จากประสบการณ์ทำงานสถาปัตยกรรมทั้งในประเทศจีน และประเทศไทย ทำให้ HAS design and research เป็นสตูดิโอที่มีความน่าสนใจในการเลือกใช้วัสดุ เพราะพวกเขาได้ดีไซน์วัสดุขึ้นมาใหม่ หรือการนำวัสดุที่พบเห็นทั่วไป มาสร้างความแปลกใหม่เพื่อให้เกิดความรู้สึกที่แตกต่างในงานสถาปัตยกรรม จะเห็นได้จากโปรเจกต์ The Glade Bookstore ที่นำ PVC มาใช้ออกแบบฝ้าอาคาร หรือ Phetkasem Artist Studio ที่นำท่อเหล็กมาดีไซน์ใหม่ให้มีรูปแบบแพทเทิร์นต่างไปจากเดิม ในคราวนี้ Dsign Something จึงได้เข้าไปเยือนที่สตูดิโอ เพื่อพูดคุยกับพวกเขาว่ามีขั้นตอนการคัดเลือกวัสดุอย่างไรให้งานออกแบบออกมาให้ดูน่าสนใจได้ขนาดนี้
สตูดิโอที่ออกแบบและวิจัยไปพร้อมกัน
HAS design and research คือบริษัทสถาปนิกที่นำโดย ป้อ – กุลธิดา ทรงกิตติภักดี และ เจอร์รี่ หง Jenchieh Hung ซึ่งป้อเคยร่วมทำงานกับ Renzo Piano Building Workshop และ เจอร์รี่เคยร่วมทำงานกับ Kengo Kuma ก่อนที่ทั้งสองจะตัดสินใจเปิดบริษัทขึ้นที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน โดยใช้ชื่อบริษัทว่า H and S (HAS) ที่แปลว่ามี ซึ่งเป็นตัวอักษรขึ้นต้นจากนามสกุลทั้งสองคน และต่อท้ายด้วยประโยค design and research ที่เน้นไปในทางด้านออกแบบ และการวิจัยไปพร้อมกัน รวมไปถึงการเป็นอาจารย์พิเศษให้กับมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศ จนกระทั่งเกิดวิกฤตโรคระบาดในปี 2019 ทั้งสองคนได้ตัดสินใจย้ายมาอยู่ที่ประเทศไทย และก่อตั้งบริษัทเป็นสาขาที่สองในกรุงเทพฯ
ความแตกต่างระหว่างวัสดุในประเทศไทย และจีน
การออกแบบสถาปัตยกรรมในประเทศจีนมีการแข่งขันสูงมาก เนื่องจากจำนวนของโครงการก่อสร้าง ประชากร รวมถึงสถาปนิกที่มีอยู่มากมาย ทำให้วิธีการคิดในเชิงบูรณาการของสถาปนิกจีนต้องสูงตามไปด้วย เพื่อให้ผลงานดูแปลกใหม่และแตกต่างออกไปจากที่มีอยู่ ส่งผลให้วัสดุที่มีผิวสัมผัส และขนาดที่หลากหลายให้เลือกสรร แตกต่างกับประเทศไทยที่การออกแบบจะเน้นไปที่ความสมเหตุสมผลสามารถใช้งานได้จริง ส่วนความแปลกใหม่มักจะขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละบุคคล วัสดุในประเทศไทยจึงไม่ได้หลากหลายเท่าในประเทศจีน
ทดลองเพื่อค้นหาตัวเลือกที่ดีที่สุด
การออกแบบอาคาร 1 โปรเจกต์ สถาปนิกใช้เวลาในการค้นคว้าวิจัยเป็นส่วนมาก เพื่อค้นหาความเป็นไปได้ทั้งเรื่องของสเปซ และวัสดุที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้ออกแบบแต่ละงานมี Option ที่ไม่น้อยกว่า 20 แบบ และนำแต่ละแบบมาทดลองเพื่อค้นหาตัวเลือกที่ดีที่สุด จากนั้นจึงนำแบบไปพัฒนากับผู้รับเหมา และผู้ผลิตวัสดุ เพื่อให้งานออกมาตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้มากที่สุด
“การที่เราเลือกปรึกษาผู้ผลิตวัสดุด้วย เพราะในรายละเอียดการติดตั้งวัสดุบางชิ้นอาจจะดูซับซ้อน และยากกว่าปกติสำหรับผู้รับเหมาก่อสร้าง จึงหาทางออกด้วยการนำรายละเอียดงานออกแบบให้ผู้ผลิตวัสดุโดยตรง พวกเขาจะเข้าใจรายละเอียดวิธีการติดตั้งที่เข้ากับงานออกแบบได้ดี และมักจะได้ผลลัพธ์ที่ดูน่าสนใจ และคาดไม่ถึงอยู่เสมอ”
