Little Stove & Little Stump
คาเฟ่และเพลย์กราวด์ที่ออกแบบสถาปัตยกรรมไปพร้อมกับการออกแบบนิทาน

จะสนุกแค่ไหน ถ้าบ้านในหนังสือนิทาน ไม่ได้อยู่แค่ในโลกจินตนาการอีกต่อไป

เพราะอยากให้เด็กๆ ได้คลุกคลีกับพื้นที่ธรรมชาติและการใช้เวลาคุณภาพร่วมกันระหว่างสมาชิกครอบครัวในทุกช่วงวัย มีพื้นที่เล่นและเรียนรู้ที่มีส่วนคาเฟ่ให้ครอบครัวได้แวะรับประทานอาหารและใช้เวลาร่วมกัน พราว พุทธิธรกุล กับ 3 บทบาทที่เป็นทั้งคุณแม่ สถาปนิกผู้ออกแบบจาก NITAPROW และหนึ่งในพาร์ทเนอร์เจ้าของ Little Stove & Little Stump จึงตั้งใจให้คาเฟ่และที่เล่นเด็กแห่งใหม่ในย่านพระราม 2 กลายเป็นสถานที่รองรับสมาชิกครอบครัวที่ประกอบไปด้วยโซนคาเฟ่ รวมถึงพื้นที่เรียนรู้และเล่นของเด็ก ๆ  โดยออกแบบอาคารควบคู่ไปกับการสร้างนิทานเรื่องใหม่ในชื่อ ‘บ้านตอไม้กับสหายนักซ่อม’ ที่เปิดโลกจินตนาการของเด็ก ๆ ให้สามารถสัมผัสพื้นที่ในโลกจินตนาการสู่สถานที่ที่มีอยู่จริง

“เราไม่อยากสร้างสถานที่ที่มีแต่ของเล่นสำหรับเด็ก แต่เราต้องการสร้างพื้นที่ให้เด็กๆ ได้สำรวจ เรียนรู้และเล่นไปได้พร้อมๆ กันกับคุณพ่อคุณแม่หรือคนในครอบครัว เพราะต้องการให้ทุกคนรู้สึกผ่อนคลายไปด้วย โจทย์เลยเริ่มมาจาก พื้นที่เล่น ตามมาด้วยโซนคาเฟ่ ผู้ปกครองจะได้นัดเพื่อนมาผ่อนคลาย จิบกาแฟ รับประทานขนม ไม่ใช่แค่มารอลูกเล่นอย่างเดียว แต่ได้มาเล่นไปกับลูก จะได้หายเหนื่อยด้วย”

จากที่ดินเปล่าทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาว ที่มีด้านหนึ่งติดถนนพระรามสอง 33 ส่วนอีกด้านติดคลองบางมดซึ่งมีต้นไทรแผ่กิ่งก้านขนาดใหญ่เป็นจุดเด่นของพื้นที่ สถาปนิกเลือกวางผังโซนคาเฟ่ให้หันด้านผนังกระจกออกฝั่งทิศเหนือ ซึ่งเป็นทิศที่รับความร้อนจากแสงแดดน้อยที่สุด  และอยู่ใกล้ต้นไทรเพื่อให้ต้นไม้และคลองกลายเป็นวิวและพื้นที่สร้างร่มเงา สร้างบรรยากาศผ่อนคลายให้ผู้มาเยือน ในขณะที่โซนพื้นที่เล่นของเด็ก จัดวางให้อยู่บริเวณใจกลางของที่ดินเพื่อให้อยู่ในระยะไกลจากคลองเพื่อความปลอดภัยของเด็ก ๆ ด้วย

Little Stove & Little Stump - Site Plan

ทรงโค้ง ที่เล่นรูปฟอร์มมาจากชื่อที่ตั้งเดิมของพื้นที่
‘ร่มไทร + วัดยายร่ม’ ที่มาของคาเฟ่ทรงโค้งคว่ำ

