Search
Close this search box.

Ixora Design Limited ออฟฟิศที่เชื่อมความสมดุล ระหว่างธรรมชาติกับเมืองให้เป็นหนึ่งเดียวกัน

ถ้าให้พูดถึงออฟฟิศภูมิสถาปัตยกรรมชั้นแนวหน้าที่โดดเด่นการออกแบบกลุ่มที่พักอาศัย รีสอร์ท และการออกแบบในเชิงท่องเที่ยวต่างๆ ก็ต้องนึกถึง Ixora Design Limited ซึ่งวันนี้เราได้มีพูดคุยกับ ปิง – พงษ์ศักดิ์ เหล่ามานะเจริญ หนึ่งในหัวเรือคนสำคัญของออฟฟิศ และอดีตนายกสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย ได้มาเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเปิดออฟฟิศ การทำงานโปรเจกต์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โครงการออกแบบหมู่บ้านจัดสรรอย่าง Saransiri Prachauthit 90  โปรเจกต์เกษตรกรรมคนเมือง De Farm และ TRIBHUM โครงการธีมพาร์คในห้างสรรพสินค้า จนไปถึงเรื่องพื้นที่สีเขียวของเมือง 

ประสบการณ์ทำงานจากแดนไกล

Ixora Design Limited ได้ก่อตั้งขึ้นในปี 2003 จากการรวมกลุ่มของ ชาญชัย จรุงเรืองเกียรติ ,พงษ์ศักดิ์ เหล่ามานะเจริญ ,ปิยชนก วิจารณ์ และมังกร ชัยเจริญไมตรี เพื่อนร่วมรุ่น รุ่นพี่ และรุ่นน้องจากภาควิชา ภูมิสถาปัตยกรรม จุฬาฯ โดยชื่อ Ixora มาจากชื่อวิทยาศาสตร์ของ ‘ต้นเข็มแดง’ ที่เป็นสัญลักษณ์ของความรู้ การบูชาครู หรือสัญลักษณ์แห่งความกตัญญูนั่นเอง  

“หลังจากเรียนจบ ทุกคนก็แยกย้ายกันไปทำงาน เมื่อสะสมประสบการณ์ได้สักพักก็เดินทางไปเรียนต่อ และได้ทำงานที่ออฟฟิศภูมิสถาปัตยกรรมชื่อดังในประเทศอเมริกาอย่าง EDAW และ AECOM เมื่อทุกคนมีประสบการณ์ทั้งในและต่างประเทศ ทำให้แต่ละคนมีความคิดที่สดใหม่ และแตกต่างอยู่เสมอ จึงได้ตัดสินใจร่วมกันเปิดออฟฟิศ เพื่อสร้างผลงานภูมิสถาปัตยกรรมที่ดีให้กับประเทศไทย”

ภูมิสถาปัตยกรรมเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้าง

ในช่วง 40 ปีที่แล้ว ภูมิสถาปัตยกรรมถือว่าเป็นวิชาชีพใหม่ในประเทศไทย ซึ่งมีผู้บุกเบิกวิชาชีพอย่างศาสตราจารย์กิตติคุณ เดชา บุญค้ำและรุ่นพี่ในรั้วจุฬาฯ อีกหลายคน ทำให้ Ixora Design Limited พยายามเดินตามรอยเส้นทางที่ถูกถากถางมาโดยตลอด แต่ก็ยังไม่ลืมที่จะสร้างงานภูมิสถาปัตยกรรมให้ดีขึ้นมาโดยตลอด

“หากย้อนกลับไปในช่วงเปิดออฟฟิศแรกๆ งานภูมิสถาปัตยกรรมค่อนข้างจะพัฒนาและเติบโตช้า แต่ช่วง 10 ปีให้หลังมานี้วิชาชีพมีการพัฒนาและเติบโตมากขึ้น เพราะ เทคโนโลยี นวัตกรรมทางการก่อสร้าง และมีคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสนใจกับสิ่งแวดล้อม จนเกิดภูมิสาปนิกรุ่นใหม่ที่มีความคิดหลากหลายเพิ่มขึ้น ทำให้งานภูมิสถาปัตยกรรมมีมิติของการดีไซน์อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน”

สร้างความเชื่อมั่นผ่านงานออกแบบ

ผลงานส่วนใหญ่ที่ได้รับจะเน้นไปที่กลุ่ม Residence เช่น โรงแรม รีสอร์ท และที่อยู่อาศัย และกลุ่ม Commercial เช่น ห้างร้าน และสำนักงาน รวมไปถึงงานประเภท Master Plan เช่น ผังโครงการ และผังหมู่บ้านจัดสรร ซึ่งกว่าจะประสบความสำเร็จ และเป็นที่ยอมรับได้ พวกเขาเริ่มต้นจากการออกแบบรีสอร์ทเล็กๆ ในต่างจังหวัด และพยายามทำงานที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และความมั่นใจให้กับลูกค้า

“การจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าได้ เราต้องมั่นใจในประสบการณ์ และองค์ความรู้ของเราก่อน และดำเนินงานไปตามสิ่งที่ถูกต้อง พูดความจริงในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นปัญหา ข้อดี และข้อเสีย โดยใช้แนวคิดและกระบวนการที่เหมาะสมเพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้น จนสร้างผลงานที่ดีให้เกิดขึ้น แต่กว่างานออกแบบจะสร้างเสร็จก็ใช้เวลา 1-2 ปีแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา”

ผลงานสร้างชื่อที่ถูกยอมรับทั้งในและต่างประเทศ

Saransiri Prachauthit 90

สำหรับโครงการหมู่บ้าน Saransiri Prachauthit 90 ออกแบบโดย ปิยชนก วิจารณ์ และทีมของ อมรรัตน์ จินตนาวิลาศ ที่ใช้แนวคิดโมเดิร์นฟาร์มเฮ้าส์ในสไตล์ยุโรป ให้พื้นที่พักอาศัยเสมือนเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวไปในตัว จึงออกแบบอาคาร Sale Gallery ให้มีลักษณะคล้ายคลึงกับบ้านแบบชนบทในยุโรป แต่มีการปรับเส้นสายให้มีความโค้ง อ่อนช้อยมากขึ้น ให้รู้สึกถึงความทันสมัย และเชื่อมไปยังทางเข้าของโครงการจนดูเป็นส่วนเดียวกัน พร้อมออกแบบสวนสไตล์อังกฤษหลายระดับ เพื่อขับเน้นพื้นที่ทางเข้า หลังจากที่โครงการจำหน่ายบ้านเสร็จเป็นที่เรียบร้อย Sale Gallery ก็จะกลายเป็นพื้นที่ Co-Working Space ให้กับลูกบ้านได้ใช้งานในการพักผ่อน ทำงาน หรือติวหนังสือกันได้ นอกจากนี้ภายในโครงการยังออกแบบผังมาสเตอร์แปลนให้มีบ่อน้ำ ลำธาร และพื้นที่เสมือนชายป่า เพื่อให้รู้สึกถึงบ้านบรรยากาศชนบทของยุโรปมากยิ่งขึ้น  

De Farm

De Farm เป็นโครงการพัฒนาที่ดินให้กลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรม และที่อยู่อาศัย ในอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โดยเจ้าของโครงการต้องการทำเกษตรกรรมแบบออแกนิค ที่เรียบง่ายสไตล์คนเมือง ภูมิสถาปนิกจึงออกแบบผังโครงการที่ผสมผสานไปด้วย นาข้าว แปลงผัก โรงม้า โรงเรือนเลี้ยงเป็ด ควาย และที่อยู่อาศัยของคน พร้อมกับระบบจัดการน้ำ และฝาย เพื่อใช้กักเก็บน้ำในการรดน้ำต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ และใช้ในพื้นที่อยู่อาศัย จนสร้างความสมดุลระหว่างธรรมชาติ ระบบนิเวศ และการดำรงชีวิตของมนุษย์สมัยใหม่ นอกจากนี้ภูมิสถาปนิกยังได้เลือกเก็บรักษาพันธุ์ไม้พื้นเมืองเดิมไว้ทั้งหมด มีเพียงการนำต้นไม้ใหม่เข้ามาบางส่วนเพื่อสร้างความน่าสนใจทางสายตา และต้นไม้ใหม่ยังนำไปทำพลังงานทดแทนได้อีกด้วย ด้วยวิธีคิดและการออกแบบที่น่าสนใจทำให้โปรเจกต์นี้ได้รับ 2 รางวัล ได้แก่ MUSE Design Awards และ German Design Award               