นำเสนอการออกแบบไปพร้อมกับบอร์ดวัสดุ
สถาปนิกใช้บอร์ดวัสดุสำหรับการนำเสนอในช่วงการพัฒนางานออกแบบ เพื่อให้ลูกค้าได้รู้จักกับผิวสัมผัสวัสดุ สีสัน และตำแหน่งของการจัดวางลงในแต่ละพื้นที่ของอาคาร และบอร์ดวัสดุชุดนี้ก็ยังให้ผู้รับเหมา และทีมอื่นๆ ด้วยเช่นกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจในงานออกแบบ และการติดตั้ง
“วัสดุบางชิ้นมีการทดลองทำผิวสัมผัสแบบใหม่ๆ เช่น การใช้สีอีพ็อกซี่ในการทำผิวสัมผัสให้กับวัสดุ ซึ่งเราต้องการให้สีโทนอ่อนลงจากวัสดุที่ทางโรงงานมีอยู่แล้ว จึงให้ผู้ผลิตทดลองทำสีมาลงในแผ่นวัสดุขนาดเล็ก และนำมาเลือกสรรอีกครั้งหนึ่ง เมื่อได้คัดเลือกชิ้นวัสดุที่ต้องการแล้ว ค่อยทำการผลิตตัวทดลองขนาดแผ่นจริงอีกครั้ง เพื่อจะได้เห็นลวดลาย และผิวสัมผัสมากยิ่งขึ้น จากนั้นจึงนำกระเบื้องแต่ละชิ้นไปให้ผู้รับเหมาทดลองติดตั้งทีละแผ่นเพื่อดู Mood and Tone และความเหมาะสมอีกครั้งหนึ่ง”
สร้างความเป็นไปได้แบบใหม่ให้กับวัสดุ
The Glade Bookstore
จากการทดลอง และหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ทำให้การออกแบบ The Glade Bookstore ร้านหนังสือ ร้านอาหาร และพื้นที่จัดนิทรรศการ ได้นำลักษณะบ้านไม้แบบเสาค้ำยัน และลักษณะภูมิประเทศแบบภูเขาของเมืองฉงชิ่งมาเป็นแรงบันดาลใจ โดยสถาปนิกเลือกใช้เส้น PVC ขนาด 6 มิลลิเมตร ยึดเข้ากับงานฝ้าในลักษณะคล้ายหลังคาทรงจั่วโค้ง ความสูงต่ำเสมือนเป็นธรรมชาติที่ล้อไปกับภูมิประเทศดั้งเดิมของเมืองฉงชิ่ง และสะท้อนถึงกลิ่นอายของบ้านไม้ที่มีเสาค้ำยันที่เป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิม นอกจากนี้ PVC ยังถูกติดตั้งไฟส่องสว่างให้กับภายในอาคารอีกด้วย
“เนื่องจากเราไม่สามารถใช้วัสดุถาวรติดตั้งไปบนฝ้าได้ จึงทดลองนำท่อพีวีซีสีขาวมาใช้ เพราะเป็นวัสดุที่หาง่าย แถมให้ความรู้สึกที่นุ่มนวลกับตัวอาคารได้ ซึ่งการที่เลือกวัสดุเหล่านี้มาใช้มันเกิดจากการทดลองและวิจัย วัสดุแต่ละชนิด ประเภท ถึงแม้วัสดุจะเป็นชนิดเดียวกัน แต่มีขนาดที่ไม่เหมือนกันก็สร้างความแตกต่างให้กับสเปซได้แล้ว”
Urbanism and Architecture bi-city biennale
ในการออกแบบผลงาน Freeing FrameYard สำหรับแสดงในงาน Urbanism and Architecture bi-city biennale เมืองเซินเจิ้น สถาปนิกต้องการให้วัสดุมีลักษณะพลิ้วไหวคล้ายคลึงกับเส้นผ้าม่าน แต่มีข้อจำกัดตรงที่ต้องติดตั้งในพื้นภายนอกทำให้ไม่สามารถใช้ผ้าม่านจริงได้ สถาปนิกได้ทำการทดลองนำเชือกมาใช้งาน แต่ปรากฏว่าเส้นเชือกมีลักษณะไม่เป็นเส้นตรงทำให้ต้องเปลี่ยนมาใช้ PVC ที่ให้ความลักษณะตรง และให้ความพลิ้วไหวไปพร้อมๆ กัน
“เราคิดว่าข้อจำกัดของวัสดุไม่มีอยู่จริง เพราะวัสดุแต่ละประเภทมีลักษณะที่เป็นธรรมชาติของตัวมันเอง เพียงแต่ต้องเลือกให้เหมาะสมกับงานออกแบบนั้นๆ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นวัสดุแปลก พลิกวัสดุเก่าใช้ใหม่ หรือมีรายละเอียดที่ยากอย่างไรผู้รับเหมาในประเทศจีนก็ทำได้ทั้งหมด (หัวเราะ)”
Phetkasem Artist Studio