ในซอยพื้นที่ตั้งโครงการนี้ ถูกเรียกด้วยชื่อเล่นของคนในท้องที่ว่า ‘ซอยวัดยายร่ม’ ประกอบกับการที่มีต้นไทรเป็นคาแร็กเตอร์ที่ชัดมากของที่ดิน สองคำแรกที่สถาปนิกนึกถึงจึงเป็น ‘ร่มไทร +วัดยายร่ม’ ก่อนจะนำมาสู่การออกแบบสถาปัตยกรรมที่นำรูปทรงโค้งคล้ายร่มมาตีความต่อ ให้สถาปัตยกรรมสร้างร่มเงากับผู้มาเยือน อย่างในส่วนพื้นที่คาเฟ่ที่ดีไซน์ให้มี Canopy ทรงโค้งคล้ายกับร่มที่ยื่นยาว และมีกันสาดที่ค่อนข้างลึก กลายเป็นร่มที่เพียงพอสำหรับกันแดด กันฝนให้กับคนที่เข้ามาใช้งานในพื้นที่ และรูปทรงโค้งเดียวกันนี้ก็ได้ต่อเนื่องเข้าไปเป็นฝ้าเพดานทรงโค้งของพื้นที่นั่งภายในเช่นกัน

ในส่วนของฟังก์ชันการใช้งาน ฝั่งคาเฟ่ค่อนข้างเรียบง่าย ด้วยหัวใจหลักของคาเฟ่ หรือห้องครัวที่ถูกวางผังไว้ด้านหลังที่ริมรั้ว ก่อนจะต่อขยายจากครัวมาเป็นโซนเคาน์เตอร์บาร์ที่มองเห็นได้รอบทิศทาง ถัดมาเป็นส่วนพื้นที่นั่งของลูกค้าที่สามารถมองเห็นสวนภายนอกได้รอบทิศทางเช่นกัน นอกจากนั้นที่นี่ยังมีโซนที่นั่งเอาท์ดอร์ขนาดกว้างขวาง เพื่อให้ลูกค้าสามารถชื่นชมกับพื้นที่สีเขียว ต้นไทร และบรรยากาศริมคลองได้มากที่สุด รวมถึงมีองค์ประกอบของ SKYLIGHT หรือช่องแสงรูปทรงโค้ง ที่ให้แสงธรรมชาติกับพื้นที่ภายในอีกด้วย

Café Plan

ออกแบบสถาปัตยกรรมควบคู่ไปกับการออกแบบหนังสือนิทาน
จากบ้านตอไม้ในนิทานของเด็ก ๆ

อาคาร Little Stump Playground ได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากรูปทรงของตอไม้ที่มีโพรงอยู่ตรงกลางหรือคอร์ท ตรงกลางที่มีต้นไม้เติบโตขึ้น  ‘ตอไม้’ สื่อสารถึงธรรมชาติที่ไม่สมบูรณ์แบบ ในขณะที่ต้นไม้ที่เติบโตที่แกนกลางตอไม้ก็สื่อถึงชีวิตที่มีการเติบโตเกิดใหม่  เส้นโค้งที่เหมือนโคนหรือรากต้นไม้ และรูปทรงหน้าต่างที่มีลักษณะเหมือนกับโพรงไม้ มีเส้นที่โค้งมน บางทีก็ดูบิดเบี้ยวคล้ายกับเส้นที่วาดจากมือของเด็กๆ

ซึ่งความพิเศษอยู่ตรงที่ อาคารหลังนี้ออกแบบสถาปัตยกรรมควบคู่ไปกับการออกแบบหนังสือนิทาน ด้วยความตั้งใจให้เด็ก ๆ สามารถสัมผัสสถานที่ในหนังสือที่มีอยู่จริงในรูปแบบของสถาปัตยกรรมที่จับต้องได้  

“ตอนที่ออกแบบโครงการนี้ ลูกสาวคนโตอายุประมาณ 2 ขวบ  เขาชอบการฟังหนังสือนิทานมาก จำได้หมดว่าตัวละครตัวไหนทำอะไร ที่ไหน มีนิสัยยังไง เลยคิดว่า คงจะดีมาก…ถ้ามีโลกคู่ขนานที่เด็ก ๆ จะได้รู้ว่าหนังสือนิทานที่เขาอ่าน มันจะมีสถานที่อยู่จริงด้วยนะ สามารถเข้ามาสัมผัสประสบการณ์ได้ว่าอันนี้คือส่วนไหนของนิทาน พอมีไอเดียนี้ เราจึงมองหาคนทำหนังสือนิทานเด็ก จนได้มาเจอคุณเกื้อกมล นิยม จากสำนักพิมพ์สานอักษร และ คุณกฤษณะ กาญจนาภา, คุณวชิรวรรณ ทับเสือ นักเขียนนิทานเด็กจาก Littleblackoz Studio ที่ทั้งวาดและเขียนเนื้อเรื่อง