TRIBHUM

TRIBHUM เป็นโครงการ Theme Park ที่อยู่ใน Central Foresta Phuket ซึ่งเป็นงานออกแบบวางผังภูมิสถาปัตยกรรมและจัดบรรยากาศให้เป็นป่าหิมมาพานต์โอบล้อมเขาพระสุเมรุจำลองที่เป็นไฮไลท์หลักของพื้นที่ ที่ผสมผสานทั้งต้นไม้จริง และต้นไม้ที่ถูกออกแบบให้เป็นคาแรกเตอร์ต่างๆ โดยจัดวางองค์ประกอบ และมุมมองในภาพรวมให้เป็นไปตามแนวคิดหลักของไตรภูมิ

“นอกจากนี้ยังมีงานที่เกี่ยวข้องกับการประกวดแบบต่างๆ และงานราชการ ที่มีความแตกต่างกับงานเอกชน เช่น ข้อกำหนด ความชัดเจนของโจทย์ และรูปแบบการทำงาน ซึ่งมีผลต่อความยาก-ง่ายในการทำงาน แต่ออฟฟิศเรามีข้อดีในเรื่องการค้นคว้าวิจัยที่ค่อนข้างแข็งแรง ทำให้การออกแบบสามารถตอบโจทย์กับงานทุกประเภท อย่างไรก็ตามทุกงานราจะมีแนวคิดหลักคือการสร้างความสมดุลระหว่างเมืองและธรรมชาติมาโดยตลอด”

โปรเจกต์เชิงพานิชย์กับพื้นที่สีเขียวในเมือง

ทีมภูมิสถาปนิกของ Ixora Design Limited ได้เล่าเสริมว่า ถึงแม้งานออกแบบของออฟฟิศจะเป็นงานประเภทเชิงพานิชย์โดยส่วนใหญ่ แต่งานเหล่านี้ก็สามารถสร้างทั้งองค์ความรู้กับผู้คน สร้างความเป็นอยู่ที่ดี ให้ความสนุกสนานได้ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมืองในอีกทางหนึ่งด้วย แต่อย่างไรก็ตามการสร้างพื้นที่สีเขียวให้กับเมืองอาจจะไม่ใช่คำตอบทั้งหมด เพราะการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมในเมืองจำเป็นต้องดูบริบท และสภาพแวดล้อมของพื้นที่นั้นว่ามีความต้องการเป็นอย่างไร  

“บางพื้นที่ของเมืองอาจจะต้องการรูปแบบพื้นที่สีเขียวที่แตกต่างกัน เช่น พื้นที่พลาซ่าที่ปลูกต้นไม้ให้ร่มเงา และปูพื้นวัสดุ เพื่อให้เหมาะสมต่อการเดินสัญจร และการพักคอย ซึ่งต้องดูสัดส่วนพื้นที่สีเขียว และการใช้วัสดุก่อสร้างให้เหมาะสมกับการใช้งาน แต่ในประเทศไทยเราอาจะเห็นการออกแบบพื้นที่ที่ขัดแย้งกับการใช้งานอยู่บ้าง เพราะกฎหมายไม่ได้เอื้ออำนวยให้เกิดขั้นตอนการนำเสนอแนวคิดที่เหมาะสมกับพื้นที่ การวัดคุณภาพพื้นที่สีเขียว หรือพื้นที่เปิดโล่งของเมืองและชุมชน จึงไม่ได้วัดแค่ปริมาณพื้นที่การปลูกหญ้าเพียงอย่างเดียวแต่วัดฟังก์ชันที่ตอบโจทย์กับบริบทโดยรอบด้วย อย่างไรก็ตามงานออกแบบในบ้านเราไม่ว่าจะเป็นเชิงพานิชย์ และพื้นที่สาธารณะ เริ่มเดินมาถูกทางแล้ว ซึ่งวิชาชีพก็คอยสนับสนุน และผลักดันกันอยู่ตลอด” 