เมื่อสถาปนิกต้องการรีโนเวทบ้านทาวเฮาส์ให้กลายเป็นบ้านกึ่งออฟฟิศ จึงได้ศึกษาวัสดุรั้วภายในหมู่บ้านที่ส่วนใหญ่ทำจะทำจากเหล็ก สถาปนิกได้ตั้งคำถามว่าวัสดุเหล็กเดิมสามารถเปลี่ยนเป็นความรู้สึกใหม่ได้อย่างไร? จึงได้นำท่อเหล็กมาผ่าครึ่งและให้ครึ่งหนึ่งไว้ในส่วนด้านหน้า และให้อีกครึ่งไว้ในส่วนด้านหลัง และนำท่อมาต่อกันในลักษณะของ modular system เล่นลวดลายจากขนาดของท่อ 5 ขนาดที่ต่างกัน นำมาประกบกัน 2 ด้าน กลายเป็นอิฐ 3 รูปแบบที่สามารถหมุนและกลับด้านในการประกอบ เกิดเส้นสาย ที่สามารถนำมาเรียงต่อกันให้เกิดเป็นแพทเทิร์นที่มีความสูงและความกว้างเกือบ 4 เมตร แถมยังมีช่องแสง และช่องลมอีกด้วย ซึ่งงานนี้เป็นการร่วมพัฒนาแบบและทดลองร่วมกับช่าง และผู้ผลิตท่อเหล็กอย่าง บริษัท แปซิฟิกไพพ์ จำกัด (มหาชน)
“ภายในบ้านหลังนี้ยังได้ติดตั้งอลูมิเนียมคอมโพสิตให้กับบานประตู กรอบบานกระจก และบานมุ้งลวด เพราะมีความคงทน และให้ความเรียบเนียนไปกับตัวบ้านได้ นอกจากนี้เรายังได้ไลท์ติ้งดีไซน์เนอร์ที่มีชื่อเสียงในประเทศจีน และไต้หวัน อย่าง เจนน่า (Jenna Tsailin Liu) เข้ามาช่วยออกแบบ ซึ่งเขาเลือกแบบสเปครูปแบบของไฟจากประเทศจีน ทำให้ผู้รับเหมาในประเทศไทยไม่คุ้นเคยกับไฟในลักษณะนี้ ทางผู้ผลิตจึงส่งคลิปวิดีโอการติดตั้งมาพร้อมกับวัสดุ ก่อนจะทำการติดตั้งทุกครั้งผู้รับเหมาจะต้องดูคลิปวิดีโอเทรนนิ่งก่อนถึงจะติดตั้งได้ (หัวเราะ)”
เรียนรู้ และทำความเข้าใจกับวัสดุชนิดใหม่ๆ
สถาปนิกมักจะต้องแก้สมการในสถาปัตยกรรมอยู่เป็นประจำ เพราะพื้นที่ที่แตกต่างกัน การใช้งาน และผู้ใช้งาน รวมไปถึงวัสดุแบบใหม่ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน ซึ่งก็นับว่าเป็นการท้าทายอยู่เสมอ อย่างผลงานการออกแบบ Benchakitti Rain Forest Observatory ในงาน ASA WOW ที่ใช้วัสดุจากแบรนด์จระเข้ SEE Jorakay ทั้งหมด กลับพบว่าสีในแคตตาล็อกกับสีที่ใช้จริงมีความแตกต่างกัน เพราะเนื้อสีผลิตจากวัตถุดิบจากธรรมชาติ จึงมีความด้านกว่าสีอะคริลิคแบบทั่วไป ทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยน และพยายามทำความเข้าใจสีรูปแบบใหม่ให้มากยิ่งขึ้น
สตูดิโอที่ไม่มีข้อจำกัดในการสร้างสรรค์ผลงาน
ความน่าสนใจของ HAS design and research พวกเขาพยายามสร้างตัวเลือกให้กับงานดีไซน์ในจำนวนมากเพื่อหาทางออกที่เป็นไปได้มากที่สุด โดยไม่มีสิ่งใดมาเป็นข้อจำกัดในการออกแบบไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไทย หรือประเทศจีน เห็นได้จากหลายโปรเจกต์ที่พยายามนำวัสดุต่างๆ มาทดลอง โดยอาจจะไม่เกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมไปสะทีเดียว จนพบกับวัสดุที่ทำให้เกิดความรู้สึกตามแนวคิด และฟังก์ชันได้มากที่สุด หรือการทดลองเปลี่ยนโฉมวัสดุแบบเดิมๆ ในท้องตลาดให้กลายเป็นวัสดุรูปแบบใหม่ก็สามารถสร้างความรู้สึกใหม่เช่นเดียวกัน ซึ่งพวกเขากำลังสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับสถาปัตยกรรมแบบใหม่อย่างที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!