Cloud 11
สถาปัตยกรรมเพื่อคุณภาพชีวิต และคอมมูนิตี้ความคิดของนักสร้างสรรค์

สถาปัตยกรรมและการจัดการพื้นที่ที่ดีช่วยสร้างระบบนิเวศทางความคิดสร้างสรรค์ให้กับผู้คนได้จริง  !

ด้วยความที่ย่านปุณณวิถีช่วงปลายสุขุมวิทเป็นอีกทำเลที่เหมาะกับทุกไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ และกำลังเติบโตเป็นย่านนวัตกรรมที่สำคัญของกรุงเทพฯ หลังจากการขยับขยายของเมืองตามแนวรถไฟฟ้าที่เกิดใหม่จนเป็นเหมือนกับ Sandbox สำหรับสตาร์ทอัพและบริษัทเทคโนโลยี โครงการ Cloud 11 งานออกแบบจากความร่วมมือระหว่าง Snøhetta และ A49 โดยเจ้าภาพ MQDC จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นฮับของคอนเทนต์ครีเอเตอร์ขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชีย และสนับสนุนเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์

Cloud 11 คือโครงการอาคาร Mixed-use ที่ตั้งใจให้เป็นฮับของคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ด้วยจุดประสงค์ที่ต้องการผลักดัน ยกระดับ และสร้างระบบนิเวศครบครันของวงการครีเอเตอร์เพื่อดึงศักยภาพของเหล่าบรรดานักสร้างสรรค์ให้เติบโตได้ไกลระดับโลก นี่จึงเป็นหนึ่งในโครงการ Theme Project ของ MQDC ซึ่งใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นแนวทางในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ตอบโจทย์ทางด้านเป้าหมายไปพร้อมกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนภายในย่าน

“เราจะสร้างอาคารอย่างไรให้ตอบโจทย์กับสังคม” นี่คือธงด้านการออกแบบที่ Kjetil Thorsen ผู้ก่อตั้ง Snøhetta ให้ความสำคัญในงานออกแบบครั้งนี้ ซึ่งเป็นไปทิศทางเดียวกันกับวิสัยทัศน์ที่ A49 ต้องการ “ใช้ข้อมูลเพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้งานเพื่อทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น” จากคำบอกเล่าของคุณนิธิศ สถาปิตานนท์ กรรมการบริหาร

ผลลัพธ์ของ Cloud 11 ตอบกับความเชื่อของ MQDC ที่คุณคีรินทร์ ชูธรรมสถิต ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ MQDC และ คุณองศา จรรยาประเสริฐ ผู้อำนวยการโครงการ Cloud 11 เน้นย้ำอยู่เสมอ นั่นคือ ‘For all well-being’ ทุกสรรพสิ่งบนโลกอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขและยั่งยืนได้

Content Creation Ecosystem ระบบนิเวศของกลุ่มคนสร้างสรรค์

Cloud 11 เกิดขึ้นจากจุดประสงค์สำคัญ โครงการนี้โฟกัสไปที่กลุ่มนักสร้างสรรค์สื่อในยุคใหม่ คุณองศาเล่าถึงที่มาและสถาปัตยกรรมแห่งอนาคตที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมคอนเทนต์ของประเทศไทยไปสู่เวทีระดับโลก

“ภารกิจหลักของโครงการนี้คือ Empowering Creators เราต้องการยกระดับวงการคอนเทนต์ครีเอเตอร์ให้ที่นี่เป็นฮับที่ใหญ่ที่สุดของเอเชีย ด้วยการรวมตัว Ecosystem การสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่ครบถ้วนและสมบูรณ์ที่สุด ทั้งทางด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี รวมถึงพื้นที่ส่วนกลางสำหรับแสดงความสามารถ และแลกเปลี่ยนไอเดียสร้างสรรค์ โดยเฉพาะกับการออกแบบพื้นที่และฟังก์ชันการใช้งานเพื่อสนับสนุนการทำงานและการริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ของคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยสร้างกลไกที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมคอนเทนต์ของประเทศไทยไปสู่เวทีระดับโลกได้อย่างที่ตั้งใจ”