แต่ในความตั้งใจนี้ เราไม่ได้อยากให้ทุกอย่างในนิทานเหมือนกับงานสถาปัตยกรรมเป๊ะ ๆ เราเลยคุยกันกับนักเขียนตั้งแต่ต้นว่า ในนิทานสามารถทำให้ดูแฟนตาซีกว่า คือถ้ำเป็นถ้ำ ตอไม้เป็นตอไม้เลย แต่เรายังคง Proportion ของอาคารในแบบนิทานไว้ โดยนักเขียนนิทานได้นำรูปแบบอาคารที่สถาปนิกออกแบบมาแล้วไปวาดต่อ”

นิทานเสร็จสมบูรณ์ในชื่อ ‘บ้านตอไม้กับสหายนักซ่อม’ ที่มีต้นไม้เป็นหัวใจหลักของอาคาร นำมาสู่การออกแบบคอร์ดต้นไม้ที่มีสเปซอื่น ๆ ล้อมรอบเป็นทรงกลม โดยมีเด็ก ๆ ผู้เล่นเปรียบเสมือนตัวละครสัตว์ชนิดต่าง ๆ จากในนิทานที่จะเข้ามาอิงอาศัย โดยรูปทรงของตึกและแปลนจะถูกออกแบบอ้างอิงมาจากวงปีของต้นไม้ และรูปทรงโค้งหงายในแปลนที่มีความคล้ายคลึงตอไม้นั่นเอง พร้อมซ่อนการพูดเรื่อง นัยยะ ของบ้านตอไม้ ที่ให้เด็กๆ มาช่วยกันซ่อม เป็นการเกิดใหม่ของต้นไม้ในบ้านตอไม้นั่นเอง

Playground Plan

การออกแบบฟังก์ชันภายใน แตกต่างจากโซนคาเฟ่แต่ยังคงเน้นการสัมผัสกับพื้นที่ธรรมชาติเอาท์ดอร์ให้ได้มากที่สุด พื้นที่ Playground จึงมีการกั้นเป็นห้องย่อยหลายห้อง เพื่อให้เด็ก ๆ สามารถเดินเข้า-ออก และได้เล่นในพื้นที่ภายนอกได้ เริ่มตั้งแต่ทางเข้าเราจะเจอกับ Reception ซึ่งจากจุดนี้จะสามารถมองเห็นคอร์ดใจกลางและห้องอีก 2 ห้องได้ทั้งหมด โดยแบ่งเป็นห้อง Workshop ทำกิจกรรมที่มีคลาสการเรียนศิลปะหรือคลาสต่างๆ ของเด็ก ส่วนห้องถัดไปเป็นห้องเล่นที่ออกแบบพื้นที่ด้วยโครงสเปซต่าง ๆ ที่จัดให้คล้ายอุโมงค์สัตว์ บ้านนก หรือบ่อน้ำเพื่อให้เด็ก ๆ สร้างเสริมจินตนาการ และเล่นสนุกด้วยการมุดขึ้นมุดลง และปีนป่าย

“พื้นที่ของอาคารถูกออกแบบมาให้มีพื้นที่ภายในที่ต่อเนื่องกับภายนอกและเชื่อมถึงกันในทุกๆ ส่วน ทั้งทางกายภาพและทางการมองเห็นเพราะเราอยากให้เด็กๆ ที่มาสามารถมองเห็น สร้างความสงสัย และการสังเกต และเกิดความสนใจในกิจกรรมที่เกิดขึ้นในบริเวณอื่นๆ และยังเป็นการทำให้ผู้ปกครองและทีมงานสามารถมองเห็นเด็กๆ ได้อย่างทั่วถึง”

