปลงผัก
ในบ้านสวนผัก มีลานกว้างที่เชิญชวนให้คุณออกไปรับแสงธรรมชาติ สูดอากาศบริสุทธิ์
มีมุมมองส่วนตัวหันเข้ามาในพื้นที่ส่วนกลางบ้าน
มีประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใครในแต่ละพื้นที่
เพราะโจทย์สุดท้าทายของบ้านสวนผัก คือการหาทางรับมือกับสภาพแวดล้อมรอบบ้าน โดยสถาปนิกต้องเฟ้นหาวิธีการออกแบบเพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวในรูปแบบต่างๆ ท่ามกลางพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นมากๆ สร้างความแตกต่างที่ไม่ต้องตะโกน และควบคุมขนาดสัดส่วนที่คำนึงถึงพื้นที่ใกล้เคียงให้อยู่กันได้อย่างสงบ
ละแวกที่ตั้งกับสถานที่อยู่
ในบ้านสวนผัก มีสมาชิกครอบครัว 4 คนอยู่ร่วมกัน แรกเริ่มการพูดคุยระหว่างเจ้าของบ้านและสถาปนิก เจ้าของบ้านไม่ได้กำหนดโจทย์ตายตัวมากนัก นอกจากอยากได้บ้านที่อยู่สบาย มีสระว่ายน้ำ เป็นที่รวมตัวของครอบครัวใหญ่บ้างนานๆ ครั้ง และค่อนข้างเปิดรับไอเดียใหม่ๆ จากทีมออกแบบ สถาปนิกจึงค่อยๆ ตั้งคำถามกับการสร้างบ้านในเมือง ที่มักจะสร้างอาคารปกคลุมแปลงที่ดินเกือบทั้งหมด ไม่ค่อยเหลือที่ว่างเอาไว้ และจะเป็นยังไงถ้าบ้านในเมืองสามารถสร้างคุณค่าของที่ว่างภายในที่ดินของตัวเองได้?
สภาพแวดล้อมของบ้านกลายเป็นเหตุผลสำคัญในการออกแบบ ถนนสวนผักด้านหน้าแคบไม่กี่เมตรแทบไม่พอรถสวนกัน ที่ตั้งของบ้านในเมืองโอบล้อมไปด้วยอาคาร 2 ชั้นที่สร้างชิดกันมากทั้งซ้ายและขวา ข้างบ้านด้านทิศเหนือติดกับอาคารสูง 4 ชั้นที่ประกอบธุรกิจอะไหล่รถยนต์ และที่เป็นข้อจำกัดสำคัญอยู่ที่ด้านหลังทางทิศตะวันออก หมุนตัวหันหน้าไปก็จะเจอกับอาคารองค์การตลาด ที่ถูกใช้งานเป็นทั้งตลาดและที่อยู่อาศัยสภาพค่อนข้างเสื่อมโทรมและมีความสูงมากถึง 7 ชั้นติดหลังบ้าน ทำให้ทิศที่พอจะกำหนดเป็นช่องเปิดได้ เหลือเพียงแค่ทิศตะวันตกและทิศใต้ซึ่งก็เป็นทิศที่โดนแดดร้อนเสียอีก
ตัวบ้านล้อมกรอบ สวมกอดคอร์ดสีเขียว
จากประเด็นเรื่องที่ตั้งทำให้แนวทางการออกแบบหลักหันมาโฟกัสเรื่องการแก้ปัญหาสภาพแวดล้อมเป็นอันดับแรก ‘การสร้างบ้านที่มีที่ตั้งอยู่ในเมืองที่มีความหนาแน่นแต่มีลักษณะของพื้นที่เปิดโล่งและเป็นส่วนตัว’จึงกลายเป็นความท้าทายของงานนี้ แนวทางการพัฒนางานเริ่มจากการค้นหาแนวการวางอาคารที่ทำให้เกิดพื้นที่ที่มีความเป็นส่วนตัวเชื่อมโยงกับธรรมชาติ ทำอย่างไรให้พื้นที่สระว่ายน้ำไม่ถูกเห็นจากอาคารด้านหลังที่สูงกว่ามาก? หรือทำอย่างไรให้ห้องนอนได้รับแสงธรรมชาติแต่ไม่ร้อน?
เมื่อแนวการวางอาคารเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง สถาปนิกตัดสินใจแบ่งอาคารเป็น 3 ส่วน เพื่อสร้าง ‘ทัศนียภาพ’ ผ่านการเดินระหว่างแต่ละอาคารและตั้งใจให้เจ้าของบ้านได้เดินผ่านพื้นที่สวนระหว่างอาคาร ด้วยความเชื่อที่ว่าการสร้างระยะห่างระหว่างอาคารทำให้การเคลื่อนที่ไปในทุกๆ ส่วนของบ้าน สามารถสร้างมุมมองแปลกใหม่ น่าสนใจในบรรยากาศที่แตกต่างกันไป
ส่วนที่ 1 ส่วนอาคารหลัก: เป็นอาคาร 2 ชั้นที่มีทุกอย่างในพื้นที่ ทั้งพื้นที่กินข้าว ครัว ห้องดูหนัง ห้องนอนและส่วน service โดยอาคารนี้จะวางผังชิดฝั่งทิศเหนือ
ส่วนที่ 2 ส่วนต้อนรับด้านหน้า: เป็นอาคาร 1 ชั้น อยู่ด้านติดกับที่จอดรถ เป็นพื้นที่ที่มี privacy ต่ำสุด
ส่วนที่ 3 ส่วนพื้นที่ส่วนตัวด้านหลัง: เป็นอาคาร 1 ชั้น ต่อเนื่องกับสระว่ายน้ำ ด้านหลังซ่อนงานระบบต่างๆ อาคารนี้อยู่ติดกับเพื่อนบ้านที่สูง 7 ชั้น โดยทำหน้าที่เป็น buffer ทางสายตาให้สระว่ายน้ำ
เครื่องมือที่พัฒนาต่อจากการวางผังอาคาร อีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่จะช่วยสร้างความเป็นส่วนตัวมากขึ้นคือ ห้วง (space) สถาปนิกกำหนดห้วงที่มีความเป็นส่วนตัวไว้ 3 ระดับ เพื่อกำหนดความเป็นส่วนตัวในระดับน้อยกลางมากไล่จากหน้าบ้านไปหลังบ้าน พื้นที่ห้วงที่ 1 คือที่จอดรถหน้าบ้านที่คนภายนอกสามารถพอมองเห็นได้ ห้วงที่ 2 คือคอร์ทกลางบ้านเป็นหัวใจของงาน นำแสง มุมมอง การระบายอากาศเข้าสู่พื้นที่ส่วนใหญ่ของบ้าน ตรงกลางมีต้นมั่งมีที่ให้ร่มเงาและบดบังมุมมองจากอาคารข้างเคียง ห้วงที่ 3 คือสวนหลังบ้านเป็นพื้นที่สวนลับที่ซ่อนให้มองเห็นได้จากคนในเท่านั้น
ปิดข้างนอก เปิดข้างใน
มองจากคนที่เดินผ่านไปมาหน้าบ้าน ตัวอาคารภายนอกถูกออกแบบให้เป็นสีเทาเข้มเพื่อตัดกับสีเขียวของสวน ให้การแสดงออกของอาคารดูสงบ นิ่งเฉย สีเทาบางส่วนใหญ่คือผนังทาสี ส่วนผนังที่เน้นจะใช้การกรุกระเบื้องลายหินเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมชาติ ผนังชั้น 2 ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นบานเปิดระแนงอะลูมิเนียมทั้งหมด
เมื่อเดินผ่านประตูเข้าสู่พื้นที่พักผ่อนภายใน เจ้าของบ้านต้องการให้ภายในบ้านมีสีโทนอ่อน ดูกว้างสบายตา ชุดสีและวัสดุภายในจึงเป็นการทำงานของสีขาวและไม้ธรรมชาติ แซมด้วยสีเทาจากหินสีเข้มจากนอกอาคารบ้างเพื่อความเชื่อมโยงใน-นอก ส่วนเฟอร์นิเจอร์ที่ติดตรึงกับพื้นที่ห้องเน้นความเรียบร้อย กลืนไปกับส่วนอื่นๆ ของบ้าน ส่วนเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวเน้นที่ดูทันสมัยแต่ไม่โฉ่งฉ่าง และมีความหลากหลาย
เป็นส่วนตัวไม่กลัวร้อน
สระว่ายน้ำตรงคอร์ทกลางเป็นพื้นที่หลักของบ้าน ศูนย์กลางที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงพื้นที่ต่างๆ ทั้งภายนอกและภายในเข้าด้วยกัน เป็นทั้งพื้นที่ใช้สอยและพื้นที่เปลี่ยนผ่าน (transitional space) กับสวนลับที่เป็นสวนเล็กๆ มีความเป็นส่วนตัวสูง เลือกใช้วัสดุสีเทาเข้มให้ดูตัดกันอย่างสวยงามระหว่างสวนสีเขียวและแสงแดด
นอกเหนือจากเรื่องการกำหนดมุมมองให้ทุกคนในครอบครัวได้มีมุมพักผ่อนส่วนตัวของตัวเองแล้ว ประเด็นเรื่องอุณหภูมิของบ้านที่อยู่ในทิศที่มีแดดส่องก็ถูกแก้ไขด้วยวิธีการออกแบบ อย่าง ทิศตะวันตกหรือทิศใต้ สถาปนิกใช้วิธีแก้ปัญหาโดยกำหนดพื้นที่ระเบียงเพื่อสร้างความลึกให้แดดเข้าถึงพื้นที่ใช้สอยได้ยากขึ้น และการใช้บานเปิดระแนงอะลูมิเนียมเพื่อกรองแดดและความร้อนแต่ยังให้ลมผ่านได้ ในเวลาที่แดดไม่จัดสามารถเปิดบานเปิดเพื่อมุมมองที่ดีขึ้นได้
บ้านหลังนี้เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของบ้านในเมืองที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในกล่องสี่เหลี่ยมที่ดูน่าเบื่อ อุดอู้กับพื้นที่จำกัด ผ่านการออกแบบพื้นที่พักผ่อนส่วนตัวภายในบ้าน ทุกวันหลังเลิกงานกลับมาบ้านก็ได้ผ่อนคลายกับธรรมชาติใกล้ตัวได้ทันที ความสบายใจที่มองออกไปก็จะเจอต้นไม้อยู่ใกล้ ๆ ใส่ใจเลือกวัสดุที่ไม่จำเป็นต้องดูแลรักษามากนัก ให้เหมาะกับวิถีชีวิตคนในเมือง ที่เราทุกคนก็สามารถใช้ชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติได้
Location: เขตตลิ่งชัน จังหวัดกรุงเทพมหานคร
Built Area: 700 ตารางเมตร
Completion Year: 2022
Architects Firm: บริษัท สตูดิโอ มหัศจรรย์ จำกัด
Lead Architects: ศิริวัฒน์ ปัจฉิมะศิริ, เชาว์วัฒน์ กิตติธรกุล
Photo Credit: จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!