ภายในโครงการบนเนื้อที่ 27 ไร่ พื้นที่ใช้สอย 254,000 ตารางเมตร ประกอบด้วยพื้นที่สำนักงานและสตูดิโอ, Hybrid Retail หรือส่วนพื้นที่รีเทลสำหรับสนับสนุนนักสร้างสรรค์, Lifestyle Hotel, Smart Hotel, พื้นที่การศึกษา, พื้นที่วัฒนธรรม และสวนสาธารณะ ทั้งหมดเปิดต้อนรับผู้คนผ่านทางการเชื่อมต่อทางสัญจรตั้งแต่ภายนอกเข้ามาจนถึงภายใน ที่ตั้งใจให้นุ่มนวลไร้รอยต่อ

จากแนวคิดด้านพฤติกรรมถ่ายทอดสู่สถาปัตยกรรมผ่านการใช้ช่องเปิดขนาดใหญ่ด้วยสแปน 43 เมตร และโครงถัก (Truss) สูง 11 เมตร เชื่อมต่อมุมมองจากรถไฟฟ้าสู่โครงการ และตรงเข้ามายังสวนส่วนกลางอาคารที่เป็นพื้นที่สาธารณะ “ส่วนนี้นับเป็นความท้าทายทางงานโครงสร้างของวิศวกร” คุณนิธิศเล่า

ความท้าทายทางด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมในงานออกแบบครั้งนี้ เกิดจากความปรารถนาดีที่ต้องการสร้างพื้นที่สีเขียวซึ่งมีรากเหง้ามาจากผืนที่ดินเดิมที่ตกทอดมายาวนาน

“โจทย์หนึ่งที่ผมให้สถาปนิกตอนเริ่มออกแบบคือ ห้ามตัดต้นไม้เก่าในไซต์แม้แต่ต้นเดียว” คุณองศาเริ่มต้นเล่าถึงจุดเริ่มต้นก่อนจะมาเป็นงานดีไซน์สถาปัตยกรรม “ในพื้นที่มีต้นไทรขนาดใหญ่มากที่เราคิดว่าถ้าย้ายแล้วจะมีความเสี่ยงในการรักษาชีวิต เราจึงใช้วิธียกอาคารขึ้น เพื่อเก็บต้นไทรไว้ที่เดิม รวมทั้งส่วนที่เป็นสวนหย่อม เราก็รักษาต้นไม้เก่าไว้ได้ โดยแสงแดดจากด้านบนก็ยังส่องถึงด้านล่างของตัวอาคารได้ ในโจทย์เรื่องความยั่งยืน ผมว่าเราให้ความสำคัญมาก ถึงแม้ต้องลงทุน แต่ต้นไม้ที่อยู่มาเป็นร้อย ๆ ปี ไม่มีอะไรทดแทนได้”

Virtual-Physical Bridge เชื่อมโลกเสมือนเข้ากับโลกจริง

จากทางเข้าที่เปิดต้อนรับผู้คนมุ่งตรงเข้าสู่สวนส่วนกลางในคอร์ตยาร์ดล้อมรอบด้วยกลุ่มอาคารในจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน แต่มีเป้าหมายเดียวกัน คือการผลักดันงานด้านครีเอเตอร์ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีผ่านงานออกแบบ

Kjetil เล่าถึงการเชื่อมโยงโลกทั้งสองด้านไว้อย่างน่าสนใจ “สถาปัตยกรรมไม่ใช่เพียงแค่การดีไซน์ แต่คือการลงลึกเข้าไปในปัญหาและการเผชิญปัญหาในเชิงสร้างสรรค์ งานออกแบบจึงไม่ได้แค่ตอบโจทย์เรื่องดีไซน์ แต่ตอบโจทย์เรื่องเป้าหมายด้วย เช่นเดียวกับโครงการนี้ที่มองในสามเรื่องหลักคือ สังคม สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน ซึ่งทาง MQDC เองก็เลือกดีไซน์สะพานเชื่อมต่อทั้งสามสิ่งนี้เข้าด้วยกันอย่างแน่นแฟ้น เช่นเดียวกับสะพานที่เชื่อมต่อโลกดิจิทัลเข้ากับโลกจริงของเรา ทั้งจากสวนส่วนกลางและบริบทที่รายล้อม แสดงให้เห็นว่า ดีไซน์นี้เป็นดีไซน์ที่ทรงพลังมากจริง ๆ สำหรับอนาคต”

คุณคีรินทร์ในฐานะหัวเรือใหญ่เล่าถึงเบื้องหลังของการพัฒนาโครงการ Cloud 11 “เราเอาองค์ความรู้ต่าง ๆ มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ โครงการของเรา เพื่อให้เห็นว่า ไม่มีโครงการใดเลยที่หยุดพัฒนา เช่นเดียวกันกับโครงการนี้ที่ตอบสนองต่อความต้องการคนรุ่นใหม่ พร้อมกับสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ของเหล่าครีเอเตอร์ ทำอย่างไรให้พวกเขามีระบบนิเวศที่เหมาะสมในการเติบโตได้ ตรงนี้คือศักยภาพแห่งอนาคตของคนรุ่นใหม่และประเทศไทย”

“เรามีความภูมิใจในการพัฒนาโครงการนี้ขึ้นมา และมั่นใจว่าเราจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยมีเป้าหมายคือเป็นหนึ่งในโครงการต้นแบบให้กับการพัฒนาโครงการ Mixed-use ทั่วโลก”

Inclusive Progress งานดีไซน์ที่เติบโตไปกับชุมชน

“สถาปัตยกรรมที่ดีไม่ได้เกิดขึ้นเองจากพื้นที่ว่าง” Kjetil เล่า “การที่เรามีสวนเป็นคอร์ตยาร์ดเป็นการเปิดให้ทุกคนมีโอกาสได้เข้ามาใช้พื้นที่ส่วนกลาง แสดงให้เห็นว่าพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่เชื่อมโยงทุกคน ไม่ใช่เพียงแค่ระหว่างอาคาร แต่เป็นการเชื่อมต่อระหว่างสังคม ระหว่างเราทุกคน ทั้งจากความยืดหยุ่นของพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับครีเอเตอร์ ทำให้เห็นพลังงานของความสร้างสรรค์จะนำไปสู่อนาคตที่ดี”

จากงานวิจัยของ MQDC พบว่า สิ่งที่ยังขาดไปของถนนสุขุมวิทฝั่งปุณณวิถีคือ สวนที่สามารถออกกำลังกายหรือเปิดสาธารณะให้ผู้คนเข้ามาใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ นำมาสู่การสร้างสรรค์พื้นที่ภายในให้เป็นสวนลอยฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ นอกจากสวนส่วนกลางแล้ว ยังมีคลองบางอ้อที่ขนานไปกับขอบของผืนที่ดินในระยะทาง 400 เมตรก่อนผันน้ำออกไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยา อีกโจทย์หนึ่งที่สำคัญจึงเป็นการปรับปรุงคลองทั้งทางกายภาพของคลองและคุณภาพน้ำ เป็นหน้าบ้านน่ามองที่เป็นทั้งทางเดินริมน้ำ และเป็นทางลัดสำหรับใช้งานได้จริงของทุกคน

คุณนิธิศขยายความต่อถึงสวนคอร์ตยาร์ดและการวางผังโครงการ “อีกเหตุผลหนึ่งที่เราวางตึกล้อมรอบสวนตรงกลาง เพราะ ต้องการพื้นที่เปิดโล่ง แต่ด้วยความที่คนไทยไม่ชอบแดด ดังนั้น ทำอย่างไรให้ช่วงบ่ายคนสามารถใช้งานสวนสาธารณะได้ การวางอาคารล้อมสวนแบบนี้ทำให้เกิด Self-shading คือตึกเป็นร่มเงาให้กับสวนไปในตัว นับว่าเป็นการใช้สถาปัตยกรรมอย่างชาญฉลาด”

อีกส่วนหนึ่งคือการเว้นช่องเปิดเพื่อให้เกิดการระบายจากทิศใต้ไปทางทิศเหนือ ประกอบกับความกว้างของตึกที่ไม่ได้กว้างเกินไป ช่วยให้แสงธรรมชาติเข้าถึงภายในได้ทุกส่วน เมื่อรวมกับช่องเปิดที่ช่วยเปิดมุมมองของผู้ใช้งานภายในอาคาร เป็นการเชื่อมต่อผู้ใช้งานเข้ากับธรรมชาติและสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีในพื้นที่สร้างสรรค์

คุณนิธิศทิ้งท้ายถึงสถาปัตยกรรมในครั้งนี้ “สิ่งที่ทำให้โครงการนี้โดดเด่นมาก ๆ ไม่ใช่แค่ดีไซน์ แต่เป็นเรื่องการคิดและหาจุดเหมาะสมให้กับทุกอย่าง ตั้งแต่ที่จอดรถ อากาศ ความยั่งยืน ซึ่งเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนที่ต้องใช้เวลา ความคิดสร้างสรรค์เพื่อทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้จริง และนี่ก็เป็นจุดเด่นของโครงการที่ไม่ได้มองแค่ดีไซน์สวย แต่มองถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”

“ทุกโครงการของ MQDC เริ่มต้นที่งานวิจัย และหาโซลูชั่นที่ตอบโจทย์” คุณองศากล่าวสรุป “เรากำลังสร้างโครงการขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อทุกคน เราต้องแก้ปัญหามากกว่าแค่ในโครงการเรา จำเป็นต้องมองโดยรอบโครงการว่า มีโจทย์อะไรที่ช่วยแก้ไขได้ และจะพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้น”

เราเชื่อว่าความคิดสร้างสรรค์คือศักยภาพในตัวบุคคลสามารถเติบโตต่อไปไม่รู้จบ ตราบใดที่ปัจจัยผู้ช่วยกระตุ้นไอเดียและความสุขยังคงทำงานอยู่ เช่นนั้นแล้ว งานออกแบบสถาปัตยกรรม ภูมิทัศน์ และสภาพแวดล้อมจึงเป็นเหมือนกับแหล่งพลังงานที่เติมให้ไฟของความคิดและคุณภาพชีวิตที่ดียังคงลุกโชนอยู่เสมอ พิสูจน์ได้จากต้นไม้เล็ก ๆ บนโต๊ะทำงานแสนสดชื่น ไปจนถึงสวนสีเขียวขนาดใหญ่ที่กำลังจะเป็นพื้นที่ส่วนกลางแห่งใหม่ให้กับผู้คนในย่านอย่างเช่นที่ Cloud 11 ตั้งใจ

Cloud 11 เปิดรับจองพื้นที่ศูนย์การค้าและสำนักงานแล้ว บริษัท องค์กร หรือหน่วยงานที่สนใจ สามารถลงทะเบียน และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมผ่านทาง www.cloud11bangkok.com

Writer
Nathanich Chaidee

Nathanich Chaidee

อดีตนักเรียนสัตวแพทย์ผู้หลงใหลในเส้นสายสถาปัตยกรรม ก่อนผันตัวเองมาเรียน'ถาปัตย์ และเลือกเดินบนถนนสายนักเขียนหลังเรียนจบ สามสิ่งในชีวิตที่ชอบตอนนี้คือ การได้ติ่ง ไปญี่ปุ่น และทำสีผม