นอกจากทรงโค้งของอาคารแล้ว ยังมีรูปฟอร์มออร์แกนิกที่สถาปนิกเลือกนำมาดีไซน์บริเวณช่องเปิดในส่วนรอบนอกของอาคาร ให้รูปทรงที่บิดเบี้ยวเหมือนรูปทรงที่เราพบได้ในธรรมชาติเสมือนโพรงไม้ “โลกจินตนาการของเด็ก หรือแม้แต่ตอนที่เขาวาดรูป เขาวาดรูปหน้าต่างรูปสัตว์ หรือรูปอะไรก็ตาม มันมักจะมีรูปทรงที่ไม่สมมาตร ไม่ตรง ที่เรารู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนเชื่อมโยงได้เพราะเราทุกคนต่างก็เคยวาดรูปในวัยเด็กมาก่อน เลยหยิบมาอินสไปร์การออกแบบช่องเปิดที่มีหลายขนาด หลายรูปทรง”

วัสดุใกล้ชิดธรรมชาติ และเฟอร์นิเจอร์มือสอง

วัสดุหลักที่เน้นใช้ในส่วนภายนอกอาคารจะเป็นสีพ่นเท็กเจอร์ พื้นหินขัด พื้นทรายล้างที่เลือกใช้ทั้งส่วนคาเฟ่ ทางเดิน ห้องน้ำ และ Playground  

ส่วน Playground ที่ใกล้ชิดกับเด็ก จะมีวัสดุธรรมชาติอย่างไม้เข้ามาแทรกในส่วนพื้นของห้อง Workshop และห้องเล่น

“เฟอร์นิเจอร์ทุกอย่าง เราอยากให้เป็นอะไรที่เข้ากันได้หมด จึงพยายามเลือกให้เป็นโทนสีไม้ และด้วยเรื่องราวจากนิทานที่ชื่อว่าสหายนักซ่อม เพราะสัตว์ทั้งหลายเข้ามาซ่อมให้ตอไม้กับถ้ำหมีให้ใช้งานได้ ฉะนั้นเราจึงมีคอนเซ็ปต์ในการพยายามใช้ของมือสองในงานเฟอร์นิเจอร์เกือบทุกชิ้นเพื่อเป็นการต่ออายุการใช้งานของสิ่งของให้นานที่สุด”

“เด็กเล็กสามารถล้มหรือเจ็บตัวได้ตลอดเวลา ฉะนั้นความปลอดภัยต้องมาอันดับหนึ่ง แต่อันดับสองที่ดูเหมือนจะขัดกัน คือการเจ็บตัวของเด็กจะเป็นประสบการณ์ให้เขาเรียนรู้ เราจึงไม่ได้อยากสร้างสถานที่ที่พยายามปกป้องเด็กจนเกินไปตลอดเวลา เราต้องการให้เขาอยู่กับธรรมชาติจริง ๆ ที่เขาต้องเรียนรู้ที่จะระมัดระวังตัวเอง เช่น ถ้าคุณเห็นขั้นต่างระดับนี้ คุณไม่ระวังก็ล้มได้นะ นี่เป็นสองอย่างที่เราคำนึงถึงตลอดเวลาในการออกแบบ เพราะเราไม่อยากทำให้ที่นี่เป็นโลกที่เขาจะเจ็บตัวอะไรไม่ได้เลย

เรามีพื้นที่ให้เล่นอย่างอิสระ ทั้งบ่อทราย เนินหญ้า คูน้ำ อุโมงค์ ตอไม้ฝึกการทรงตัว ชิงช้า ทางเดินหลากหลายสัมผัส ให้เด็กๆ เดิน วิ่งเล่นกลางแจ้งเท้าเปล่าท่ามกลางธรรมชาติได้  และพื้นผิวที่หลากหลายทั้ง กรวด หิน ดิน ทราย และ น้ำ ก็ทำให้เขาได้ฝึกประสาทรับรู้ความรู้สึกผิวสัมผัสที่แตกต่าง ที่นี่ เราอยากให้เด็กๆ ได้ใช้เวลาร่วมกับผู้ปกครองไปพร้อมกับการได้มีปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติรอบตัว” สถาปนิกเล่าทิ้งท้าย

พราว พุทธิธรกุล สถาปนิกผู้ออกแบบจาก NITAPROW
Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้