ออกแบบให้มีพื้นที่หน่วงน้ำมากขึ้น

เมื่อพูดถึงเมืองแล้วก็อดที่จะพูดถึงเรื่องน้ำท่วมกรุงเทพฯ ไปไม่ได้ เพราะสาเหตุเกิดขึ้นจากหลายปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ น้ำทะเลหนุนสูง ระดับพื้นดินที่ทรุดลงทุกปี รวมไปถึงเมืองที่โตขึ้นก็ยิ่งมีพื้นที่ซึมน้ำน้อยลง ภูมิสถาปนิกจึงต้องวิเคราะห์ และศึกษาในระดับ Macro Scale หรือภาคพื้นที่ขนาดใหญ่ของกรุงเทพฯ จนไปถึงระดับประเทศทั้งหมด และเจาะลึกที่ไปรายละเอียดในระดับ Micro Scale หรือภาคพื้นที่ขนาดเล็ก ว่าแต่ละจุดเกิดน้ำท่วมเพราะสาเหตุอะไร? เช่น ฝนตกหนัก น้ำท่วมขัง หรือพื้นที่บริเวณนั้นเป็นพื้นที่ไหลผ่านของน้ำ จากนั้นจึงนำข้อมูลไปสู่การสร้างแนวคิด และทำการออกแบบในระดับถัดมา

“เรื่องน้ำท่วมเมืองเป็นอีกประเด็นสำคัญที่วิชาชีพต้องพูดถึง เนื่องจากในปัจจุบันนี้เมืองลุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ธรรมชาติมากขึ้น เพราะเมืองพัฒนาควบคู่ไปกับเศรษฐกิจเป็นลำดับต้นๆ ทำให้หลงลืมเรื่องสิ่งแวดล้อมไป เช่น กลุ่มโครงการที่อยู่ในเขตชานเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำทั้งหมด ทำให้พื้นที่รับน้ำธรรมชาติไม่เพียงพอให้น้ำได้หยุดพัก หรือให้ซึมลงไปในพื้นดิน พอน้ำมาในปริมาณมากก็ต้องใช้วิธีสูบออก เราจึงต้องย้อนกลับไปศึกษาเรื่องระดับภูมิประเทศของเมือง รวมไปถึงด้านนโยบาย และกฎหมายต่างๆ และพยายามออกแบบพื้นที่ของเมืองกับธรรมชาติให้เกิดความสมดุลกัน ซึ่งในเรื่องการจัดการน้ำเราควรบูรณาการความรู้จากผู้เชี่ยวชาญในวีชาชีพต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำองค์ความรู้ไปใช้ในการออกแบบ”

มูลค่าของธรรมชาติ

สำหรับงานออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมในปัจจุบัน เริ่มมีมูลค่ามากขึ้นเห็นได้จากพื้นที่ส่วนกลางพื้นที่พักอาศัย และโครงการต่างๆ ที่ใช้เป็นจุดขายกันมากขึ้น แต่มิติของภูมิสถาปัตยกรรมไม่ได้จบอยู่แค่ความงาม และความร่มรื่นในเชิงพานิยช์เท่านั้น แต่ยังมีมิติในเรื่องของพื้นที่สาธารณะ สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และการจัดการระบบน้ำ ที่ทางวิชาชีพภูมิสถาปัตยกรรมพยายามส่งเสริมและผลักดัน เพื่อให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อมที่ดีมากขึ้น

Writer
Watsapon Vijitsarn

Watsapon Vijitsarn

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading