Search
Close this search box.

หอธรรมโคตรมะพุทธะ สเปซสงบจิตใจที่หยิบหลักธรรมมาใช้ออกแบบ

ภาพความสวยงามของสถานปฏิบัติธรรมสีขาวท่ามกลางหุบเขาและธรรมชาติที่เต็มเปี่ยม คือ หอธรรมโคตรมะพุทธะ บน เกาะพลวย สุราษฎร์ธานี ที่ใช้แนวคิดของหลักปฏิบัติธรรมมาออกแบบสเปซให้มีทั้งพื้นที่พิธีกรรมทางศาสนา และพื้นที่ปฏิบัติธรรมให้เหมาะสมกับสภาพอากาศที่ต้องเจอกับแดดและฝนตลอดทั้งปี แต่กว่า Lynk Architect จะก่อสร้างได้นั้นพวกเขาต้องเจอกับอุปสรรคมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความลาดชันของพื้นที่ มีพายุเข้าตลอดหลายวัน แถมยังมีไฟฟ้า และน้ำจำกัดสำหรับการก่อสร้างอีกด้วย  

ทุกข้อจำกัดนำพาไปสู่ดีไซน์

เจ้าของต้องการให้พื้นที่ภายในเหมาะกับการปฏิบัติธรรม อ่านหนังสือ และบูชาพระพุทธรูป รวมไปถึงพื้นที่ภายนอกต้องสามารถเดินจงกรม เวียนเทียน หรือทำพิธีกรรมทางศาสนาได้ทุกช่วงเวลา แต่ความท้าทายอยู่ตรงที่มีสภาพอากาศแปรปรวนตลอดเวลา รถยนต์ไม่สามารถเข้าถึงได้ รวมไปถึงมีน้ำสะอาดและไฟฟ้าอย่างจำกัด

สถาปนิกจึงเลือกผู้รับเหมาที่คุ้นชินกับการก่อสร้างในพื้นที่ และออกแบบโดยเลือกใช้วัสดุขนาดเล็ก หรือถอดประกอบได้เพื่อให้ง่ายต่อการขนส่ง นอกจากนี้ยังต้องเลือกใช้คอนกรีตเพียงแค่บางส่วนเพราะการใช้น้ำมีจำกัด และยังต้องปั่นไฟ และใช้ไฟฟ้าจากแผงโซล่าเซลล์สำหรับการก่อสร้างทั้งหมด

ให้อาคารสะท้อนหลักปฏิบัติธรรม

ก่อนที่จะได้รับมอบหมายงานออกแบบชิ้นนี้ สถาปนิกได้เข้าฝึกปฏิบัติธรรม และศึกษาพุทธศาสนามาในระยะหนึ่ง จึงดึงเอาหลักการปฏิบัติมาใช้ในการออกแบบให้เป็นสัญลักษณ์ 4 ส่วนของอาคาร ได้แก่ พื้นที่ที่ว่างวงกลมล้อมรอบอาคารตีความมาจาก ‘สุญญตา’ หมายถึงความว่างเปล่า ทางเข้าสู่การดับทุกข์ทั้ง 4 ด้านที่มาจาก ‘อริยสัจ 4’ หลังคาจั่วสามเหลี่ยมสัญลักษณ์ 3 ข้อ ของกฎ ‘ไตรลักษณ์’ คืออาการไม่เที่ยง อาการเป็นทุกข์ และอาการไม่มีมีตัวตน และสุดท้ายคือเสาทั้ง 8 ต้นที่ตีความมาจาก มรรคมีองค์ 8’ หรือหนทางสู่การดับทุกข์ ซึ่งกฎทั้งหมดนี้เป็นพื้นฐานสำคัญทางการปฏิบัติธรรมที่สถาปนิกพยายามสะท้อนลงมาสู่ตัวอาคาร

อาคารที่ไม่มีฐานราก

หนึ่งในความท้าทายของโครงการนี้ คือ พื้นที่ดินซึ่งตั้งอยู่บริเวณทางลาดใจกลางเขา ชั้นใต้ดินจึงเป็นชั้นหินทั้งหมด ทำให้ไม่สามารถขุดทำฐานรากอาคารได้ สถาปนิกจึงเลือกใช้โครงสร้างฐานแผ่ ด้วยการใช้หิน ทรายบดอัด และคอนกรีตผสมกัน ปูทับด้วยอิฐดินเผา และมอร์ตาร์ เพื่อให้ฐานมีความมั่นคงแข็งแรงและป้องกันดินถล่ม โดยบริเวณวงกลมรอบอาคารที่ปูหินแกรนิต มีฟังก์ชันสำหรับเดินจงกรม และทำพิธีกรรมทางศาสนา มาพร้อมผนังหินอ่อนที่เจาะช่องติดกระดิ่งรอบพื้นที่ เป็นสัญลักษณ์ของความร่มเย็นเป็นสุข นอกจากนี้บริเวณพื้นและบันไดได้ออกแบบรางน้ำเพื่อให้น้ำระบายได้อย่างรวดเร็วในช่วงฝนตกหนัก ตอบโจทย์เรื่องสภาพอากาศซึ่งเป็นอีกความท้าทายหนึ่ง

ป้องกันพายุด้วยการซ้อนชั้นหลังคา

บริเวณทางเข้าทั้ง 4 ด้าน มีการเพิ่มหลังคาสี่เหลี่ยมชายคายื่นยาว ช่วยป้องกันฝนและพายุ แต่ในส่วนทางเข้าด้านหน้ามีการออกแบบเจาะช่องแสงเพิ่มเพื่อขับเน้นสเปซทางเข้าและยังช่วยให้แสงเข้าสู่ภายในอาคารได้มากขึ้น นอกจากนี้ความลาดเอียงของหลังคายังช่วยระบายน้ำลงสู่ตัวเสาเหล็กเพื่อให้น้ำฝนไหลลงสู่ฐานเสาที่ออกแบบให้เป็นพื้นที่กักเก็บน้ำ ก่อนจะปล่อยลงสู่บ่อที่ขุดไว้สำหรับอุปโภค และบริโภค

ดึงธรรมชาติภายนอกเข้ามาสู่ภายใน

ภายในอาคารพื้นที่ใช้สอยกว่า 350 ตารางเมตร ออกแบบผนังให้เป็นประตูอะลูมิเนียมกระจกทั้งหมด เพื่อให้สามารถเปิด-ปิดได้ในช่วงพายุเข้า ในขณะที่ยังสามารถรับแสงธรรมชาติจากภายนอกได้ตลอดเวลา ทั้งนี้มุมอาคารทั้ง 4 ด้าน ยังออกแบบให้เปิดโล่งเพื่อไม่ให้อาคารอับชื้นแม้จะปิดประตูทั้งหมด นอกจากนี้ผู้ออกแบบยังเลือกปูกระเบื้องพื้นสีดำเพื่อให้เกิดแสงสะท้อนจนสร้างความสว่างให้กับตัวอาคารได้มากยิ่งขึ้น 

ในส่วนของเสาเหล็กจำนวน 8 ต้นปูทับด้วยกระเบื้องหินอ่อนที่ให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติ พร้อมเสริมดีเทลเล็กๆ ด้วยการเจาะช่องม้วนสายไมค์โคโฟนสำหรับผู้นำทางศาสนา นอกจากนี้บริเวณพระพุทธรูปยังออกแบบขอบบัวซ้อนชั้นด้วยหินอ่อน พร้อมปูกระเบื้องสีน้ำตาลเข้มไล่เฉดสีคล้ายพิกเซล เพื่อเป็นพื้นหลังที่ขับเน้นพระประธานให้ดูโดดเด่น

พัฒนาชีวิตผ่านการออกแบบ

โครงการหอธรรมโคตมะพุทธะ นับว่าเป็นโจทย์ที่ยากและท้าทายตั้งแต่เริ่มต้น ทำให้สถาปนิกต้องวางแผนล่วงหน้าในทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมเหล็กที่ต้องใช้ไฟฟ้าอย่างจำกัด การใช้น้ำ หรือการขนส่งวัสดุ รวมไปถึงการก่อสร้างของช่างพื้นที่ที่อาจจะไม่ได้มีความเข้าใจเรื่องแบบมากนัก แต่การออกแบบของสถาปนิกในครั้งนี้ก็ช่วยสร้างประสบการณ์ใหม่และความเข้าใจถึงคุณค่าที่แท้จริงของงานสถาปัตยกรรมที่เราไม่สามารถพบเจอได้ง่ายๆ

“ปกติเราออกแบบโครงการในกรุงเทพฯ หรือพื้นที่ที่เข้าถึงได้ง่าย แต่โปรเจกต์นี้เป็นสิ่งที่เราไม่คุ้นเคย และมีความยากลำบากทุกขั้นตอน ซึ่งการออกแบบโครงการนี้ทำให้เราได้พัฒนาฝีมือ พัฒนาชีวิตในแง่ของปรัชญา จนได้รู้สึกถึงคุณค่าแท้จริงของงานสถาปัตยกรรม”

Credit :
Project name : Kotama Buddha Vihara
Company name : Lynk Architect
Location : Koh Phaluai, Suratthani, Thailand. 
Photographer credits : FANGBakii
Writer
Watsapon Vijitsarn

Watsapon Vijitsarn

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading